บสย. ผนึก 17 สถาบันการเงิน ค้ำประกันสินเชื่อ รวม 34,000 ล้านบาท

“วิรุฬ เตชะไพบูลย์” จับมือ บสย. พร้อมผนึกสถาบันการเงิน 17 แห่งลงนามบันทึกข้อตกลง 2 โครงการยักษ์ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 4 วงเงิน 24,000 ล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS สำหรับผู้ประกอบการใหม่ วงเงิน 10,000 ล้านบาท หวังช่วยเหลือ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหลักประกัน ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินมากขึ้น ค่าธรรมเนียม PGS ระยะที่ 4  1.75 ต่อปี  SMEsหน้าใหม่รัฐจ่ายค่าธรรมเนียมให้ ปีแรกอีก 1.75 % จ่ายเอง 0.75 %

นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นับเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลนี้ที่ให้ความสำคัญแก่ อุตสาหกรรมขนาดย่อมซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยดังนั้นการเพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มขีดการแข่งขันของอุตสาหกรรมขนาดย่อมจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือให้ SMEs  ที่มีศักยภาพ และต้องการสินเชื่อแต่ขาดหลักประกัน ให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินมากขึ้น จึงได้จัดโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme ระยะ 4 และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) เพื่อต่อยอดความสำเร็จให้กับธุรกิจ SMEs ในวงเงินรวมกว่า 34,000 ล้านบาท โดยให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม  หรือ บสย. เป็นผู้ค้ำประกัน

โครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ  Portfolio  Guarantee  Scheme  ระยะที่  4  (PGS  ระยะที่  4)  บสย. เป็นการค้ำประกันสินเชื่อที่สถาบันการเงินปล่อยให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี  ที่มีศักยภาพแต่มีหลักประกันไม่เพียงพอในลักษณะ  Portfolio  มีวงเงินค้ำประกันรวม  24,000  ล้านบาท  ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด  5  ปี  วงเงินค้ำประกันสูงสุดต่อรายไม่เกิน  40  ล้านบาท  มีค่าธรรมเนียมค้ำประกันต่อปี  1.75%  ของวงเงินค้ำประกัน ตลอดอายุการค้ำประกัน โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่ ภายในวันที่  31  ธันวาคม  2555 หรือจนกว่าวงเงินจะหมด 

สำหรับโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS  New/Start-up)  โดย  บสย.  เป็นการค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มกิจการใหม่ไม่เกิน  2  ปี  ในลักษณะ  Portfolio  มีวงเงินค้ำประกันรวม  10,000  ล้านบาท  ระยะเวลาค้ำประกันสูงสุด  7  ปี  วงเงินค้ำประกันสูงสุดไม่เกิน  2  ล้านบาท  มีค่าธรรมเนียมค้ำประกันต่อปีอยู่ที่  2.5%  ของยอดค้ำประกันคงค้าง  โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมให้ในปีแรกในอัตราร้อยละ 1.75 และผู้ประกอบการจ่ายเองร้อยละ 0.75  โดยผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอกับสถาบันการเงินที่ใช้บริการอยู่ได้ภายในวันที่  31  ธันวาคม  2555 หรือจนกว่าวงเงินจะหมด

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. กล่าวว่า บสย. มีหน้าที่ที่จะทำให้ SME ที่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย สามารถกู้เงินได้มากขึ้น ดังนั้นทางบสย. จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันระหว่าง 17 สถาบันการเงินในการปล่อยกู้ในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 4 และโครงการค้ำประกันสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินตามนโยบายของ บสย. เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนด้านการเงินให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs แต่มีหลักประกันไม่เพียงพอให้ได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินในวงเงินที่สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนอีกด้วย

ด้านนายวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. กล่าวว่า ปัจจุบัน ณ วันที่ 31 พ.ค.55 บสย. เข้าไปให้การค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs แล้วจำนวนทั้งสิ้น 62,813 ราย คิดเป็นวงเงินค้ำประกันกว่า 183,770 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อไปแล้วรวมทั้งสิ้น 303,164  ล้านบาท และประเภทของธุรกิจของที่ บสย. ให้การค้ำประกันสูงสุด 3 อันดับแรกได้แก่ อันดับที่ 1  การบริการ  อันดับที่ 2  การผลิตสินค้าและการค้าอื่นๆ  และอันดับที่ 3   อาหารและเครื่องดื่ม  และคาดว่าในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกันระหว่าง 17 สถาบันการเงินในการปล่อยกู้ใน 2 โครงการนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ SMEs สนใจที่จะเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจในการแข่งขันในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น 

นายวิบูลย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่ต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอคำปรึกษาเรื่องการขอสินเชื่อ สามารถโทรติดต่อ “ศูนย์ช่วยเหลือ SMEs” ได้ที่ โทร.  02-3082741 หรือ    02-890-9999 ซึ่งเป็นบริการพิเศษของ บสย. โดยศูนย์ช่วยเหลือ SMEs จะให้ข้อมูล คำแนะนำและคำปรึกษา โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย