ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านปี 2553 และทิศทางเติบโตปี 2554

ปี 2552 นับเป็นปีที่ปริมาณ “บ้านสร้างเอง” ประเภทบ้านเดี่ยวพักอาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลถดถอยลงต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับในช่วง 4-5 ปีก่อนหน้านี้ โดยจากตัวเลขพบว่าปริมาณรวมลดลงจากปี 2551 เฉลี่ยประมาณ 15% หรือลดลงจาก 21,181 หน่วยเหลือเพียง 18,135 หน่วย แต่มาในปี 2553 นี้ ปริมาณ “บ้านสร้างเอง” คาดว่าจะสามารถพลิกกลับมาเติบโตได้อีกครั้งหรือประมาณ 4-5% แม้ว่าสัดส่วนการเติบโตจะไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะยังมีปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องเกือบตลอดปี ได้แก่ 1) ผลจากเศรษฐกิจยังชะลอตัวต่อเนื่องมาจากปี 52 ในช่วงไตรมาสแรก 2) ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ชะลอตัวจากเหตุการณ์ปะทะกันจากการชุมนุมช่วงไตรมาสสอง และ 3) ประการสุดท้ายเศรษฐกิจประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณเข้าสู่ในช่วงถดถอยจากผลกระทบค่าเงินบาทแข็งตัวในช่วงสองไตรมาสสุดท้าย ทั้งสามปัจจัยดังกล่าวถือเป็นตัวฉุดให้บ้านสร้างเองในปีนี้เติบโตแบบชะลอตัว และจากปริมาณบ้านสร้างเองดังกล่าวได้สะท้อนถึงภาพรวมของตลาดรับสร้างบ้าน โดยที่กลุ่มผู้ประกอบการ “รับสร้างบ้าน” มีแชร์ส่วนแบ่งคิดเป็นประมาณ 17-18% ของปริมาณบ้านสร้างเองทั้งหมด

อย่างไรก็ดีในช่วงไตรมาสสามหรือครึ่งหลังปี 2553 นั้น แรงกระตุ้นจากกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านที่แข่งขันอยู่ในตลาด สามารถเรียกกำลังซื้อให้กลับคืนมาได้ระดับหนึ่ง และสามารถแชร์ส่วนแบ่งตลาดรับสร้างบ้านในปีนี้ ให้เติบโตจากปีก่อนประมาณ 5-6 % คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 8,300-8,400 ล้านบาทเศษ ในขณะเดียวกันตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัดซึ่งถือเป็นตลาดใหม่ ซึ่งมีบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำบางรายขยายสาขาออกไป ทั้งในรูปแบบลงทุนขยายสาขาเองและการขยายในลักษณะเครือข่ายหรือแฟรนไชส์รับสร้างบ้าน พบว่ามีแชร์ยอดขายและรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน จึงสะท้อนได้ว่าตลาดรับสร้างบ้านต่างจังหวัดมีโอกาสเติบโตในอนาคต และคาดว่าจะมีผู้ประกอบการรายอื่นๆ หันมาสนใจและเตรียมรุกขยายตลาดต่างจังหวัดในปี 2554 เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ

มองแนวโน้มตลาดรับสร้างบ้านปี 54
สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THCA) ประเมินสถานการณ์ตลาดรับสร้างบ้านปี 2554 มีแนวโน้มเติบโต แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจโลกและประเทศไทยอาจกลับมาชะลอตัว ปัจจัยและเหตุผลสำคัญเป็นเพราะ 1.วัฏจักรการตลาดรับสร้างบ้านกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่องจากปีก่อน 2.ผู้ประกอบการรายเดิมมีการปรับตัวเอง โดยมุ่งขยายสู่ตลาดต่างจังหวัดพื้นที่ใหม่และกลุ่มลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น 3.พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนมากู้ยืมหรือใช้สินเชื่อธนาคารมากขึ้นจากเดิมที่นิยมออมเงินเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่เท่านั้น และ 4.การเข้ามาของคู่แข่งขันรายใหม่และเป็นรายใหญ่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งนี้จากปัจจัยดังที่กล่าวมา คาดว่าจะส่งผลให้ตลาดรับสร้างบ้านมีการสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภคและแข่งขันกันคึกคักมากขึ้น

ทั้งนี้สมาคมฯ ประเมินสถานการณ์ว่าทิศทางการแข่งขันในปี 2554 การแข่งขันตัดราคาของผู้ประกอบการจะถูกนำมาใช้น้อยลง เนื่องเพราะความกังวลของที่มีต่อต้นทุนวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่จะมีการปรับขึ้น โดยมีแนวโน้มว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนมาเน้นการนำเสนอนวัตกรรมและเทคโนโลยีก่อสร้างแทน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กแข่งขันยากขึ้น โดยเฉพาะรายที่เงินทุนน้อยหรือไม่สามารถปรับตัวเอง ให้ทันกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีก่อสร้างหรือขาดการพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อให้มีมาตรฐานเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภคเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในตลาด โดยเฉพาะเมื่อรายใหม่อย่างเช่น เอสซีจี ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ที่หันมาขยายไลน์ธุรกิจรับสร้างบ้าน และกลุ่มธุรกิจในเครืออัมรินทร์พริ้นติ้ง ที่ประกาศขอชิงแชร์ตลาดรับสร้างบ้านต้นปี 54 จะกดดันให้ตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลแข่งขันรุนแรงขึ้นไปอีก แต่ในทางกลับกันก็ย่อมจะทำให้มูลค่าตลาดรวมเติบโตตาม ด้วยพลังของการกระตุ้นกำลังซื้อและสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภคของผู้มาใหม่ นอกจากนี้เชื่อว่ายังมีกลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างอีกหลายราย สนใจและจะขยายไลน์เข้ามาสู่ธุรกิจรับสร้างบ้านเช่นกัน ทั้งนี้เพราะมองเห็นโอกาสการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าตัวเอง

มองย้อนกับไปเพียง 7-8 ปีก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการที่แข่งขันกันอยู่ในตลาดทราบกันดีว่ากลุ่มผู้บริโภค ที่เลือกใช้บริการกับบริษัทรับสร้างบ้าน ส่วนใหญ่นิยมออมเงินให้ครบก่อนจะตัดสินใจสร้างบ้านหลังใหม่ เคยมีการประเมินกันว่าผู้บริโภคสร้างบ้านด้วยเงินสดมีสัดส่วนประมาณ 70-80% และสัดส่วนกู้ยืมธนาคารมีเพียง 20-30% เท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการผลสำรวจพบว่า พฤติกรรมดังกล่าวและทัศนคติที่ผู้บริโภค มีต่อการกู้ยืมหรือขอสินเชื่อเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่กับสถาบันการเงินได้เปลี่ยนไป เหตุผลสำคัญเป็นเพราะ 1.มองว่าการออมเงินจนครบกับราคาค่าก่อสร้างบ้านอาจไม่แตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบกับราคาบ้านที่แพงขึ้นทุกปี 2.การกู้ยืมเงินเพื่อสร้างบ้านหลังใหม่ทำให้ได้บ้านอยู่อาศัยเร็วขึ้นและคุ้มค่ากว่าเมื่อเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยที่จ่ายให้ธนาคาร 3.เพราะการกู้ยืมเงินกับธนาคารในปัจจุบันมีความสะดวกมากขึ้น ระยะเวลาผ่อนชำระก็ยืดเวลาได้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อผู้บริโภคใช้บริการกับบริษัทสร้างบ้านชั้นนำที่ธนาคารเชื่อถือ

จากพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านดังกล่าว เชื่อว่ามีส่วนสำคัญที่จะส่งผลให้ตลาดรับสร้างบ้านเติบโตเป็นไปในทิศทางเดียวกับบ้านจัดสรร ที่ส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะขอกู้ยืมหรือขอสินเชื่อกับธนาคารเพื่อให้มีบ้านหรือที่อยู่อาศัยเร็วขึ้น หากสัดส่วนผู้บริโภคกลุ่มตลาดรับสร้างบ้านหันมาขอกู้ยืมสร้างบ้านเพิ่มเป็น 70% ดังผลสำรวจที่พบ อาจมีความเป็นไปได้ที่ตลาดรับสร้างบ้านจะเติบโตแบบก้าวกระโดด ฉะนั้นผู้ประกอบการควรหันมาศึกษาและร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารฯ ให้มีความน่าสนใจและอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณและมูลค่าตลาดรับสร้างบ้านที่เติบโตในปีหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

ชี้สถานการณ์แข่งขันและการปรับตัว
นายสิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน (THCA) และผู้บริหารระดับสูง เจ้าของสิทธิ์แฟรนไชส์ศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ กล่าวว่า การเข้ามาของผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็นรายใหญ่ ซึ่งเปี่ยมด้วยศักยภาพเงินทุนและขีดความสามารถทั้งในด้านการผลิตและการตลาด รวมถึงในส่วนของรายใหม่ที่เป็นรายเล็กและเลือกจับคู่ธุรกิจกับรายเดิม ในรูปแบบการซื้อแฟรนไชส์รับสร้างบ้านไปเปิดดำเนินธุรกิจในท้องถิ่นตัวเอง ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการรายเดิมในตลาดรับสร้างบ้าน ต้องพึงตระหนักและต้องเร่งปรับตัวโดยเร็ว โดยเฉพาะรายเล็กรายกลางที่ยังขาดความพร้อมและเป็นแค่มือสมัครเล่น ทั้งที่แข่งขันอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด มิฉะนั้นอาจไม่สามารถต้านแรงเสียดทานและแข่งขันได้อีกต่อไป เพราะจากนี้ไปเวทีแข่งขันของตลาดรับสร้างบ้านจะเหลือพื้นที่เฉพาะรับสร้างบ้านมืออาชีพเท่านั้น นอกจากนี้ การปรับตัวของผู้ประกอบการรายเดิมที่เริ่มหันมาขยายสาขาออกไปยังภูมิภาคต่างๆ พบว่าการขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์เริ่มเป็นที่สนใจของบริษัทชั้นนำหลายราย โดยต่างกำลังเร่งศึกษาแนวทางดังกล่าว เพื่อจะนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการขยายตลาดเหมือนอย่างเช่นแฟรนไชส์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ บุกเบิกนำหน้าไปก่อน

สำหรับปี 2554 ในส่วนของสมาคมฯ นั้นจะได้มีการนำผลสำรวจและผลการศึกษาที่ได้จัดทำไว้ มาเผยแพร่และทำความเข้าใจกับสมาชิกสมาคมฯ ทั้งนี้เพื่อชี้ให้เห็นภาพการแข่งขันของรายใหญ่ที่จะเข้ามาใหม่ ซึ่งสมาชิกเองก็ได้มีการพัฒนาขีดความสามารถและปรับตัวเองมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในด้านการยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการให้เป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค พร้อมจะแข่งขันกับทั้งรายเดิมและรายใหญ่ที่มาใหม่ อีกทั้งสมาคมฯ ยังผลักดันให้สมาชิกมีการจับมือกับพันธมิตรธุรกิจวัสดุก่อสร้าง เพื่อหาทางลดต้นทุนด้วยการวางแผนผลิตและเพิ่มปริมาณการสั่งซื้อวัสดุในลักษณะซื้อร่วมกันเพื่อให้เกิดจำนวนมากพอ ที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปตามทิศทางที่สมาคมฯ ชี้แนะแนวทางไว้ ในอนาคตสมาคมฯ ยังมีแนวคิดที่จะผลักดันให้สมาชิกขยายการลงทุนออกไปยังประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน เช่น สาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น โดยขณะนี้สมาคมฯ อยู่ระหว่างศึกษาลู่ทางและกฎหมายของแต่ละประเทศที่สนใจไว้ล่วงหน้า หากเมื่อใดที่สมาชิกมีความพร้อมสมาคมฯ ก็พร้อมจะสนับสนุนทันที