มูลค่าส่งออกของไทยเดือนพฤษภาคม 2555 สามารถกลับมายืนในแดนบวกได้เป็นครั้งที่ 2 นับจากต้นปี 2555 ที่ผ่านมา สอดคล้องกับทิศทางที่ดีขึ้นของภาคการผลิตที่กลับสู่ภาวะปกติแล้วในหลายอุตสาหกรรมจนปัญหาการขาดแคลนสินค้าคลี่คลายไปอย่างมาก อย่างไรก็ดี ปัญหาหนี้สาธารณะในยูโรโซน (ที่ลุกลามและมีความเสี่ยงที่จะทวีความยุ่งยากขึ้นอีกในระยะข้างหน้า) และทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ก็ยังอาจเป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญของภาคการส่งออกไทยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสรุปประเด็นที่น่าสนใจ พร้อมทั้งประเมินแนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2555 ไว้ดังนี้ :-
การส่งออกพลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน แต่การนำเข้ายังเร่งตัวขึ้นมากกว่า
มูลค่าการค้าของไทยในเดือนพ.ค. 2555 แม้ยังบันทึกยอดขาดดุลการค้าต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ตามการเร่งตัวขึ้นของมูลค่าการนำเข้าที่น่าจะเชื่อมโยงกับกิจกรรมการฟื้นฟูซ่อมแซมความเสียหายจากอุทกภัย ทั้งในภาคโรงงานผลิตและภาคครัวเรือน แต่ในขณะเดียวกัน สถิติการค้าระหว่างประเทศในเดือนพ.ค. ก็สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของภาคการส่งออกที่เริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน
– ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศเดือนพ.ค. 2555 การส่งออกมีมูลค่า 20,932.5 ล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.68 (YoY) และจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 23.72 (MoM) ขณะที่ การนำเข้ามีมูลค่า 22,672.2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.17 (YoY) และร้อยละ 14.58 (MoM) ส่งผลให้ไทยบันทึกยอดขาดดุลการค้าติดต่อกันเป็นเดือนที่สามอีก 1,739.7 ล้านดอลลาร์ฯ โดยสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนพ.ค.2555 มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
– มูลค่าส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 2555 เพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า แม้จะอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่กดดันจากทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกในเดือนนี้ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากอานิสงส์ของการฟื้นตัวในภาคการผลิต ขณะที่ ราคาสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของไทยก็มีระดับทรงตัวหรือปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ตามสถานการณ์การแข่งขันจากคู่แข่ง (โดยเฉพาะสินค้าเกษตร) และสัญญาณอ่อนแอในเศรษฐกิจแกนหลักของโลก ที่นอกจากจะสะท้อนภาวะซบเซาของอุปสงค์ (ที่อาจทำให้การปรับราคาส่งออกค่อนข้างลำบาก) แล้ว ยังเป็นตัวกระตุ้นแรงเทขายในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (ซึ่งมีผลต่อราคาสินค้าส่งออกหลายประเภทของไทย) อีกด้วย
– มูลค่านำเข้าของไทยในเดือนพ.ค. 2555 เพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้าเช่นเดียวกัน นำโดย สินค้าในหมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค ยานพาหนะและอุปกรณ์ขนส่ง และสินค้าทุน ที่ขยายตัว (MoM) จากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 23.6 ร้อยละ 12.5 ร้อยละ 13.3 ร้อยละ 8.0 และร้อยละ 5.8 ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าที่ปรับตัวลงค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเชื้อเพลิง และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้นำเข้ามีการเร่งสต็อกสินค้านำเข้าบางประเภทเพิ่มมากขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นในเดือนนี้ มีสัดส่วนการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ สูงถึงร้อยละ 21.9 และร้อยละ 19.7 ตามลำดับ
วิกฤตเศรษฐกิจโลกและผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย
วิกฤตหนี้ยุโรปที่ทวีความรุนแรงขึ้นหลังการเลือกตั้งทั่วไปรอบแรกของกรีซในช่วงต้นเดือนพ.ค. 2555 ส่งผลให้ภาคการค้าในทั่วทุกภูมิภาคของโลกรวมทั้งไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว โดยแม้ว่าไทยจะมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกไปยังยุโรปไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด แต่ต้องไม่ลืมว่า ยุโรปนั้นเป็นตลาดส่งออกหลักของหลายประเทศทั่วโลก ทั้งสหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ และอีกหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคู่ค้าหลักของไทยทั้งสิ้น และแม้ว่าภาวะล่าสุดของการส่งออกไปยังตลาดต่างๆ จะให้ภาพที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อน แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก อาจฉุดรั้งให้โมเมนตัมการฟื้นตัวของภาคการส่งออกเป็นไปอย่างไม่ราบรื่นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมรายละเอียดของสถานการณ์ตลาดส่งออกและสินค้าส่งออกล่าสุดของไทย ไว้ดังนี้
– ตลาดส่งออกสำคัญ ยังมีทิศทางปะปน แต่การส่งออกของไทยไปจีนและอาเซียน ยังขยายตัวได้ดี โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2555 การส่งออกของไทยไปจีนและอาเซียนขยายตัวร้อยละ 8.4 และร้อยละ 9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ซึ่งโดดเด่นกว่าภาพรวมของการส่งออกทั้งหมดที่หดตัวลงร้อยละ 1.5 (YoY) ทั้งนี้ สำหรับตลาดส่งออกหลักนั้น มีเพียงตลาดสหรัฐฯ ที่ยังขยายตัวได้ร้อยละ 3.4 (YoY) ในขณะที่ การส่งออกไปญี่ปุ่นและยุโรปหดตัวลงร้อยละ 4.6 (YoY) และร้อยละ 11.1 (YoY) ตามลำดับ
และล่าสุดในเดือนพ.ค. 2555 นั้น การส่งออกไปจีนและอาเซียน ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 22.3 และร้อยละ 10.7 (YoY) จากที่เติบโตร้อยละ 16.5 และร้อยละ 9.7 (YoY) ในเดือนเม.ย.ตามลำดับ ขณะที่ การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยูโรโซน ก็พลิกจากที่หดตัวในเดือนเม.ย. มาขยายตัวร้อยละ 10.9 ร้อยละ 5.0 และร้อยละ 6.8 (YoY) ในเดือนพ.ค. โดยในส่วนของการส่งออกของไทยไปยังยูโรโซนนั้น นับเป็นการกลับมาบันทึกอัตราการเติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน แต่อย่างไรก็ดี สถานการณ์ที่ยืดเยื้อของวิกฤตหนี้ยูโรโซน น่าจะทำให้ทิศทางเศรษฐกิจของยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น (ซึ่งล้วนเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย) ยังอาจเผชิญความไม่แน่นอนในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
– เจาะลึกสินค้าส่งออกหลัก…ยานยนต์และชิ้นส่วนยังสดใส แต่จับตาผลทางตรงและอ้อมของวิกฤตยุโรปต่อกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ เครื่องประดับ เครื่องนุ่งห่ม อิเล็กทรอนิกส์ และยางพารา
เป็นที่แน่นอนว่า ไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปที่มีต่อสินค้าส่งออกหลักของไทยที่มียุโรปเป็นตลาดส่งออกหลักในระยะถัดไปได้ โดยผลกระทบต่อสินค้าส่งออกหลักอาจแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากเน้นส่งออกไปยังยุโรปเป็นตลาดหลัก ได้แก่ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกไปยังยุโรปถึงร้อยละ 36.0 และร้อยละ 22.3 ของมูลค่าส่งออกรวมในแต่ละกลุ่ม ตามลำดับ และ 2) กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากเน้นการส่งออกไปยังจีน ซึ่งมียุโรปและสหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าหลัก ได้แก่ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์
อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจะสามารถเติบโตได้ แม้คู่ค้าหลักของไทยจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารสำเร็จรูปบางประเภท รวมทั้งน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากมีตลาดหลักอยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่น่าจะยังสามารถรักษาอัตราการเติบโตได้ในระยะถัดไป
โดยสรุป การส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคม 2555 สะท้อนภาพของการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวของภาคการผลิต และอานิสงส์จากการปรับตัวลงของราคาสินค้าส่งออกหลายรายการของไทย ทั้งนี้ การส่งออกของไทยสามารถกลับมาบันทึกอัตราการเติบโตเป็นเดือนที่ 2 นับจากต้นปี 2555 ที่ร้อยละ 7.68 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) อย่างไรก็ดี การนำเข้าที่ยังเร่งตัวขึ้นจากหลายปัจจัย อาทิ การปรับตัวลงของราคาสินค้านำเข้าบางหมวด โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ และการเพิ่มการนำเข้าวัตถุดิบที่สอดคล้องกับทิศทางที่ดีขึ้นของภาคการผลิตที่กลับสู่ภาวะปกติแล้วในหลายอุตสาหกรรม
สำหรับในระยะต่อไป ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอจากผลกระทบของวิกฤตหนี้ยูโรโซน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า แม้สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยูโรโซน จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของการส่งออกรวมนับจากต้นปี 2555 (เทียบกับสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่นซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ขณะที่ สัดส่วนการส่งออกไปจีนและอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 12.0 และร้อยละ 25.7 ของการส่งออกโดยรวมตามลำดับ) แต่ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกสูง ทำให้ภาพที่ซบเซาของภาคการส่งออก ยังอาจเป็นบรรยากาศที่รอฉุดรั้งโมเมนตัมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
เมื่อมองไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 นั้น แม้ทางการยุโรปจะสามารถประคับประคองสถานการณ์วิกฤตหนี้ไม่ให้ไถลลงไปจนถึงขั้นเลวร้ายรุนแรง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจยูโรโซนที่ค่อนข้างบอบช้ำนั้น ยังต้องใช้เวลาอีกยาวนานพอสมควร ดังนั้นการส่งออกของไทยไปยูโรโซนน่าจะหดตัวลงร้อยละ 5.0 ในปี 2555 แม้ว่าอานิสงส์ของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน อาจช่วยทำให้ทิศทางการส่งออกของไทยทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2555
สำหรับภาพรวมของการส่งออกของไทยในปี 2555 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการเติบโตของการส่งออกปี 2555 ไว้ที่ร้อยละ 10 (กรอบร้อยละ 7-15) โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการส่งออกไปยังจีนและอาเซียนที่จะยังคงรักษาทิศทางการขยายตัวไว้ได้อย่างต่อเนื่อง