ดั๊บเบิ้ล เอ-เอ็นพีเอส ช่วยเกษตรกรมีรายได้เสริมนอกเหนือการปลูกข้าว พร้อมโชว์ระบบ CDS ใช้ในการเกษตรแห่งแรกของประเทศ

ดั๊บเบิ้ล เอ ชวนเกษตรกรร่วมโครงการปลูกต้นกระดาษบนคันนา สร้างรายได้เสริมนอกเหนือการปลูกข้าว เพียงแค่มีที่นา 1 ไร่ขึ้นไป เมื่อทำสัญญาร่วมโครงการรับทันที 150 บาทต่อสัญญา ตัวแทนแนะนำรับ 100 บาทต่อสัญญา ปลูกเสร็จรับทันที 2,000 บาท ต่อ 1,000 ต้น นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับเอ็นพีเอสพัฒนาระบบ “CDS” แอพพลิเคชั่นที่นำมาใช้ในการเกษตรแห่งแรกของประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการปลูกต้นกระดาษ และพืชพลังงาน ช่วยให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการและได้รับเงินเร็วขึ้น
 
นายชาญวิทย์ จารุสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดั๊บเบิ้ล เอ (1991) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ดั๊บเบิ้ล เอ   ผู้ผลิตกระดาษจากคันนา ขอเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกต้นกระดาษบนคันนาเพื่อนำมาผลิตเยื่อและกระดาษ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างวัตถุดิบที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องรบกวนการใช้ไม้จากธรรมชาติ และช่วยสร้างประโยชน์ให้พื้นที่ว่างกลายเป็นสีเขียว ช่วยลดโลกร้อน และสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งให้เกษตรกร
 
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถหารายได้เสริมจากการเข้าร่วมโครงการปลูกต้นกระดาษบนคันนากับดั๊บเบิ้ล เอ ในช่วงฤดูแล้งได้โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุน  เพียงมีที่นา 1 ไร่ขึ้นไปก็สามารถร่วมโครงการได้ มีรูปแบบดังนี้ 1.กลุ่มที่ไม่มีที่ดินของตนเอง สามารถสมัครเป็นตัวแทนแนะนำเพื่อนบ้านปลูกต้นกระดาษ จะได้รับค่าตอบแทน 100 บาทต่อสัญญา หรือสมัครเป็นตัวแทนจ้างปลูก จะได้รับค่าตอบแทน 2.50 บาทต่อต้น ตามจำนวนต้นที่รอด  2. กลุ่มที่มีที่ดินเป็นของตนเองตั้งแต่ 1 ไร่ขึ้นไป สามารถนำคันนาที่ว่างมาเข้าร่วมโครงการ หลังทำสัญญาร่วมโครงการจะได้รับเงิน 150 บาทต่อสัญญา หากเกษตรกรลงมือปลูกเองก็จะได้รับค่าจ้างปลูกอีก 2 บาทต่อต้น และเมื่อดูแลต้นกระดาษจนเติบโตใน 1 เดือน จะได้รับเพิ่มอีก 2 บาทต่อต้น ตามจำนวนต้นที่รอด และต้นกระดาษอายุครบ 3 ปี จะได้รับเงิน 28 บาทต่อต้นตามจำนวนต้นที่รอด รวมค่าตอบแทนทั้งกระบวนการทั้งสิ้น 32 บาทต่อต้น โดยแคมเปญนี้จะหมดเขตรับสมัครภายในวันที่ 30 เมษายนนี้เท่านั้น เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเป็นตัวแทนแนะนำ สามารถสอบถามรายละเอียดเข้าร่วมโครงการฯได้ที่สายด่วนโทร. 1759 กด 5   
 
“ที่ผ่านมาเกษตรกรที่เป็นตัวแทนแนะนำบางรายสามารถแนะนำได้ถึงวันละ 20 สัญญา ซึ่งก็จะช่วยสร้างรายได้เสริมมากถึงวันละ 2,000 บาท โดยการทำงานก็ไม่ได้ยุ่งยาก เพียงแนะนำเพื่อนบ้านให้ใช้พื้นที่ว่างบนคันนามาปลูกต้นกระดาษเท่านั้น ซึ่งก็จะทำให้เพื่อนบ้านมีรายได้เสริมนอกเหนือจากข้าว เช่น หากมีที่ดิน 10 ไร่ จะปลูกต้นกระดาษบนคันนาได้ 1,000 ต้น ทำสัญญาร่วมโครงการรับทันที 150 บาท และผ่านไป 1 เดือน ก็จะมีรายได้จากการปลูกและการดูแลต้นกระดาษสูงสุด 4,000 บาท โดยจะนับรายได้ตามจำนวนต้นรอด และเมื่อครบอายุ 3 ปี ก็จะมีรายได้สูงสุด 28,000 บาทหากดูแลต้นไม้รอดครบทุกต้น ในระยะยาวถือเป็นการออมเงินสำหรับเกษตรกรหรือเกษตรกรไว้ใช้ในยามจำเป็นได้” นายชาญวิทย์กล่าว
 
นอกจากนี้ ดั๊บเบิ้ล เอ ยังได้ร่วมกับบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นพีเอส ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานปลูกได้ เพื่อพัฒนาคิดค้น Channel Development Systemหรือ CDS ระบบไอทีรูปแบบใหม่ที่นำมาใช้ในการเกษตรเป็นแห่งแรกของประเทศ สำหรับใช้ในโครงการส่งเสริมปลูกต้นกระดาษบนคันนา และการปลูกพืชพลังงาน ซึ่งได้เริ่มใช้งานไปแล้วเมื่อต้นปี 2556 พร้อมกับพัฒนาแอพพลิเคชั่น (Application) ที่ทำงานบนแท็บเล็ต (Tablet) เป็นเครื่องมือที่จะอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรที่สนใจเข้ามาเป็นตัวแทนส่งเสริมการปลูกต้นกระดาษทำงานได้ง่ายขึ้น ระบบ CDS  จะช่วยให้ตัวแทนที่ได้รับแท็บเล็ตจากการร่วมโครงการกับบริษัท ใช้บันทึกข้อมูลต่างๆ ของเพื่อนบ้าน ที่ต้องการจะเข้าร่วมโครงการปลูกต้นกระดาษบนคันนา อาทิ การบันทึกภาพและข้อมูลของเกษตรกรที่สมัครร่วมโครงการ พิกัดตำแหน่ง GPS ของแปลงปลูก  การคำนวณจำนวนต้นกระดาษที่จะปลูก  จำนวนต้นที่รอดตาย เป็นต้น จากนั้นจะส่งข้อมูลทั้งหมดมายังระบบส่วนกลางของบริษัทฯทันที ทำให้ขั้นตอนการตรวจสอบ และอนุมัติจ่ายเงิน ทำได้รวดเร็วและถูกต้อง ที่สำคัญคือ ใช้งานได้ง่ายและไม่ซับซ้อน  โดยปีนี้ ดั๊บเบิ้ล เอ ยังมีความต้องการเกษตรกรที่สนใจเป็นตัวแทนแนะนำที่จะมาใช้ระบบ CDS ผ่าน แท็บเล็ต อีกประมาณ 5,000 คน
 
“หลังจากเกษตรกร เริ่มปลูกต้นกระดาษบนคันนาแล้ว ระบบ CDS จะสามารถติดตามตรวจสอบการปลูกต้นกระดาษได้ทั่วทั้งประเทศ เพื่อนับจำนวนต้นกระดาษที่รอดตายได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ ช่วยป้องกันปัญหาความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้คนนับ  ทำให้การทำสัญญาและการจ่ายเงินทำได้สะดวก รวดเร็วขึ้น ภายใน 1-2 วัน  นอกจากนี้แล้ว การใช้แท็บเล็ตยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่บริษัทฯสามารถใช้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ติดต่อสื่อสารโดยตรงกับเกษตรกรได้รวดเร็วและทั่วถึงอีกด้วย” นายชาญวิทย์กล่าว
 
นางทวีพร  ทรงวาจา เป็นเกษตรกร อ.ปราสาท จ.สุรินทร์  กล่าวว่า ได้เข้าร่วมเป็นตัวแทนมาเกือบ 2  ปี   มีโอกาสได้ใช้งาน ระบบCDS บนแท็บเล็ต ทำให้การทำงานสะดวกสบาย ส่งข้อมูลต่างๆ ให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทได้สะดวกขึ้นจากแต่ก่อนที่ต้องใช้เอกสาร จึงช่วยให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการได้รับเงินเร็วขึ้น ที่ผ่านมาทำให้ชีวิตดีขึ้น สามารถสร้างรายได้จากการเป็นตัวแทนได้ถึง 150,000 บาท
 
“สำหรับผู้ที่มีพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น หัวไร่ปลายนา หรือผู้ที่มีที่ดิน แรงงาน และเครื่องจักร  แต่ยังขาดโอกาสที่จะสร้างให้เกิดรายได้  ก็อยากแนะนำให้เข้ามาร่วมโครงการหรือเป็นตัวแทนส่งเสริมการปลูกต้นกระดาษกับดั๊บเบิ้ล เอ  เพราะเราปลูกทิ้งไว้รอบคันนา บางทีข้าวได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม หรือแล้ง ก็ยังมีต้นกระดาษมาช่วยให้เกิดรายได้อีกทางหนึ่ง”นางทวีพร กล่าว
 
นายธีรพล สุริยขันธ์ เป็นเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและเป็นตัวแทนส่งเสริมการปลูกต้นกระดาษจาก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ได้เข้าร่วมปลูกต้นกระดาษกับดั๊บเบิ้ล เอ มากว่า 5 ปี และเป็นตัวแทนแนะนำมากว่า 1 ปีแล้ว  ทำให้มีรายได้เสริมทั้งสองทาง คือการปลูกต้นกระดาษบนคันนาและการเป็นตัวแทน โดยปัจจุบันตั้งเป้ารายได้จากการเป็นตัวแทนประมาณ30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถ้าบริษัทเห็นความสำคัญเช่นนี้ก็พร้อมที่จะก้าวเดินไปพร้อมกับบริษัท
 
“หลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการ  ความเป็นอยู่ก็ดีขึ้น จากที่ไม่เคยมีรถไถนา ไม่เคยมีกระบะ ตอนนี้ก็มี หากเกษตรกร ที่มีที่ว่างเปล่าบนคันนาไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็อยากแนะนำมาเข้าร่วมโครงการ เป็นการสร้างเงินออม สร้างรายได้เสริมจากพืชหลัก จากการปลูกข้าว  หรือจะเข้าร่วมเป็นตัวแทนส่งเสริมการปลูกต้นกระดาษกับดั๊บเบิ้ล เอ ก็ได้” นายธีรพล กล่าว