น้ำท่วมเดือน ต.ค.-พ.ย. 53 … ความเสียหายอาจสูงถึง 32,000-54,000 ล้านบาท

จากสถานการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2553 ที่ขยายผลกระทบรุนแรงขึ้น ครอบคลุมพื้นที่กว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ โดยนอกเหนือจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือแล้ว ยังขยายผลกระทบครอบคลุมไปถึงพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งได้สร้างความสูญเสียอย่างมากต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบในระหว่างที่เกิดน้ำท่วม ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม การบริการ และอื่นๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยล่าสุด โดยมีประเด็นสรุป ดังนี้

– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อุทกภัยครั้งนี้อาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 32,400-54,200 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ผลของเหตุการณ์น้ำท่วมจะทำให้มีเม็ดเงินกลับเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ จากการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลเพื่อชดเชยและฟื้นฟูความเสียหาย ขณะที่ภาคเอกชนน่าจะมีการใช้จ่ายเพื่อซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหาย การจัดหาและบริจาคสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งผู้ประกอบการคงมีการเร่งกิจกรรมการผลิตและการตลาดเพื่อชดเชยจากที่หยุดชะงักไปในช่วงน้ำท่วม

– ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า ผลกระทบสุทธิต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอาจอยู่ในช่วงประมาณ 15,600-30,500 ล้านบาท ซึ่งอาจจะฉุดจีดีพีในไตรมาสที่ 4/2553 ให้ลดลงร้อยละ 0.6-1.2 จากคาดการณ์ในกรณีที่ไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วม (ที่ร้อยละ 2.0) มาอยู่ที่ร้อยละ 0.8-1.4 YoY นอกจากนี้ อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4/2553 สูงขึ้นมาที่ร้อยละ 2.9-3.1 YoY จากคาดการณ์ในกรณีไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมจะอยู่ที่ร้อยละ 2.6 (ปรับตัวเลขลงต่ำกว่าประมาณการในเดือนก่อนหน้าที่คาดไว้ที่ร้อยละ 3.2 เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนตุลาคมออกมาต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้มาก)

– สำหรับผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปี คาดว่าจะส่งผลให้จีดีพีในปี 2553 ลดลงร้อยละ 0.15-0.31 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.8-6.9 จากคาดการณ์ในกรณีไม่มีน้ำท่วมอาจขยายตัวได้ร้อยละ 7.1 (ปรับตัวเลขสูงขึ้นกว่าประมาณการในเดือนก่อนที่คาดไว้ที่ร้อยละ 7.0 เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนกันยายนที่ออกมาดีกว่าคาด ส่งผลให้ประมาณการ จีดีพีในไตรมาสที่ 3/2553 ขยับสูงขึ้น) ส่วนอัตราเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นมาที่ร้อยละ 3.3-3.4 จากคาดการณ์กรณีไม่มีน้ำท่วมอาจอยู่ที่ร้อยละ 3.26