อุตสาหกรรมเซรามิก ปี’55: ได้รับแรงหนุนจากการซ่อมแซม

ในปี 2555 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นปีแห่งการฟื้นฟู ภายหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปลายปี ที่ได้สร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นี้  “อุตสาหกรรมเซรามิก”1  เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากผลของอุทกภัย เนื่องจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ใช้ในงานก่อสร้าง มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและสามารถขยายตัวในทิศทางที่ดีตั้งแต่ช่วงปลายปี 2554 ต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี 2555  อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ ยังต้องเผชิญความเสี่ยงหลายประการ โดยเฉพาะภายหลังจากการปรับโครงสร้างราคาพลังงาน รวมไปถึงการขึ้นค่าจ้างแรงงาน ที่อาจส่งผลทำให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และต้องเร่งปรับตัวกับการเผชิญความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้า

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการศึกษาถึงสถานการณ์และแนวโน้มอุตสาหกรรมเซรามิกปี 2555 ดังนี้

การฟื้นฟูหลังน้ำลด … ปัจจัยหนุนกระตุ้นการเติบโตของตลาดในประเทศ

อุตสาหกรรมเซรามิกเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตตามการขยายตัวของภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการผลิตจะตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในอุตสาหกรรม (ยกเว้นของชำรวยและเครื่องประดับ ที่พึ่งพิงตลาดส่งออกมากกว่าร้อยละ 80) ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ถึงสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรม พบว่า มีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ใช้ในการก่อสร้าง อาทิ กระเบื้องปูพื้น/บุพนัง เครื่องสุขภัณฑ์  เนื่องจากสินค้ามีความหลากหลายทั้งรูปแบบและราคาสินค้า ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละผู้ผลิต ส่งผลทำให้ในปัจจุบันสภาพการแข่งขันตลาดในประเทศ ผู้ผลิตต้องเร่งปรับตัวพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ สร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ ตลอดจนพัฒนาให้เป็นสินค้าในเชิงแฟชั่นและนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา ซึ่งระยะหลังการพัฒนาผลิตภัณฑ์มุ่งไปสู่แนวคิดรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Green Product) เพื่อเป็นทางเลือกในการตอบสนองความต้องการของลูกค้า แตกต่างจากเดิมที่เน้นการแข่งขันทางด้านราคา ซึ่งข้อได้เปรียบนี้จะตกไปอยู่ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีความพร้อมทางด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ยังขาดความพร้อมและความชำนาญด้านการตลาด พบว่า ยังคงเน้นการแข่งขันด้านราคาและประสบกับปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการแข่งขันกับสินค้านำเข้า

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปี 2555 ยังมีปัจจัยที่เป็นโอกาสในการดำเนินธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งมาจากอานิสงส์หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่จะส่งผลให้ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ ในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มีหมู่บ้านจัดสรรอยู่อย่างหนาแน่นและมีสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์เซรามิกค่อนข้างสูง ในขณะที่พบว่าผู้บริโภคบางกลุ่มหันมาให้ความสนใจในการเปลี่ยนวัสดุปูพื้นชั้นล่างของบ้าน จากวัสดุที่ดูดซับน้ำมากอย่างวัสดุจำพวกไม้หรือลามิเนต มาเป็นวัสดุที่มีการดูดซับน้ำน้อยลง อย่างกระเบื้องเซรามิกมากขึ้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์  ประเมินว่า มีที่อยู่อาศัยในโครงการหมู่บ้านจัดสรรแนวราบในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล2 ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมอย่างน้อย 170,000 หน่วย (ที่มีระดับความเสียหายปานกลางถึงรุนแรง) ในเบื้องต้นประมาณการว่า หากประชาชนที่บ้านเรือนได้รับความเสียหาย มีความประสงค์ปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์เซรามิกเพื่อการซ่อมแซมบ้าน จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6,500-68,000 บาท/หลัง3 ขึ้นอยู่กับราคาของวัสดุและพื้นที่ใช้สอย ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันความต้องการสินค้าในตลาดยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ เพราะผู้บริโภคบางส่วนได้มีการนำเงินไปใช้ซ่อมแซมส่วนที่เสียหายด้านอื่นๆ ก่อน เช่น ซ่อมรถยนต์ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นในการเดินทางและการประกอบอาชีพ แต่คาดว่าในไตรมาสที่ 1-2 ของปีนี้ ผู้บริโภคกลุ่มนี้จะเริ่มหันมาซ่อมแซมบ้าน ส่งผลต่อยอดการผลิตและการจำหน่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ แม้ว่าอานิสงส์ดังกล่าวน่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายในช่วงไตรมาสแรกค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากผ่านพ้นช่วงบูรณะซ่อมแซมไปแล้ว ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เซรามิกยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ ซึ่งยังต้องเผชิญแรงกดดันจากความกังวลของผู้บริโภค ในการเลือกทำเลที่อยู่อาศัยที่มีความเสี่ยงจากการเกิดน้ำท่วมน้อย ทำให้ผู้ซื้อใช้เวลาในการตัดสินใจซื้อยาวนานขึ้น

สำหรับหนึ่งปัจจัยที่อาจจะเป็นแรงหนุนต่อการขยายตัวของธุรกิจ มาจากการก่อสร้างในต่างจังหวัด จากการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม โดยเฉพาะจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและหัวเมืองหลักในแต่ละภูมิภาคภายหลังสถานการณ์น้ำท่วม อาทิ เชียงใหม่ นครราชสีมา ภูเก็ต หาดใหญ่ เป็นต้น อันจะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เซรามิกสำหรับงานก่อสร้างเพิ่มขึ้น 

จากปัจจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทำให้คาดว่า ในปี 2555 การผลิตเซรามิกเพื่อการจำหน่ายในประเทศ4 จะมีมูลค่าประมาณ 26,800-27,500 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4-7(YOY) ดีขึ้นจากปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 5 (YOY) โดยสินค้าที่เป็นตัวผลักดันการเติบโตของตลาด ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น/บุพนัง ซึ่งมีฐานการบริโภคขนาดใหญ่ คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของมูลค่าตลาดผลิตภัณฑ์เซรามิก

 

ตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกปี 2555 … คาดยังอยู่ในช่วงขาลง อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 0-5 

ในปี 2554 ที่ผ่านมา พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกของไทย มีทิศทางการเติบโตที่ดี โดยมีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 522.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 9.6 (YOY) ซึ่งมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น ประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีน แต่ในปี 2555 ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดส่งออกอย่างสหรัฐฯสหภาพยุโรป ประกอบกับสถานการณ์การค้าแบบเสรีที่มีแนวโน้มการแข่งขันกันสูงขึ้น โดยเฉพาะกับประเทศที่มีขีดความสามารถในด้านการผลิตที่สูง เช่น จีน และเวียดนาม ที่อุตสาหกรรมเซรามิก ของไทยเสียเปรียบการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากประเทศไทยมีต้นทุนด้านการผลิตที่สูงกว่านั้น อาจจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดส่งออกของไทยในประเทศคู่ค้าที่สำคัญเหล่านี้ลดลง

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีพื้นฐาน หากสถานการณ์วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นภูมิภาคใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อการค้าทั่วโลก คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ก็คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้การส่งออกยังสามารถขยายตัวในแดนบวกต่อไปได้ เนื่องจากไทยส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกไปยังตลาดยุโรปในสัดส่วนที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งหากปัญหาในกลุ่มยูโรโซนยังคงจำกัดอยู่ภายในภูมิภาค ก็คาดว่าจะไม่กระทบรุนแรงต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกของไทย โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกในปี 2555 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 520-550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0-5 (YOY) 

แม้ว่าภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกในปี 2555 จะมีทิศทางการขยายตัวที่ชะลอตัวลง แต่ผู้ประกอบการน่าจะมีโอกาสขยายการส่งออกได้มากขึ้น ในตลาดส่งออกหลักอย่าง ญี่ปุ่น อาเซียนและจีน เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกมากนัก เมื่อเทียบกับสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ อีกทั้งการค้าและการลงทุนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ ยังมีทิศทางการขยายตัวในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ ที่จะสามารถเกื้อหนุนให้การขยายตัวของการลงทุนภาคธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเซรามิกยังสามารถเติบโตได้ อันส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์เซรามิกในกลุ่มประเทศเหล่านี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มของผลิตภัณฑ์เซรามิกเพื่องานก่อสร้าง อาทิ เครื่องสุขภัณฑ์ ลูกถ้วยไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่นๆ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในกรณีเลวร้าย หากสถานการณ์ยืดเยื้อและขยายวงกว้างจนกลายเป็นผลกระทบลักษณะลูกโซ่ต่อการค้าและลงทุนไปยังภูมิภาคอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในภูมิภาคเอเซียและจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักและมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดส่งออกกลุ่มนี้ค่อนข้างสูง ก็อาจจะส่งผลให้การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกของไทย มีแนวโน้มลดลงกว่าปีที่ผ่านมา โดยอาจจะมีมูลค่าต่ำลงมาอยู่ที่ระดับ 470-490 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5-10 (-10.0 ถึง -5.0)

 

ประเด็นทางธุรกิจที่น่าจับตามองของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซรามิก ปี 2555 

แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากที่ได้กล่าวมาในข้างต้น แต่คงต้องยอมรับว่าในการดำเนินธุรกิจในปี 2555ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเซรามิกอยู่ไม่น้อย ซึ่งประเด็นที่น่าจับตามอง ได้แก่

นโยบายปรับโครงสร้างราคาพลังงานส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ราคาพลังงานที่ยังคงทรงตัวในระดับสูงและในบางช่วงปรับตัวสูงขึ้น โดยนับตั้งแต่เริ่มต้นเดือนมกราคม 2555 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันดีเซลมีการปรับขึ้นไปประมาณ 2.44 บาท/ลิตร ในขณะที่การปรับโครงสร้างราคาพลังงาน ส่งผลให้ราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตในอุตสาหกรรมและภาคขนส่งอย่าง LPG และ NGV ปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวถือว่าเป็นปัจจัยลบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ทั้งต้นทุนด้านการขนส่ง (เนื่องจากสินค้าเซรามิกเป็นสินค้าที่มีน้ำหนักมาก) และต้นทุนด้านการผลิต โดยเฉพาะผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs และมีการใช้ก๊าซ LPG5 เป็นเชื้อเพลิงหลัก ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ อาจจะได้รับผลกระทบในสัดส่วนที่น้อยลงมา เนื่องจากมีการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต ซึ่งมีราคาที่ถูกกว่า LPG รวมไปถึงวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต ที่จะต้องปรับราคาตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

ราคาสินค้ามีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น / การตีตลาดจากสินค้านำเข้า จากการที่ผลิตภัณฑ์เซรามิกเป็นหนึ่งในสินค้าวัสดุก่อสร้าง ที่มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและราคาสินค้า ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละผู้ผลิต ทำให้ในปัจจุบันผู้ประกอบการหลายราย หันไปนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศแทนการผลิตเองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากจีนและเวียดนาม เนื่องจากมีราคาถูกและมีความหลากหลาย ส่งผลให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรง ทั้งจากสินค้าที่ผลิตในประเทศด้วยกันเองและสินค้านำเข้า ท่ามกลางอำนาจในการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคลดลง 

การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ในขณะที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญกับการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากต้นทุนค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมเซรามิกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15-20 ของต้นทุนรวม ดังนั้น การปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาทใน 7 จังหวัด ส่วนจังหวัดอื่นๆ ให้ปรับขึ้นร้อยละ 40 ของอัตราค่าจ้างแรงงานเดิม ในวันที่  1 เมษายน 2555 นั้น  ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการปรับสูงขึ้น  โดยเฉพาะผู้ประกอบการเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในขณะที่ผู้ประกอบการนอกเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล อาจประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน จากการที่แรงงานส่วนใหญ่หันกลับเข้าสู่ภาคเกษตร หรือให้ความสนใจเข้ามาทำงานเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลมากขึ้น เนื่องจากได้รับค่าตอบแทนที่จูงใจมากกว่า อาจจะนำไปสู่ปัญหาการแย่งแรงงานในภาคอุตสาหกรรม 

การออกมาตรการกีดกันทางการค้าโดยการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ออกมาใหม่อย่างต่อเนื่อง จากกลุ่มประเทศในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น อาทิ มาตรฐานสิ่งแวดล้อม (Carbon Footprint Label, มาตรฐาน ISO14067 ISO 10545-1 ถึง 7, EU Flower, Eco-Design) มาตรฐานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ?เกี่ยวกับการก?อสร?าง  ระเบียบการขออนุญาตการใช้สารเคมี  (REACH)  เครื่องหมายรับรองความปลอดภัยของ EU (CE Mark) เป็นต้น โดยเน้นมาตรฐานของสินค้าที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานและการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งอาจส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิต จากการปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีและกระบวนการผลิต ระยะเวลาและขั้นตอนในการส่งออกสินค้าเพิ่มมากขึ้น 

สำหรับความเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมที่น่าจับตามอง พบว่า ในภาวะที่ค่อนข้างบีบคั้นผู้ประกอบการให้ต้องดิ้นรนเพื่อคงอยู่ในตลาดเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้ในปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่บางส่วนที่มีความพร้อม ได้ขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างศักยภาพ และเครือข่ายไว้เตรียมรับมือการแข่งขันที่จะเข้มข้นยิ่งขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2558) ที่อาเซียนจะเป็นฐานการผลิตและเป็นตลาดเดียวกัน ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ที่ยังขาดความพร้อมและความชำนาญด้านการตลาด พบว่า ผลจากภาวะต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ทยอยหยุดดำเนินการผลิตไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าต่อหน่วยต่ำหรือแข่งขันด้านราคา ซึ่งหากไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่เกิดขึ้นได้ทันท่วงที อาจจะส่งผลให้ต้องประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจเพิ่มมากขึ้นในระยะข้างหน้าได้

เพื่อเป็นการรับมือกับการแข่งขันด้านการค้าและรักษาความอยู่รอดของผู้ประกอบการในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการควรปรับตัวในประเด็นสำคัญ ดังต่อไปนี้

การรับมือกับต้นทุน การผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น

หันมาให้ความสำคัญในการบริหารต้นทุนการผลิต ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น   อาทิ การปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานหรือใช้พลังงานทางเลือกที่มีราคาถูกกว่า หรือถ้าไม่สามารถทำได้ ก็อาจจะศึกษาแนวทางการใช้เทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงาน หรือวิธีการใช้พลังงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อาทิ การพิจารณาปรับเปลี่ยนเป็นเตาเผาประสิทธิภาพสูง ที่สามารถช่วยลดการสูญเสียความร้อนจากเตา และลดการใช้ LPG ลงได้ประมาณ 20-30%

เสริมสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันกับสินค้าจากประเทศที่ มีขีดความสามารถ ในด้านการผลิตที่สูง

มุ่งเน้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง เพื่อสนองตอบตลาดระดับบนมากขึ้น เนื่องจากลูกค้าต่างประเทศรวมถึงลูกค้าในประเทศส่วนใหญ่ ให้การตอบรับสินค้าระดับกลางถึงระดับบนมากขึ้น โดยจะให้ความสำคัญเรื่องวัสดุที่ใช้ ฝีมือที่ประณีต การออกแบบที่โดดเด่น คุณภาพงานที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ ซึ่งเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันกับสินค้าของจีนและเวียดนาม ที่ปัจจุบันยังมุ่งเน้นตลาดในกลุ่มสินค้าราคาถูกในตลาดระดับล่างเป็นหลัก อีกทั้งควรมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการลดของเสีย เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ประหยัดพลังงานและส่งเสริมกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนควบคุมคุณภาพของสินค้าที่ผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน

การเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC

ตลาดอาเซียนเป็นตลาดหลักและจะทวีความสำคัญมากขึ้น ผู้ประกอบการควรศึกษาลู่ทางขยายตลาด ตลอดจนการหาพันธมิตรทางการค้า ทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ รวมไปถึงตัวแทนจัดจำหน่าย ที่จะมาช่วยสนับสนุนช่องทางการทำตลาดและจัดจำหน่ายในกลุ่มประเทศเหล่านี้ อีกทั้งควรให้ความสำคัญกับการวิจัยทางการตลาด รูปแบบการใช้ชีวิตและซื้อสินค้า เพื่อนำไปสู่การออกแบบสินค้า ให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนกลยุทธ์ในการจัดจำหน่ายสินค้าได้ดีขึ้น

 

โดยสรุป

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในปี 2555 การผลิตเซรามิกเพื่อการจำหน่ายในประเทศ จะมีมูลค่าประมาณ 26,800-27,500 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4-7(YOY) ดีขึ้นจากปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 5 (YOY) โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นฟูหลังน้ำลด จากการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ตลอดจนการขยายตัวของธุรกิจก่อสร้างในต่างจังหวัดและจากการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม ที่จะส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เซรามิกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนตลาดส่งออก พบว่า ผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา อาจส่งผลทำให้มูลค่าการส่งออกชะลอตัวลงจากปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกในปี 2555 น่าจะมีมูลค่าประมาณ 520-550 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0-5 (YOY) อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์วิกฤตหนี้ยุโรปและสหรัฐฯยืดเยื้อและยาวนาน ขยายวงกว้างจนกลายเป็นผลกระทบลักษณะลูกโซ่ต่อการค้าและการลงทุนไปยังภูมิภาคเอเซียและจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก ก็อาจจะส่งผลทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกของไทย มีมูลค่าต่ำลงมาอยู่ที่ระดับ 490-520 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 5-10 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการพึงระวังและต้องจับตามมองอย่างใกล้ชิด ได้แก่ จากการปรับขึ้นราคาเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตและการขนส่ง รวมไปถึงการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน และการออกมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบของการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ออกมาใหม่อย่างต่อเนื่อง จากกลุ่มประเทศในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ที่อาจเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการต้องรับภาระต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นและเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่เข้ามาตีตลาดในประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้น 

ดังนั้น การดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงด้านต้นทุนและค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้น โดยหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการต้นทุนการผลิต เพื่อก่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างประหยัดและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด การพัฒนาผลิตภัณฑ์เซรามิกในเชิงคุณภาพเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างตราสินค้าให้เป็นที่รู้จักและยอมรับ สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เริ่มให้ความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้า โดยพิจารณาด้านคุณภาพควบคู่กับปัจจัยทางด้านราคามากขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษาลู่ทางในการขยายตลาด โดยเฉพาะตลาดอาเซียนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลัก เพื่อเป็นการรองรับเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในอีก 3 ปีหน้า โดยการหาพันธมิตรทางการค้าที่จะมาช่วยสนับสนุนช่องทางการทำตลาดและจัดจำหน่ายในกลุ่มประเทศเหล่านี้ได้เพิ่มมากขึ้น