“สาขาเฉิงตู” จิ๊กซอว์ตัวที่ 2 ในแดนมังกรของ KBank

การปักธงใน “ตลาดการเงินจีน” นับเป็นวิสัยทัศน์ผสมความฝันของผู้บริหารสูงสุดของธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank มานานกว่า 10 ปี แต่ดูเหมือนจะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น เมื่อพลวัตรของโลกเศรษฐกิจยุคใหม่นี้กลับมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่โลกตะวันออก โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

จากเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ที่ KBank เข้าไปคลำทางในตลาดจีนโดยไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้แม้แต่ว่าจะไปทำอะไรที่นั่นบ้าง และไม่รู้จักใครสักคน มาถึงวันนี้ จังหวะก้าวในตลาดจีนของ KBank กลับดูหนักแน่น คืบหน้า และมีทิศทางที่ชัดเจน มากขึ้นโดยลำดับ

เหตุการณ์ที่ยืนยันคำกล่าวข้างต้นได้ดี ได้แก่ การเปิดธนาคารกสิกรไทยสาขาเฉิงตู ในมณฑลเสฉวน ซึ่งเป็นสาขาที่ 2 ของ KBank ในแดนมังกร เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2556 ที่ผ่านมา

คุณพิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการ และผู้บริหารสายงานธุรกิจจีน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวถึง ยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานของสาขาเฉิงตูว่า สาขาเฉิงตูจะเน้นให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) ในประเทศจีน กลุ่มนักธุรกิจที่ทำการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในภูมิภาค ไทย-จีน-เออีซี การให้คำปรึกษาด้านการลงทุนระหว่างไทย-จีน ด้วยพนักงานที่มีความรู้และความพร้อมทางด้านภาษาไทย จีน และอังกฤษ

“กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราในจีน คือ กลุ่มผู้ประกอบการ SME ของจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาการเข้าถึงสินเชื่อมาก ช่องว่างของตลาดตรงนี้ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจของ KBank เพราะธุรกิจ SME ในจีนมีจำนวนมหาศาล ในขณะที่เราก็มีประสบการณ์ความสำเร็จในตลาด SME จากเมืองไทยมาแล้ว”

สำหรับสาเหตุที่เลือก “เฉิงตู”คุณพิพิธอธิบายว่า เฉิงตูมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดี และมีการค้ากับต่างประเทศในปริมาณที่สูง ส่วนมณฑลเสฉวนเองก็มีขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงเป็นอันดับ 8 ของจีน มีประชากรสูงถึง 90 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและโลจิสติกส์สู่ภาคตะวันตกของจีน ขณะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารยังไม่สูงเท่ากับเมืองใหญ่ในฝั่งตะวันออกของจีน

สาขาเฉิงตูนับเป็น “จิ๊กซอว์” ตัวที่ 2 ในการขับเคลื่อนธนาคารกสิกรไทยให้ก้าวสู่การเป็นสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ (Connectivity) ระหว่างจีนกับไทย และจีนกับอาเซียน โดยจิ๊กซอว์ตัวแรกของ KBank บนจีนแผ่นดินใหญ่ ได้แก่ สาขาเซินเจิ้น ในมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งธนาคารได้เข้าไปวางรากฐานและวางระบบอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อ 4 ปีก่อน ปัจจุบัน KBank สาขาแรกในจีนถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจ SME ของจีน

“มันไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนความคิด จากที่เราเคยค้าขายกับชาติตะวันตกกันมานาน อยู่ๆ ต้องหันมาหา “จีน” สิ่งที่ยากที่สุดขององค์กรที่มีคนร่วม 2 หมื่นคน คือ การเปลี่ยนความคิด แต่พอเปลี่ยนความคิดได้แล้ว ก็ต้องผลักดันทุกคนให้ก้าวตามให้ทันด้วย ก็ไม่ง่ายเลย เราใช้เวลาศึกษาอยู่นานจนรู้ว่าจะทำอะไร”

คุณพิพิธ เอนกนิธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งแรกที่ KBank ทำเพื่อหยั่งรากลึกลงในตลาดจีนคือ การสร้างสิ่งที่เรียกว่า “Organization Capability” หมายถึง ความรู้ความสามารถขององค์กรในการปรับทัพหรือเคลื่อนทัพไปในทิศทางใหม่ ซึ่งนอกเหนือจาก Knowledge และ Know-how ยังหมายรวมถึงความรู้ในการเข้าตลาดใหม่ อาทิ กฎเกณฑ์ กติกา มารยาท สภาพสังคม รูปแบบความคิด วัฒนธรรม ฯลฯ ซึ่งแต่ละมณฑลของจีนจะแตกต่างกันไป

“เป้าหมายทางยุทธศาสตร์สูงสุดคือ เราอยากกลายเป็น “KBank (China)” หรือก็คือ ธนาคารท้องถิ่นในจีน แต่ทั้งนี้ เราก็ต้องมีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการองค์กรพอสมควรจึงจะไปตรงนั้นได้ ตลอดเวลาที่ผ่านมา เราเน้นสร้าง Organization Capability มาโดยตลอดทั้งในจีนและในไทย เพราะสิ่งนี้จะทำให้เรามีพื้นฐานที่แข็งแรงจนสามารถยืนหยัดและแข่งขันในตลาดจีนได้เป็นอย่างดี”

ปีนี้ ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อในจีนราว 3,000 ล้านหยวน ผ่านการปล่อยกู้ร่วมกับธนาคารพันธมิตรในจีนและการปล่อยกู้ตรงกับลูกค้า รวมถึงตั้งเป้ายอดเงินฝาก 3,000 ล้านหยวน โดยเน้นนักธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย ขณะเดียวกันก็ได้วางเป้าการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศผ่านสาขาเซินเจิ้นไว้ที่ 4,000 ล้านหยวน โดยในระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ยอดสินเชื่อของสาขาเซินเจิ้นเติบโตถึง 68.40% มียอดสินเชื่อรวม 1,513 ล้านหยวน

“ในเมื่อแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจและการเติบโตทางการเงินไปอยู่ที่เอเชีย และถนนทุกเส้นต่างมุ่งเข้าสู่จีน ฉะนั้นการที่เรามีสาขาในจีน และเรามีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับจีน เราก็จะสามารถช่วยให้ลูกค้าได้รับประโยชน์ตรงนี้ด้วย นี่คือเรื่องใหญ่สุดของเรา” คุณพิพิธทิ้งท้าย

นอกจาก สาขาเซินเจิ้นและสาขาเฉิงตู ที่ถือเป็นการปูพรมในตลาดจีน ในอนาคตอันใกล้ ธนาคารกสิกรไทยมีแผนจะเปิดสาขาในประเทศจีนให้ครบ 5 แห่ง ทั้งนี้ เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายใหญ่คือ การเป็น “ธนาคารท้องถิ่น” ของจีน นั่นเอง