เจาะเบื้องหลังไวรัลคลิป “ลุงเนลสัน”

เชื่อว่าหลายคนคงจำคุณลุงฝรั่งคนหนึ่งพร้อมกับเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่พบในกรุงเทพฯ กับคลิปวิดีโอ “BKK 1st Time : ตอนโดนคนไทยด่าครั้งแรก” ด้วยสำนวนที่เป็นกันเองและมีถ้อยคำทะลึ่งเล็กน้อย แต่ทำให้คนดูรู้สึกสนุกและทำให้เกิดการแชร์ต่อไปมากมายบนโลกออนไลน์

กลับมาไวรัลอีกครั้ง

ในปีนี้ “ลุงเนลสัน” กลับมาอีกครั้งกับคลิปวิดีโอ “BOOK FAIR 1st TIME” ซึ่งมีการร้องเพลง “คืนความสุขให้ประเทศไทย” สามารถเรียกกระแสได้อีกครั้ง พร้อมกับบินตรงจากนิวยอร์กมาที่งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 19 แบบตัวเป็นๆ โดยที่คลิปวิดีโอนี้ได้เป็นไวรัลบนโลกออนไลน์เหมือนกับตอนคลิปวีดีโอแรกเป็นที่เรียบร้อย

เมื่อย้อนกลับไปถึงคลิปวิดีโอ BKK 1st Time : ตอนโดนคนไทยด่าครั้งแรก เป็นการสร้างขึ้นมาเพื่อโปรโมทหนังสือ “NEW YORK 1st TIME นิวยอร์กตอนแรกๆ…” โดยเฉพาะ แต่ไม่น่าเชื่อว่าคลิปนี้จะถูกจริตคนไทยเข้าอย่างจัง หลายคนยอมกดแชร์ต่อไปถึงแม้จะรู้ว่าเป็นการขายของ และที่สำคัญเนื้อหาในคลิปวิดีโอทั้งหมดเป็นการเขียนบทขึ้นมาใหม่ทั้งหมด โดยที่อ้างอิงจากพฤติกรรมคนไทย และคุณลุงเนลสันก็ไม่เคยมาเมืองไทยจริงๆ ด้วย!

ใช้ไวรัลคลิปโปรโมทหนังสือ

แบงค์-ณัฐชนน มหาอิทธิดล บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์แซลมอน  เล่าว่า “มีโจทย์ที่ว่าอยากทำคลิปวีดิโอโปรโมทหนังสือ เพราะทำเป็นปกติอยู่แล้วทุกครั้งที่มีการออกหนังสือใหม่ แต่ยังไม่กำหนดว่าต้องทำเป็นไวรัล เพราะคิดว่าไวรัลมันต้องให้คนดูตัดสินว่าจะแชร์หรือไม่แชร์ ไม่ใช่เราตัดสิน เพียงแต่มู๊ดแอนด์โทนของวิดีโอมันต้องสอดคล้องกับหนังสือเท่านั้นเอง หนังสือจะเกี่ยวกับคนไทยในนิวยอร์ก เลยพลิกเรื่องเป็นคนนิวยอร์กมาเมืองไทยบ้าง โดยที่หนังสือกับวิดีโอมันเล่าเรื่องเดียวกันเลย เล่าเรื่องคนไทยที่โดนปล้นครั้งแรกที่นิวยอร์ก คนไทยที่มีแฟนเป็นชาวต่างชาติครั้งแรก คนไทยที่มีเพื่อนสนิทเป็นชาวต่างชาติกลุ่มแรก ในคลิปวิดีโอก็เลยเป็นโดนคนไทยด่าครั้งแรก ขึ้นรถเมล์ครั้งแรก วิธีการเล่าก็ค่อนข้างฟรีสไตล์เป็นกันเอง”

หนังสือ “NEW YORK 1st TIME นิวยอร์กตอนแรกๆ…” เป็นไฮไลท์ของสำนักพิมพ์ในปีที่ผ่านมา ผลงานของ เบ๊น-ธนชาติ ศิริภัทราชัย เป็นการเขียนแชร์เรื่องราวผ่านภาพและตัวอักษรที่เบ๊นได้พบเจอในมหานครนิวยอร์ก อย่างเหตุการณ์โดนปล้นครั้งแรก มีแฟนเป็นชาวต่างชาติครั้งแรก และความอดทนแปลกๆ กับครั้งแรกที่ต้องยืนต่อแถวนานกว่าแปดชั่วโมง

เบ๊นจะดูแลในส่วนเนื้อหาต่างๆ ในวิดีโอนี้ทั้งหมด ทั้งบทพูด หรือโปรดักชั่นการตัดต่อทุกอย่าง แล้วส่งกลับมาทางสำนักพิมพ์ เพื่อช่วยตรวจดูว่าตรงไหนที่ต้องระวัง และดูเรื่องการเผยแพร่คลิป ดูจังหวะเวลาว่าช่วงเวลาไหนดี ตอนกี่โมง โดยที่กระบวนการทำงานทั้งหมดประมาณ 2 สัปดาห์ และปล่อยคลิปช่วงก่อนงานสัปดาห์หนังสือ 2 สัปดาห์

คุณลุงที่ปรากฏในวิดีโอนั้น ชื่อคุณลุง Nelson S. Howe เป็นนักปรัชญา และนอกจากคุณลุงยังเป็นศิลปินทำงานศิลปะมาก่อน แต่พอแก่ตัวลงก็ผันตัวเป็นนักเต้น ไปฝึกเรียนการเต้นเพื่อไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ โดยที่คุณลุงเป็นลูกค้าคนแรกของเบ๊นที่จ้างไปถ่ายบันทึกวิดีโอการเต้นของเขา ทั้งคู่เลยได้รู้จักกัน เบ๊นจึงชักชวนให้มาทำคลิปวิดีโอด้วยกัน

แต่เชื่อว่ามีน้อยคนนัก หรืออาจจะไม่มีใครรู้เลยก็ได้ว่า เรื่องราวในวิดีโอนี้เป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นมา เป็นการเขียนบททั้งสิ้น และ “จอห์น” ที่เรียกหยอกล้อในวิดีโอนั้นก็ไม่ใช่ชื่อพ่อจริงๆ ของคุณลุงด้วยซ้ำ และคุณลุงก็ไม่เคยมาเมืองไทยด้วย

สิ่งที่ทำให้คลิปนี้ประสบความสำเร็จนั้นอยู่ที่คอนเท้นส์ล้วนๆ ด้วยวิดีโอโทนตลก มีความเป็นกันเองอยู่ มีความเท่ด้วยฉากเป็นเมืองนิวยอร์ก ตัวละครที่เป็นชาวต่างชาติ และมีมุกตลกที่เป็นกิมมิก ซึ่งเป็นจังหวะโฆษณาที่คนไทยชอบ

ส่วนเนื้อหาในคลิปวิดีโอจะเกี่ยวกับคำหยาบคาย เหมือนเป็นคำพูดที่คนไทยคุ้นเคยอยู่ทุกวัน เป็นเหตุการณ์ที่คนดูสามารถอินไปด้วยได้ “จริงๆ เราก็กังวลอยู่ว่ามันจะหยาบเกินไปหรือเปล่า แต่ก็เหมือนเป็นชีวิตจริงที่ว่าเวลาเจอเพื่อนที่เป็นฝรั่ง มักจะแลกเปลี่ยนคำด่าอยู่เสมอ ซึ่งมันค่อนข้างตรงกับนิสัยคนไทย” ณัฐชนนกล่าวเสริม

เมื่อคลิปวิดีโอได้เผยแพร่ออกไปเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์ ผลตอบรับที่ได้กลับมากลับไม่ใช่แค่ยอดขายที่ดีเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่มันมีส่วนช่วยในการกำหนดยอดพิมพ์ด้วย ณัฐชนนบอกว่าพอเห็นกระแสที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ รายการต่างๆ เอาไปแชร์ต่อ ก็สั่งยอดพิมพ์เพิ่มทันทีโดยไม่ต้องรองานสัปดาห์หนังสือเริ่ม ก็มีคนมาถามบ้างว่า “หนังสือของฝรั่งที่พ่อชื่อจอห์นมาหรือยัง”

ความสำเร็จของคลิปวิดีโอไวรัลของสำนักพิมพ์แซลมอนในนั้น นอกจากจะได้ทั้งยอดขายที่เพิ่มขึ้น 400% แบรนด์โด่งดังขึ้น มีคนรู้จักมากขึ้นแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นเหมือนกรณีศึกษาของพฤติกรรมคนไทยเลยก็คือพฤติกรรมการเสพสื่อ ทำให้รู้รสนิยมคนไทยมากขึ้น จับทางคนไทยได้มากขึ้น เป็นสิ่งที่ทำให้รู้ว่าหนังสือไม่สามารถพึงพาหน้าร้านอย่างเดียว หรือรอรีวิว ยังมีสื่อให้หยิบยกเป็นเครื่องมืออีกมากมาย

“เราเคยเชื่อว่าคลิปวิดีโอเวลา 2 นาที น่าจะหนักหนาสำหรับคนไทยแล้ว น่าจะเริ่มเบื่อกันแล้ว แต่ก็พบว่าคลิปนี้ 5 นาทีก็ยังไม่เบื่อ ทำเนื้อหาให้มันสนุกยังไงคนก็ชอบ จะยาวเป็นชั่วโมงคนก็ยังอยู่ได้ และที่สำคัญการให้น้ำหนักกับเนื้อหากับการขายของมันต้องคล้องกันมาก แม้จะมีการจั่วหัวว่าช่วงนี้เป็นการขายของ เชื่อว่าคนก็ยังอยู่ได้ ยังสนุกได้ ไม่ได้รู้สึกว่าถูกยัดเยียด ไม่ใช่การฮาร์ดเซล์ลที่เอาหนังสือเล่มนี้ไปตั้งอยู่ข้างหน้าคุณลุง มันคนละวิธีการไปเลย กลายเป็นการเซอร์ไพร์สไปมากกว่า คอนเท้นส์มันต้องคุ้มค่ามากพอที่จะดู จริงๆ แล้วมันก็เป็นการขายของที่ไม่เนียนเท่าไหร่ แต่มันเป็นการชั่งน้ำหนักคอนเท้นส์กับการขายของให้ถูกต้องมากกว่าเท่านั้นเอง”

“อย่าคิดว่าไวรัลทุกอย่างมันสามารถกำหนดได้ มันต้องใช้หลายอย่างมาก ไม่สามารถกำหนดได้ว่าคนดูจะชอบหรือไม่ บางทีเดาใจคนดูยาก เดาผิดเดาถูก”