“ไม่มีข้อจำกัดหรือรูปแบบในการทำความดี แค่คิดจะทำก็ถือว่าดีแล้ว และจะยิ่งดีกว่าหากได้เริ่มลงมือทำ” วันนี้น้องๆ เยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับโอกาสในการทำความดีเพื่อสังคมกับโครงการ “ปัญญาชน…คนทำดี” ได้เริ่มเรียนรู้การเป็นผู้ให้ ‘ให้’ โดยนำความรู้ที่ตนเองร่ำเรียนมาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น ซึ่งนั่นไม่ได้เพียงหมายถึงการทำให้ชุมชน สังคมดีขึ้น หากแต่ความอิ่มเอมที่เกิดขึ้นจากการกระทำความดีนี้จะซึมลึกลงไปในจิตใจของเยาวชนหล่อหลอมและก่อเกิดเป็น ‘จิตสำนึกสาธารณะ’ พร้อมที่จะเติบโตขึ้นเป็นบุคคลที่มีจิตอาสาสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่ต่อไป
สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า มูลนิธิเอสซีจีเชื่อมั่นว่าสังคมคุณภาพต้องประกอบด้วยคนเก่งและดี จึงมุ่งมั่นเสริมสร้างศักยภาพของคนโดยเน้นที่เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาชาติในอนาคต รวมถึงปลูกฝังจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อจุดประกายให้เกิดการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ต่อสังคมและขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความยั่งยืน
“โครงการ ‘ปัญญาชน…คนทำดี’ จึงถูกริเริ่มขึ้น โดยชวนน้องๆ นิสิตนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.)ใช้พลังแห่งการสร้างสรรค์ทำประโยชน์เพื่อสังคม โดยร่วมเสนอโครงการสาธารณประโยชน์ที่สอดคล้องกับสาขาวิชาหรือหลักสูตรที่กำลังศึกษาอยู่ สำหรับโครงการที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 20 โครงการ จะได้รับงบประมาณสนับสนุนวงเงินสูงสุดโครงการละ 100,000 บาท และนับเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่แม้ปีนี้จะเป็นปีแรก แต่ก็มีน้องๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการถึง 117 โครงการด้วยกัน” คุณสุวิมล กล่าว
ขณะนี้ทั้ง 20 โครงการ กำลังดำเนินงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยน้องๆ นิสิต นักศึกษาได้นำความรู้ ความถนัดที่เรียนมารับใช้สังคมในหลากหลายมิติ ทั้งโครงการที่เป็นการสร้าง หรือประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนที่มีมาช้านาน อย่างโครงการ Environment Design Laem Chabang ซึ่งเป็นโครงการที่น้องๆ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง ได้มีโอกาสลงพื้นที่และพูดคุยกับชุมชนบ้านชากยายจีน พบว่าชุมชนกำลังประสบกับปัญหาขยะ ที่แต่ละวันมีมากกว่า 2 ตัน และแม้ชาวบ้านจะแยกขยะจำพวกขวดพลาสติกไว้ขายกับซาเล้งที่มารับซื้อ แต่เงินที่ได้กลับมาก็น้อยนิดนัก
เหตุนี้เอง หลังการพูดคุยร่วมกันหลายครั้งระหว่างผู้นำชุมชนท้องถิ่น ชาวบ้าน ครูอาจารย์ และน้องๆ นักศึกษา จึงเกิดเป็นแนวคิด ‘ธุรกิจขยะรีไซเคิลสู่ชุมชน’ ที่น้องๆ เยาวชนนำวิชาความรู้ในห้องเรียนมาช่วยชุมชนอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบและผลิตเครื่องย่อยขวดพลาสติก การสอนชุมชนให้เรียนรู้การทำบัญชีรายรับรายจ่าย ตลอดจนด้านการตลาด กระบวนการเหล่านี้นำมาซึ่งปริมาณขยะพลาสติกที่ลดลงสวนทางกับรายได้ชุมชนที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ชุมชนบ้านชากยายจีนยังมีจุดนัดพบแห่งใหม่นั่นคือสถานที่ตั้งของเครื่องย่อยขวดพลาสติกที่ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างเก็บขวดมาขาย โดยชุมชนตกลงให้วันอาทิตย์เป็นวันเปิดใช้เครื่องย่อย และสถานที่นี้ยังเป็นที่ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความเห็นของคนในชุมชนในเรื่องอื่นๆ อีกด้วย
“เพราะเครื่องย่อยขวดพลาสติก พวกเราถึงได้รู้จักและใกล้ชิดกับคนในชุมชนมากขึ้นครับ เนื่องจากพวกเราต้องมาดูการทำงานของเครื่องทุกวัน ส่วนเพื่อนอีกกลุ่มก็มาสอนบัญชี ทำให้ที่นี่กลายเป็นที่รวมตัวของพวกเรา พี่ป้าน้าอา และเด็กๆ ซึ่งเป็นลูกค้าคนสำคัญที่ขยันเอาขวดพลาสติกมาขาย” ณัฐวัฒน์ รัตนมาโต สาขาวิชา เมคคาทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคโนโลยีวิศวกรรมแหลมฉบัง เล่าอย่างภูมิใจ
“ที่ผ่านมาพ่อค้าขายของเก่ามารับซื้อขวดพลาสติก เราก็ขายไป ก็ไม่เห็นว่ามันมีมูลค่า แต่หลังจากที่ได้พูดคุยกับทีมวิทยาลัยฯ เรื่องราคาของขยะรีไซเคิล อย่างพวกขวดนี้ พอเอามาย่อยกลับได้ราคาดีกว่าตอนขายเป็นขวดอีก เพราะตอนเป็นขวดเราขายกิโลกรัมละ 13 บาท แต่พอมีเครื่องย่อย เราขายได้กิโลกรัมละ 21 บาท นอกจากนี้ทางน้องๆ ก็มาสอนพวกเราทำบัญชีครัวเรือน สอนให้ดูราคาของขยะรีไซเคิลจากทางอินเตอร์เน็ต จากที่ไม่เคยสนใจเรื่องเทคโนโลยีออนไลน์ ตอนนี้พวกเราหลายคนก็เริ่มใช้เป็นแล้ว เพราะต้องใช้สำรวจราคาขวดพลาสติกโดยเปรียบเทียบราคาจากที่อื่น สนุกดี มีรายได้เพิ่มขึ้น ขยะลดลง คนในชุมชนก็ได้พูดคุยกันมากขึ้น” นพรัตน์ เงินทอง ประธานอาสาสมัครสาธารณะสุขประจำหมู่บ้าน เทศบาลแหลมฉบัง
นอกจากมูลนิธิเอสซีจี จะสนับสนุนโครงการที่มีลักษณะของการสร้างหรือประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อชุมชนแล้ว ยังสนับสนุนโครงการที่มุ่งสร้างคุณค่าของการดำรงชีวิตเช่นเดียวกัน อย่าง ‘ละครเพื่อการศึกษาเรื่องแมงมุมเพื่อนรัก สำหรับเด็กพิการทางสายตา’ ที่น้องๆ วิชาเอกการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำศิลปะการแสดงที่ร่ำเรียนมา เพื่อสร้างสุนทรียะให้แก่เด็กพิการทางสายตาอายุ 5 – 10 ปี ที่โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา ด้วยความมุ่งมั่นของน้องๆ ปัญญาชน คนทำดี ที่จะสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะแก่เด็กผู้พิการทางสายตา เพราะเชื่อว่าเด็กและเยาวชนทุกคนบนโลกต่างมีความสำคัญเท่าเทียมกัน และการบริจาคอาหาร เครื่องนุ่งห่มไม่เพียงพอต่อการเติมเต็มชีวิต และน้องๆ ผู้พิการทางสายตาทุกคนควรมีสิทธิเท่าเทียมเฉกเช่นเด็กคนอื่นๆ ในการเสพศิลปะ
“ถ้าจะเรี่ยไรเงินมาเพื่อซื้อขนมให้น้อง ก็แค่ยืนถือกล่องบริจาค แต่เรามองว่ามันง่ายไป มันจึงเกิดคำถามว่าทำไมเราไม่ใช้ศักยภาพที่เราเรียนมามาทำละครให้น้องดู พอเราลงพื้นที่จริง เรารู้เลยว่าเราคิดไม่ผิด เรามีความสุขตั้งแต่ลงพื้นที่ ได้แบ่งปันประสบการณ์และได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้างนอกเหนือไปจากการทำเพื่อตัวเอง พวกเราขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่สนับสนุนและเปิดโอกาสให้พวกเราได้มีพื้นที่ทำความดีค่ะ” เพชรรัตน์ มณีนุษย์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นี่เป็นเพียง 2 โครงการตัวอย่างที่เยาวชนคนรุ่นใหม่ลงพื้นที่ทำความดี ยังมีอีก 18 โครงการที่น่าสนใจไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตามมูลนิธิเอสซีจีเล็งเห็นว่าทุกโครงการของน้องๆ ทั้ง 117 โครงการที่ส่งเข้ามาประกวด ล้วนแล้วแต่มาจากความคิดดี นั่นหมายถึงจิตใจที่นึกถึงผู้อื่น นึกห่วงใยสังคม ไม่ว่าโครงการจะเข้ารอบ 20 ทีมสุดท้ายหรือไม่ นั่นไม่สำคัญเท่ากับจิตอาสาของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการทำความดี และแม้ว่าเยาวชนเหล่านี้จะเป็นมือใหม่ในการทำโครงการ แต่ทุกคนก็ได้แสดงออกซึ่งความหมายแห่งการเป็น “ปัญญาชน” อันสมบูรณ์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การเป็นผู้มีความรู้หรือความฉลาดอันเกิดจากการเรียนมากเท่านั้น หากหมายรวมถึงการเป็นคนที่สามารถนำความรู้ที่เรียนมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมด้วยเช่นกัน
วันนี้ – 15 ธันวาคม 2556 มูลนิธิเอสซีจีได้เปิดโอกาสให้ประชาชนโหวตเลือกโครงการปัญญาชน…คนทำดี ที่โดนใจผ่านทางเว็บไซต์ ผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุด 3 อันดับแรกจะได้รับเงินเป็นกำลังใจในการทำความดีจำนวน 30,000 บาท, 20,000 บาท และ10,000 ตามลำดับ ผู้สนใจสามารถติดตามเรื่องราวและร่วมโหวตให้กับน้องๆ ทั้ง 20 ทีมได้ที่ www.facebook.com/ปัญญาชน คนทำดี