ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินแรงส่งเศรษฐกิจไทยกำลังแผ่วลงต่อเนื่องหลังนโยบายภาครัฐหนุนการใช้จ่ายในประเทศหมดลง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวช้า ทำให้ภาคส่งออกยังไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
หลังภาครัฐกังวลต่อระดับการแข็งค่าของเงินบาท จนอาจทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจและแสดงความพร้อมในเรื่องนโยบายเพื่อรับมือกับเงินทุนไหลเข้า กอปรกับจังหวะที่นักลงทุนกังวลกับความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจลดปริมาณเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจลง ทำให้ต่างชาติขายสุทธิทั้งในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ของไทย ผลพวงดังกล่าวทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างมาก จากระดับ 28.5 บาทต่อดอลลาร์ฯ เป็น 31 บาทต่อดอลลาร์ฯ ด้วยระยะเวลาอันสั้นเพียงสองเดือนเศษ
แม้ว่าการกลับมาอ่อนค่าของเงินบาท อาจทำให้ผู้ส่งออกวางใจเรื่องความสามารถด้านการแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง ถึงแม้ในปีที่ผ่านมา ภาพรวมกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าของไทย มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง และยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ ซึ่งทางศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนรายได้จากการส่งออกมากกว่าอัตราแลกเปลี่ยน แต่ทว่าแนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุดเริ่มบ่งชี้ว่าสถานะของคู่ค้าสำคัญเริ่มซวนเซ อาทิ จีน ซึ่งตอนนี้ขึ้นแท่นเป็นคู่ค้าเบอร์หนึ่งของไทยแล้วนั้น เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ในไตรมาสแรก แม้กระทั่งผู้นำจีนเองก็ออกมายอมรับว่า จีนอาจต้องยอมเผชิญกับการชะลอตัวของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อความมีเสถียรภาพในระยะยาว ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกได้ประกาศปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจของจีนในเวลาไล่เลี่ยกัน ทั้งในปีนี้และปีหน้าลงมาต่ำกว่าระดับร้อยละ 8
ส่วนคู่ค้าอันดับสองของไทยอย่างสหรัฐฯ มีดัชนีภาคการผลิต (ISM manufacturing) ล่าสุดกลับมาอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสะท้อนภาวะหดตัวของกิจกรรมเกี่ยวเนื่องในภาคดังกล่าว แม้ว่าดัชนีบ่งชี้ด้านเศรษฐกิจอื่นๆ ยังคงฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
มองกลับมาด้านปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ อานิสงค์จากนโยบายภาครัฐที่ได้ดำเนินการมาแล้วพักใหญ่ อาทิ นโยบายคืนภาษีรถคันแรก กำลังอ่อนแรงลงอย่างรวดเร็วในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบและยอดยกเลิกใบจองพุ่ง) รวมไปถึงโครงการบริหารจัดการน้ำ 3 แสนกว่าล้านบาท ที่มีความเป็นไปได้สูงมาก ว่าอาจพลาดเป้าการเบิกจ่าย 7 หมื่นล้านบาท ภายในปี 2556 ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยคาดหวังไว้ เพราะโครงการต่างๆ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการอีกมากกว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้จริง ไม่ว่าจะเป็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขั้นตอนการทำสัญญาเงินกู้ ตลอดจนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง
อีกทั้งส่อเค้าว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ เมกะโปรเจคท์ 2 ล้านล้านบาท จะล่าช้าออกไปจนไม่สามารถเริ่มอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างแท้จริงได้ทันภายในสิ้นปี ซึ่งแนวโน้มการเบิกจ่ายงบประมาณที่ถูกเลื่อนออกไปจะส่งผลกระทบทางอ้อมมายังการลงทุนของภาคเอกชน (Crowding-in effect) ให้ชะลอตามออกไปด้วย อันเนื่องมาจากภาคธุรกิจขาดความเชื่อมั่นต่อความไม่แน่ชัดของระยะเวลาที่นโยบายโครงการลงทุนขนาดใหญ่จะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้น แรงส่งจากนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบันที่กำลังจะหดหายไป ในขณะที่เม็ดเงินคาดหวังก้อนใหม่ก็เหมือนจะไม่สามารถรับช่วงต่อได้อย่างทันท่วงที ความคาดหวังของการขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบไร้รอยต่อ คงยากที่จะเกิดขึ้น และนั่นจะทำให้เกิดช่องว่างในการช่วยผลักดันให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนในประเทศ สามารถช่วยต้านทานภาวะการส่งออกที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญทางเศรษฐกิจเหมือนเช่นในอดีต
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี ประเมินว่า ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีความเป็นไปได้ยากที่เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี จะเติบโตได้สูงเกินกว่าระดับร้อยละ 4 และจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2556 นี้ อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้น
กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจไทยในไครมาสแรกที่ขยายตัวต่ำกว่าหลายฝ่ายคาดการณ์นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณเตือนให้ทราบถึง “หล่มเศรษฐกิจ” ที่ไทยกำลังเผชิญอยู่นับจากนี้ไป หากนโยบายการคลังสะดุด ไม่สามารถผลักดันให้การใช้จ่ายในประเทศเดินต่อไปได้ บางทีเราอาจได้เห็น กระสุนดอกเบี้ยของนโยบายการเงิน อาจถูกนำมาใช้เพื่อให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปก็เป็นไปได้