สติ๊กเกอร์ไลน์ ตอบโจทย์การตลาดจริงหรือ

โอม-อดิลฟิตรี ประพฤติสุจริต กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ ออนไลน์ จำกัด ว่า  LINE มีฟีเจอร์หลายอย่างที่ตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ได้ดี โดยเฉพาะฟีเจอร์ที่เป็นไฮไลต์ คือ สติ๊กเกอร์ และจากจุดเด่นนี่องที่ทำให้ LINE กลายเป็นสื่อที่นักการตลาดต้องสนใจ  ทำให้เวลานี้  LINE ขึ้นราคาค่าทำสติ๊กเกอร์ 30%  

“จะว่าแพงก็แพง เพราะว่า LINE เขาโพสิชั่นตัวเองเป็นคนทำสติ๊กเกอร์ ไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นโปรแกรมเมอร์ เขามีนักออกแบบสติ๊กเกอร์ทั้งหมด 500 คน รองรับเฉพาะงานในเอเชียนะ ก็ถือว่าเขาลงทุนเยอะมาก”

จากโมเดลเดิมในการทำสติ๊กเกอร์ มี 3 แพ็กเกจ  คือ 1.แบรนด์เป็นผู้ออกแบบคาแร็กเตอร์ของตัวเองแล้วให้ LINE อนุมัติ 2.มีคาแร็กเตอร์แล้วให้ LINE ออกแบบสติ๊กเกอร์ให้ 3.ให้ LINE ออกแบบทั้งหมด  ซึ่งเวลานี้ LINE ยกเลิกข้อ 1 ไปแล้ว เพราะต้องการคุมคาแร็กเตอร์ เพื่อให้มีความเป็น LINE ไม่ใช่ขายของมากเกินไป 

เมื่อราคาสูงขึ้น วิธีการที่จะทำให้การสื่อสารผ่าน LINE คุ้มค่าที่สุด ระหว่าง Official LINE และ Sticker สารพัดแบบ อดิลฟิตรี มองว่า สติ๊กเกอร์าจะเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า ส่วนการทำ Official Accounts เหมาะกับแบรนด์ที่มีผลประโยชน์อื่นๆ ให้กับลูกค้า ถ้าไม่มีคนก็จะกดรับสติ๊กเกอร์อย่างเดียวแล้วบล็อก Official LINE 

“ภายในครึ่งปีแรกของปี 2556 จับตาดูไว้ให้ดีๆ ในกรุงเทพฯ คนเล่น LINE อาจจะมากกว่า Facebook ด้วยซ้ำ เพราะว่า 3G มาน่าจะทำให้ตลาดสมาร์ทโฟนเปลี่ยน ขณะที่ Facebook เองก็ไม่มีอะไรใหม่ ในธุรกิจ ดอทคอม อายุ 5-10 ปี ถือว่ามากเกินไปแล้ว ส่วน LINE มีลูกเล่นด้านอีโมชั่นมากกว่า สำหรับแบรนด์เองก็ยังมีให้เล่นอีกเยอะ LINE เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง”

ในขณะที่อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ กรรมการผู้จัดการ Adapter Digital Agency วิเคราะห์ว่า ไม่ใช่ทุกแบรนด์ที่เหมาะกับการใช้ Official LINE  อย่างแบรนด์ที่เป็นบริการสายการบิน เครือข่ายโทรศัพท์ หรือรีเทล ที่มีโปรโมชั่นเยอะๆ แล้วต้องเปลี่ยนโปรโมชั่นอยู่เรื่อยๆ เหมาะที่ใช้ Official LINE เพราะถือว่าใช้แจ้งข่าวกับผู้ที่สนใจ 

แต่แบรนด์ที่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค Official LINE อาจจะไม่เหมาะ แต่น่าจะใช้สติ๊กเกอร์มากกว่า เพราะว่ายังไงผู้ใช้งานก็ส่งหากัน เอาไปแชร์กัน ส่วนเรื่องการบริหารการสื่อสารสำหรับ LINE  ยังใหม่ก็เลยไม่มีศาสตร์มาบอกชัดเจน อย่างเฟซบุ๊กมันมีวิธีมาแล้วว่าควรจะส่งข้อความวันละประมาณ 6-8 ข้อความ แล้วก็ไม่ควรส่งต่อกัน แต่สำหรับ LINE ก็อาจจะต้องพิจารณาจากตัวเองในฐานะผู้ใช้งาน ว่าถ้าหากได้รับข้อความถี่ๆ แล้วเรารำคาญไหม ข้อความที่มากับ Official LINE ก็เหมือนข้อความที่มาจาก SMS นั่นแหละ แต่บล็อกง่ายกว่าเยอะ ผู้ใช้กดจิ้มจากโทรศัพท์ได้เลย ขณะที่ SMS ถ้าเราจะยกเลิกยังต้องโทรศัพท์ไปบอก”  

เช่นเดียวกับ สุวรรณดี ไชยวรุตม์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด ซึ่งรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ชาพร้อมดื่มภายใต้แบรนด์เพียวริคุ มองว่า หากมองในแง่เครื่องมือสื่อสาร LINE  เหมาะกับการใช้งานส่วนตัวมากกว่าเป็นเครื่องมือการตลาด เพราะในแง่ผู้ใช้จะได้รับความสะดวกจากการเป็นแอปฯ บนสมาร์ทโฟน ที่ติดตัวผู้ใช้ไปทุกที่ทุกเวลา และฟังก์ชันที่ออกแบบมาสามารถทดแทนการส่งข้อความแบบเดิม รวมถึงการออกเกม LINE  Pop ได้รับความนิยมมาก สามารถดึงดูดให้ผู้ใช้ใช้เวลาอยู่กับ LINE มากขึ้น 

แต่ถ้าใช้ LINE เป็นเครื่องมือสื่อสารการตลาด สุวดี มองว่า ยังไม่ชัดเจนว่าแบรนด์จะได้ประโยชน์มากแค่ไหน เนื่องจากเวลานี้มีการออกสติ๊กเกอร์ให้ผู้ใช้โหลดฟรีเป็นจำนวนมาก ผู้ใช้มีตัวเลือกมากมาย หรือโหลดไปแล้วก็อาจไม่ได้ส่งต่อให้เพื่อน  

หรือแม้กระทั่งว่า ผู้ใช้โหลดสติ๊กเกอร์มาแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะยอมรับข้อความที่แบรนด์ส่งมาให้ (Official Accounts) เพราะมีผู้ใช้จำนวนไม่น้อยที่โหลดสติ๊กเกอร์มาแล้ว กลับกดบล็อกไม่รับข้อความที่แบรนด์ส่งมาให้ เพราะรู้สึกว่ารบกวน ลักษณะนี้จะคล้ายกับยุคก่อนหน้านี้ ที่แบรนด์นิยมสื่อสารกับผู้ใช้ด้วยการส่งข้อความผ่าน SMS ซึ่งผู้ใช้จำนวนไม่น้อยทีรู้สึกว่าถูกรบกวน ทำห้ไม่ได้รับความนิยม ดังนั้นการสร้างการรับรู้แบรนด์ผ่านสติ๊กเกอร์ หรือการส่งข้อความอาจไม่ได้ผลมากนัก 

 

ข้อระวังของการทำตลาดบน LINE

– LINE Official แตกต่างจาก Twitter/ Fan Page การสื่อสารก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย อย่าส่งข้อความถี่เกินไปในแต่ละวัน เพราะผู้รับอาจรำคาญ

– คาแร็กเตอร์ของ Brand Sticker ต้องออกแบบให้สะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ รวมทั้งแอคชั่นที่ใช้ต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคน  

– ทำก่อนได้เปรียบ ยิ่งมาช้า ผู้บริโภคยิ่งรู้สึกว่าไม่มีอะไรแปลกใหม่

– ผู้ใช้ต้องการแค่โหลดสติ๊กเกอร์ จากนั้นจะบล็อกไม่ให้แบรนด์ส่งข้อความ 

– ข้อความที่ส่งให้ต้องเน้นเรื่องของสิทธิประโยชน์ ไม่เน้นโฆษณา