ทีเอ็มบีปลื้ม ลาวแต่งตั้งเป็น “ผู้จัดการการจัดจำหน่าย” ออกบอนด์รัฐบาล

ทีเอ็มบี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย (Lead Arranger) ในการออกพันธบัตรให้แก่กระทรวงการเงิน สปป. ลาว นับเป็นครั้งแรกของกระทรวงการเงิน สปป. ลาวที่ระดมทุนเป็นสกุลเงินต่างประเทศจากตลาดพันธบัตรในต่างประเทศ และระดมทุนจากตลาดพันธบัตรของไทยในแง่ของตลาดพันธบัตรไทย และการออกพันธบัตรจากรัฐบาลต่างประเทศเป็นการระดมทุนในตลาดโดยผู้ออกพันธบัตรที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยมีบริษัททวินไพน์ คอนซัลติ้ง จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัท LS Horizon Limited เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายกล่าวว่า “ความสำเร็จในการออกพันธบัตรในภาวะที่ตลาดผันผวนเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นผลงานที่น่าทึ่งในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทย เพราะเป็นการเปิดทางเลือกใหม่ๆ ในการลงทุนให้แก่นักลงทุนในประเทศ ความน่าเชื่อถือที่แข็งแกร่งของรัฐบาล สปป. ลาว ได้รับการขานรับอย่างดีจากนักลงทุนสถาบันไทยและกลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการจัดจำหน่ายพันธบัตรครั้งนี้ และการเป็นผู้จัดจำหน่ายพันธบัตรในครั้งนี้ ยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของทีเอ็มบีในการมีส่วนร่วมเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินให้แก่ประเทศสมาชิกของภูมิภาคนี้เพื่อความเติบโตอย่างมั่นคง”

การออกพันธบัตรสกุลเงินบาทของกระทรวงการเงิน สปป. ลาว ครั้งนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ในช่วงสำรวจความต้องการซื้อหลักทรัพย์พบว่ามีคำสั่งซื้อเข้ามากว่า 4,000 ล้านบาท สูงกว่ามูลค่าที่ตั้งใจไว้ถึง 2.7 เท่า กลุ่มนักลงทุนที่ให้ความสนใจมีหลากหลาย ได้แก่นักลงทุนสถาบันของไทย บรรษัทไทย ผู้ลงทุนรายใหญ่ และองค์กรที่เชื่อมโยงกับภาครัฐของไทย

กระทรวงการเงินแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในฐานะหน่วยงานระดมทุนของรัฐบาล สปป.ลาว ประสบความสำเร็จกับการออกพันธบัตรมูลค่า 1,500 ล้านบาท (ประมาณ 50 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ) เป็นสกุลเงินบาท ระยะเวลาไถ่ถอน 3 ปี และอัตราดอกเบี้ย 4.5% ต่อปี เสนอขายให้แก่นักลงทุนสถาบันและกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ ความสำเร็จในการออกพันธบัตรครั้งนี้ตอกย้ำศักยภาพความแข็งแกร่งของรัฐบาล สปป. ลาว ในฐานะผู้ออกพันธบัตรในตลาดเงินตลาดทุนภายในภูมิภาคเอเชียที่เชื่อมโยงรวมตัวกันมากขึ้น

กระทรวงการเงิน สปป.ลาวได้รับอนุมัติให้ออกพันธบัตรสกุลเงินบาท มูลค่า 1,500 ล้านบาท จากกระทรวงการคลังของไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 นับเป็นรัฐบาลต่างชาติประเทศแรกที่ได้รับอนุมัติให้ออกพันธบัตรดังกล่าว การออกพันธบัตรครั้งนี้ยังได้รับยกเว้นในด้านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือซึ่งเป็นข้อกำหนดโดยกระทรวงการคลังของไทยในการออกพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของนิติบุคคลทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงการเงิน สปป.ลาว มีคุณสมบัติเทียบเท่าองค์กรภาครัฐต่างประเทศ ภายใต้รัฐบาล สปป. ลาว สำหรับเงินทุนที่ระดมจากการออกพันธบัตรครั้งนี้จะนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปตามบทบาทหน้าที่ของกระทรวงการเงิน อาทิเช่น โครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐบาล สปป.ลาว

ท่านมาดาม ทิพากอน จันทะวงสา อธิบดีกรมการเงินระหว่างประเทศ กระทรวงการเงิน สปป.ลาว ในฐานะตัวแทนกระทรวง กล่าวว่า “เรารู้สึกพอใจกับการออกพันธบัตรครั้งสำคัญนี้เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุผลหลายประการ นับเป็นครั้งแรกที่ผู้ออกพันธบัตรที่เป็นรัฐบาลต่างประเทศเข้ามาใช้ศักยภาพของตลาดพันธบัตรไทยให้เกิดประโยชน์ และการดำเนินงานเป็นไปโดยราบรื่น และที่สำคัญที่สุด รัฐบาล สปป. ลาว ได้มีโอกาสเข้ามาเปิดตัวในตลาดการลงทุนของไทย และเตรียมพร้อมก้าวไปสู่การรวมตัวกันของตลาดทุนระดับภูมิภาค จากการที่ประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังคืบหน้าไปสู่เป้าหมายการรวมตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน”

นายอดิศร สิงห์สัจจะ ผู้ก่อตั้ง และกรรมการผู้จัดการ บริษัททวินไพน์ คอนซัลติ้ง จำกัด ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า “การออกพันธบัตรครั้งนี้เป็นก้าวแรกไปสู่การรวมตัวกันของตลาดทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน รัฐบาล สปป. ลาว ประสบความสำเร็จในการเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับรัฐบาลอื่นๆ ในอาเซียนที่ต้องการระดมทุนโดยการออกพันธบัตรจัดจำหน่ายในตลาดตราสารหนี้ไทย นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและพัฒนาการของตลาดทุนไทยตลอดจนความพร้อมที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดทุนในภูมิภาค”

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า “ทีเอ็มบีขึ้นแท่นอันดับ 3 ในฐานะ ผู้จัดการการจัดจำหน่าย สำหรับพันธบัตรสกุลเงินบาทที่ออกโดยนิติบุคคลต่างประเทศ และเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยอีกด้วย จากความสำเร็จในการจัดจำหน่ายพันธบัตรในครั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาล สปป. ลาว จะออกพันธบัตรสกุลเงินบาทให้กับนักลงทุนไทยอีกในอนาคต เพราะได้รับการตอบรับที่ดีเกินความคาดหมาย ซึ่งล็อตแรกที่ออกให้ดอกเบี้ย 4.5% ต่อปี ระยะเวลา 3 ปี ถือว่าให้ผลตอบแทนดี เป็นที่น่าพอใจของนักลงทุน”