เศรษฐกิจอีสานสู่มิติใหม่แห่งการพัฒนา เสริมสร้างโอกาสการค้า และการลงทุน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นดินแดนเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แค่เพียงการเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลกเท่านั้น ดินแดนที่ราบสูงแห่งนี้ยังมีเอกลักษณ์ทางเศรษฐกิจอีกหลายด้าน ทั้งความพรั่งพร้อมของทรัพยากรแรงงานอันเป็นกำลังการผลิต และแหล่งอุปสงค์ขนาดใหญ่ของประเทศ ตลอดจนความหลากหลายของภาคการผลิตที่มีทั้งพื้นที่เกษตร และอุตสาหกรรม ดังนั้น ความหลากหลายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดังกล่าวจึงเสมือนเกราะป้องกันความผันผวนทางเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนไหวตามเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงการเป็นประตูหน้าด่านสู่ขุมทรัพย์ทางการค้าการลงทุนระหว่างไทย- สปป.ลาว และเหนือสิ่งอื่นใด ภูมิภาคแห่งนี้กำลังจะมีการพลิกโฉมรูปแบบเศรษฐกิจอีสานในอนาคตให้แตกต่างจากอีสานในวันนี้ ด้วยตัวจุดประกายสำคัญคือ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) กับแผนพัฒนาระบบขนส่งที่จะเชื่อมโยงภาคแห่งนี้ให้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจอีกแห่งหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

อีสานกำลังก้าวเข้าสู่มิติใหม่แห่งการพัฒนา

อีสานกำลังก้าวเข้าสู่ศักราชสำคัญที่จะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “มิติใหม่แห่งการพัฒนา” ด้วยภาพที่สะท้อนจาก อนาคตของการเติบโตด้านการลงทุนที่จะพลิกโฉมให้ภูมิภาคแห่งนี้เข้าสู่สังคมเมือง (Urbanization) ซึ่งจะปรับเปลี่ยนสังคม วิถีชีวิต ตลอดจนอัตลักษณ์ด้านการบริโภคของคนอีสาน นอกจากนี้ ประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทย อาทิ สปป.ลาว และกัมพูชา ที่เศรษฐกิจอาจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในช่วงนับถอยหลังเข้าสู่ AEC รวมถึงแผนการเชื่อมโยงระบบคมนาคมพื้นฐานของไทย ก็น่าจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการเติบโตของภาคอีสานในช่วงหลายปีข้างหน้าได้อีกทางหนึ่ง

การลงทุน : ปัจจัยบุกเบิกสู่การพัฒนาดินแดนที่ราบสูง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีสานฉายแววโดดเด่นในการเป็นพื้นที่ศักยภาพสูงด้านการลงทุนสวนทางกับการขยายตัวของการลงทุนบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงศูนย์รวมเศรษฐกิจอย่างกรุงเทพฯ ที่กำลังเข้าใกล้จุดอิ่มตัว ประกอบกับอีสานเป็นภาคที่มีความพร้อมทั้งแรงงาน และที่ดิน และยังเป็นตลาดสินค้าขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง นอกจากนี้ อีสานยังมีชัยภูมิที่สามารถใช้เป็นแหล่งกระจายสินค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อีกด้วย ดังนั้น ภูมิภาคแห่งนี้จึงยังคงมีช่องว่างที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปัจจัยพื้นฐานแห่งการพัฒนายังได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ

• การลงทุนจากภาครัฐ แม้ว่าในปี 2556 แรงขับเคลื่อนจากโครงการลงทุนของภาครัฐจะมีผลต่อเศรษฐกิจอีสานอย่างไม่เต็มที่ แต่หากนับถอยหลังจากนี้ไปสู่การเป็น AEC ในปี 2558 ก็สร้างความเชื่อมั่นได้ว่า อีสานจะมีความพร้อมด้านระบบคมนาคมพื้นฐานที่จะเชื่อมโยงเข้าสู่กรุงเทพฯ ภาคอื่นๆของไทย ตลอดจนเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากโครงการที่บรรจุอยู่ในร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาทนั้น พื้นที่อีสานได้รับส่วนแบ่งเม็ดเงินกว่า 4.3 แสนล้านบาท หรือเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 22 ของวงเงินทั้งหมด ซึ่งเม็ดเงินลงทุนที่จะได้รับการจัดสรรอย่างต่อเนื่องดังกล่าว จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีสานในระยะเวลาอย่างน้อย 4-5 ปี ข้างหน้า

• การลงทุนภาคเอกชน ด้วยการเติบโตของการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมบริเวณภาคกลาง และตะวันออกใกล้ถึงจุดอิ่มตัว ประกอบกับพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางส่วนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากน้ำท่วมในปี 2554 ส่งผลให้นักลงทุนเอกชนทั้งไทย และต่างชาติมองว่า อีสานน่าจะเป็นแหล่งเป้าหมายการลงทุนถัดไปที่น่าสนใจด้วยเอกลักษณ์ด้านพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ และได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไม่มากนัก ทำให้สามารถบุกเบิกเปิดพื้นที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมใหม่ อีกทั้งยังติดต่อกับชายแดน ซึ่งจะรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ที่กำลังจะมาถึง นอกจากนี้ อีสานยังมีเอกลักษณ์ด้านเศรษฐกิจ ที่มีทั้งพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมทางการเกษตร และยังมีแรงงานจำนวนมากที่สนับสนุนธุรกิจนอกภาคเกษตร

การเติบโตของรายได้: ปัจจัยสู่สังคมเมือง และการบริโภค

การลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามแรงกระตุ้นจากการรวมตัวเป็น AEC และโครงการลงทุนระยะยาวจากภาครัฐ ไม่เพียงเป็นปัจจัยที่สะท้อนศักยภาพการสร้างรายได้ในอนาคตของภาคอีสานเท่านั้น แต่ยังสะท้อนการสร้างรายได้ให้กับคนอีสานด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากการขยายตัวของการลงทุน จะสร้างปรากฏการณ์ด้านการจ้างงานให้กับคนอีสาน ตั้งแต่แรงงานในภาคการผลิต ปัญญาชน นักวิชาการ ตลอดจนผู้บริหารระดับสูง นอกจากนี้ การมีงานทำและรายได้ที่อาจปรับตัวสูงขึ้นของคนอีสานจะช่วยหนุนกำลังซื้อ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างการขยายตัวทางการค้า และการก่อร่างสร้างตัวของชุมชนขนาดใหญ่ (อันจะนำไปสู่การขยายตัวแบบสังคมเมือง หรือ Urbanization ในอนาคต) ซึ่งนับว่า กระแสดังกล่าวจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะสะท้อนว่า รูปแบบการใช้จ่ายของคนภาคอีสานในช่วงหลายปีข้างหน้า น่าจะมีความต่างไปจากเดิมมากขึ้น

การค้าชายแดนอีสาน-สปป.ลาว

การค้าชายแดนไม่เพียงมีอิทธิพลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจภาคอีสานเท่านั้น แต่ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนที่เล็งเห็นอนาคตของการเติบโตทางการค้าที่พัฒนาไปพร้อมกับการก้าวเข้าสู่ AEC ในระยะต่อไปอีกด้วย ทั้งนี้ คาดว่า การค้าชายแดนอีสาน-สปป.ลาว จะมีความเข้มข้นมากขึ้นในช่วงหลายปีข้างหน้าตามแรงขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจสปป.ลาว เนื่องจาก สินค้าอุปโภค-บริโภคของไทยเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านคุณภาพ และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในสปป.ลาว ขณะที่ การส่งออกสินค้าทุน และวัตถุดิบอุตสาหกรรม ก็น่าจะขยายตัวมากขึ้นตามการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมในสปป.ลาว ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างคมนาคมพื้นฐานที่เชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ ก็น่าจะช่วยสนับสนุนให้การค้าชายแดนระหว่างพรมแดนไทย-สปป.ลาว เป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น ทั้งในรูปของการลดต้นทุน และระยะเวลาในการขนส่ง

มองไปข้างหน้า : อนาคตเศรษฐกิจอีสาน

แม้ว่าเศรษฐกิจอีสานยังมีช่องว่างในการพัฒนาสู่การเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะข้างหน้า แต่ก็คงต้องยอมรับว่า สำหรับแนวโน้มในระยะสั้นแล้ว ภูมิภาคนี้อาจไม่สามารถเลี่ยงผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศ และเศรษฐกิจโลกไปได้ ซึ่งจะเห็นได้จากภาพรวมในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2556 ที่ผ่านมา ที่เครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวของภาคอีสานสะท้อนภาพการชะลอตัวลงหลังผ่านพ้นจากขยายตัวสูงในช่วงหลายเดือนก่อน ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ชะลอตัวตามการสิ้นสุดของแรงส่งจากนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล ประกอบกับ ภาวะตึงตัวของแรงงานที่ส่วนหนึ่งเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมบางส่วน ก็ชะลอตัวตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอ ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจอีสานในปีนี้ จะขยายตัวชะลอลงมาที่ร้อยละ 4.9 จากที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.9 ในปี 2555 โดยเป็นผลมาจากการชะลอตัวของภาคเกษตรตามภาวะราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนภาคเอกชนทั้งเพื่อขยายกำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการเติบโตของพาณิชยกรรม น่าที่จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจอีสานรักษาทิศทางการเติบโตต่อไปได้ ท่ามกลางภาวะชะลอตัวของภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 4.0 จากร้อยละ 6.5 ในปีก่อน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในระยะข้างหน้าการลงทุนที่นำโดยภาครัฐ และเอกชนจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับภาคนี้อย่างมีนัยสำคัญ ก่อนจะนำไปสู่การเป็นจุดเปลี่ยนที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจอีสานมีความรุดหน้าในการเติบโตสู่ความเป็นเมือง การเติบโตของการบริโภค ตลอดจน การค้าชายแดนในยุคที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะไร้พรมแดน และอุปสรรคในการเชื่อมโยงระหว่างไทย-ประเทศเพื่อนบ้านที่จะเบาบางลง ดังนั้น ด้วยศักยภาพของภาคอีสานที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในระยะ 2 ปีหลังจากนี้เศรษฐกิจอีสานจะสามารถขยายตัวได้ที่ระดับร้อยละ 5.5-6.0 ซึ่งจะเป็นโอกาสการขยายตัวของภาคธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง วัสดุก่อสร้าง บริการทางด้านสุขภาพ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จะเติบโตตามการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization) ตลอดจน ธุรกิจการขนส่งที่จะมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจการค้า ประชากรผู้จับจ่าย และนักท่องเที่ยวเกิดความคล่องตัวมากขึ้น