ตามรอยพระราชดำรัส ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจพอเพียง หรือ Sufficiency Economy เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางในการดำเนินชีวิตให้แก่พสกนิกรชาวไทย ตลอดจนการพัฒนา และบริหารประเทศมาโดยตลอด นานกว่า 25 ปี

จนเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 พระราชดำรัส “เศรษฐกิจพอเพียง” ได้รับความสนใจจากประชาชน เมื่อพระองค์ทรงเน้นย้ำว่า เศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นแนวทางแก้ไขเพื่อให้ไทยรอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ

หลักใหญ่ของทฤษฎีนี้ อยู่ที่การให้เดินทางสายกลาง การคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ตลอดจนการใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรม ประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ

พระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัวมีราชดำรัส และพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ เกี่ยวกับปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” มาโดยลำดับ มีดังต่อไปนี้

ปี 2517
“…ในการพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น เริ่มด้วยการสร้างพื้นฐาน คือความมีกินมีใช้ของประชาชนก่อน ด้วยวิธีการที่ประหยัดระมัดระวัง แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานเกิดขึ้นมั่นคงพอควรแล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญขั้นที่สูงขึ้นตามลำดับต่อไป การถือหลักที่จะส่งเสริมความเจริญ ให้ค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ…ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง และประหยัดนั้น ก็เพื่อป้องกันความผิดพลาดล้มเหลวและเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จได้แน่นอนบริบูรณ์”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 19 กรกฎาคม 2517

ปี 2540
“… ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันมากเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้าน หรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ในที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก…

“…มีเงินเดือนเท่าไร จะต้องใช้ภายในเงินเดือน…การทำแชร์นี้เท่ากับเป็นการกู้เงิน การกู้เงินนี้นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงิน และทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือนร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ…
กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่น ไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์…”

พระราชดำรัสในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2540

ปี 2541
“สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน สมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีความพอเพียงได้ ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกินมีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541

ปี 2542
เศรษฐกิจพอเพียง กับการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ
ในช่วงไทยต้องประสบปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากการลอยตัวค่าเงินบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระดำรัสเกี่ยวกับการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้

“…เศรษฐกิจพอเพียง แปลว่า “Sufficiency Economy” …ไม่มีอยู่ในตำราเศรษฐกิจ จะมีได้อย่างไร เพราะว่าเป็นทฤษฎีใหม่ เป็นตำราใหม่ ถ้ามีอยู่ในตำรา ก็หมายความว่าเราก๊อบปี้มา เราลอกเขามา เราไม่ได้ลอก ไม่อยู่ในตำราเศรษฐกิจ…

Sufficiency Economy นั้นไม่มีในตำรา การที่พูดว่าไม่มีในตำรานี่ ที่ว่าเป็นเกียรตินั้น ก็หมายความว่าเรามีความคิดใหม่ และโดยที่ผ่านผู้เชี่ยวชาญสนใจ ก็หมายความว่าเราก็สามารถที่จะคิดอะไรได้จะถูกจะผิดก็ช่าง แต่ว่าเขาสนใจ เขาก็สามารถที่จะไปปรับปรุง หรือไปใช้หลักการเพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศและของโลกพัฒนาดีขึ้น…”

“…เมืองไทยไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงนี้ ไม่ตำหนิ ไม่เคยพูด…นี่เพิ่งพูดวันนี้ พูดเวลานี้ ประเทศไทยไม่ใช้เศรษฐกิจพอเพียงค่อนข้างจะแย่ เพราะว่าจะทำให้ล่มจม…เศรษฐกิจพอเพียง ในที่หมายถึงนี้ คือคนที่ทำธุรกิจก็ย่อมต้องไปกู้เงิน เพราะว่าธุรกิจหรือกิจการอุตสาหกรรมสมัยใหม่ คนเดียวไม่สามารถที่จะรวบรวมทุนมาสร้างกิจกรรมที่ใหญ่ เช่นเรื่องเขื่อนป่าสักทำคนเดียวไม่ได้ หรือแม้หน่วยราชการหน่วยเดียวทำไม่ได้…เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน แต่ว่าเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า เพราะมีคนเกี่ยวข้องกับกิจการนี้มากมาย แต่ว่าทำให้ส่วนรวมได้รับประโยชน์และจะทำให้เจริญ…

…เศรษฐกิจพอเพียงอีกอย่างหนึ่งไม่ค่อยอยากพูด เช่น การแลกเปลี่ยนเงิน ค่าแลกเปลี่ยนเงิน ค่าแลกเปลี่ยน นี่ได้พูดมา 2 ปี บอกว่าขอให้เงิน ค่าของเงินจะสูงจะต่ำเท่าไหร่ ก็ไม่ค่อยขัดข้อง แต่ว่าถ้าไม่สมดุลมันไม่ดี”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 23 ธันวาคม 2542

ปี 2543
“เศรษฐกิจพอเพียง…เป็นการทั้งเศรษฐกิจหรือความประพฤติ ที่ทำอะไรเพื่อให้เกิดผลโดยมีเหตุและผล คือ เกิดผลมันมาจากเหตุ ถ้าทำเหตุที่ดี ถ้าคิดให้ดีให้ผลที่ออกมา คือสิ่งที่ติดตามเหตุ การกระทำ ก็จะเป็นการกระทำที่ดี และผลของการกระทำนั้น ก็จะเป็นการกระทำที่ดี ดีแปลว่ามีประสิทธิผล ดีแปลว่ามีประโยชน์ ดีแปลว่าทำให้มีความสุข….

ทั้งหมดนี้พูดอย่างนี้ ก็คือเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเอง ภาษาอังกฤษว่า Sufficiency Economy ใครต่อใครก็ต่อว่า…ว่าไม่มี จะว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ ก็หมายความว่าประหยัด แต่ไม่ใช่ขี้เหนียว ทำอะไรด้วยความอะลุ้มอล่วยกัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแล้วทุกคนจะมีความสุขแต่พอเพียง…“

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2543

ปี 2544
เศรษฐกิจพอเพียงกับภาคธุรกิจ
เศรษฐกิจพอเพียง เริ่มมีการนำไปประยุกต์ใช้กับ “ภาคธุรกิจ” ได้เช่นกัน โดยหัวใจอยู่ที่ การครองตนของภาคธุรกิจในทางสายกลาง คือ พอประมาณ มีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกัน และมีบทบาทในการช่วยพัฒนาประเทศ

“…การอยู่พอมีพอกิน ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีความก้าวหน้า มันจะมีความก้าวหน้าแค่พอประมาณ ถ้าก้าวหน้าเร็วเกินไป ไปถึงขึ้นเขายังไม่ถึงยอดเขา หัวใจวาย แล้วก็หล่นจากเขา ถ้าบุคคลหล่นจากเขา ก็ไม่เป็นไร ช่างหัวเขา แต่ว่าถ้าคนๆ เดียวขึ้นไปวิ่งบนเขา แล้วหล่นลงมา บางทีทับคนอื่น ทำให้คนอื่นต้องหล่นไปด้วย อันนี้เดือดร้อน…”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 30 พฤษภาคม 2544

ปี 2545
“…เมืองไทยเนี่ยมีทรัพยากรดีๆ ไม่ทำไม่ใช้ เดี๋ยวต้องไปกู้เงินอะไรที่ไหนมา มาพัฒนาประเทศ จริงๆ สุนัขฝรั่งก็ต้องซื้อมา ต้องมี แต่ว่าเรามีของมีทรัพยากรที่ดี เราต้องใช้ ไม่ใช่สุนัขเท่านั้น อื่นๆ ของอื่นหลายอย่าง แล้วที่นายกฯ พูดถึงทฤษฎีใหม่ พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง ไอ้เนี่ยเราไม่ได้ซื้อจากต่างประเทศ แต่ว่าเป็นของพื้นเมืองแล้วก็ไม่ได้ อาจจะอ้างว่าเป็นความคิดพระเจ้าอยู่หัว ไม่ใช่ทำมานานแล้ว ทั้งราชการ ทำราชการ ทั้งพลเรือน ทั้งทหาร ทั้งตำรวจ ได้ใช้เศรษฐกิจพอเพียงมานานแล้ว…”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2545

ปี 2546
“…ความสะดวกจะสามารถสร้างอะไรได้มาก นี่คือเศรษฐกิจพอเพียง สำคัญว่าต้องรู้จักขั้นตอน ถ้านึกจะทำอะไรให้เร็วเกินไป ไม่พอเพียง ถ้าไม่เร็ว ช้าไป ก็ไม่พอเพียง ต้องให้รู้จักก้าวหน้า โดยไม่ทำให้คนเดือดร้อน อันนี้เศรษฐกิจพอเพียงคงได้ศึกษามานานแล้ว เราพูดมาแล้ว 10 ปีต้องปฏิบัติด้วย…”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2546

ปี 2548
“…ท่านรองนายกฯ ทั้งหลายอาจไม่ทำ เพราะว่าเคยชินกับเศรษฐกิจที่ต้องใช้เงินมาก ไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียง ไม่พอเพียง นายกฯ และคุณหญิง อาจจะให้เพื่อนนายกฯ รองนายกฯต่างๆ ทำเศรษฐกิจพอเพียงสักนิดหน่อย ก็จะทำให้อีก 40 ปีประเทศชาติไปได้ แต่นี่ก็มีแต่นายกฯ รองนายกฯ จัดการ รวมทั้งคู่สมรส ทำเศรษฐกิจพอเพียงก็เชื่อว่าประเทศจะมีความประหยัดได้เยอะเหมือนกัน คือ ถ้าไม่ประหยัด ประเทศไปไม่ได้ คนอื่นไม่ประหยัด สำหรับคณะรัฐมนตรีประหยัด คณะรองนายกฯ ประหยัด จะทำให้ไปได้ดีขึ้นเยอะ”

king

ข้อมูลจาก : นิตยสาร POSITIONING ฉบับเดือนธันวาคม 2549