ทรู ร่วมกับ สวทศ. ประกาศผลผู้ชนะโครงการ “นักวิทย์น้อยทรู” ปีที่ 18 การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2556

กลุ่มทรู โดย ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการด้านสื่อสารองค์กร ประชาสัมพันธ์การตลาด และกิจกรรมองค์กรเพื่อสังคม ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย (สวทศ.) โดย รศ.ลัดดา ภู่เกียรติ นายกสมาคม ประกาศผลผู้ชนะโครงการ “นักวิทย์น้อยทรู” ปีที่ 18 การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2556 ในหัวข้อ “พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมี ดร. จิระพรรณ ปุณเกษม ผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ซึ่งปีนี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง มีนักเรียนส่งผลงานเข้าร่วมแข่งขันถึง 445 โครงงาน จาก 298 โรงเรียนใน 70 จังหวัดทั่วประเทศ โดยได้คัดเลือกโครงงานผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ 15 ทีม เพื่อเข้ามานำเสนอผลงานด้วยวาจาต่อหน้าคณะกรรมการ เพื่อตัดสินทีมชนะเลิศ โดยทั้ง 15 ทีมจะได้เข้าร่วมแสดงผลงานในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2556 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคด้วย

ทีมที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง พร้อมเงินสนับสนุนทำโครงงาน และจะได้เข้าร่วมเป็นโรงเรียนในโครงการทรูปลูกปัญญา ได้แก่ โครงงานการศึกษาลักษณะขวดดักจับและการใช้สารล่อแมลงวันทองแบบพอเพียง ประเภทสิ่งประดิษฐ์ จากโรงเรียนท่าข้ามพิทยาคม จังหวัดชลบุรี

ทั้งนี้ กลุ่มทรู ร่วมกับสวทศ. จัดโครงการประกวด “นักวิทย์น้อยทรู” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยระดับประถมศึกษา มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ และดำเนินโครงงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ พร้อมปลูกฝังจิตอาสาและทำประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยเปิดรับโครงงานด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมของนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 4 – 6 จากโรงเรียนรัฐและเอกชนทั่วประเทศ แบ่งการแข่งขันเป็น 3 ประเภท ได้แก่ โครงงานประเภทสำรวจ โครงงานประเภททดลอง และโครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ โดยนำเสนอวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาหาความรู้เพื่อให้ได้คำตอบเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ การอนุรักษ์ การประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ การนำกลับมาใช้ใหม่ การลดมลพิษของสิ่งแวดล้อม การหาหรือสร้างสิ่งทดแทนที่มีอยู่เดิม การสร้างสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ การพัฒนาและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์และพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม และความเป็นอยู่อย่างพอเพียง