เอ่ยถึง “พริก” สิ่งแรกที่ต้องนึกถึงก็คือ ความเผ็ดร้อน ไม่ว่าจะพริกเล็ก พริกใหญ่ พริกหยวก พริกขี้หนู ต่างกันก็แต่สีสัน รูปทรง กับระดับดีกรีความเผ็ดร้อนเท่านั้น และพริกก็เป็นส่วนประกอบสำคัญในสำรับอาหารไทยสารพัดเมนูจนนับไม่ถ้วน จนทำให้คิดว่า พริกเป็นพืชท้องถิ่นของไทย แต่ความจริงแล้วพริกมาไกลกว่าที่เราคิดมาก
พริกมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ นักโบราณคดีค้นพบพริกในหลุมศพของชาวเปรูยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 6,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช และคาดว่าชาวพื้นเมืองอเมริกาใต้เริ่มปลูกพริกเป็นพืชสวนครัวเมื่อราว 6,000 ปีก่อน พริกจึงเป็นเครื่องเทศที่เก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งของโลก
นอกจากนี้ “พริก” เป็นพืชเกษตร ที่สร้างรายได้ เชื่อมโยงระดับคุณภาพชีวิตตั้งแต่พื้นที่ชุมชนเล็ก ๆ ไปจนถึงขั้นการส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเป็นจำนวนไม่น้อย ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกพริกไม่น้อยกว่า 474,717 ไร่ ต่อปี ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีพื้นที่การปลูกพริกราว 53,463 ไร่ โดยมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ผลพวงจากการผลิตดังกว่า ทำให้เงินสะพัดในธุรกิจพริกไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี
ในโลกยุคปัจจุบันงานวิจัยได้มีส่วนทำให้พริกไม่ได้เป็นเพียงแค่สินค้าทางการเกษตรที่ส่งผลสดหรือตากแห้งจำหน่ายเพียงเท่านั้น แต่ยังมีการนำพริกมาวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดมูลค่าให้สูงขึ้น และเท่าทันต่อการสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดได้อีกทางหนึ่ง
พริก ไม่ได้มีแต่ความเผ็ดอย่างเดียว แต่เรื่องเผ็ดๆ ของพริก ยังมีความสำคัญที่เชื่อมโยงสังคมในทุกมิติเข้าด้วยกันอีกด้วย น้องๆ คนไหนที่อยากรู้ “สิ่งที่มากกว่าความเผ็ดร้อนของพริก” ในจานอาหาร สามารถมาเรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ของพริก ได้จากนิทรรศการ “เรื่องเผ็ดๆ ของพริก” ซึ่งจัดโดย อุทยานการเรียนรู้ TK park ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เพื่อเปิดโลกการเรียนรู้เรื่องของพริกผ่านองค์ความรู้ทุกมิติ เช่น ประวัติศาสตร์พริกของโลกและของไทย, การเกษตร, วัฒนธรรมการกิน, พริกกับโภชนาการ, วิทยาศาสตร์, การเพิ่มมูลค่าของพริกผ่านงานวิจัยไทย เช่น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ผลิตภัณฑ์แก้ง่วง และผลิตภัณฑ์ยา ฯลฯ
ภายในงานนิทรรศการ จะมีการจัดแสดงในรูปแบบสวนพริก ละลานตากับความหลากหลายของพันธุ์พริกหลากสายพันธุ์ ทั้งพริกขี้หนูเล็ก พริกขี้หนูใหญ่ พริกใหญ่ พริกหวานหรือพริกยักษ์ พริกหยวก และพริกประดับ ร่วมเรียนรู้ส่วนประกอบที่สำคัญของพริกจากโมเดลพริกขนาดใหญ่ (ป้องกันอาการแพ้) และ Shopping พริกสายพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้ได้คุณค่าตามโภชนาการที่วิทยากรกำหนด พร้อมแจกเมล็ดพันธุ์พริกเพื่อนำไปทดลองปลูกต่อไป
พร้อมสัมผัสฐานกิจกรรม “น้ำพริก” เมนูเด็ด…เผ็ดอย่างไทย” ชวนน้องๆ เรียนรู้ถึงความหลากหลายของน้ำพริกไทยทั้ง 4 ภาค ที่ได้นำเม็ดพริกชนิดต่าง ๆ มาเป็นส่วนผสมหลักในการรังสรรค์เมนูรสเด็ดขึ้นมา พร้อมลงมือ ทุบ โขลก ตำ พริกชนิดต่างๆ
เมื่อเผ็ดแล้วก็ต้องมา แก้เผ็ดกับ ฐานกิจกรรมต่อไปที่จะมาให้ความรู้ว่า การแก้เผ็ดทำได้อย่างไรและน้ำเย็น แก้เผ็ดได้จริงหรือไม่ สุดท้ายมารู้จัก “พริก … เป็นมากกว่าพริก” เชื่อหรือไม่ว่าปัจจุบันพริกสามารถสกัด พัฒนาให้เป็นยา สเปรย์ ยาดม ยาอม ไอศกรีม ฯลฯ ได้อีกด้วย
จากสถิติคนไทยบริโภคพริกประมาณ 1 กิโลกรัม/คน/ปี จนกล่าวได้ว่าพริกอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยมาอย่างช้านานจนแทบแยกไม่ออก พริกเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่สำคัญในอาหารที่ทำให้อาหารไทยมีเอกลักษณ์ในเรื่องความเผ็ดร้อน แล้วรู้หรือไม่ว่าพริกที่เรารับประทานกันนั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างไร นอกจากนี้พริกยังมีความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย
มาร่วมเรียนรู้ถึงความสำคัญและประโยชน์ของพริก รวมทั้งร่วมสนุกสนานไปกับกิจกรรมต่างๆ ภายในนิทรรศการ “เรื่องเผ็ดๆ ของพริก” ได้ในวันเสาร์ที่ 6 – อาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2556 เวลา 11.00 – 17.00 น. บริเวณลานสานฝัน อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zone ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tkpark.or.th