การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้เติบโตร้อยละ 36.6(YoY) โดยเป็นการขยายตัวดีขึ้นทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ตามการฟื้นตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ซึ่งรัสเซียถือเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกใหม่ของไทยที่มีอัตราเติบโตอย่างโดดเด่นแม้ว่าจะมีมูลค่าการส่งออกไม่สูงนักแต่ขยายตัวพุ่งสูงถึงร้อยละ 64.1(YoY) นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนการส่งออกของไทยไปรัสเซียจากการเดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับรัสเซียของผู้แทนภาครัฐบาล โดยกระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนไทยเมื่อวันที่ 14-19 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมาส่งผลให้แนวโน้มความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและรัสเซียมีความใกล้ชิดมากขึ้น กระทรวงพาณิชย์จึงตั้งเป้าหมายการขยายตัวของการส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียในปีนี้ประมาณร้อยละ 10-20 โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าสำคัญที่มีโอกาสขยายตัวค่อนข้างมาก ได้แก่ ข้าว กุ้ง ผลไม้ เครื่องปรุงรส และอาหารแปรรูป เป็นต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า มีประเด็นที่น่าสนใจที่จะขับเคลื่อนการส่งออกของไทยไปรัสเซียในช่วงที่เหลือของปีดังนี้
เศรษฐกิจรัสเซียมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องในครึ่งปีหลังแม้ว่าอัตราเติบโตอาจชะลอลงตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่อ่อนแรงลง โดยไตรมาส 2/2553 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5.4(YoY) สูงขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.9(YoY) ส่งผลให้ในครึ่งแรกของปีมีอัตราเติบโตร้อยละ 4.1(YoY) เทียบกับปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 7.9 คาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียในปี 2553 น่าจะเติบโตได้ใกล้เคียงกับที่ทางรัฐบาลรัสเซียคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.0 ทั้งนี้แนวโน้มเศรษฐกิจรัสเซียยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นสำคัญ โดยระดับราคาน้ำมันที่ขยับขึ้นสู่ระดับปกติเฉลี่ยราว 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวสูงร้อยละ 40.8 ส่งผลให้เศรษฐกิจรัสเซียในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวค่อนข้างดี ในขณะที่ความต้องการบริโภคและการลงทุนในประเทศยังอ่อนแรง ทำให้ความต้องการนำเข้าขยายตัวไม่สูงนักในอัตราร้อยละ 33.2 ทั้งนี้แรงขับเคลื่อนด้านการส่งออกของรัสเซียที่อาจชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้แต่คาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียในครึ่งหลังของปีนี้น่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าเพื่อการผลิตและบริโภคในรัสเซียขยายตัวตามไปด้วย รวมทั้งความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยที่คาดว่ายังมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่อง
การส่งออกไปรัสเซียยังเติบโตได้อีกมากจากฐานปัจจุบันที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งการส่งออกของไทยไปรัสเซียในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่ขยายตัวสูงร้อยละ 64.1(YoY) จากที่หดตัว 57.7(YoY) ในปี 2552 ที่ผ่านมา นอกจากนี้การส่งออกของไทยไปรัสเซียยังขยายตัวสูงกว่าการส่งออกทั้งหมดของไทยที่ขยายตัวร้อยละ 36.6(YoY) โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปรัสเซีย ได้แก่ ยานยนต์/ส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า/ส่วนประกอบ สินค้าเกษตรกรรม(ยางพารา ข้าว กุ้งสด) ผลไม้กระป๋อง/แปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป น้ำตาลทราย สิ่งทอ อัญมณี/เครื่องประดับ เหล็ก/ผลิตภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น จากโครงสร้างการส่งออกของไทยจะเห็นได้ว่าการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม/อุตสาหกรรมการเกษตรมีสัดส่วนร้อยละ 30 ของการส่งออกของไทยไปรัสเซีย ซึ่งสินค้าส่งออกของไทยไปรัสเซีย 20 อันดับแรก เป็นสินค้าในกลุ่มเกษตรและอาหารถึงร้อยละ 26 โดยการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยไปรัสเซียในช่วงครึ่งแรกของปีขยายตัวร้อยละ 97.2(YoY) สูงกว่าการขยายตัวของการส่งออกรวมของไทยไปรัสเซีย จึงกล่าวได้ว่ากลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารเป็นสินค้าที่มีศักยภาพด้านการส่งออกของไทยและเป็นที่ต้องการในตลาดรัสเซีย สำหรับสินค้าอื่นๆของไทยก็ยังขยายตัวได้ดี รัสเซียจึงเป็นตลาดที่น่าสนใจและไม่ควรมองข้าม
สินค้าเกษตร/อาหารของไทยมีโอกาสขยายตัวในรัสเซีย เนื่องจากสภาพภูมิอากาศของรัสเซียหนาวเย็นทำให้การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค รัสเซียจึงเป็นผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ของโลก มีขนาดประชากร 142 ล้านคน การใช้จ่ายสำหรับซื้ออาหารของประชากรในรัสเซียมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด โดยมีระดับรายได้ต่อหัวอยู่ในเกณฑ์สูงราว 8,693 เหรียญสหรัฐฯ/คน/ปี(ไทย 3,939 เหรียญสหรัฐฯ/คน/ปี รายงานโดย World Economic Outlook Database, April 2010, IMF) จึงถือเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสินค้าไทย ซึ่งในปัจจุบันไทยยังส่งออกสินค้าอาหารไปรัสเซียไม่มากนัก แต่เนื่องจากคุณภาพของสินค้าอาหารไทยค่อนข้างเป็นที่ยอมรับของชาวรัสเซียจึงยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับสินค้าอาหารจากประเทศไทย กลุ่มสินค้าอาหารนำเข้าที่สำคัญของรัสเซีย ได้แก่ ข้าว ผัก ผลไม้สด อาหารทะเลสด และอาหารแปรรูป จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยในการขยายตลาดสินค้าอาหารในรัสเซีย โอกาสและอุปสรรคสำหรับสินค้าอาหารที่สำคัญของไทยในรัสเซีย มีดังนี้
สินค้า
ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็น
ผักและผลไม้สด/แปรรูป/กระป๋อง
ตลาดผักและผลไม้ในรัสเซียมีความใกล้เคียงกับยุโรป นิยมบริโภคผักและผลไม้เมืองหนาวซึ่งไทยอาจเสียโอกาสจากความแตกต่างด้านการบริโภค ผลไม้ที่นิยม ได้แก่ แอปเปิ้ล ส้ม กล้วยหอม องุ่น แพร์ พีช ผลนัท แตงโม เมลอน ผลเบอร์รี่ กีวี ส้มเกรฟฟรุ้ต อโวคาโด้ ถั่ว มะกอก ผักที่นิยม ได้แก่ มะเขือเทศ หัวหอมใหญ่ ผักกาด แตงกวา มันฝรั่ง แหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ ยุโรปตะวันตก กลุ่มประเทศ CIS และจีน
สินค้าที่รัสเซียมีความต้องการนำเข้าผัก/ผลไม้สด(HS 07, HS 08)มูลค่าประมาณ 5,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้แก่ แอปเปิ้ล ส้ม(นำเข้า 50% ของการบริภค) กล้วยหอม(นำเข้า 100% ส่วนใหญ่จากเอกวาดอร์) องุ่น เป็นต้น ไทยมีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างน้อยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.05 เนื่องจากความต้องการบริโภคที่แตกต่างกัน
ผลไม้ไทยที่นิยม กว่าร้อยละ 50 เป็นสับปะรด ผลไม้อื่นๆ ได้แก่ ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะม่วงสุก มะละกอ และมะพร้าว เป็นต้น
ตลาดผักและผลไม้แปรรูป(HS 20)ของไทยมีโอกาสแข่งขัน รัสเซียมีมูลค่านำเข้าประมาณ 1,140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยมีส่วนแบ่งร้อยละ 4.1 ของการนำเข้าผัก/ผลไม้แปรรูป และไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 8 รองจากจีน โปแลนด์ สเปน ยูเครน เนเธอร์แลนด์ บราซิล และฮังการี ตามลำดับ ผักและผลไม้แปรรูปไทย ได้แก่ สับประรดกระป๋อง ผลไม้อบแห้ง หน่อไม้กระป๋อง ฟรุ๊ตสลัด สับปะรดกระป๋อง โดยเฉพาะข้าวโพดหวานกระป๋องที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 1 ของรัสเซีย
อาหารทะเลสด/แปรรูป/กระป๋อง
รัสเซียมีความสามารถในการผลิตอาหารทะเลค่อนข้างสูงโดยเฉพาะสัตว์ทะเลที่เป็นที่นิยมบริโภค โดยเฉพาะอาหารทะเลประเภทปลาในลักษณะดิบ รมควัน คู่กับขนมปังและสเปรด ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลาตาเดียว ปลาเทราต์ และกุ้ง(นิยมนำมาต้มสุกเพื่อใส่ในสลัด)
แหล่งนำเข้าของรัสเซีย ได้แก่ จากนอร์เวย์ ฟินแลนด์ อังกฤษ เด่นมาร์ก ไอซ์แลนด์ จีน เวียดนาม ชิลี แคนาดา สหรัฐฯ และไทย(โดยเฉพาะกุ้ง)
สินค้าสำคัญของไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าแปรรูป ได้แก่ ปลาเค็ม ปลาตากแห้ง ปลากระป๋อง เนื้อปูอัด อาหารญี่ปุ่น แต่สำหรับสินค้าสด กุ้งสดแช่เย็นและแช่แข็งของไทยครองตลาดกุ้งแช่แข็งในรัสเซียได้ในระดับสูงและมีโอกาสขยายตัวอีกมาก ได้แก่ กุ้งขาวสดแช่เย็น/แช่แข็ง/ต้มสุกประเภททั้งตัว(Head on Shell on) และเด็ดหัว(Headless Shell on)
ข้าว
รัสเซียสามารถผลิตข้าวได้เองในพื้นที่ตอนใต้แต่เป็นข้าวคุณภาพต่ำจึงไม่เพียงพอกับความต้องการจึงต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ สำหรับข้าวไทยในตลาดรัสเซียถือเป็นข้าวคุณภาพสูง
ไทยครองส่วนแบ่งตลาดแหล่งนำเข้าข้าว(HS1006)อันดับ 1 ของรัสเซีย สัดส่วนร้อยละ 33.8 รองลงมาได้แก่ เวียดนาม จีน ปากีสถาน และอุรุกวัย ตามลำดับ
คู่แข่งที่สำคัญของไทย ได้แก่ เวียดนาม(ข้าวขาว)มีมูลค่าการค้าใกล้เคียงกับไทย ในขณะที่จีนมีความได้เปรียบด้านราคาและที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับตลาด
สินค้าอาหารอื่นๆ
น้ำตาล(HS1701)รัสเซียต้องการนำเข้าปีละกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการนำเข้าจากละตินอเมริกา และสหภาพยุโรป รัสเซียนำเข้าน้ำตาลจากไทยเป็นอันดับที่ 4 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.7 ของการนำเข้าน้ำตาล รองจากบราซิล(สัดส่วนร้อยละ 67) คิวบา เอลซาวาดอร์ ตามลำดับ
กากอาหารและอาหารสัตว์เลี้ยง(HS 23) รัสเซียต้องการนำเข้า 882.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แหล่งนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยุโรป สหรัฐฯ และละตินอเมริกา โดยนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 16 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.5
สิทธิพิเศษ/ข้อตกลงทางการค้าของรัสเซียช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกของไทยไปรัสเซียซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม เนื่องจากการส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียอาจมีอุปสรรคทางภาษีสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีอัตราภาษีเฉลี่ยสูงกว่าสินค้าอุตสาหกรรมในขณะที่ไทยมีความโดดเด่นด้านการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร ดังนั้นการส่งออกควรเน้นการแปรรูปเป็นสินค้าอาหารนอกจากจะช่วยลดอุปสรรคทางภาษีแล้วยังช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า แต่สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมควรส่งออกสินค้าจำพวกวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป หรือสินค้าทุนเพื่อป้อนผู้ผลิตในรัสเซียซึ่งจะได้ประโยชน์ทางภาษีในระดับที่ต่ำกว่าสินค้าสำเร็จรูป
รัสเซียปรับโครงสร้างอัตราภาษีสินค้านำเข้าเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นสมาชิก WTO ซึ่งรัสเซียสมัครเป็นสมาชิก WTO ในปี 2536 เดิมทีอัตราภาษีนำเข้าของรัสเซียมีความซับซ้อนและกำหนดอัตราภาษีในระดับสูงซึ่งเป็นอุปสรรคทางการค้าสำหรับประเทศอื่นๆ และในปี 2542 รัสเซียได้ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนของการเป็นสมาชิก WTO จึงปรับโครงสร้างภาษีนำเข้าตามอัตราภาษีผูกพันที่กำหนดไว้แก่ประเทศสมาชิกหรือ MFN rate ในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 10.8 โดยสินค้าเกษตรมีอัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 14.2(อัตราภาษีสูงสูดอยู่ที่ร้อยละ 456) ซึ่งสูงกว่าสินค้าอุตสาหกรรมที่มีอัตราภาษีเฉลี่ยร้อยละ 10.2(อัตราภาษีสูงสูดอยู่ที่ร้อยละ 218) ทั้งนี้สินค้าเกษตรและอาหารไทยที่มีศักยภาพแม้จะมีอัตราภาษีสูงกว่าอัตราภาษีเฉลี่ยแต่ก็อยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก เช่น ผักและผลไม้เฉลี่ยร้อยละ 12.0 ธัญพืชเฉลี่ยร้อยละ14.6 น้ำตาลเฉลี่ยร้อยละ 19.0 และปลาและผลิตภัณฑ์จากปลาเฉลี่ยร้อยละ 13.5 เป็นต้น นอกจากนี้สินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆที่มีอัตราภาษีในระดับค่อนข้างต่ำและเป็นโอกาสของไทย ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า และอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น
ความตกลงทางการค้าของรัสเซียมี 7 ฉบับ ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาร์เมเนีย-รัสเซีย(Armenia – Russian Federation) เขตเศรษฐกิจร่วม(Common Economic Zone) เขตการค้าเสรีกลุ่มรัฐเครือรัฐเอกราช(Commonwealth of Independent States: CIS) เขตสหภาพศุลกากรยูเรเซียร์(Eurasian Economic Community: EAEC) เขตการค้าเสรีจอร์เจีย-รัสเซีย(Georgia – Russian Federation) เขตการค้าเสรีคีร์กีซสถาน-รัสเซีย(Kyrgyz Republic – Russian Federation) และเขตการค้าเสรียูเครน-รัสเซีย(Ukraine – Russian Federation) เป็นต้น จะเห็นได้ว่าความตกลงทางการค้าส่วนใหญ่ของรัสเซียเป็นความตกลงระหว่างรัสเซียและประเทศในกลุ่ม CIS กล่าวได้ว่าหากไทยส่งออกสินค้าจำพวกวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป สินค้าทุนเข้าไปผลิตและแปรรูปเป็นส่วนหนึ่งเครือข่ายการผลิตของนักลงทุนในรัสเซียก็อาจเป็นช่องทางหนึ่งสำหรับขยายสินค้าไทยไปรัสเซียเพื่อผลิตและส่งออกต่อไปยังประเทศในกลุ่ม CIS ได้อีกทางหนึ่งด้วย
สิทธิพิเศษ GSP ของรัสเซียและรัฐอิสระ CIS (10 ประเทศ) รัสเซียและประเทศ CIS ได้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือ GSP แก่ประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2508 ครอบคลุมการให้สิทธิพิเศษแก่สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมจำนวนหลายรายการ โดยไม่มีการจำกัดโควตาหรือเพดานในการให้สิทธิ์ฯ และสามารถขอแบบฟอร์ม A(Form A) เพื่อขอรับสิทธิ GSP ของรัสเซียและรัฐอิสระ CIS ได้ที่กรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2553 การใช้สิทธิ GSP ของรัสเซียและรัฐอิสระ CIS มีมูลค่า 75.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 58.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้การขอแบบฟอร์ม A ของไทยเพื่อส่งออกไปยังรัสเซียและ CIS คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 24.4 ของมูลค่าการส่งออกไปยังรัสเซียและ CIS ทั้งหมด สะท้อนว่ามีผู้ใช้สิทธิดังกล่าวไม่สูงนักอาจทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาสทางการแข่งขันด้านราคาเพื่อเข้าสู่ตลาดรัสเซีย ทั้งนี้สินค้าที่ได้สิทธิ์ GSP ของรัสเซียและรัฐอิสระ CIS จะมีอัตราภาษีในระดับต่ำอยู่ที่ร้อยละ 5, 10, 15 และร้อยละ 20 เช่น อัตราภาษีร้อยละ 5(ผลไม้ เมล็ดพืชและผลไม้ที่มีน้ำมัน ครั่ง/เรซินสิ่งสะกัดจากพืช โกโก้ ยาสูบ เกลือและไหม) อัตราภาษีร้อยละ 10(ปลา สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ข้าว และผลิตภัณฑ์จากการโม่ธัญพืช) อัตราภาษีร้อยละ 15 (ผลิตภัณฑ์นม ไข่ สัตว์ปีก ผัก เครื่องปรุงรส เส้นใยสิ่งทอ ซีเมนต์ และแก้ว) และอัตราร้อยละ 20(ของปรุงแต่งจากเนื้อสัตว์/ปลา/สัตว์น้ำ สิ่งทอ ไข่มุก และเฟอร์นิเจอร์) เป็นต้น
บทสรุป
การส่งออกของไทยไปรัสเซียในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ขยายตัวพุ่งสูงถึงร้อยละ 64.1(YoY) ส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานที่ต่ำในปี 2552 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจรัสเซียในปีนี้ที่กลับมาเติบโตร้อยละ 5.4 ในไตรมาส 2/2553 และร้อยละ 2.9 ในไตรมาส 1/2553 หลังจากที่ประสบภาวะหดตัวร้อยละ 7.9 ในปี 2552 ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกของไทยไปรัสเซียไม่สูงนักคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปต่างประเทศ แต่แนวโน้มในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจของรัสเซียที่ฟื้นตัวได้ต่อเนื่องรวมทั้งได้รับแรงกระตุ้นจากภาครัฐบาลไทยที่เดินทางไปกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับรัสเซีย ทั้งยังตั้งเป้าหมายการส่งออกสินค้าไทยไปรัสเซียในปีนี้ให้ขยายตัวร้อยละ 10-20 ซึ่งแรงขับเคลื่อนต่างๆดังกล่าวจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าของไทยที่ได้มีแนวโน้มขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้ตามความต้องการนำเข้าของรัสเซียที่มีแนวโน้มเติบโตจากภาวะเศรษฐกิจของรัสเซียที่คาดว่ายังเติบโตได้ต่อเนื่องใน 2 ไตรมาสสุดท้าย แม้ว่าอัตราเติบโตมีแนวโน้มชะลอลงจากไตรมาส 2/2553 ขณะที่รัฐบาลรัสเซียคาดว่าเศรษฐกิจรัสเซียปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 4.0
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารของไทยไปรัสเซียมีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างดีเนื่องจากเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตทั้งยังเป็นที่ต้องการบริโภคในตลาดรัสเซีย แต่อย่างไรก็ตามสินค้าอื่นๆของไทยก็มีโอกาสขยายตัวอีกมาก เช่น ยานยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณี และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น สินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีโอกาสขยายตัวโดยเฉพาะผลไม้สด(สับปะรด ส้มโอ ส้มเขียวหวาน มะละกอ มะพร้าว) ผักและผลไม้แปรรูป/กระป๋อง(ข้าวโพดหวานกระป๋อง สับปะรดกระป๋อง) กุ้งสดแช่เย็น/แช่แข็ง ข้าว น้ำตาล และอาหารสัตว์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามอุปสรรคหลายด้านที่ควรระวัง ได้แก่ พฤติกรรมการบริโภคของรัสเซียมีลักษณะคล้ายยุโรปโดยนิยมบริโภคผักและผลไม้เมืองหนาว และอาหารแบบตะวันตก ในขณะที่สินค้าไทยเป็นสินค้าเมืองร้อน รวมทั้งต้นทุนการขนส่งสินค้าจากไทยไปรัสเซียค่อนข้างสูงจากระยะทางที่ห่างไกล การขนส่งสินค้าอาหารจำพวกผักและผลไม้สดแม้จะมีโอกาสแต่ก็มีต้นทุนการด้านการเก็บรักษาความสดทำให้ราคาสินค้าอาหารไทยโดยเฉพาะผักและผลไม้ไทยค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับพืชผลเมืองหนาว นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคจากมาตรการที่มิใช่ภาษีซึ่งการนำเข้าสินค้าอาหารและเกษตรไปขายในรัสเซียโดยเฉพาะข้าวและสินค้าประมงต้องผ่านการตรวจสอบได้รับหนังสือรับรองจากหน่วยงานของรัสเซียและไทย(กรมวิชาการเกษตร, กรมประมง) จึงจะสามารถนำเข้าไปขายในรัสเซียได้
ข้อเสนอแนะ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดรัสเซียที่นักธุรกิจไทยไม่ควรมองข้าม ได้แก่ เจาะตลาดที่มีศักยภาพในการซื้อสินค้าไทย ได้แก่ กรุงมอสโกและเซนต์ปีเตอร์เบิร์กที่เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งมีประชากรร้อยละ 10.6 ของประเทศหรือประมาณ 15 ล้านคน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษ/ข้อตกลงทางการค้าของรัสเซียเพื่อช่วยเพิ่มโอกาสส่งออกของไทยไปรัสเซีย เช่น สิทธิ GSP ของรัสเซียและรัฐอิสระ CIS เพื่อลดอุปสรรคทางภาษีสินค้านำเข้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่ไทยมีความสามารถในการผลิตในขณะที่มีอัตราภาษีสินค้าเกษตรอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 0-456 สูงกว่าสินค้าอุตสาหกรรมที่มีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 0-218 นอกจากนี้การแปรรูปสินค้าสินค้าเกษตร/สินค้าอาหารให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคในรัสเซียนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการเก็บรักษาแล้ว ยังลดอุปสรรคในอุปสรรคทางภาษีได้อีกทางหนึ่ง แต่สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมควรส่งออกสินค้าจำพวกวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป หรือสินค้าทุนเพื่อป้อนผู้ผลิตในรัสเซียซึ่งจะได้ประโยชน์ทางภาษีในระดับที่ต่ำกว่าสินค้าสำเร็จรูป