เดือดแน่…ช้อปปิ้งออนไลน์ หลัง “ซาโลร่า” เว็บอีคอมเมิร์ซจากค่ายร็อกเก็ต อินเทอร์เน็ต เข้ามาเปิดตัวในไทยได้ปีกว่า ใช้โมเดลห้างสรรพสินค้าออนไลน์ ขายราคาถูก ส่งสินค้าเอง ระเบิดศึกค้าปลีกออนไลน์แบบบีทูซี ขณะที่เจ้าตลาดเดิม “ราคูเท็น ตลาดดอทคอม” เตรียมรีแบรนด์ ปรับโฉมใหม่ ขยายสู่อินเตอร์
ช้อปปิ้งออนไลน์กำลังถูกจับตาหลังจาก “ซาโลร่า” เว็บขายสินค้าแฟชั่นออนไลน์ของค่าย “ร็อกเก็ต” จากเยอรมัน เข้ามาเปิดตลาดในไทย ปลุกตลาดอีคอมเมิร์ซ หรือช้อปปิ้งออนไลน์ ที่เคยโตแบบค่อยเป็นค่อยไปให้คึกคักขึ้นทันที
เบนจามิน ทอมป์สัน Vice President, Head of Marketing บริษัท Zalora (Thailand) บอกว่า ซาโลร่าเข้ามาทำตลาดในไทยได้ปีกว่า เป็นช่วงที่อีคอมเมิร์ซของไทยยังมีการซื้อขายน้อยมาก และเป็นการขายสินค้าผ่านเฟซบุ๊กโดยบุคคลเป็นส่วนใหญ่
โมเดลการทำธุรกิจของเว็บ “ซาโลร่า” เป็นลักษณะของ “บีทูซี” ในลักษณะของ “ห้างสรรพสินค้าออนไลน์” คือมีการบริหารจัดการสินค้า สั่งซื้อสินค้าเข้ามาจำหน่าย บริหารคลังสินค้า และจัดส่งสินค้าถึงลูกค้าด้วยตัวเอง
ข้อดีของโมเดลแบบห้างสรรพสินค้าออนไลน์ ควบคุมคุณภาพได้ แต่ก็ต้องใช้เงินลงทุนสูง ยิ่งเป็นสินค้าแฟชั่น ที่ต้องมีสินค้าให้เลือกหลากหลายทั้งชนิดและขนาด แต่การที่ซาโลร่ามีเครือข่ายธุรกิจอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ช่วยในเรื่องของการสร้างอำนาจต่อรองในการสั่งซื้อสินค้าครั้งละมากๆ ทำให้ต้นทุนถูกลง ราคาขายแข่งขันได้ สินค้าก็มีความหลากหลาย
เขายกตัวอย่าง สินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมบางยี่ห้อ ที่สั่งซื้อได้ครั้งละมากๆ ทำให้ต้นทุนถูกลง ทำให้ตั้งราคาแข่งขันต่ำกว่าราคาขายในห้างสรรพสินค้า ส่วนบางยี่ห้ออย่างเช่น รองเท้า “ไนกี้” แม้จะต้องขายราคาเดียวกับในห้างสรรพสินค้าก็ตาม แต่ข้อดี คือ มีรุ่นให้เลือกที่หลากหลายมากกว่าเพราะการขายบนเว็บไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่เหมือนกับการขายในห้างสรรพสินค้า
“ถ้าเป็นร้านค้าในห้างสรรพสินค้า คงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีให้เลือกถึง 200 ชนิด และนี่คือหนึ่งในคีย์ซัคเซสที่ต้องมีทั้งความสะดวก ความหลากหลายของสินค้า ราคาแข่งขันได้ และการบริการที่รวดเร็ว เหมือนกับชื่อบริษัทแม่ของเรา ร็อกเก็ต อินเทอร์เน็ต”
ต้นกำเนิดของซาโลร่า อยู่ที่เยอรมัน ใช้ชื่อเว็บว่า www.zalando.de เปิดมาได้ 4 ปี มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในเยอรมัน ด้วยยอดสั่งซื้อ 1 แสนชิ้นต่อวัน ต่อมาจึงได้ขยายไปยังประเทศอิตาลี อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย อินเดีย ญี่ปุ่น รวมถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เปิดตลาดได้ปีกว่า โดยเปิดให้บริการพร้อมกัน 7 ประเทศ ประกอบไปด้วย สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ฮ่องกง เพื่อประโยชน์ในเรื่องของต้นทุน
การจัดส่งสินค้าเป็นอีกหนึ่งในกุญแจสำคัญ ระยะเวลาในการจัดส่งสินค้า หากเป็นลูกค้ากรุงเทพฯ สั่งซื้อสินค้าช่วง 9 โมงเช้า สินค้าจะถึงมือได้ในเช้าวันถัดมา แต่ถ้าเป็นลูกค้าต่างจังหวัด จะใช้เวลา 1-3 วันทำการ
เบนจามิน บอกว่า ทุกประเทศที่ซาโรล่าร่าเข้าไปลงทุน จะต้องมีคลังสินค้า ซึ่งในไทยจะตั้งอยู่ถนนบางนา ขนาด 2,500 ตารางเมตร โดยในกรุงเทพฯ มีมอเตอร์ไซค์จัดส่งสินค้า แต่ถ้าต่างจังหวัด จัดส่งผ่านบริษัทขนส่ง 2 แห่ง ซึ่งในปีหน้าจะเพิ่มจุดรับสินค้าที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น
นอกจากนี้ ทุกประเทศจะต้องเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน เพื่อให้ลูกค้าสั่งสินค้าจากประเทศอื่นๆ ได้ด้วย และมีระบบออนไลน์ เพื่อมอนิเตอร์ดูยอดสั่งซื้อแบบนาทีต่อนาที สินค้าไหนขายดี หรือไม่ดี และขายดีช่วงไหนได้มาก จะทำโปรโมชั่น หรือคัดเลือกและปรับปรุงสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าได้
สินค้าจำหน่ายอยู่ในหมวดแฟชั่น รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ เครื่องสำอาง โดยมีทั้งสินค้าแบรนด์เนมจากต่างประเทศและแบรนด์ของไทย อย่าง เกรย์ฮาว และสเตซิส และยังมี “เฮาส์แบรนด์” ที่ซาโลร่ามีทีมออกแบบ และจ้างโรงงานผลิต และติดแบรนด์ของตัวเอง และถือเป็นอีกหนึ่ง “กลไก” สำคัญที่มาช่วยตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เร็วและหลากหลาย และที่สำคัญตัวเลขของผลกำไรดีกว่าสินค้าแบรนด์เนม
“ถ้าเป็นสินค้าแบรนด์เนมก็ต้องขึ้นอยู่กับเขา แต่ถ้าเป็นเฮาส์แบรนด์ของเรา เราควบคุมได้ทุกอย่าง เวลานี้เรามีเฮาส์แบรนด์หลายยี่ห้อ ทั้งรองเท้า กระเป๋า ของผู้หญิง และผู้ชาย มียี่ห้อ Ezda, sidewalk, kami kami
สินค้าขายดีที่สุดคือ “รองเท้า” เบนจามินมองว่า น่าจะมาจากความหลากหลายของสินค้า รองเท้าผู้หญิงมีให้เลือก 2,000 กว่าคู่ รองเท้าผู้ชายมีให้เลือก 1,000 คู่ และความหลากหลายของราคา
“รองเท้าที่ขายในท้องตลาด หากราคาไม่ถูกมาก 100-200 บาท ก็แพงไปเลย ราคากลางๆ ไม่มี ของเรามีราคากลางๆ ตั้งแต่ 300 บาท”
จากประสบการณ์ปีครึ่งที่ทำมา เบนจามินพบว่า สิ่งสำคัญของการทำตลาดในไทย คือ การปรับให้เข้ากับพฤติกรรมของลูกค้าคนไทย เช่น เว็บต้องใช้ภาษาไทย และคนไทยไม่ชอบอ่าน ชอบรูปภาพเยอะๆ และคนไทยยังไม่ชินกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ต้องมีระบบ “คอลเซ็นเตอร์” ไว้บริการ
“คนไทย เวลาสั่งซื้อบนเว็บแล้ว ยังต้องโทรมาถามว่าได้รับออเดอร์หรือยัง และยังไม่คุ้นกับการที่ต้องซื้อสินค้าบนออนไลน์ ต้องมีการใส่โค้ด ใช้เวลาในการอธิบาย ต้องมีคอลเซ็นเตอร์ไว้บริการ”
หรืออย่างการชำระเงิน คนไทยยังนิยมชำระเงินให้พนักงานเก็บเงินปลายทางถึง 70-80% การชำระเงินผ่านบัตรเครดิตมีแค่ 20-30% สัดส่วนลูกค้า กรุงเทพฯ 40% ต่างจังหวัด 60% ในเมืองใหญ่ โดยนักช้อปส่วนใหญ่ ผู้หญิงจะมีสัดส่วน 60% ผู้ชาย 40%
ลูกค้าส่วนใหญ่ช้อปผ่านออนไลน์จะเป็นคนทำงาน โดยจะเริ่มช้อปตั้งแต่ 11 โมงเช้า หลังทานอาหารเที่ยงจะเริ่มช้อปอีกครั้งตอนบ่าย 2 และช่วงเย็นเลิกงาน รวมถึงช่วงดึกในละครหลังข่าว ยิ่งมีละครดัง อย่างช่วงละครเรื่องแรงเงา คนไทยเวลานี้จะดูไปด้วย เมนต์กับเพื่อนบนเฟซบุ๊กไปด้วย และช้อปปิ้งออนไลน์ไปด้วย “พอเราเห็นแบบนี้ ซาโลร่าก็เลยทำโฆษณาบนเฟซบุ๊ก โพสต์แนะนำการแต่งตัวตามอย่างนางเอกของเรื่องที่เป็นฝาแฝด มี 2 บุคลิก คนหนึ่งจะเฉี่ยว และอีกคนจะเรียบร้อย ทำให้สินค้าเราขายดีมาก”
กลยุทธ์การตลาดเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญ ซึ่งจะเน้นทำตลาดออนไลน์เป็นหลัก ทั้งการลงโฆษณา แบนเนอร์ ในเฟซบุ๊ก กูเกิล และในเว็บไซต์ที่คนดูมาก และร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจสถาบันการเงิน ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ โดยให้ส่วนลดพิเศษกับลูกค้าของพันธมิตรเหล่านี้ หรืออย่างการร่วมมือกับยักษ์ใหญ่ “พีแอนด์จี” โดยการให้ส่วนลดกับพีแอนด์จีเป็นพิเศษ และให้พีแอนด์จีแจกของแถมให้กับลูกค้าของซาโลร่า ซึ่งเบนจามินมองว่า วิน-วิน ทั้งตัวพันธมิตร ลูกค้า และซาโลร่า
นอกจากนี้ยังมีระบบขายตรง หรือเน็ตเวิร์ก มาร์เก็ตติ้ง ด้วยการรับสมัครแบรนด์แอมบาสเดอร์ เพื่อให้ไปแนะนำเพื่อนหรือคนรู้จักมาซื้อสินค้า โดยจะให้ส่วนลดพิเศษ ส่วนคนที่เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์จะได้คอมมิชชั่น ซึ่งยังทำรายได้ไม่มากนัก เพราะตลาดไทยยังใหม่ ระบบนี้จะเหมาะกับประเทศที่คนคุ้นเคยกับช้อปปิ้งออนไลน์
ทุกวันนี้ ซาโลร่ายอดสั่งซื้อในไทยเฉลี่ย 1,000 อย่าง/วัน ยอดขายโตขึ้นประมาณ 15% ทุกเดือน เพราะได้ลูกค้าใหม่ตลอดเวลา เบนจามินมองว่า ปีหน้าการแข่งขันจะดุเดือดมากขึ้น และการช้อปปิ้งผ่านโมบายจะมีบทบาทมาก เพราะเวลานี้คนไทยช้อปผ่านโมบาย 30% มากที่สุดเมื่อเทียบใน 7 ประเทศ เท่ากับคนสิงคโปร์ เวียดนามยังอยู่แค่ 12% อินโดนีเซีย 20%
“เวลานี้ สัดส่วนการช้อปผ่านออนไลน์ยังเป็นแค่ 0.2 หรือ 0.3% ของยอดค้าปลีกเท่านั้น แต่เชื่อว่าปี 2020 หรือเร็วกว่านั้น สัดส่วนจะเพิ่มเป็น 6-7% เท่ากับตัวเลขในอเมริกาเวลานี้”
ตลาดดอทคอมรีแบรนด์
ส่วนเว็บเจ้าถิ่นอย่าง ราคูเท็น ตลาดดอทคอม ที่มีภาวุธ พงษ์วิทยภานุ เป็นผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ เว็บอีคอมเมิร์ซแห่งนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2543 และต่อมาในปี 2552 ได้ขายหุ้นราคูเท็น จากญี่ปุ่นมาเป็นผู้ถือหุ้นหลัก โดยยังคงโมเดลธุรกิจของการเป็น “ดีพาร์ตเมนต์สโตร์” ออนไลน์ ให้เจ้าของสินค้ามาเช่าหน้าร้าน และจัดส่งสินค้าเอง โดยจะคิดค่าเช่ารายเดือนหลักร้อย และเมื่อขายสินค้าได้จะคิดค่า Fee กับร้านค้าประมาณ 3-5%
ภาวุธ ให้ข้อมูลว่า ตลาด E-commerce ของไทยผ่านมาแล้วถึง 6 ยุค (ดูตารางประกอบ) แต่ยังมีสัดส่วนการซื้อสินค้าออนไลน์ไม่ถึง 1% ของยอดค้าปลีกทั้งตลาด ซึ่งจากข้อมูล Euro Monitor ระบุว่า มูลค่าตลาด Internet Retail 16,556 ล้านบาท แต่หลังจากนี้ไทยจะเข้าสู่ยุคที่เติบโตอย่างจริงจัง เนื่องจากระบบขนส่ง ระบบจ่ายเงินดีขึ้น รวมถึงการช้อปผ่านมือถือที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
เวลานี้พฤติกรรมของลูกค้าตลาดดอทคอม จะซื้อสินค้าผ่านมือถือ 25% อีก 75% ผ่านพีซี ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นได้อีก เพราะดูจากยอดการเข้าเว็บจากมือถืออยู่ที่ 39% และการชำระเงินของลูกค้าเวลานี้ ผ่านบัตรเครดิตถึง 45% ในขณะที่ E-commerce ส่วนใหญ่ยังชำระเงินผ่านออฟไลน์ และชำระผ่านเอทีเอ็ม 70-80% ซึ่งการผลักดันให้ลูกค้าชำระผ่านออนไลน์เป็นเรื่องจำเป็น มีผลต่อยอดสั่งซื้อ เพราะหากไม่ชำระทันทีบนเว็บไซต์ ลูกค้าจะมีโอกาสเปลี่ยนใจได้ตลอดเวลา
ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนทำงาน เป็นกลุ่มอายุ 30-40 ปี การช้อปปิ้งจึงเป็นช่วงเวลางาน เริ่มตั้งแต่เช้า 6.00 จะช้อปผ่านมือถือ พอ 9.00 เริ่มช้อปผ่านคอมพิวเตอร์ มาช่วง 12.00 เป็นช่วงพักกินข้าว จะช้อปหลังจากเที่ยงเป็นช่วงเวลาของ PC และพอเวลา 18.00 ใช้มือถืออีกครั้ง
เมื่อดูจากพฤติกรรมเหล่านี้ พบว่า มือถือเป็นตัวกระตุ้นให้ตลาด E-commerce โต คนเริ่มใช้จากมือถือเยอะขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้ใหญ่ ที่นิยมใช้แท็บเล็ต และเป็นอีกกลุ่มที่ช้อปออนไลน์เพิ่มขึ้น
โดยสินค้าขายดี 4 อันดับแรกในไทย คือ 1. สินค้าแฟชั่น 2. อาหารเสริม 3. Gadget 4. นาฬิกา แต่ละประเทศจะต่างกัน ในญี่ปุ่นสินค้าขายดีจะเป็นอาหาร ระบบไปรษณีย์ของญี่ปุ่นสามารถทำ Frozen ได้ มูลค่าการช้อปต่อครั้งจะขึ้นอยู่กับ “แคมเปญ” และโปรโมชั่นได้ผลคือ การลดราคา
สัดส่วนการช้อปจะมาจาก กรุงเทพฯ 22% ภาคกลาง 39% โตขึ้นเยอะ สะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีไม่ได้จำกัดแค่ในกรุงเทพฯ การใช้อินเทอร์เน็ต หรือสินค้าออนไลน์มันกระจายไปต่างจังหวัดแล้ว กรุงเทพฯ อาจจะไม่ได้ลดลง แต่ต่างจังหวัดมันโตมากขึ้นๆ และถ้าเปรียบเทียบแล้ว คนต่างจังหวัดจะซื้อเยอะกว่า เพราะเขาหาซื้อของไม่ได้
ในแง่ของผู้ผลิตสินค้าที่มาใช้บริการ เพิ่มขึ้น 46% โดยจะทำตลาดเพื่อดึงผู้ประกอบการมาทำมากขึ้น โดยจะมีการจัดสรรงบตลาดเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นทั้งร้านค้า และลูกค้า เช่นปีนี้ เฉพาะโปรโมชั่นสะสมแต้มใช้งบ 10 ล้านบาท
“ช่วง 9 เดือน ตลาดดอทคอมมียอดคนเข้าดู 23 ล้านคน โตขึ้น 50% มีสมาชิกมีทั้งหมด 2.5 ล้านคน เติบโตขึ้นมาเกือบ 5 แสนคน ต้องทำการตลาดเยอะพอสมควร”
ภาวุธ ประเมินว่า ภาพรวม E-commerce ปีหน้าจะโต 30% โดยตลาดดอทคอมจะเติบโตเพิ่มขึ้น 58% ยอดสั่งซื้อโต 30%
ความท้าทายในปีหน้า คือ โมบายคอมเมิร์ซจะมีบทบาทมากขึ้น และต่างชาติที่เตรียมเข้ามาทำตลาดบุกตลาดในไทย เช่น เว็บจากจีน หรือแม้แต่การมาของซาโลร่า ถึงแม้ Business Model จะแตกต่างกัน แต่ลูกค้าที่มาช้อปปิ้งออนไลน์เป็นกลุ่มเดียวกัน “ผู้ที่จะได้รับ คือ ผู้ผลิตสินค้า โดยเฉพาะเรื่องของราคา เพราะเขาซื้อมาล็อตใหญ่แล้วมาตั้งราคาต่ำ จะสู้ได้ก็ต้องดัมพ์ราคาลงมาแข่ง”
ปีหน้า ตลาดดอทคอมได้เตรียมรีแบรนด์เปลี่ยนชื่อ เป็น Rakuten Thailand เพื่อรองรับกับการขยายตลาดต่างประเทศ สร้างโอกาสให้เจ้าของสินค้าจากไทยไปขายต่างประเทศ ที่มีขนาดของตลาด และได้ราคาขายดีกว่า