ประเด็นขัดแย้งไทย-กัมพูชา…ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจอยู่ในวงจำกัด

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา กรณีพื้นที่ทับซ้อนเขาพระวิหาร ทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากที่ทหารของไทยและกัมพูชามีการปะทะกันหลายครั้งบริเวณชายแดนด้านเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งหลังจากที่เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2554 ได้มีการสั่งปิดด่านการค้าชายแดนช่องสะงำ อำเภอภูสิงค์ จังหวัดศรีสะเกษ และล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2554 ทางการได้สั่งปิดด่านช่องจอม-โอเสม็ด อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าเหตุการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีผลทางด้านสังคม วัฒนธรรม ประชาชนในพื้นที่ และงบประมาณภาครัฐ ซึ่งไม่อาจประเมินเป็นมูลค่าได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวของไทย โดยการค้าระหว่างไทย-กัมพูชา ส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดนกว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าการค้าโดยรวมของไทย-กัมพูชา ซึ่งด่านการค้าหลักอยู่ที่ชายแดนจังหวัดสระแก้วและตราด ขณะที่การค้าชายแดนผ่านจังหวัดศรีสะเกษซึ่งเป็นพื้นที่มีปัญหามีสัดส่วนค่อนข้างน้อยประมาณร้อยละ 1.4 ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา

การค้าชายแดนอาจชะลอตัวลง แต่ไม่น่ากระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ
ในปี 2553 การค้าผ่านชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา มีมูลค่าราว 55,411 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 22.1 จากปีก่อน (YoY) โดยการส่งออกผ่านชายแดนมีมูลค่า 51,112.7 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 19.2 (YoY) ขณะที่การนำเข้าผ่านชายแดนมีมูลค่า 4,289.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 72.3 (YoY) ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าจังหวัดที่มีการค้าชายแดนกับกัมพูชามากที่สุดในปี 2553 ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 55 ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา รองลงมา คือ จังหวัดตราด (สัดส่วนร้อยละ 34) ซึ่งทั้งสองจังหวัดมีที่ตั้งห่างไกลจากจังหวัดศรีสะเกษที่เกิดเหตุปะทะค่อนข้างมาก ขณะที่การค้าผ่านชายแดนจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดสุรินทร์มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.4 และร้อยละ 2.9 ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา ตามลำดับ

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินผลกระทบเฉพาะด้านเศรษฐกิจการค้าและการท่องเที่ยวที่อาจเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ปะทะตามแนวชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ภายใต้เงื่อนไข 2 กรณี ดังนี้

กรณีที่ 1 : เหตุการณ์ปะทะตามแนวชายแดนคลี่คลายลงในระยะสั้น (ภายในเวลาไม่เกิน 1 เดือน)
การค้า ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยในกัมพูชาอาจได้รับผลกระทบบ้าง แต่การส่งออกผ่านชายแดนของไทยน่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก และอาจขยายตัวได้ใกล้เคียงประมาณการปกติราวร้อยละ 5-8 ส่วนหนึ่งเนื่องจากกัมพูชายังมีข้อจำกัดในการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อสนองความต้องการภายในประเทศ ทำให้ต้องพึ่งการนำเข้าเป็นหลักและไทยยังเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญแห่งหนึ่งของกัมพูชา ขณะที่น่าจะส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาในวงจำกัด ทำให้การค้าชายแดนโดยรวมยังดำเนินไปได้ค่อนข้างปกติ ทำให้คาดว่าไทยจะสูญเสียรายได้จากการส่งออกประมาณ 70-100 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าอาจลดลงประมาณ 5-10 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้สุทธิจากการค้ากับกัมพูชาประมาณ 65-90 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม แม้ในช่วงที่ผ่านมากัมพูชาค่อนข้างให้ความนิยมสินค้าไทยและเห็นว่าสินค้าไทยมีคุณภาพและมาตรฐานสินค้าที่เชื่อถือได้ แต่ในช่วงระยะหลังกัมพูชาเริ่มมีการนำเข้าสินค้าจากเวียดนามและจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่สินค้าเวียดนามและจีนสามารถครองตลาดในกัมพูชาได้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความไม่สงบบริเวณชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ทำให้กัมพูชาเลี่ยงที่จะนำเข้าสินค้าจากไทย ส่งผลให้สินค้าไทยอาจสูญเสียภาพลักษณ์ที่ดีในสายตากัมพูชาในระยะยาวได้

การท่องเที่ยว ความขัดแย้งที่มีการปะทะกันในระยะเวลาสั้น อาจส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยวบ้างในส่วนของความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ทำให้ไทยอาจสูญเสียรายได้จากการนักท่องเที่ยวกัมพูชาที่เดินทางมาเที่ยวไทยลดลงประมาณ 310 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบโดยรวมประมาณ 375-400 ล้านบาท ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวกัมพูชาที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยปี 2553 มีจำนวน 140,606 คน คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.9 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่เดินทางมาไทย โดยนักท่องเที่ยวกัมพูชามีการใช้จ่ายกว่า 2,800 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 0.7 ของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักท่องเที่ยวกัมพูชามีระยะเวลาพำนักเฉลี่ยในประเทศไทยประมาณ 7-8 วัน ซึ่งค่อนข้างนานกว่าเวลาเฉลี่ยของสมาชิกอาเซียนที่ประมาณ 5 วัน

กรณีที่ 2 : เหตุการณ์ปะทะตามแนวชายแดนระหว่างไทย-กัมพูชาต่อเนื่องไปประมาณ 3 เดือน1และต้องปิดด่านการค้าชายแดนจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง เช่น สุรินทร์ ซึ่งเป็นจังหวัดติดกับศรีสะเกษและเป็นด่านที่มีการค้าผ่านชายแดนเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 3 ของมูลค่าการค้าผ่านชายแดนทั้งหมด รวมทั้งอาจมีการปิดด่านชายแดนเพิ่มเติม
การค้า คาดว่าน่าจะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปกัมพูชาชะลอการขยายตัวลงเป็นประมาณร้อยละ 3-4 ทั้งนี้ การปิดด่านชายแดนในจังหวัดศรีสะเกษ2 และสุรินทร์ จะมีผลให้การค้าบริเวณดังกล่าวหยุดชะงัก และผู้ค้าจะต้องอาศัยการค้าผ่านด่านชายแดนอื่นทดแทน ซึ่งย่อมส่งผลต่อความคล่องตัวในการขนส่งสินค้าและยังเพิ่มค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าอีกต่อหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม หากทางการไทยและกัมพูชาดำเนินมาตรการรุนแรงอื่นๆ นอกเหนือจากการปิดด่าน รวมถึงการขยายระยะเวลาการปิดด่านออกไป อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นต่อการส่งออกของไทยไปกัมพูชา ซึ่งอาจส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกประมาณ 1,000-1,300 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าอาจลดลงประมาณ 100-110 ล้านบาท ส่งผลให้ไทยสูญเสียรายได้สุทธิจากการค้ากับกัมพูชาประมาณ 900-1,190 ล้านบาท

สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่อาจได้รับผลกระทบหากสถานการณ์ยืดเยื้อ ได้แก่ สินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค ที่สำคัญ อาทิ น้ำตาลทราย เครื่องดื่มเครื่องสำอาง/สบู่และผลิตภัณฑ์ สินค้าปศุสัตว์ และสินค้าอาหารอื่นๆ ซึ่งมีสัดส่วนรวมประมาณร้อยละ 30 ของมูลค่าส่งออกของไทยผ่านชายแดนไปกัมพูชา รวมทั้งสินค้ากลุ่มรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เนื่องจากเป็นสินค้าส่งออกที่อาศัยการขนส่งสินค้าผ่านชายแดนทั้งหมด นอกจากนี้ หากมีการปิดด่านเป็นระยะเวลานานออกไป อาจส่งผลให้กัมพูชาหันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่งของไทย เช่น จีน และเวียดนาม มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการส่งออกของไทยในระยะยาว

การท่องเที่ยว อาจได้รับผลกระทบให้สูญเสียรายได้จากการนักท่องเที่ยวกัมพูชาที่เดินทางมาเที่ยวไทยลดลงประมาณ 620 ล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบโดยรวมประมาณ 1,520-1,810 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้ารวมของไทยกับตลาดโลกแล้ว มูลค่าการค้าไทยกับกัมพูชามีสัดส่วนเพียงประมาณร้อยละ 0.7 ของมูลค่าการค้าของไทยกับตลาดโลก ซึ่งการสูญเสียรายได้ตามที่ประเมินข้างต้นก็ถือว่าอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น หรือในด้านรายได้จากการท่องเที่ยวก็คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 1 ของรายได้ด้านการท่องเที่ยวทั้งหมดของไทย
เศรษฐกิจจังหวัดชายแดน … อาจสูญเสียรายได้

เหตุการปะทะอาจส่งผลเชิงจิตวิทยาเชิงลบให้การเดินทางผ่านชายแดนบริเวณที่เกิดเหตุ รวมถึงด่านชายแดนถาวรอื่นๆ ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ลดน้อยลงในระยะสั้น ทั้งนี้ จังหวัดศรีสะเกษเป็นที่ตั้งของจุดผ่านแดนถาวร 1 แห่ง คือ ด่านช่องสะงำ ซึ่งมีพรมแดนติดกับจังหวัดอุดรมีชัยของกัมพูชา แม้มูลค่าการค้าผ่านแดนจะไม่มากเท่าด่านการค้าถาวรแห่งอื่นๆ แต่ถือว่ามีความสำคัญต่อธุรกิจและประชาชนในพื้นที่พอสมควร ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งที่บานปลายยิ่งขึ้นอาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่นต่อความไม่แน่นอนทางความสัมพันธ์ระดับประเทศ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจระดับจังหวัดซบเซาเป็นระยะเวลาหนึ่ง โดยเฉพาะจังหวัดที่ตั้งด่านชายแดนถาวรในอีก 5 จังหวัดที่เหลือ ได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยเฉพาะสระแก้ว และตราด ซึ่งมีการค้ารวมกันเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 90 ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชาทั้งหมด นอกจากนี้ ยังเป็นที่ตั้งของตลาดการค้าชายแดนที่นักท่องเที่ยว/นักธุรกิจนิยมซื้อขายสินค้าระหว่างกัน อาทิ ตลาดโรงเกลือ ตลาดปอยเปต อีกทั้งยังเป็นช่องทางผ่านแดนที่อยู่ใกล้บ่อนกาสิโนของกัมพูชาด้วย

ทั้งนี้ จังหวัดศรีสะเกษมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 22,106 ล้านบาท (ข้อมูลปี 2552 ณ ราคาคงที่) โดยเศรษฐกิจจังหวัดศรีสะเกษส่วนใหญ่พึ่งพาการค้าส่ง-ค้าปลีก เป็นสัดส่วนร้อยละ 26.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (GPP) ภาคเกษตรกรรมเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.9 ของ GPP ขณะที่ภาคโรงแรมและการท่องเที่ยวมีสัดส่วนถึงร้อยละ 5.8 ซึ่งนับเป็นจังหวัดที่พึ่งพารายได้การท่องเที่ยวสูงกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยเฉลี่ยของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เฉลี่ยร้อยละ 1.2) ซึ่งหากเป็นกรณีที่เหตุการณ์คลี่คลายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน คาดว่าจะส่งให้จังหวัดศรีสะเกษสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจไม่มากประมาณ 700-800 ล้านบาท แต่หากเหตุความขัดแย้งต่อเนื่องไปอีกประมาณ 3 เดือนข้างหน้าและมีการปิดด่านชายแดนอาจส่งผลให้เศรษฐกิจศรีสะเกษสูญเสียรายได้ทางเศรษฐกิจประมาณ 1,600-1,700 ล้านบาท จากการชะลอตัวของกิจกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค การค้า และการท่องเที่ยวของจังหวัด นอกจากนี้ ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุทยานเขาพระวิหาร ก็อาจซบเซาลงได้

การลงทุนระหว่างไทย-กัมพูชา … ระยะสั้นอาจมีผลกระทบจำกัด แต่อาจส่งผลในระยะยาว
ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อดังกล่าวยังมีผลบั่นทอนโอกาสการลงทุนของไทยในกัมพูชาให้ชะลอตัวลงเนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมือง/การทูต ที่อาจมีผลต่อการพิจารณาอนุมัติการลงทุนและการเคลื่อนย้ายเงินตราระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในช่วงปี 2537-2552 (ม.ค.-มี.ค.) ไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 5 ของกัมพูชา มูลค่าลงทุนประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยธุรกิจที่ไทยเข้าไปลงทุนในกัมพูชาครอบคลุมหลายสาขา อาทิ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ธุรกิจโทรคมนาคม โรงไฟฟ้า และธุรกิจด้านปศุสัตว์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม พบว่าล่าสุดโครงการลงทุนของไทยในกัมพูชาในช่วง 6 เดือนแรกปี 2553 ได้รับอนุมัติการลงทุน 1 โครงการ คือ โครงการลงทุนผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทั้งนี้ กัมพูชาเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนในกลุ่มสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ (ประกอบด้วย สปป.ลาว กัมพูชา พม่า และเวียดนาม) ซึ่งเป็นประเทศที่น่าลงทุนเนื่องจากความพร้อมของปัจจัยการผลิตและต้นทุนการผลิตที่ค่อนข้างต่ำโดยเปรียบเทียบ โดยเฉพาะปัจจัยแรงงาน ที่จัดว่ามีอัตราค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยรายวันเกือบต่ำสุดในกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมดที่ประมาณร้อยละ 1.57 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน (สปป.ลาว ต่ำสุดที่ 1.24 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน ขณะที่ไทยอยู่ที่ 6.82 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อวัน) นอกจากนี้ กัมพูชายังเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี GSP จากหลายประเทศ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มข้อได้เปรียบในการแข่งขันด้านการส่งออกสินค้าจากกัมพูชาไปยังตลาดหลักเหล่านี้ได้อีกทางหนึ่งด้วย

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เหตุการปะทะกันตามแนวชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาอาจยังไม่ส่งผลกระทบต่อในเชิงเศรษฐกิจระหว่างกันมากนักหากสามารถคลี่คลายปัญหาได้ในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน โดยอาจสูญเสียรายได้เข้าประเทศอย่างน้อย 1,100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ถ้าหากความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาไม่สามารถคลี่คลายลงได้และต่อเนื่องไปประมาณ 3 เดือน และทำให้มีการปิดด่านการค้าชายแดนบริเวณจังหวัดศรีสะเกษและสุรินทร์ หรืออาจส่งผลกระทบด้านชายแดนไทย-กัมพูชาเพิ่มเติม คาดว่าอาจส่งผลกระทบให้ไทยสูญเสียรายได้เข้าประเทศอย่างน้อย 3,000 ล้านบาท โดยสินค้าส่งออกของไทยไปกัมพูชาที่อาจได้รับผลกระทบ อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน และสินค้าที่ต้องอาศัยการขนส่งสินค้าผ่านแดนเป็นหลักเช่น รถยนต์/รถจักรยานยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รวมทั้งสินค้าไทยที่อาจสูญเสียภาพลักษณ์ในสายตาคนกัมพูชาได้ ทั้งนี้ขึ้นกับระยะเวลาของการปิดด่านชายแดนระหว่างสองประเทศ

นอกจากผลกระทบในภาพกว้างแล้ว เศรษฐกิจระดับจังหวัดของศรีสะเกษและสุรินทร์ อาจต้องสูญเสียรายได้บางส่วน ทั้งจากการค้าบริเวณจุดผ่านแดน และการค้าภายในจังหวัด ขณะที่การท่องเที่ยวในจังหวัดศรีสะเกษก็อาจได้รับผลกระทบจากความกังวลของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจในด้านความปลอดภัยในพื้นที่ดังกล่าว และส่งผลต่อภาพรวมการท่องเที่ยวของกัมพูชาในไทยด้วย ซึ่งมองว่าปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวแม้จะไม่กระทบต่อภาคการค้าการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ แต่หากเหตุการณ์บานปลายหรือกินระยะเวลานานกว่าสมมติฐานข้างต้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจก็อาจมากกว่าตัวเลขที่ได้ประเมินไว้ได้ นอกจากนี้ ยังอาจมีผลให้ไทยสูญเสียโอกาสในการลงทุนในกัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับสิทธิประโยชน์ GSP จากประเทศพัฒนาแล้วต่างๆ รวมทั้งค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ ขณะที่กัมพูชาก็อาจสูญเสียโอกาสในการระดมเงินลงทุนจากนักลงทุนไทยด้วย ทั้งนี้ หากความขัดแย้งของไทย-กัมพูชาสามารถเจรจาหาข้อยุติในระดับทวิภาคีได้โดยเร็ว น่าจะเป็นโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน จากปัจจัยเอื้อด้านปรับลด/ยกเลิกอัตราภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันเหลือร้อยละ 0-5 และการที่กำลังจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึงนี้