ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนมิ.ย. … บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวหลังมรสุมการเมือง

ภาพรวมตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนมิถุนายน 2553 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สะท้อนถึง ความเบาบางลงของผลกระทบทางการเมืองที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทย โดยการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งการบริโภค-การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวได้พร้อมกันอย่างแข็งแกร่ง เช่นเดียวกับภาคการส่งออกของไทยที่ทุบสถิติด้วยมูลค่าที่สูงเป็นประวัติการณ์ และทำให้ไทยบันทึกยอดเกินดุลการค้าในระดับที่สูงถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์ฯ กระนั้นก็ดี รายได้จากการท่องเที่ยวที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างเต็มที่ และการส่งกลับผลประโยชน์จากการลงทุนออกนอกประเทศ ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลในระดับที่ต่ำกว่าเพียง 0.68 พันล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทำการสรุปประเด็นสำคัญจากเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายน 2553 และประเมินในเบื้องต้นว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าร้อยละ 7.0 ในช่วงไตรมาส 2/2553 ซึ่งชะลอจากร้อยละ 12.0 ในช่วงไตรมาส 1/2553

การใช้จ่ายภายในประเทศ…ขยายตัวพร้อมเพรียงกัน

การใช้จ่ายภายในประเทศดีดตัวกลับขึ้นมาในเดือนมิ.ย.2553 หลังจากที่ต้องสะดุดลงช่วงสั้นๆ จากปัญหาทางการเมืองในประเทศเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 ทั้งนี้ ทิศทางที่ดีขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศดังกล่าว สอดคล้องกับการปรับตัวขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นสัญญาณเชิงบวกที่สะท้อนว่า ผลกระทบจากปัจจัยทางการเมืองที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศได้ทยอยเบาบางลงไปมากแล้ว

การบริโภคภาคเอกชนเดือนมิ.ย. ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยมีอัตราสูงถึงร้อยละ 2.7 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) สอดคล้องกับทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ขยับขึ้นมาที่ระดับ 77.1 จากระดับ 75.5 ในเดือนก่อนหน้า

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 8.3 ในเดือนมิ.ย. เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.4 ในเดือนพ.ค. นำโดย ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งที่สูงเป็นประวัติการณ์ ซึ่งเป็นผลจากการทยอยส่งมอบรถตามคำสั่งซื้อสะสมในช่วงก่อนหน้า ขณะที่ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ก็ขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าในเดือนก่อนด้วยเช่นกัน และสำหรับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์นั้น ก็ขยายตัวได้ดี โดยมีแรงหนุนเพิ่มเติมจากการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร

การลงทุนภาคเอกชนเดือนมิ.ย. ขยายตัวจากเดือนก่อนหน้า (MoM) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 อีกร้อยละ 0.8 ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในปัจจุบันและคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ หลังจากที่ได้รับผลกระทบช่วงสั้นๆ 2 เดือนก่อนหน้าจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความรุนแรง
เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงที่สุดในรอบเกือบ 6 ปีครึ่งที่ร้อยละ 21.2 ในเดือนมิ.ย. ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 20.8 ในเดือนพ.ค. โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำมากในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เครื่องชี้หลักขององค์ประกอบดัชนีการลงทุนภาคเอกชน อาทิ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวได้อย่างโดดเด่น เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์และพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างซึ่งเป็นเครื่องชี้ในหมวดก่อสร้างที่ยังคงรักษาทิศทางการขยายตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่อง

การผลิตภาคอุตสาหกรรม…แข็งแกร่งเกินคาด

การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวแข็งแกร่งเกินคาดทั้งเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ

การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย. พลิกกลับมาขยายตัวร้อยละ 5.3 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) หลังจากที่หดตัวในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. โดยการดีดตัวขึ้นของผลผลิตเกิดขึ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยอุตสาหกรรมที่เน้นเพื่อการส่งออกและเพื่อขายในประเทศขยายตัวร้อยละ 4.8 และร้อยละ 7.3 ตามลำดับ ขณะที่ อุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อขายทั้งตลาดในประเทศและส่งออกขยายตัวร้อยละ 4.0

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 21.3 ในเดือนมิ.ย. เร่งกลับมาจากที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 17.5 ในเดือนพ.ค. แต่ก็เป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอลงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 1/2553 ที่ผ่านมา โดยกลุ่มอุตสหกรรมที่มีการขยายการผลิตค่อนข้างมาก ได้แก่ อุตสาหรรมในหมวดยานยนต์ (ร้อยละ 86.8) อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 12.9) เครื่องใช้ไฟฟ้า (ร้อยละ 31.8) และสิ่งทอ (ร้อยละ 8.5)

ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย.2553 ที่กลับมาเร่งสูงขึ้นอีกครั้งจากเดือนก่อนหน้า ได้ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตปรับเพิ่มขึ้นในทิศทางที่สอดคล้องกันมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน ที่ร้อยละ 68.6 ในเดือนมิ.ย. จากร้อยละ 67.1 ในเดือนพ.ค.

ผลผลิตและราคาพืชผลเพิ่มสูงขึ้นในเดือนมิ.ย. โดยราคาพืชผลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 39.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 29.5 ในเดือนพ.ค. โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาวะภัยแล้งและเพลี้ยระบาด ขณะที่ อุปสงค์ตลาดโลกที่มีต่อยางพารา ข้าวเปลือกเหนียว และมันสำปะหลังยังคงแข็งแกร่ง ส่วนทางด้านผลผลิตพืชผลนั้น ขยายตัวร้อยละ 7.5 (YoY) เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา และข้าวนาปรัง ทั้งนี้ การปรับตัวดีขึ้นทั้งทางด้านราคาและผลผลิตพืชผล ได้ส่งผลทำให้รายได้เกษตรกรปรับเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50.1 ในเดือนมิ.ย. จากร้อยละ 33.5 ในเดือนพ.ค.

ดุลการค้าเกินดุลสูง แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยกว่ามาก เนื่องจากการขาดดุลบริการฯ

การส่งออกเดือนมิ.ย. มีมูลค่า 17.9 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์ของการส่งออกไทย โดยการส่งออกขยายตัวร้อยละ 3.9 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) และร้อยละ 47.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ต่อเนื่องจากที่ขยายตัวร้อยละ 42.5 ในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ การส่งออกขยายตัวในทุกกลุ่มสินค้า ขณะที่ การส่งออกในกลุ่มที่เน้นใช้แรงงานขยายตัวในอัตราที่สูงต่อเนื่อง เนื่องจากมีการส่งออกทองคำอีก 926 ล้านดอลลาร์ฯ ในระหว่างเดือน ขณะที่ การนำเข้าเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า (MoM) และร้อยละ 38.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 53.5 ในเดือนพ.ค. โดยเป็นการชะลอลงในเกือบทุกหมวดยกเว้นในหมวดสินค้าทุน

ดุลการค้าเกินดุลสูง…แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยกว่ามากเนื่องจากการขาดดุลบริการฯ มูลค่าการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามากกว่ามูลค่าการนำเข้าได้ส่งผลให้ดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุลสูงถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้นจากที่เกินดุล 2.3 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ค.

แม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนมิ.ย. จะเพิ่มขึ้นมาที่ 9.53 แสนคน จากระดับ 8.15 แสนคน ในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี รายรับจายภาคการท่องเที่ยวยังคงอยู่ในระดับต่ำ และเมื่อรวมกับรายจ่ายด้านผลประโยชน์จากการลงทุนในช่วงตกงวดของการจ่ายเงินปันผล จึงส่งผลทำให้ดุลบริการฯ บันทึกยอดขาดดุลสูงถึง 1.86 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนมิ.ย. มากกว่าที่ขาดดุล 1.26 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ค. และเมื่อรวมยอดของดุลบริการฯ ที่ขาดดุลเพิ่มขึ้นมากเข้ากับยอดเกินดุลการค้าในเดือนมิ.ย. จึงทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลเพียง 0.68 พันล้านดอลลาร์ฯ หลังจากที่เกินดุล 1.04 พันล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนพ.ค.

โดยสรุป ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2553 สะท้อนทิศทางที่แข็งแกร่งขึ้นมากกว่าที่คาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องชี้ในส่วนของการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งทางด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นหลังจากที่ได้รับผลกระทบในช่วงสั้นๆ 1-2 เดือนก่อนหน้า ขณะที่ ภาคการส่งออกก็มีทิศทางที่สดใสสอดคล้องกันกับเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และอานิสงส์จากกรอบการค้าเสรีหลายกรอบ

จากการพิจารณาภาพรวมของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน พบว่า เครื่องชี้ส่วนใหญ่สะท้อนผลกระทบทางการเมืองที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับที่ค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วหลังจากที่การชุมนุมทางการเมืองในย่านราชประสงค์สิ้นสุดลง ขณะที่ การใช้จ่ายเพื่อการบริโภค-ลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการใช้จ่ายของรัฐบาล ก็ได้ทยอยฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่งในช่วงเดือนสุดท้ายของไตรมาสที่ 2/2553 และเมื่อประกอบภาพของความแข็งแกร่งของการใช้จ่ายภายในประเทศ เข้ากับการขยายตัวสูงของภาคการส่งออกทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยสะท้อนสัญญาณในเชิงบวกได้มากกว่าที่คาดในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 แม้ว่าบางภาคเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองในประเทศค่อนข้างรุนแรงในช่วงเดือนแรกๆ ของไตรมาสก็ตาม ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ในเบื้องต้นว่า เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้สูงกว่าร้อยละ 7.0 ในช่วงไตรมาสที่ 2/2553 ซึ่งสูงกว่ากรอบบนของประมาณการเดิมที่ร้อยละ 5.5-6.0 อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองเช่นเดิมว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจของประเทศในแกนหลักของโลก และประเทศส่วนใหญ่ในแถบเอเชีย ซึ่งก็น่าจะทำให้ต้องจับตาทิศทางของภาคการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิดต่อไป