ธนาคารกสิกรไทยรุกธุรกิจเอสโคร์ว เอเย่นต์ เป็นครั้งแรกของไทย จับมือ 6 บริษัทอสังหาฯ รับดูแลผลประโยชน์คู่สัญญาซื้อขายบ้าน สร้างหลักประกันให้ผู้ซื้อบ้านมั่นใจ ซื้อบ้านต้องได้บ้าน หวังเป็นฐานข้อมูลต่อยอดปล่อยกู้รายย่อยต่อ
นายปรีดี ดาวฉาย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้ให้บริการเป็นคนกลางดูแลผลประโยชน์คู่สัญญาซื้อขายบ้าน (Escrow Agent) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยธนาคารจะทำหน้าที่เป็นคนกลางหรือผู้ดูแลผลประโยชน์คู่สัญญา ซึ่งลูกค้าผู้ซื้อบ้านสามารถเลือกที่จะใช้สิทธิในการให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นคนกลางทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ สำหรับการซื้อขายบ้านในโครงการของบริษัทผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท กานดาเดคคอร์ จำกัด บริษัท เฉลิมนคร จำกัด บริษัท ซื่อตรง กรุ๊ป จำกัด บริษัท ธารารมณ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)
สำหรับบริการเป็นคนกลางดูแลผลประโยชน์คู่สัญญาซื้อขายบ้าน (Escrow Agent) นี้ ธนาคารในฐานะคนกลางจะดูแลผลประโยชน์ระหว่างลูกค้าผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในโครงการกับผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยระหว่างที่ผู้ซื้อชำระเงินดาวน์ให้แก่ผู้ขาย ธนาคารกสิกรไทยจะดูแลเงินดังกล่าวพร้อมจัดทำทะเบียนเกี่ยวกับสัญญาดูแลผลประโยชน์ จัดทำบัญชีทรัพย์สินของคู่สัญญา ออกหลักฐานรับรองการฝากเงิน แจ้งความเคลื่อนไหวของเงินในบัญชีดูแลผลประโยชน์
เมื่อผู้ซื้อบ้านชำระเงินดาวน์ครบถ้วน ธนาคารในฐานะคนกลาง จะโอนเงินพร้อมดอกผลจากบัญชีผู้ดูแลผลประโยชน์ไปให้แก่ผู้ขาย และให้มีการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ผู้ซื้อบ้าน รวมทั้งดำเนินการปิดบัญชีดูแลผลประโยชน์ และเก็บรักษาบัญชีทรัพย์สินดังกล่าวไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี สำหรับในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างคู่สัญญา ธนาคารจะไม่ดำเนินการโอนเงินหรือทรัพย์สินจนกว่าจะหาข้อตกลงกันได้ หรือเมื่อคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว
ทั้งนี้ ผู้ซื้อบ้านจะมั่นใจได้ว่า เมื่อชำระเงินไปแล้ว หากผู้ขายไม่สามารถโอนส่งมอบทรัพย์สินได้ ผู้ซื้อจะยังได้รับเงินดาวน์ทั้งหมดคืนพร้อมผลประโยชน์และจะส่งผลดีต่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในฐานะผู้ขายด้วย เนื่องจาก เมื่อผู้ซื้อบ้านหมดความกังวลเรื่องการส่งมอบทรัพย์สิน ก็จะสามารถตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องพิจารณาถึงขนาดและชื่อเสียงของเจ้าของโครงการ
นายปรีดี กล่าวเพิ่มเติมว่า บริการเอสโคร์ว เอเย่นต์ สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เป็นบริการที่จะเพิ่มหลักประกันความมั่นใจให้แก่ผู้ซื้อบ้าน ซึ่งธนาคารกสิกรไทยก็พร้อมที่จะให้บริการดังกล่าวเป็นธนาคารแรก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจรสูงสุด ขณะเดียวกันธนาคารในฐานะผู้ทำหน้าที่เป็นคนกลางก็จะได้รับทราบข้อมูลพฤติกรรมและวินัยทางการเงินลูกค้าก่อนปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายย่อย โดยพิจารณาจากวินัยในการผ่อนดาวน์บ้านของลูกค้าที่ชำระผ่านธนาคารอีกด้วย
ธนาคารกสิกรไทยเป็นสถาบันการเงินไทยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (Escrow Agent) ภายใต้พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ.2551 และเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่เริ่มให้บริการ การทำหน้าที่เป็นคนกลางหรือผู้ดูแลผลประโยชน์คู่สัญญา
นายสมชาย พูลสวัสดิ์ รองปลัดกระทรวงการคลัง และประธานคณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ เปิดเผยว่า ความร่วมมือจากธนาคารกสิกรไทยและผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 6 แห่ง ครั้งนี้ เป็นความตกลงร่วมกันที่จะสนับสนุนและส่งเสริม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคที่จะซื้อที่อยู่อาศัยจากโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบการทั้ง 6 บริษัท สามารถเลือกที่จะใช้สิทธิในการจัดให้มีคนกลางทำหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาที่ให้บริการ โดยธนาคารกสิกรไทย จะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการดูแล ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องหรือโครงการต้นแบบแก่สถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตฯ และแก่ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา พ.ศ. 2551 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2551 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คู่สัญญาในการทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินต่าง ๆ โดยให้สิทธิ์กับประชาชนหรือผู้บริโภคในการเลือกที่จะมีคนกลางทำหน้าที่ดูแลการชำระหนี้ของคู่สัญญาให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาดูแลผลประโยชน์ ซึ่งผู้ที่จะมาทำหน้าที่คนกลางภายใต้กฎหมายนี้ คือ สถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์จากคณะกรรมการกำกับการประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ โดยได้มีการส่งเสริมให้มีการใช้กฎหมายดังกล่าวในภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเสี่ยงจากการกระทำผิดสัญญาของคู่สัญญา ลดข้อร้องเรียนและข้อพิพาทเกี่ยวกับการผิดสัญญาซื้อขายที่อยู่อาศัย สร้างความมั่นใจในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลต่อการยกระดับคุณภาพของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ให้มีมาตรฐานเดียวกันและการขยายตัวของธุรกิจประเภทนี้ในระยะยาว