เคทีซีแจ้งผล 3 เดือนแรก รายได้ 3,102 ล้านบาท ฐานบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล 2.2 ล้าน

 

เคทีซีเชื่อการแข่งขันตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเข้มข้น จากสภาวะเศรษฐกิจที่มีเงินสนับสนุนจากนโยบายเพิ่มค่าแรงและงบกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ มั่นใจแผนลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทฯ ที่ผ่านมา เอื้อให้ไตรมาส 2 ฟื้นทำกำไร เตรียมลุยโปรแกรมการตลาดเชิงรุกสร้างความต่างเป็นรายเซ็กเม้นท์ให้กับสมาชิกทั้งพอร์ต เสริมด้วยกลยุทธ์การตลาดแบบออนไลน์ ควบคู่การหารายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจเกี่ยวเนื่อง และนำเสนอผลิตภัณฑ์ร่วมกับธนาคารกรุงไทย เพื่อให้ลูกค้ารับประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะธุรกิจสินเชื่อบุคคลเดินแต้มต่อเจาะกลุ่มข้าราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีบัญชีผ่านธนาคารกรุงไทยมากขึ้น โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2555 เคทีซีสามารถทำรายได้อยู่ที่ 3,102 ล้านบาท มีฐานสมาชิกรวม 2.2 ล้านบัญชี พอร์ตลูกหนี้รวม 41,418 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 155 ล้านบาท ผลกระทบต่อเนื่องจากค่าใช้จ่ายตั้งสำรองหนี้เสียจากภาวะน้ำท่วมช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 

นายระเฑียร  ศรีมงคล  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 3 เดือนแรกมีแนวโน้มดีขึ้น จากตัวเลขดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผู้บริโภคมีความต้องการใช้จ่ายต่อเนื่อง ภาคธุรกิจหันกลับมาลงทุนหลังภาวะเศรษฐกิจปรับดีขึ้นจากปัญหาอุทกภัยคลี่คลาย ประกอบกับการสนับสนุนเม็ดเงินจากภาครัฐเข้าระบบเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเพิ่มการลงทุนในประเทศ และการเร่งจ่ายเงินของรัฐเพื่อฟื้นฟูผลกระทบดังกล่าว นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยในส่วนของตลาดสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลคาดว่าทุกสถาบันการเงินจะมีการแข่งขันเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดยอดการใช่จ่ายผ่านบัตรและขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น”

“สำหรับฐานะทางการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2555 บริษัทฯ มีสินทรัพย์รวม 45,743 ล้านบาท ลดลงจาก 47,443 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2554 พอร์ตลูกหนี้การค้ารวมสุทธิเท่ากับ 41,418 ล้านบาท ลดลงจาก 43,135 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า ฐานสมาชิกรวม 2.2 ล้านบัญชี ประกอบด้วย บัตรเครดิต 1,610,849 บัตร ยอดลูกหนี้บัตรเครดิตสุทธิ 29,774 ล้านบาท สินเชื่อบุคคล “เคทีซี แคช” เท่ากับ 585,845 บัญชี ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคล 11,332 ล้านบาท เป็นต้น”

“เนื่องจากบริษัทฯ ยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายตั้งสำรองหนี้เสียจากผลกระทบของภาวะน้ำท่วมต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนหน้า โดยในไตรมาสแรกของปี 2555 หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลงเหลือเพียง 1,298 ล้านบาท จากเดิมในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 มีจำนวน 2,288 ล้านบาท อีกทั้งค่าใช้จ่ายทางการเงินและค่าใช้จ่ายในการบริหารงานเพิ่มขึ้น 6% เท่ากับ 28 ล้านบาท และ 3% เท่ากับ 37 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จึงส่งผลให้บริษัทฯ ขาดทุนสุทธิในไตรมาสแรก 155 ล้านบาท”

“รายได้รวมเพิ่มขึ้น 1% อยู่ที่ 3,102 ล้านบาท โดยที่รายได้ดอกเบี้ยรับ (รวมค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน) รายได้ค่าธรรมเนียมและรายได้อื่นๆ ในไตรมาสนี้เท่ากับ 1,997 ล้านบาท 817 ล้านบาท และ 287 ล้านบาท คิดเป็น 64% 26% และ 10% ของรายได้รวม สำหรับรายได้อื่นๆ ประมาณ 83% มาจากหนี้สูญได้รับคืน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมภาษีเงินได้) เท่ากับ 3,235 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน    ของปีก่อนหน้า จากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญสำหรับธุรกิจบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้นในปลายปี 2554 และลดลง 36% หากเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เพราะได้ตั้งสำรองพิเศษไว้แล้วสำหรับกรณีลูกหนี้ที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น เมื่ออายุหนี้ครบ 90 วัน ซึ่งตกอยู่ในช่วงระหว่างไตรมาสแรกของปี 2555 แม้ว่าจะต้องตั้งสำรอง 100% สำหรับหนี้ดังกล่าวแต่ปริมาณก็ไม่มากนัก”

“ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่อรายได้ (Cost to Income Ratio) ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 เท่ากับ 46% เท่ากับสิ้นปี 2554 ซึ่งเป็นมูลค่าที่ได้หักสำรองคะแนนพิเศษ 838 ล้านบาทออกแล้ว อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังมีนโยบายในการลดค่าใช้จ่ายการดำเนินงานในด้านต่างๆ ลง และมุ่งมั่นปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงให้อยู่ระดับเดียวกับอุตสาหกรรม”

“ในไตรมาสแรกของปี 2555 บริษัทฯ มีวงเงินสินเชื่อคงเหลือ (Available Credit Line) ทั้งสิ้น  28,115 ล้านบาท ประกอบด้วยวงเงินจากธนาคารกรุงไทย 18,030 ล้านบาท และที่เหลืออีก 10,085 ล้านบาท จากธนาคารพาณิชย์อื่นๆ โดยมีอัตราส่วนของหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 8.7 เท่า ซึ่งต่ำกว่าภาระผูกพันที่กำหนดไว้ที่ 10 เท่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (Net Interest Margin) เพิ่มจาก 13.6% ณ สิ้นปี เป็น 13.8% เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของรายได้ดอกเบี้ยรับจากธุรกิจสินเชื่อบุคคลที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉลี่ยเท่ากับ 5.18% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 4.94% ณ สิ้นปี 2554”

“สำหรับนโยบายการดำเนินธุรกิจ และกลยุทธ์การตลาดบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลของเคทีซีนับจากนี้ บริษัทฯ จะเร่งสร้างความได้เปรียบจากคู่แข่งขัน โดยออกโปรแกรมการตลาดเชิงรุกที่น่าสนใจตามความต้องการของสมาชิกเป็นรายกลุ่มและมุ่งใช้การตลาดออนไลน์ เนื่องจากง่ายต่อการปรับเปลี่ยนและต้นทุนต่ำ รวมทั้งจัดหารายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (Synergy Business) ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ประกันภัย การขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น ตลอดจนร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ร่วมกันเพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ เคทีซียังตั้งเป้าเติบโตในธุรกิจสินเชื่อบุคคลอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นการเจาะกลุ่มข้าราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีบัญชีเงินเดือนผ่านธนาคารกรุงไทยมากขึ้น และนำเสนอโปรโมชั่นการตลาดที่หลากหลายและการตลาดผ่านออนไลน์เช่นกัน ตลอดจนรักษาคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด”

“นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบปฏิบัติงานในองค์กรแบบ End to End เน้นให้แต่ละส่วนทำงานอย่างเข้าใจแท้จริง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของงานไปจนกระทั่งจุดสิ้นสุดของงานอย่างมีประสิทธิภาพและคล่องตัว อีกทั้งยังได้ขยายขอบเขตงานคอลล์ เซ็นเตอร์ (Call Center) ให้เป็นงานด้านคอนแท็คท์ เซ็นเตอร์ (Contact Center) เพื่อให้ครอบคลุมทุกช่องทางการติดต่อสื่อสารกับลูกค้ารวมถึงออนไลน์ โดยการฝึกอบรมให้ความรู้พนักงานอย่างเข้มข้นและให้เกิดความเป็นเจ้าของร่วมกับองค์กรอีกด้วย จึงเป็นที่คาดว่าในไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทฯ สามารถกลับมาทำผลกำไรได้ต่อไป” นายระเฑียรกล่าวสรุป