ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานในภาคธุรกิจไทย เป็นปัจจัยที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆทุกปี เป็นผลให้บรรดาธุรกิจและโรงงานประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานเมื่อพยายามที่จะขยายกำลังการผลิตในประเทศให้สูงขึ้น โดยการคำนวณของ TMB Analytics พบว่าทุกๆ 1% จากการขยายตัวของกำลังแรงงานไทยที่ลดลง จะบั่นทอนการขยายตัวของเศรษฐกิจประมาณ 0.3 – 0.7% ในระยะยาว โดยความรุนแรงจะมากน้อยเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่า เราจะสามารถสนับสนุนการลงทุนเครื่องจักรและการใช้แรงงานต่างด้าวทดแทนแรงงานไทยได้มากน้อยขนาดไหน ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบันสามารถมองได้เป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือ
ประเด็นโครงสร้างระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรไทยที่มีอัตราการเกิดต่ำ ทำให้สัดส่วนประชากรวัยเด็ก(1-14 ปี) มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) กลับมากขึ้น โดยในปี 2548 ประชากรวัยเด็กมีสัดส่วนถึง 22.3% ขณะที่สัดส่วนประชากรสูงอายุมีเพียง 11% แต่ใน 10 ปี กลับมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กลดลงมาที่ 17.5% ในขณะที่สัดส่วนประชากรสูงอายุมากขึ้นที่ 15.8% และคาดว่าในปี 2573 สัดส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 27% และสัดส่วนประชากรวัยเด็กจะเหลือเพียงแค่ 13.7% ส่งผลให้ในอนาคตจำนวนประชากรที่จะเข้าสู่วัยแรงงานมีลดน้อยลง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวไม่สัมพันธ์กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ที่มีความต้องการแรงงานเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมจำนวนมาก จึงมีความจำเป็นในระยะยาวที่จะต้องเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตไทย ให้มีการใช้เครื่องจักรเข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานที่จะหายากขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นที่สอง ประเด็นปัญหาความไม่สมดุลย์ในตลาดแรงงานของไทย เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจและรายได้ของไทยที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แรงงานจึงเลือกทำงานที่มีความเหมาะสมกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำให้งานที่ใช้แรงงานมากและหนัก มักไม่เป็นที่ต้องการของแรงงานไทย ถึงแม้จะมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเป็น 300 บาททั่วประเทศแล้วก็ตาม ส่งผลให้กิจการเหล่านี้ต้องจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทน อีกทั้ง การปรับอัตราเงินเดือนขั้นต่ำปริญญาตรีเป็น 15,000 บาทต่อเดือน เป็นแรงจูงใจให้นักศึกษาเลือกเรียนสายอาชีวศึกษาน้อยลง และมุ่งศึกษาต่อระดับปริญญาตรีมากขึ้น ส่งผลให้ไทยขาดแคลนแรงงานต่อเนื่องโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานระดับกลางและล่าง
จากปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการของไทยขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ได้แก่ รองเท้า สิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องหนัง ย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่อุตสาหกรรมภายในประเทศยังต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ไม้ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ และก่อสร้าง ก็มีแนวโน้มจะนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น
อีกทั้ง หลังปัญหาขาดแคลนแรงงานขยายวงกว้างมากขึ้น ทำให้มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาหางานทำในไทยมากขึ้น ซึ่งในอดีตแรงงานต่างด้าวจะทำงานเฉพาะในสาขาที่คนไทยไม่นิยม เช่น ประมง อาหารทะเลแช่แข็ง เป็นต้น แต่ปัจจุบันแรงงานเหล่านี้สามารถเลือกงานได้หลากหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2555 ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวรวมทั้งสิ้น 1.16 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานถูกกฏหมาย 9.4 แสนคน และผิดกฏหมาย 2.2 แสนคน โดยปรับเพิ่มขึ้นถึง 44% ในช่วงเวลาเพียง 5 ปี เมื่อเทียบกับปี 2550 ที่มีจำนวนแรงงานต่างด้าวในไทยมีเพียง 8.06 แสนคน แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของแรงงานต่างด้าวต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมไทย
การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวให้สอดคล้องกันไป ไม่ว่าจะเป็นการจัดการและดูแลแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาให้เหมาะสมและเพียงพอ การสนับสนุนการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจไทยให้พึ่งพาแรงงานน้อยลง หรือแม้กระทั่งการปฏิรูประบบอุดมศึกษาของไทยให้มีความเชื่อมโยงกับตลาดแรงงานมากขึ้น ทั้งหมดล้วนเป็นแนวทางมาตรการที่ต้องเดินหน้าควบคู่ไปด้วยทั้งสิ้น เพื่อที่จะไม่ให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนและแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยในอนาคตได้