สตาร์บัคส์ วาไรตี้

ต้องถือเป็น Stategic Move อีกครั้งของสตาร์บัคส์หลังการเปลี่ยนโลโก้ เพื่อขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ นอกเหนือจากกาแฟ ล่าสุดสตาร์บัคส์ในไทย ได้ประกาศขยาย 2 โมเดลธุรกิจใหม่ ร้านคาเฟ่ที่ขายอาหาร และสาขา ไดร์ฟ-ทรู เพื่อรับกับโจทย์ใหญ่ ผลักดันยอดขายให้เติบโตเฉลี่ย 15-20% ต่อปีต่อเนื่อง ท่ามกลางการแข่งขันจากร้านกาแฟที่มีเชนสาขารายใหญ่ ไปจนถึงร้านกาแฟที่เปิดโดยผู้ประกอบการรุ่นใหม่ 

ร้านคาเฟ่ที่ขายอาหาร เป็นโมเดลที่มีจุดเริ่มมาจากพฤติกรรมรับประทานมื้อเที่ยงของคนไทย ที่ต้องการอาหารมื้อหนัก ปรุงขึ้นมาร้อนๆ ขณะที่ร้านสตาร์บัคส์เดิมจะมีแค่ Light Meal เช่น Warm Sandwich ทำให้ช่วงเวลาพักเที่ยงร้านสตาร์บัคส์ยังไม่ใช่ตัวเลือกของลูกค้า ซึ่งจะกลับมาซื้ออีกครั้งช่วงบ่าย 

เมนูอาหารตะวันตก 13 รายการ จะถูกเพิ่มมาในเมนูของสาขาต้นแบบแห่งแรกอยู่ที่ตึก Exchange Tower อโศก อาคารที่ตั้งสำนักงานใหญ่สตาร์บัคส์ เพื่อให้ง่ายต่อการวิจัยด้านพฤติกรรมผู้บริโภค อีกทั้งโพรไฟล์ของกลุ่มลูกค้าก็มีทั้ง คนออฟฟิศ ชาวต่างชาติที่ทำงานในไทย และนักเดินทางกับผู้ที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง 

ก่อนหน้าที่จะเปิดในเมืองไทย โมเดลขายอาหารเริ่มมาแล้วในฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และเกาหลี โดยแต่ละแห่งก็จะมีวิธีการทดลองและเลือกเมนูอาหารแตกต่างกันไปตามรสนิยมผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ก็เน้นที่เมนูอาหารตะวันตกเป็นหลัก

ร้านไดร์ฟ-ทรู เป็นร้านอีกรูปแบบที่สตาร์บัคส์ประเดิมเปิดสาขาแรกที่ พอร์โต ชิโน คอมมูนิตี้ มอลล์ จับกลุ่มเป้าหมายคนกรุงเทพฯ ที่ขับรถออกไปท่องเที่ยวทะเลทางตะวันตกและทางใต้ ดีไซน์ของสตาร์บัคส์แห่งนี้จึงดูแปลกตาด้วยแรงบันดาลใจจาก “เพรียง” ที่ใช้เลี้ยงหอย เพื่อบ่งบอกบรรยากาศของทะเล 

ที่น่าสนใจ พฤติกรรมผู้บริโภคของคนไทย กับสาขาไดร์ฟ-ทรูว่าเป็นเรื่องใหม่ น่าตื่นเต้น และอยากผจญภัย  

“ลูกค้าของสตาร์บัคส์ส่วนหนึ่งขับรถมาที่ช่องไดร์ฟ-ทรู แล้วก็ตื่นเต้น ปกติจะสั่งได้เฉพาะตำแหน่งคนขับ แต่ปรากฏว่าชะโงกหน้ามาสั่งกันทั้งรถ ก็สนุกสนานกันไปทั้งคนซื้อคนขาย พอซื้อเสร็จได้ของก็ขับรถไปจอด แล้วลงมานั่งดื่มกาแฟต่อที่ร้าน โดยรวมแล้วการขายแบบไดร์ฟ-ทรู สร้างรายได้ให้ร้าน 30%”  

โมเดลแบบไดร์ฟ-ทรู เลยมีแผนจะเปิดเพิ่มแน่นอนแล้ว โดยมองว่าทำเลเส้นทางหลักที่จะมุ่งตรงสู่สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก แต่ต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ และใช้เงินลงทุนมากกว่าสาขาแบบเดิม เมื่อรวม 2 สาขาโมเดลใหม่และสาขาแบบดั้งเดิม ซึ่งขยายตัวมากขึ้นตามห้างสรรพสินค้าในต่างจังหวัดและคอมมูนิตี้ มอลล์ใหม่ๆ ในเขตกรุงเทพฯ ทำให้ประเทศไทยจะมีสตาร์บัคส์ทั้งสิ้น 154 สาขา ภายในเดือนตุลาคมของปีนี้  

 

เปิดหลังครัว สตาร์บัคส์ 

การเปิดโมเดลขายอาหารในร้านกาแฟ สตาร์บัคส์ใช้พนักงานจำนวนเท่ากับจำนวนพนักงานในร้านกาแฟแบบเดิมขนาด 110 ตารางเมตร ใช้พนักงานประมาณ 6 คน  ส่วนวิธีการคัดเลือกบุคลากรก็คัดจากพนักงานเดิมที่มีประสบการณ์ด้านอาหาร เช่น เรียนด้านอาหารหรือเคยอยู่ร้านอาหารมาบ้าง มาทดลองโมเดลนี้ ส่วนเรื่องวัตถุดิบซัพพลายมาจากร้าน Coffee Beans by Dao กับร้าน Cafe Buongiorno ร้านอาหารสไตล์อิตาเลียน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เป็นพันธมิตรกับสตาร์บัคส์เรื่องขนมปังกับเค้กอยู่แล้ว   

 

สตาร์บัคส์ ขายอะไรได้บ้าง 

นอกจากร้านกาแฟซึ่งเป็นรูปแบบหลักของสตาร์บัคส์แล้ว ที่อเมริกาเหนือซึ่งสตาร์บัคส์สร้างแบรนด์มากว่า 40 ปี มีโมเดลอื่นๆ เช่น สตาร์บัคส์ที่เสิร์ฟเมนูไวน์ หรือโมเดลที่ดัดแปลงเอาตู้คอนเทนเนอร์มารีไซเคิลทำเป็นร้านกาแฟที่เคลื่อนย้ายได้ แต่ เมอร์เรย์ ดาร์ลิ่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สตาร์บัคส์ คอฟฟี่ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ยืนยันว่าไม่รีบร้อนนำเอาโมเดลร้านกาแฟแบบอื่นๆ เข้ามาในประเทศไทย