TK park หนุนเยาวชนค้นหาตัวตน จุดประกายแจ้งเกิดหลายวงการ

การเก็บเกี่ยวความรู้ของคนรุ่นใหม่ใช่มีเพียงการอ่าน หรือ การเปิดรับสื่อต่างๆเท่านั้น ปัจจุบันยังมีกิจกรรมมากมายที่เปิดกว้างให้เยาวชนได้พาตัวเองเข้าไปพัฒนาทักษะความสามารถ เช่นโครงการ TK แจ้งเกิด ของ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park เปิดโอกาสให้เยาวชนวัย 18-25 ปีให้มีโอกาสเข้ารับการบ่มเพาะเพื่อเตรียมพร้อมสู่การก้าวเป็นมืออาชีพในหลากหลายสาขา โดยกิจกรรมดังกล่าวนอกจากจะช่วยพัฒนาทักษะหลายสาขาได้อย่างดีแล้ว ยังผลักดันให้หลายคนแจ้งเกิดได้จริงอย่างโดดเด่น

คุณอัศรินทร์ นนทิหทัย ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมสำนักงานอุทยานการเรียนรู้(สอร.) หรือ TK park กล่าวว่าโครงการ TK แจ้งเกิด เป็นโครงการ อบรมและพัฒนาเยาวชนผ่านกิจกรรมต่างๆที่วัยรุ่นชื่นชอบ เช่น นักเขียน ภาพยนตร์ ดนตรี มัลติมีเดีย สื่อโทรทัศน์ และการตลาด มีการจัดประกวดเพื่อเป็นแรงบันดาลใจและเปิดให้มีการเรียนรู้จากคนที่เป็นมืออาชีพจริงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยทุกปีกิจกรรมดังกล่าวต่างได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี

“ปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่เรายังคงจัดทำกระบวนการบ่มเพาะกันอย่างมีคุณภาพ ส่วนความพิเศษในปีนี้คือ มีการเพิ่มเติมความท้าทาย ตามการดำเนินงานนโยบาย พรบ.อุดมศึกษา ของรัฐบาล ที่ต้องการส่งเสริมในเรื่อง แฟชั่น และโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เราจึงนำมาบูรณาการให้เกิดความสอดคล้องในโจทย์การฝึกฝน อาทิ TK แจ้งเกิดนักเขียน จากการฝึกเขียนทั่วไปก็ปรับมาเปิดให้ลองทำแมกกาซีนแฟชั่น หรือ TK park แจ้งเกิดการตลาดเราก็เปิดโอกาสทำงานร่วมกันกับ TK มัลติเดีย ให้สร้างแบรนด์ของโอทอป เป็นต้น โดยทั้งหมดนี้เราก็ยังคงมุ่งเน้นให้เยาวชนเกิดมิติการเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน และเมื่อมีความสุขกับการได้ทำในสิ่งที่รัก เชื่อได้ว่าเยาวชนก็คงพร้อมที่จะรู้จักกับการแบ่งปันและสร้างสรรค์ต่อไป”

โอ๋ นภัสศรันย์ บุญกลิ่นขจร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เยาวชนที่เคยได้เข้าร่วมกิจกรรม TK แจ้งเกิดการตลาด 2012 กล่าวว่าจากการที่ตนเองได้มีโอกาสเข้าฝึกอบรม เป็นนักวางแผนการตลาดก็สัมผัสได้ว่าตนเองชื่นชอบการวางแผนธุรกิจอย่างจริงจัง และก็ฉายแววเป็นนักธุรกิจระดับย่อมของครอบครัวได้เลยทีเดียว

“ทุกวันนี้ถ้าเราเรียนอย่างเดียวเราคงไม่แข่งกับใครไม่ได้ หรืออาจจะทำงานไม่เป็นก็ได้ แต่การเก็บเกี่ยวฝึกฝนจะทำให้เราได้นำความรู้รอบไปใช้จริงได้ โครงการ TK Park สอนให้เรานำความรู้ไปใช้ได้จริงและเหมือนกระตุ้นให้เรากล้าทดสอบความรู้ความสามารถตัวเองสอนให้รู้จักการทำงานร่วมกัน อย่างการได้มีส่วนร่วมในการคิดวิเคราะห์ตอนทำกิจกรรมวางแผนการตลาด ทำให้โอ๋มีประสบการณ์ที่นำมาต่อยอดใช้ประโยชน์จริง ในทุกวันนี้ที่กล้าลองกระโดดเข้ามาช่วยกับธุรกิจที่บ้านต้องบอกว่าเป็นเพราะเราค้นเจอว่าเราชอบวางแผนธุรกิจจึง ทดลองเขียนแผนและปฎิบัติงานเองจริงๆ รู้สึกเลยว่าประสบการณ์ที่เราได้มาจากกิจกรรมนอกรั้วช่วยเราได้มากให้เห็นภาพการทำงานนอกเหนือทฤษฎีได้อย่างดี และรู้จักที่จะเรียนรู้ไปอย่างหยุดยั้งด้วย”นภัสศรันย์ กล่าวอย่างปลาบปลื้ม

ทิศทางเดียวกันกับ ขิม กวิสรา ผันนภานุกุล นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ TK แจ้งเกิดนักภาพยนตร์ ด้วยส่วนตัวขิมไม่มีความถนัดเฉพาะด้าน อ่อนความสามารถด้านเทคนิค แถมยังเปี่ยมไปด้วยความไม่มั่นใจต่างๆนาๆ ขิมบอกว่าไม่อยากเชื่อตัวเองว่าตนจะสามารถเป็นผู้กำกับหนังระดับอินเตอร์ได้ แต่อาจเป็นเพราะความพยายาม ลองผิดลองถูก และแสวงหาโอกาสเก็บเกี่ยวความรู้ จนในที่สุด ผลงานชิ้นแรกในชีวิตของเธอก็แจ้งเกิด ได้รับคัดเลือกไปจัดแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น ในฐานะตัวแทนเยาวชนไทยไปร่วมงาน JENESYS เทศกาลหนังนานาชาติ

“เราแค่รู้ตัวว่าเรารักชอบศาสตร์ในการเล่าเรื่อง ชอบดูหนัง แต่ติดอยู่ตรงที่ว่าไม่รู้ด้านการถ่ายทำ ถ้าเป็นการคัดเลือกคนที่จะเข้าฝึกอบรมทั่วไป เขาก็คงจะคัดเลือกแต่คนที่มีพื้นฐานทางด้านการตัดต่อมาบ้างแล้ว แต่ก็ TK park เปิดโอกาสให้ได้มาฝึกทักษะและ ก็ได้มีโอกาสทำหนังเรื่องแรก พอได้ลองส่งไปประกวด และผลงานเราได้ไปฉายถึงต่างประเทศเรา และก็รู้ตัวว่านี่แหละเราเจอสิ่งที่ชอบแล้วและสิ่งนี้มันก็เป็นแรงบันดาลใจให้เราพัฒนาศักยภาพตัวเองต่อ โดยขณะนี้ขิมก็กำลังต่อยอดอนาคตไปสู่การผลิตสารคดีกึ่งภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่ด้วย”

ปิดท้ายที่ “แป๋ง กฤติชัย มณีแก้ว” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แป๋งก็เป็นอีกหนึ่งเยาวชนที่เก็บเกี่ยวประสบการณ์นอกรั้วมหาวิทยาลัยอยู่ตลอดจนพาตนเองเข้าร่วมโครงการ TK แจ้งเกิด TK แบนด์ปี 3 ด้วยมีใจรักชอบเสียงดนตรีเป็นอย่างมาก แต่ถึงแม้เขาชื่นชอบดนตรีแต่ก็หาใช่สิ่งที่ตนเองถนัดแต่แล้วท้ายสุดความฝันของแป๋งก็เป็นจริง เขามีผลงานอัลบั้มร่วมกับเพื่อนๆพร้อมได้อยู่ในแวดวงเพื่อนคนดนตรีที่พูดจาภาษาเดียวกัน

“ผมเล่นดนตรีอะไรไม่ได้เลย แต่ชอบเสียงดนตรี ชอบร้องเพลง มาอบรมวันแรกก็ถามกันใหญ่ว่าคนนั้นเล่นอะไรเป็น คนนี้เล่นอะไรเป็น ส่วนเราเล่นอะไรไม่เป็นเลย กดดันเหมือนกันแต่ก็ไม่ปฎิเสธที่จะรับโอกาสในการเข้ามาร่วมกิจกรรมที่เราชอบครับ และเมื่อได้มารู้จักการทำงานแบบคนดนตรี ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการทำอัลบั้มร่วมกันกับเพื่อนนักดนตรี ผมรู้สึกมีความสุขมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งเต็มเติมให้เพื่อนๆโดยผมชอบเขียนเนื้อร้อง ขณะที่เพื่อนอีกคนแต่งทำนองได้แต่เขียนเนื้อไม่ได้ เราจึงเจอจุดตรงกลางในการร่วมงาน จนในที่สุดก็มีผลงานที่เราภูมิใจ และค้นเจอว่าความฝันมันก็ถึงเป้าหมายได้แม้เราจะไม่ถนัดหรือเก่งไปทุกอย่าง หากแต่สำคัญมันปลายทางที่ผมมีผลงานที่ภูมิใจและก็มีเพื่อนๆที่ชอบในสิ่งเดียวกัน.

อย่างไรก็ตาม การเรียนรู้นอกห้อง กับ โครงการ TK แจ้งเกิด 2013 ก็ยังมีโอกาสดีๆรอให้เยาวชนมาตักตวงและค้นหาตัวตนกันอย่างต่อเนื่องพร้อมกันนี้ทุกคนสามารถติดตามความเคลื่อนไหวกันได้ที่ www.tkpark.or.th ห้ามพลาดกันนะคะ