เป็นเวลากว่า 30 ปีแล้วที่มูลนิธิเอสซีจีได้ร่วมกับเพื่อนพนักงานเอสซีจีทั้งชายและหญิง เสียสละกำลังกาย กำลังทรัพย์ และวันหยุดพักผ่อนประจำปีออกเดินทางไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในรูปแบบโครงการค่ายอาสาพัฒนาเอสซีจี โดยก่อสร้างอาคารเรียนให้แก่น้องที่ขาดแคลนในถิ่นทุรกันดารปีละหนึ่งหลังเพื่อเป็นเป็นแหล่งเรียนรู้ในการวางรากฐานด้านปัญญาให้กับเยาวชน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเอสซีจี และการอนุเคราะห์วัสดุก่อสร้างจากบริษัทในเครือเอสซีจี
ปีนี้ มีพนักงานเอสซีจีและสมาชิกในครอบครัว เสริมทัพด้วยจิตอาสาจากน้องๆ วิทยาลัยเทคนิคสระบุรีและวิทยาลัยเทคนิคท่าหลวงซิเมนต์ไทยอนุสรณ์กว่า 300 ชีวิต ร่วมเดินทางไปก่อสร้างอาคารเรียนหลังที่ 32 และห้องน้ำ ณ โรงเรียนบ้านทุ่งไม้ไผ่ อ. ชะอวด จ. นครศรีธรรมราช โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชาวบ้าน ครูอาจารย์ในพื้นที่ที่ระดมแรงกายแรงใจมาช่วยงานก่อสร้าง ทาสีอาคาร หลายคนมาช่วยทำอาหาร เด็กนักเรียนมาช่วยบริการน้ำ ไม่เพียงเท่านี้ยังได้รับน้ำใจจากรั้วของชาติ ทหารจากกองพันทหารสื่อสารที่ 5 ค่ายเทพสตรี ศรีสุนทร อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช มาช่วยเสริมแรง คนละไม้คนละมือร่วมกันก่อสร้างอาคารเรียนชั้นเดียว ขนาด 7×36 เมตร จำนวน 6 ห้องเรียน และ 6 ห้องน้ำ ภายในระยะเวลาเพียง 9 วัน (ไม่รวมระยะเวลาการก่อสร้างวางฐานราก) หวังให้อาคารหลังนี้เป็นแหล่งศึกษาเล่าเรียน ขยายโอกาส และพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาให้แก่น้องๆ เยาวชนในถิ่นทุรกันดาร
ขจรเดช แสงสุพรรณ กรรมการบริหารมูลนิธิเอสซีจี กล่าวในวันมอบอาคารเรียนว่า “การสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำให้กับโรงเรียนในท้องถิ่นทุรกันดาร นับอีกหนึ่งกิจกรรมที่มูลนิธิเอสซีจีให้การส่งเสริมและสนับสนุนมาตลอดจนถึงปัจจุบันที่เอสซีจีดำเนินธุรกิจครบ 100 ปี ด้วยเห็นว่าเด็กทุกคนสมควรได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม มีที่เรียนที่เอื้อต่อการศึกษาหาความรู้ เพื่อให้เด็กๆ เติบโตไปเป็นคนคุณภาพในสังคม ที่ผ่านมาชมรมอาสาพัฒนา เอสซีจี ได้สร้างอาคารเรียนไปแล้ว 31 หลัง สถานพยาบาล 2 หลัง และห้องน้ำ 6 หลัง รวมถึงติดตั้งถังเก็บน้ำฝน 2 ถัง โดยส่งมอบให้กับกระทรวงศึกษาธิการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ ในปีนี้ชาวค่ายได้นำผลิตภัณฑ์ตราช้าง คือ สมาร์ทเฟรมและสมาร์ทบอร์ดมาใช้เป็นวัสดุในการก่อสร้างผนังและโครงสร้างอาคารเรียนทดแทนการใช้ไม้เพื่อลดการใช้วัสดุธรรมชาติซึ่งจะทำให้ได้อาคารเรียนที่สวยงาม แข็งแรง ปลอดภัย มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นอีกด้วย”
การสร้างอาคารเรียนของค่ายอาสาพัฒนาเอสซีจี มีนัยสำคัญมากกว่าคำว่า “ก่อสร้าง” เพราะนอกจากจะมอบโอกาสเพื่ออนาคตที่ดีแก่เยาวชนที่ขาดแคลนแล้ว กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยปลูกฝังให้ชาวเอสซีจีมี ‘จิตอาสา’ ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านต่างๆ รวมถึงฝึกฝนการทำงานเป็นทีม ความร่วมแรงร่วมใจ และถ่ายทอดองค์ความรู้จากสมาชิกค่ายรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง สร้างบุคลากรที่มีความรู้งานช่าง
วิชาญ สุรัตน์ พนักงานเอสซีจี ผู้เข้าร่วมกิจกรรมค่ายอาสาเป็นปีแรกเปิดเผยว่า “ผมมีความรู้เรื่องการต่อประกอบท่อพีวีซี ส่วนเรื่องช่างอื่นๆ มีความรู้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่ก็ได้มาเรียนรู้เทคนิคการก่อสร้างจากรุ่นพี่ในค่ายซึ่งมีประโยชน์และสามารถนำกลับไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น การเจาะตะปู ขันน๊อต การต่อไม้ สำหรับตัวผมรู้สึกภูมิใจมากที่ได้มาทำค่ายในครั้งนี้ ได้มาสร้างอาคารเรียน สร้างประโยชน์ให้ผู้อื่นด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง ได้สัมผัสรอยยิ้มอันเปี่ยมไปด้วยความสุขของน้องๆ และชาวชุมชน นับเป็นประสบการณ์ที่ทรงคุณค่า และสัญญาว่าจะมาสรรสร้างสิ่งดีๆ ในปีต่อ ๆ ไปครับ”
สัมพันธ์ เพิ่มพูล หนึ่งในนักศึกษา ปวส.วิทยาลัยเทคนิคสระบุรี สาขาช่างไฟฟ้า ที่มาร่วมสร้างอาคารเรียน กล่าวว่า “ผมรับหน้าที่เดินสายไฟบนอาคารเรียน ซึ่งมีพี่ๆ เอสซีจีดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด สอนตั้งแต่กระบวนการคิด วางแผนการเดินสายไฟ การคำนวณเวลาในการทำงาน การตรวจสอบระบบ และเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน พี่ๆ ใส่ใจพวกเราทุกรายละเอียดทั้งเรื่องงาน และการกินอยู่ ตลอด 9 วันถือว่าได้ประสบการณ์ทำงาน การนำความรู้ที่เรียนมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกทั้งได้เรียนรู้วิชาช่างอื่นๆ เกร็ดความรู้ที่ไม่มีในตำราเรียน ผมคิดว่าจะมาเป็นผู้ให้ แต่กลับรับอะไรหลายอย่างจากค่ายนี้ ขอบคุณพี่ๆ เอสซีจี ปีหน้าขอมาร่วมทำดีอีกนะครับ”
เช่นเดียวกับวิโรจน์ นิคมขำ พนักงานเอสซีจีเกษียณอายุ ถึงแม้จะเกษียณอายุแล้ว แต่ด้วยหัวใจที่มีพลังจิตอาสาเต็มเปี่ยมก็ยังมาร่วมออกค่ายในครั้งนี้ “ถึงผมจะเกษียณแล้วก็ยังมาออกค่าย ช่วยสร้างอาคารเรียนให้น้องๆ หลานๆ ที่ขาดแคลนอยู่ เพราะมีอุดมการณ์ในใจที่ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่เป็นพนักงานเอสซีจีว่าจะอุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์ เติมส่วนที่ขาด มุ่งมั่นช่วยเหลือ เกื้อกูลสังคม การได้สร้างประโยชน์ถือเป็นความภาคภูมิใจในชีวิต ผมจะทำจนกว่าจะหมดแรง จะทำตลอดไป ตราบใดที่มูลนิธิเอสซีจียังคงให้สนับสนุนกิจกรรมดีๆ เพื่อสาธารณประโยชน์”
ท่ามกลางอุณหภูมิที่สูงเกือบ 40 องศาในตอนกลางวัน ไม่ได้เป็นอุปสรรคอันใดในการก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำ โดยชาวค่ายจะช่วยกันทำโครงสร้างผนังอาคารเรียน ติดตั้งประตูหน้าต่าง และทาสีในตอนกลางวัน งานมุงหลังคาในตอนเย็นเรื่อยไปจนถึงประมาณเที่ยงคืน จนอาคารเรียนหลังใหม่สร้างแล้วเสร็จ ตั้งตระหง่าน บังแดดคุ้มฝน พร้อมเป็นสถานที่บ่มเพาะความรู้ให้กับเด็กๆ นี้คือความภาคภูมิใจของชาวค่ายที่ได้ร่วมกันสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับอนาคตของชาติ และสร้างความดีใจ สุขใจให้กับทุกคนในชุมชนที่รอคอยให้ถึงวันนี้
เด็กชายธีรพัฒน์ รัตนวาส นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านทุ่งไม้ไผ่ กล่าวหลังจากเห็นอาคารเรียนหลังใหม่ว่า “ดีใจมากครับที่ได้อาคารเรียนหลังใหม่ ห้องเรียนใหม่ โต๊ะเก้าอี้ชุดใหม่ ยังมีหนังสือและอุปกรณ์กีฬาอีก ตื่นเต้นมากๆ ต้องขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกคนที่ทำงานกลางแดด กลางฝน บางคืนก็ทำกันจนมืดค่ำ กระทั่งเสร็จเป็นอาคารเรียนหลังใหม่ ไม่รู้จะพูดอะไร ไม่มีอะไรจะให้ นอกจากคำว่า ขอบคุณมากๆ ครับที่มาสร้างอาคารเรียนให้ชุมชนของเรา”
โครงการค่ายอาสาพัฒนาเอสซีจี เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการแสดงพลังจิตอาสาของพนักงาน เอสซีจีที่ร่วมบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ เพราะการพัฒนาชุมชนจะยั่งยืนได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของทุกคนในสังคมร่วมกัน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้เรื่องการก่อสร้างอาคารเรียนให้แก่หน่วยงานหรือองค์กรอื่นๆ ที่สนใจนำไปปฏิบัติได้อย่างเข้าใจและถูกต้อง มูลนิธิเอสซีจีจึงได้นำองค์ความรู้จากการก่อสร้างอาคารเรียนมาถ่ายทอดแนวคิด เทคนิค วิธีการ ถอดบทเรียนเผยแพร่กระบวนการเรียนรู้สู่สังคม โดยจัดทำในรูปแบบวิดีทัศน์ 3 มิติ ชุด “กระบวนการก่อสร้างอาคารเรียนและห้องน้ำ” ซึ่งสามารถดาวน์โหลดผ่านเว็บไซต์ www.scgfoundation.org หรือติดต่อขอรับได้ที่ มูลนิธิเอสซีจี โทร 02 586 5218