สมาร์ทโฟนแรงต่อเนื่อง…ครองตลาดคนกรุงกว่าร้อยละ 50 และยังมีแนวโน้มเพิ่มอีกในอนาคต

ปัจจุบัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคมยุคใหม่ นอกเหนือจากการใช้ในการติดต่อสื่อสารแล้ว ขีดความสามารถของโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังถูกพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์และความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค โดยกลจักรสำคัญในการผลักดันการเติบโตของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวม คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน ซึ่งกำลังอยู่ในกระแสความนิยม และได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันการเจริญเติบโตของธุรกิจโทรคมนาคมในปัจจุบัน เนื่องจากมีคุณลักษณะที่โดดเด่นในการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่ทันสมัย การมีแอพพลิเคชั่นให้เลือกใช้ที่หลากหลาย หรือแม้แต่สมรรถนะในการใช้งานด้านมัลติมีเดียที่สูงกว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน ถึง 17 มิถุนายน 2554 โดยมีจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 629 ชุด เพื่อศึกษาความต้องการที่จะเปลี่ยนมาใช้งานสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคในอนาคต รวมไปถึงฟังก์ชั่น จำนวนเครื่อง และประเภทของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผู้บริโภคถือครองและใช้งานเป็นประจำในปัจจุบัน

ผลสำรวจเกี่ยวกับการใช้งานสมาร์ทโฟน

ปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความนิยมในการใช้งานสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี 2553 ตลาดสมาร์ทโฟนมีมูลค่า 24,894 ล้านบาท1 คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 29.7 ของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมทั้งหมด และในปี 2554 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดสมาร์ทโฟนจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าตลาดประมาณ 32,789 ถึง 34,544 ล้านบาท ขยายตัวราวร้อยละ 31.7 ถึง 38.8 คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าของตลาดรวมอยู่ที่ร้อยละ 38.0

ทั้งนี้ จากผลการสำรวจพบว่า ในปัจจุบัน ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯที่ครอบครองสมาร์ทโฟนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50.4 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด สะท้อนถึงความนิยมในการใช้งานสมาร์ทโฟนของคนกรุงที่อยู่ในระดับสูง เมื่อพิจารณาผลการสำรวจแยกตามอายุ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในช่วงอายุ 20 ถึง 24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่งเริ่มทำงาน (First Jobber) มีสัดส่วนใช้งานสมาร์ทโฟนมากที่สุดถึงร้อยละ 56 ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้งานประจำในกลุ่มช่วงอายุดังกล่าว อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 54 ปีขึ้นไปยังคงมีสัดส่วนการใช้สมาร์ทโฟนน้อยที่สุดคือร้อยละ 14

เมื่อสอบถามผู้ตอบแบบสอบถามที่ยังคงไม่มีสมาร์ทโฟนในครอบครอง เกี่ยวกับแผนที่จะใช้งานในอนาคต พบว่า โดยภาพรวม ผู้ตอบแบบสอบถามในทุกช่วงอายุมีสัดส่วนของผู้มีแผนที่จะใช้งานสมาร์ทโฟนในอนาคตมากกว่าร้อยละ 50 สะท้อนถึงความต้องการใช้งานสมาร์ทโฟนของคนกรุงที่ยังคงมีอยู่มาก แม้จะมีสัดส่วนของผู้ที่ครอบครองสมาร์ทโฟนอยู่แล้วในระดับค่อนข้างสูง

สำหรับกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่มีแผนจะใช้งานสมาร์ทโฟนในอนาคตนั้น เมื่อสอบถามถึงเหตุผลที่คิดเช่นนั้น (เลือกตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) พบว่า เหตุผลหลักคือ สมรรถนะที่สูงของสมาร์ทโฟนคิดเป็นร้อยละ 41 ซึ่งสะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นหลัก ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเหตุผลต่างๆแบ่งตามช่วงอายุ ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุต่ำกว่า 54 ปีลงมา ยังคงให้ความสำคัญกับสมรรถนะของสมาร์ทโฟนเป็นหลักเช่นกัน อย่างไรก็ดี ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุมากกว่า 54 ปี ให้ความสำคัญกับราคาของสมาร์ทโฟนที่ไม่แตกต่างจากโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไปมากกว่าสมรรถนะของสมาร์ทโฟน นอกเหนือจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุมากกว่า 54 ปี ก็ให้ความสำคัญกับขนาดจอที่โหญ่ของสมาร์ทโฟน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุอื่น

ผลสำรวจพฤติกรรมภาพรวมในการครอบครองโทรศัพท์เคลื่อนที่

คนส่วนใหญ่ต้องการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับการถ่ายรูป ใช้งานมัลติมีเดีย และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง

จากกระแสที่เปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งมีความต้องการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่าการเป็นแค่เครื่องมือพูดคุยสื่อสารอย่างเช่นในอดีต ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ต้องมีการแข่งขันกันพัฒนาฟังก์ชันการทำงานบนโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค จากผลสำรวจพฤติกรรมการถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตกรุงเทพฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มักถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับการถ่ายรูป ใช้งานมัลติมีเดีย (ดูวีดีโอ ฟังเพลง และเล่นเกม) และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (EDGE/WIFI/3G) ในสัดส่วนที่สูงราวร้อยละ 58 ขึ้นไป

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแยกตามอายุของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในทุกช่วงอายุก็ยังคงถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฟังก์ชั่นทั้ง 3 ดังกล่าว ในสัดส่วนที่สูงกว่าฟังก์ชั่นอื่นๆ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะอุปกรณ์พกพาที่มีอรรถประโยชน์หลากหลายแทนที่อุปกรณ์พกพาดั้งเดิมอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกล้องดิจิตอลซึ่งผู้บริโภคมักจะพกพาเมื่อไปท่องเที่ยวหรือบันทึกเหตุการณ์สำคัญๆที่มีการวางแผนไว้แล้ว หรือแม้แต่อุปกรณ์ฟังเพลงพกพา หรือเครื่องเล่นเกมอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ยังสะท้อนถึงความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร หรือบริการต่างๆบนอินเทอร์เน็ต และยังแสดงถึงความพร้อมของผู้บริโภคในด้านอุปกรณ์สื่อสารที่รองรับบริการ 3G ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554

นอกเหนือจากนี้ เมื่อพิจารณาพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยรวมของกลุ่มผู้ใช้ในช่วงอายุต่างๆ อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ในช่วงอายุ 15 ถึง 29 ปี นิยมโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฟังก์ชั่นการทำงานที่สูงกว่าผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุอื่นๆ แม้ว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ จากผลสำรวจเห็นได้ว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ราวร้อยละ 37 ถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฟังก์ชั่นครบทั้งหมด

สำหรับกลุ่มผู้ที่มีอายุระหว่าง 30 ถึง 44 ปี ก็มีความนิยมในโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฟังก์ชั่นการทำงานสูงเช่นเดียวกับกลุ่มคนรุ่นใหม่แต่อยู่ในสัดส่วนที่รองลงมา นอกเหนือจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามในช่วงอายุดังกล่าวถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจอสัมผัส ในสัดส่วนที่สูงกว่าคีย์บอร์ดแบบ QWERTY ค่อนข้างมาก สะท้อนถึงความไม่ค่อยนิยมใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อการแชท ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสัดส่วนการถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฟังก์ชั่นทั้ง 2 ไม่แตกต่างกันมากนัก

สำหรับกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 44 ปี จะให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นที่ง่ายและไม่ซับซ้อน โดยจะสังเกตได้ว่า ผู้บริโภคกลุ่มนี้ถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจอสัมผัส ในสัดส่วนที่มากกว่าฟังก์ชั่นการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ และไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความสามารถในการลงแอพพลิเคชั่น

ปัจจุบัน โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีศักยภาพสามารถตอบโจทย์ครอบคลุมความต้องการฟังก์ชั่นการทำงานของผู้บริโภคในแต่ละช่วงอายุมากที่สุด คือ สมาร์ทโฟน จากสมรรถนะที่สูง ใช้งานง่าย และสามารถใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์ผ่านทางโมบายล์แอพพลิเคชั่นของสมาร์ทโฟน ซึ่งมีส่วนผลักดันให้ตลาดสมาร์ทโฟน ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนการถือครองและความต้องการสมาร์ทโฟนจากผลสำรวจดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ผู้บริโภคราวร้อยละ 26 นิยมใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 1 เครื่องเป็นประจำ

ปัจจุบัน จำนวนคนไทยที่ถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่มีทั้งสิ้น 38.2 ล้านคน2 ในขณะที่จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ถูกใช้งานในปัจจุบันมีทั้งสิ้น 70.6 ล้านเลขหมาย3 อาจกล่าวได้ว่าคนไทยโดยเฉลี่ยถือครองเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ราว 1.8 เลขหมายต่อคน แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคบางส่วนถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 1 เครื่อง จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในเขตกรุงเทพฯมีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นประจำเพียง 1 เครื่องอยู่ราวร้อยละ 74 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด มีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่องอยู่เป็นประจำราวร้อยละ 24 และมีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่องอยู่เป็นประจำราวร้อยละ 2 ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจมีส่วนผลักดันให้ผู้บริโภคมีการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 1 เครื่อง มีดังนี้

1.ความหลากหลายของโปรโมชั่นระหว่างผู้ให้บริการ จากความหลากหลายของโปรโมชั่นที่ผู้ให้บริการแต่ละค่ายพยายามพัฒนาขึ้นมา เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่แตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชั่นโทรในช่วงกลางคืนไม่อั้นโดยจ่ายเพียงราคาเดียว สำหรับคนที่ชอบโทรคุยกับเพื่อนๆในช่วงกลางคืน หรือแม้แต่โปรโมชั่นเติมเงินเท่าไรก็อยู่ได้นาน 1 ปี สำหรับคนที่มักจะรับสายเพียงอย่างเดียว ประกอบกับช่วงออกโปรโมชั่นใหม่ ผู้ให้บริการแต่ละค่ายมักจะแจกซิมของโปรโมชั่นนั้นให้ผู้บริโภคฟรี หรือแม้แต่แถมเงินส่วนหนึ่งในซิมที่แจกฟรีนั้นด้วย ด้วยเหตุผลต่างๆดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มสมัครใช้บริการมากกว่า 1 ค่าย เพื่อสามารถได้รับโปรโมชั่นที่คุ้มค่ากับตนเองมากที่สุด

2.การแบ่งการใช้งานระหว่างเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว โดยโทรศัพท์เคลื่อนที่เครื่องหนึ่งไว้ใช้รับสายของที่ทำงาน หรือธุรกิจที่ตนประกอบอยู่ ซึ่งอาจจะเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ทางบริษัทหรือองค์กรมอบให้ และอีกเครื่องหนึ่งไว้รับสายของครอบครัวหรือเพื่อน ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสมระหว่างความเป็นส่วนตัว และเรื่องที่เกี่ยวกับงาน จากผลการสำรวจ พบว่า พนักงานบริษัทมีสัดส่วนการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นประจำมากกว่า 1 เครื่องมากที่สุด เมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามในอาชีพอื่น โดยมีสัดส่วนราวร้อยละ 29 ของผู้ตอบแบบสอบถามในอาชีพพนักงานบริษัท รองลงมาคือ ผู้ประกอบอาชีพค้าขายหรือกิจการส่วนตัวมีสัดส่วนร้อยละ 26

3.ความหลากหลายของโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากความพยายามของผู้พัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ต้องการสร้างความแตกต่างของสินค้า และตอบสนองความต้องการที่แตกต่างของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายในแต่ละกลุ่ม ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายเครื่อง เนื่องจากความชอบในสีสันและการออกแบบของตัวเครื่อง หรือการมีฟังก์ชั่นที่โดดเด่นต่างจากเครื่องอื่น เช่น โทรศัพท์บางเครื่องมีคีย์บอร์ดซึ่งเหมาะสำหรับการแชท ในขณะที่โทรศัพท์บางเครื่องมีจุดแข็งในเรื่องของแอพพลิเคชั่นที่มีให้ใช้อย่างหลากหลาย เป็นต้น

ถึงแม้ว่า ผู้ผลิตบางรายได้มีการพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถใช้งานได้ 2 ซิมออกมา แต่ด้วยลักษณะการออกแบบและฟังก์ชั่นที่ไม่หลากหลาย เมื่อเทียบกับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบซิมเดียวที่มีอยู่ในตลาด ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนยังคงนิยมใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 1 เครื่อง

นอกเหนือจากนี้ ในอดีตที่ผู้บริโภคไม่สามารถเปลี่ยนค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้หมายเลขเดิมได้ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายกว่า 1 เครื่อง อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันได้มีการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมาย ซึ่งผู้บริโภคสามารถย้ายไปใช้บริการของค่ายอื่นได้โดยยังคงใช้เลขหมายเดิม แต่ก็ยังคงมีข้อจำกัดการใช้บริการบางอย่าง ซึ่งอาจจำกัดปริมาณการใช้บริการคงสิทธิเลขหมายของผู้บริโภคให้มีไม่มากนัก เช่น การให้บริการที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นต้น

บทสรุป
กระแสพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่มีความต้องการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอรรถประโยชน์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติการเข้าถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ง่ายและใช้งานสะดวก หรือแม้แต่การรองรับการใช้งานมัลติมีเดีย เช่น ชมวีดีโอ ฟังเพลง เป็นต้น ทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับการพัฒนาฟังก์ชั่นการทำงานใหม่ๆที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโทรศัพท์เคลื่อนที่สมาร์ทโฟน ซึ่งกำลังอยู่ในกระแสความนิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน

จากผลการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯมีการถือครองสมาร์ทโฟนในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50.4 โดยผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่งเริ่มทำงานในช่วงอายุ 20 ถึง 24 ปี มีสัดส่วนการใช้งานสมาร์ทโฟนมากที่สุดถึงร้อยละ 56 ถึงแม้ว่าสัดส่วนการถือครองสมาร์ทโฟนของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ผู้ตอบแบบสอบถามในทุกช่วงอายุที่ยังคงไม่มีสมาร์ทโฟนในครอบครองก็มีแผนที่จะใช้งานสมาร์ทโฟนในอนาคตมากกว่าร้อยละ 50 โดยผู้ตอบแบบสอบถามในกลุ่มผู้เริ่มทำงาน และกลุ่มผู้มีอายุระหว่าง 30 ถึง 34 ปี มีสัดส่วนของผู้มีแผนจะใช้งานสมาร์ทโฟนในอนาคตสูงที่สุดคือร้อยละ 83 และทั้งสองกลุ่มให้ความสำคัญกับสมรรถนะของสมาร์ทโฟนเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ต้องการใช้งานในอนาคต

จากผลสำรวจดังกล่าว นับได้ว่าความต้องการสมาร์ทโฟนในตลาดยังคงมีอยู่มาก และยังคงมีช่องว่างทางการตลาดให้เติบโตต่อไปได้อีก ทั้งจากกลุ่มผู้บริโภคที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน และกลุ่มผู้ที่ใช้งานอยู่แล้ว แต่ต้องการเปลี่ยนเครื่องใหม่ที่มีสมรรถนะสูงขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2554 ตลาดสมาร์ทโฟนจะขยายตัวร้อยละ 31.7 ถึง 38.8 โดยมีมูลค่าตลาดราว 32,789 ถึง 34,544 ล้านบาท

นอกเหนือจากนี้ เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมการถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้บริโภคในเขตกรุงเทพฯ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ในปัจจุบัน มีการถือครองโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่รองรับฟังก์ชั่นการถ่ายรูป ใช้งานมัลติมีเดีย และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (EDGE/WIFI/3G) ในสัดส่วนที่สูงราวร้อยละ 58 ขึ้นไป สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันที่ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะอุปกรณ์พกพาสารพัดประโยชน์แทนที่อุปกรณ์พกพาที่มีฟังก์ชั่นเฉพาะอย่าง เช่น กล้องดิจิตอล เครื่องเล่นเกมพกพา เป็นต้น และยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของผู้บริโภคในด้านอุปกรณ์สื่อสารที่รองรับการให้บริการ 3G ซึ่งจะทยอยเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2554