ปรากฏการณ์ ม็อบโซเชียลมีเดีย ต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย

ไลค์..เม้นท์…แชร์ สนั่น “ม็อบออนไลน์” ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย โดยมีโซเชียลมีเดีย อย่าง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทิวบ์ และไลน์ เป็นสื่อสารอันสร้างพลัง สร้างปรากฏการณ์ใหม่ของการเมืองไทยในปี 2556 ถ้าปี 2535 เรียกการชุมนุมทางการเมืองว่าเป็น “ม็อบมือถือ” โดนกลุ่มคนชั้นกลาง และคนทำงานรวมตัวกันใช้อุปกรณ์มือถือเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร จนเกิดการรวมพลังคนจำนวนมากออกมาร่วมชุมนุมขับไล่รัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองในขณะนั้น จากนั้นเป็นต้นมาการชุมนุมทางการเมืองก็มีสื่อออนไลน์ เป็นเครื่องมือในการกระจายข้อมูล ข่าวสาร อย่างเช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย หรือเสื้อเหลือง มีสื่อมัลติมีเดียอย่างเว็บไซต์ ที่ออนไลน์ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ ดึงมวลชนปลุกม็อบเสื้อเหลืองจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมาแล้ว ล่าสุด การชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอย ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่เรียกว่า “ม็อบโซเชียลมีเดีย” เมื่อมวลชนได้ใช้สื่อเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ยูทิวบ์ ไลน์ เป็นเครื่องมือสื่อสารแชร์ข้อมูล สร้างให้เกิดเป็น “กระแส” การรวมกลุ่มเกิดม็อบกลุ่มต่างๆ อย่างแพร่หลายและในเวลาอันรวดเร็ว ความร้อนแรงสถานการณ์การชุมนุมในเมืองไทยได้ปะทุขึ้นอีกครั้ง นับตั้งแต่สภาผู้แทนฯ รวบรัดผ่านร่าง พ.ร.บ นิรโทษกรรมวาระ 3 ส่งผลให้มวลชนได้ออกมารวมพลัง คัดค้านกันอย่างคึกคัก ซึ่งในการชุมนุมครั้งนี้โซเชียลเน็ตเวิร์กถือว่าเป็นพระเอกของงานเลยก็ว่าได้ เพราะถูกใช้เป็นช่องทางในการเสพข่าวสาร รวมไปถึงการ “ระดมพล” ให้ออกไปชุมนุม เกิดการโน้มน้าว และปากต่อปากกันไปเรื่อยๆ ทำให้การชุมนุมครั้งนี้มีพลังมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจุดเริ่มต้นของการชุมนุมครั้งนี้เกิดขึ้นที่ “สถานีรถไฟสามเสน” เมื่อกลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ที่ออกมาเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว และได้ย้ายไปปักหลักที่ “อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย” เพราะด้วยพื้นที่สถานีรถไฟสามเสนค่อนข้างจำกัด ขณะที่ ม็อบอุรุพงษ์ ที่เกิดมาก่อนหน้านี้ก็เริ่มคึกคัก เมื่อมีมวลชนกลุ่มต่างๆได้ออกมาเคลื่อนไหว รวมถึงกลุ่มต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ที่ได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ล้มเลิก พ.ร.บ.เพราะทนไม่ได้กับกฎหมายฉบับนี้ ที่มีเจตนาเพื่อล้างผิดให้กับคนโกง ส่วนใน โลกออนไลน์เองก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน เมื่อเกิดการรวมพลังเพื่อแดสงออกถึงการคัดค้านไม่ยอมรับกฎหมายฉบับนี้ ด้วยการเปลี่ยนจากภาพประจำตัวมาใช้ข้อความสั้นในสี่เหลี่ยมสีดำ ที่เขียนว่า คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และต่อมาได้มีการนำไปปรับแต่งเป็นภาพต่างๆ เช่น นำการ์ตูนในไลน์มาเป็นภาพประกอบ และใส่ข้อความใหม่ๆ ที่เน้นอารมณ์ขัน จนเกิดการแชร์ภาพเหล่านี้กระจายทั่วออนไลน์ “เพื่อนๆ ในกลุ่มเกือบทุกคนเวลานี้จะเปลี่ยนเป็นเครื่องหมายต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจนเหมือนกันไปหมด เพราะเราต้องการแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ ส่วนเพื่อนบางคนที่ก่อนหน้าไม่เคยสนใจการเมืองก็ยังออกไปร่วมชุมนุม ไม่ใช่เพราะเขาเข้าข้างฝ่ายไหน แต่ทนไม่ได้กับการแก้กฎหมายเพื่อช่วยคนโกงชาติ พอไปร่วมชุมนุมแล้วก็อัพภาพขึ้นเฟซบุ๊ก ส่งผ่านไลน์ เพื่อนๆ ในกลุ่มคนอื่นมาแชร์ข้อมูล และไปร่วมชุมนุม อย่างที่สีลม หลายคนลางานไปร่วมเลย” สาวออฟฟิศรายหนึ่งให้ความเห็น เช่นเดียวกับอีกคนจำนวนมาก ทั้งดารา นักร้อง นักแสดง นิสิต นักศึกษา คนทำงาน รวมถึงคนทั่วไป ที่แสดงออกทั้งการเปลี่ยนภาพประจำตัว และการโพสต์ข้อความในสื่อโซเชียลมีเดีย เพื่อต้องการแสดงการไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างต่อเนื่อง การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง “กลุ่มชมรมนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย” ได้จัดกิจกรรมร่วมเป่านกหวีดต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 บริเวณ BTS ศาลาแดง โดยโพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “กรณ์ จาติกวณิช” อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และเพจ “I Support PM Abhisit” ซึ่งมีคนติดตามและมียอดกดไลค์สูงทั้งสองเพจมา ก็ได้การตอบรับทันที มีชาวโซเชียลมีเดียส่งข้อความกันอย่างแพร่หลาย จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ม็อบสีลม ที่สะท้อนถึงพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของสังคมไทยในยุคดิจิตอล

 

 

 

 

การชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ยังได้สร้างปรากฏการณ์ของการรวมพลังของกลุ่มปัญญาชน จากสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆ ต่างทยอยออกมารวมพลังร่วมชุมนุม และลงนามร่วมกันเพื่อแสดงเจตนารมณ์ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ เช่น การรวมตัวของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน แบบสุดซอยเป็นจำนวนมาก ในทำเลใจกลางเมือง จนมีการแชร์ภาพการชุมนุมของชาวจุฬาฯ ทั้งในสื่อออนไลน์ และสื่อปกติอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกัน เกิดกระแสรวมกลุ่มนิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาต่างๆ ตามมาต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยลัยรังสิต มหาวิทยาลัยมหิดล มศว ประสานมิตร และชาวมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ออกมาคัดค้านค้านกฎหมายฉบับนี้ ต่อเนื่องทุกวัน และทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสื่อโซเชียลมีเดีย ใช้เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และไลน์ เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ข่าวสาร ติดต่อสื่อสาร นัดหมาย มีการสร้างแฟนเพจต่างๆ ขึ้นมากมาย จึงทำให้การรวมกลุ่มเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นยังมีแคมเปญรณรงค์ “ล้านชื่อหยุดกฎหมายล้างผิดคดีโกง” โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ผ่านทางเว็บไซต์ change.org ตอนนี้ผู้ลงชื่อกว่า 5 แสนชื่อแล้ว นั่นเกิดจากการลงชื่อแล้ว “แชร์” ในเฟซบุ๊ก

 

 

นักวิชาการชี้ชัดโซเชียลมีเดียอาวุธสำคัญ นักวิชาการด้านกลยุทธ์การตลาด ธีรพันธ์ โล่ห์ทองคำ ประธานกรรมการ บริษัท ธรู เดอะไลน์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด วิเคราะห์ถึงการเกิดม็อบคัดค้านนิรโทษกรรมในครั้งนี้ว่า เป็นเพราะบทบาทของสื่อโซเชียลมีเดีย ที่เป็นเครื่องมือสื่อสารสำคัญ ทำให้ให้เกิดการแชร์ข้อมูลข่าวสาร สร้างการรับรู้ไปสู่คนจำนวนมากได้รวดเร็วและแรงกว่าสื่อปกติ จนเกิดเป็นระแสการรวมตัวของกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้จำนวนมาก เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนของตัวเอง “พอมาเป็นการสื่อสารในยุคของสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นการรวมกลุ่มคนที่มีทัศนคติ ความคิดเห็น ไลฟ์สไตล์ และวิถีชีวิตที่คล้ายกัน ถ้าเป็นภาษาการตลาด เรียว่าเป็นกลุ่มเซกเมนต์เดียวกัน เมื่อคนในกลุ่มนำเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาแชร์ จะเกิดความสนใจและการตอบรับหรือทำตามจากคนในกลุ่มเดียวกันอย่างรวดเร็ว และรุนแรง กลายเป็นกระแสไวรัล เพราะมีแชร์ไปยังเครือข่ายในสังคมออนไลน์อย่างแพร่หลาย” ประกอบกับในกลุ่มที่เป็นแกนนำในการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอยเองได้มีนำสื่อโซเชียลมีเดียไปใช้สื่อสาร จนสามารถระดมกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งคุ้นเคยกับสื่อออนไลน์ดีอยู่ให้เข้ามาร่วมชุมนุมก็เป็นอีกหนึ่งในปรากฎการณ์ที่เกิดจากการชุมนุมครั้งนี้ นอกจากกนี้ สื่อโซเชียลมีเดียยังทำให้เกิดการรวมกลุ่มของ “ม็อบออนไลน์” เมื่อมีการครีเอตข้อความที่เกี่ยวกับการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ เป็นข้อความที่สั้นกระชับออกมาต่อเนื่อง เปรียบแล้วก็เหมือนกับ “ข้อความในงานโฆษณา” สามารถเรียกความสนใจจากคนในออนไลน์ มีการแทร็กข้อความสั้นเหล่านี้และแชร์ในโลกออนไลน์และออฟไลน์กันอย่างแพร่หลาย สร้างเป็นกระแสแพร่กระจายไปยังกลุ่มคนทั่วไป และในกลุ่มที่อาจไม่ได้สนใจแต่แรก แต่ก็เข้ามาร่วมแชร์ และร่วมชุมนุมเพราะกลัวว่าจะตกกระแส

 

 

เช่นเดียวกับ สุบรรณ โค้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความคิดสร้างสรรค์ บริษัท Dentsu Plus จำกัด สะท้อนแนวคิดว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการชุมนุมครั้งนี้ คือ พลังของโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้ข้อมูลถูกแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว “ถ้าเป็นสมัยก่อน ที่มีเพียงแค่สื่อดั้งเดิม ทีวี หนังสือพิมพ์ การรับรู้ข่าวสารต้องใช้เวลากว่า แต่พอมีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นการสื่อสารแบบสองทาง ทำให้คนทั่วไปมีสื่อในมือของตัวเอง พอคนไปม็อบเขาก็แชร์ภาพ แชร์ข้อมูลทันที เกิดการรับรู้และอัพเดตข้อมูลได้ทันที แทบไม่ต้องรอสื่อปกติ และยังทำให้เกิดการรวมกลุ่มได้ทันที อย่างกรณีของม็อบสีลม เป็นตัวอย่างของการรวมพลังโดยใช้สื่อโซเชียลที่ได้ผลชัดเจน” ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ Founder & Managing Director บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด ให้ความเห็นว่า “ตอนนี้คนใช้สื่อออนไลน์ โซเชียลเน็ตเวิร์กสื่อสารกันมากขึ้น เพราะสามารถเรียกระดมคน โน้มน้าวคนได้ จะเห็นว่าช่วงไม่กี่วันมานี้คนจะเปลี่ยนรูป Profile Picture เป็นแบบคล้ายๆ กันหมด มันเลยเป็นการแสดงออกอย่างเปิดเผย ทำให้เกิดการทำตาม พอมีการลงรูปภาพต่างๆ ทำให้เหตุการณ์ขยายตัว คนไปเยอะขึ้น หรืออาจจะโดนคนรอบข้างบิลท์ด้วย โซเชียลเน็ตเวิร์กเลยดึงคนออกมาได้เยอะมาก ซึ่งการกระจายของข่าวจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. แบบแมส นั่นคือเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไว้อัพเดตข่าวสาร ความเป็นไปของการชุมนุม ส่วนยูทิวบ์ไว้รีรันเหตุการณ์กลับมาดูอีกรอบ 2.แบบส่วนตัว คือการใช้ไลน์ วิธีนี้จะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะเป็นการชวนจากกลุ่มเพื่อนฝูงที่สนิท ยิ่งตอนนี้ทุกคนสื่อสารจากโทรศัพท์มือถือยิ่งง่ายต่อการสื่อสาร สามารถแชร์ข้อมูลได้ง่ายและไวขึ้น” และนี่คือ อีกหนึ่งในปรากฏการณ์ของม็อบการเมือง ในยุคสื่อโซเชียลมีเดียได้กลายเป็นพื้นที่สื่อที่เปิดกว้างให้กับการแสดงออกทางความคิดที่หลากหลาย ผู้รับข้อมูลเป็นทั้งผู้ส่งข้อมูลได้ในเวลาเดียวกัน เกิดการรวมกลุ่มของคนที่มีความคิดและความชอบเดียวกัน จนเกิดเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ในโลกออนไลน์ ส่งต่อข้อมูลในแบบเรียลไทม์ สร้างการรับรู้ได้อย่างรวดเร็ว วินาทีต่อวินาที ที่หาไม่ได้ในสื่อแบบเก่า งานนี้ รัฐบาลยังคงผลักดันกฎหมายล้างผิดคนโกง แบบถอยไม่สุดซอย ยังคงลับลวงพราง ก็คงได้เห็นพลังของมวลชนและพลังของโซเชียลมีเดียที่นับวันจะทวีความสำคัญ และร้อนแรงมากขึ้นทุกขณะ