ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เมื่อวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมาเป็นไปตามที่คาด โดยเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในกรอบร้อยละ 0.0-0.25 ตามเดิม พร้อมกับประกาศโครงการซื้อสินทรัพย์รอบสอง (Quantitative Easing Measures II: QE 2) มูลค่าประมาณ 6.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ จนถึงกลางปี 2554 ซึ่งก็เท่ากับว่า จะมีการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวด้วยวงเงินประมาณ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือนนับจากนี้ ทั้งนี้ เฟดระบุเพิ่มเติมว่า เฟดจะทำการทบทวนจังหวะการเข้าซื้อ รวมถึงขนาดของโครงการซื้อสินทรัพย์รอบสองนี้ เป็นระยะๆ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จุดยืนเชิงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของเฟดดังกล่าว (และน่าที่จะมีการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มขึ้นอีกตามระดับความเสี่ยงต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า) อาจเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางอ้อม (Side Effect) ต่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศอื่นๆ นอกสหรัฐฯ ซึ่งย่อมจะทำให้ธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้น มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงิน ควบคู่ไปกับมาตรการด้านอื่นๆ ในการดูแล-ควบคุมความเสี่ยงเงินเฟ้อและภาวะฟองสบู่ เพื่อที่จะรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ที่ต้องรับมือกับความแปรปรวนของกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ
? แนวทางนโยบายการเงินของเฟด…ผ่อนคลายเพิ่มขึ้น
แนวโน้มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่อาจจะอยู่ในระดับต่ำยาวนานกว่าที่คาด ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเพิ่มเติมแรงหนุนต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2553 ด้วยมาตรการซื้อสินทรัพย์รอบสอง (QE 2) นอกเหนือไปจากการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Funds Rate) ไว้ที่กรอบร้อยละ 0.0-0.25 ซึ่งเป็นระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ต่อไปอีกระยะหนึ่ง
– เฟดเพิ่มระดับการผ่อนคลายเชิงปริมาณ โดยได้ประกาศมาตรการ QE 2 วงเงิน 6.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งเกือบร้อยละ 90 เป็นพันธบัตรอายุ 2.5-10 ปี ในช่วงจากนี้จนถึงกลางปี 2554 นอกเหนือไปจากการใช้เม็ดเงินราว 2.5-3.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ที่ได้จากการครบกำหนดไถ่ถอนของหลักทรัพย์ที่เฟดถือครองในช่วงเวลาเดียวกัน (ภายใต้ QE รอบแรกวงเงิน 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ฯ) กลับมาลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ดังนั้น จึงสามารถประเมินในเบื้องต้นได้ว่า โครงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ของเฟดทั้งในส่วนที่มาจาก QE 1+QE 2 จะมีมูลค่าประมาณ 1.1 แสนล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน แต่มูลค่าการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อเดือนอาจเพิ่มสูงขึ้นในระยะข้างหน้า หากความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีมากขึ้น
– เฟดผ่อนคลายระเบียบเพดานการถือครองหลักทรัพย์เพื่อการเปิดทางสำหรับมาตรการ QE 2 โดยระบุว่า สัดส่วนการถือครองหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งๆ ของเฟด อาจเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าเพดานที่ร้อยละ 35 เป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ เฟดได้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 12.5 ของยอดคงค้างรวมในปัจจุบัน ซึ่งหากมีการเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมอีก 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ตามที่นักวิเคราะห์บางส่วนประเมินไว้ ก็อาจทำให้สัดส่วนของพันธบัตรรัฐบาลที่ถือครองโดยเฟดพุ่งขึ้นเป็นร้อยละ 27 ของยอดคงค้างรวม
? ปัญหาสภาพคล่องท่วม ความเสี่ยงฟองสบู่นอกสหรัฐฯ …มุมมองศูนย์วิจัยกสิกรไทย
คงไม่สามารถปฏิเสธว่า แนวทางการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่เพิ่มไปจากการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ในกรอบร้อยละ 0.0-0.25 ด้วยการประกาศโครงการซื้อสินทรัพย์ทางการเงินรอบสอง (QE 2) ซึ่งมีวงเงินเริ่มต้น 6.0 แสนล้านดอลลาร์ฯ ระยะเวลาราว 8 เดือน (จนถึงกลางปี 2554) นั้น จะกลายเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้ปัญหาสภาพคล่องส่วนเกินในระบบการเงินโลกยังคงมีอยู่ต่อไปในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ซึ่งก็อาจเป็นนัยว่า “ผลกระทบทางอ้อม หรือ Side Effect” ต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงฟองสบู่ราคาสินทรัพย์นอกสหรัฐฯ อาจเป็นสถานการณ์ที่ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศ รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ จากประสบการณ์ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงกว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า การวางแนวทางนโยบายการเงินที่ผิดพลาดไม่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ อาจกลายเป็นชนวนที่ก่อให้เกิดช่วงเวลาของภาวะตกต่ำยาวนานทางเศรษฐกิจ ภายหลังจากข้อตกลง Plaza Accord 1985 ที่ทางการ 5 ประเทศเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราร่วมกันเพื่อทำให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงนั้น ทางการญี่ปุ่นที่ต้องรับมือกับปัญหาการแข็งค่าของเงินเยน ได้วางแนวทางนโยบายการเงินในเชิงผ่อนคลายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ ซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เกิดขึ้นก็คือ เศรษฐกิจญี่ปุ่นสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งในช่วงเวลาหนึ่ง พร้อมๆ กับการก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วของภาวะฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ การหมุนขั้วนโยบายการเงินเป็นเชิงคุมเข้มในจังหวะเวลาที่ช้าเกินไปของธนาคารกลางญี่ปุ่น กลายเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ทำให้ผลกระทบที่มีต่อภาคธนาคารของญี่ปุ่นมีความรุนแรง และญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจพร้อมกับภาวะเงินฝืดยาวนานในช่วงเวลาหลังฟองสบู่แตกตัวลง
แม้ว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบันจะมีความแตกต่างไปจากประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในบางประเด็น โดยแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ในขณะนี้ มีต้นเหตุมาจากความกังวลต่อแนวทางการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟด อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า บทเรียนสำคัญที่ธนาคารกลางชาติต่างๆ สามารถนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ในปัจจุบันเพื่อรับมือกับ “ผลกระทบทางอ้อม หรือ Side Effect” ที่มีต่อเสถียรภาพของสกุลเงินและเศรษฐกิจโดยรวม ก็คือ การวางแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับพลวัตรทางเศรษฐกิจ เพื่อคงไว้ซึ่งเป้าหมายในการดูแลเสถียรภาพ ท่ามกลางกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่อาจมีความผันผวนมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า “ผลกระทบทางอ้อม” ประการแรก ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็คือ การปรับตัวแข็งค่าของเงินบาทในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และน่าที่จะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องอีกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า (เครือธนาคารกสิกรไทยคาดว่า เงินบาทอาจทดสอบระดับ 29.00 และ 28.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงที่เหลือของปี 2553 และในปี 2554 ตามลำดับ) ซึ่งทางการไทยก็ได้ทยอยผลักดันมาตรการแก้ไขและลดทอนผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ควบคู่ไปกับการเข้าดูแลการเสถียรภาพและลดทอนความผันผวนของเงินบาทโดยธปท.ในตลาดปริวรรตเงินตรา อย่างไรก็ดี “ผลกระทบทางอ้อม” ที่ต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด ก็คือ การก่อตัวขึ้นของภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์หลายประเภทของไทย (ทั้งตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดอสังหาริมทรัพย์) รวมไปถึงภาวะเงินเฟ้อ ที่อาจสร้างแรงกดดันต่อจุดยืนเชิงนโยบายของธปท.เพิ่มมากขึ้นในช่วงปีข้างหน้า ซึ่งอาจครอบคลุมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการควบคุมการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์
แม้ทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทและสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย อาจเป็นสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็คาดว่า ธปท.และธนาคารกลางในภูมิภาค อาจจำต้องพิจารณาใช้มาตรการดูแลการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศในระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งมาตรการดังกล่าว อาจไม่ได้มุ่งเป้าหมายไปที่เสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่เพื่อเสริมสร้างให้การดำเนินนโยบายการเงินด้วยเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลภารกิจด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระดับราคาในประเทศมีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ ทางการไทย และประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ที่ไม่มีข้อจำกัดทางด้านการคลัง ก็อาจพิจารณาจุดยืนนโยบายการคลังเป็นเชิงผ่อนคลาย เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจภายในประเทศที่ต้องรับมือกับความเสี่ยงหลายด้าน รวมถึงการชะลอตัวของการส่งออกในปีข้างหน้า