ซิสโก้ฉลองครบรอบ 20 ปี การดำเนินธุรกิจในไทย สนับสนุน ‘Connected Community’ อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมทุกฝ่ายเชื่อมต่อถึงกันเพื่อความสำเร็จของ “ดิจิตอลอีโคโนมี”

ซิสโก้ ผู้นำด้านไอทีระดับโลก ครบรอบ 20 ปีของการดำเนินงานในประเทศไทย และยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างเศรษกิจดิจิตอล และทรานส์ฟอร์มประเทศไทย เทคโนโลยีรวมถึงความเชี่ยวชาญและโซลูชั่นของซิสโก้ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรและธุรกิจต่างๆ เพื่อเปลี่ยนวิธีการทำงาน การใช้ชีวิต การเล่น และการเรียนรู้ของคนไทย เช่น ซิสโก้มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ “ระบบออนไลน์เชิงพาณิชย์” (Internet PoPs – Points of Presence) เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2538 ด้วยผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์รายแรกของไทยคือ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด [ปัจจุบันคือ บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET]

“ซิสโก้มีบทบาทสำคัญในการทรานส์ฟอร์มประเทศไทย ผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาเป็นระยะเวลายาวนาน ความเชี่ยวชาญและวิสัยทัศน์ของเราสอดคล้องกับภารกิจของประเทศไทยที่ต้องการสร้าง ‘คอนเน็คเต็ด ดิจิตอลอีโคโนมี หรือ ‘การเชื่อมต่อเศรษฐกิจดิจิตอล’ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซิสโก้ทำงานร่วมกับองค์กรธุรกิจ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการในภูมิภาคเพื่อใช้ ‘เครือข่ายเป็นแพลตฟอร์ม’ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ชุมชน และสังคม  ซิสโก้มุ่งเน้นการสร้างโครงการสำคัญที่เหมาะสมและยั่งยืน และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ ทีเสริมสร้างทักษะ การจ้างงาน และเสริมศักยภาพให้แก่ชุมชน การช่วยให้ผู้คนสามารถเชื่อมต่อและทำงานร่วมกันคือ ‘งานหลัก’ ที่เรายึดมั่นมาโดยตลอด และตอนนี้ได้เป็นที่พิสูจน์แล้วว่า แนวทางดังกล่าวได้ช่วยเปลี่ยน หรือ ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ ส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานและพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงเสริมศักยภาพให้แก่สังคมทั่วโลก ในอนาคตบทบาทของเครือข่ายจะมีความสำคัญมากในการขับเคลื่อนนวัตกรรม และประสิทธิภาพการผลิตในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม องค์กรธุรกิจจะได้รับโอกาสมากขึ้นเมื่อสิ่งต่างๆ ที่ไม่เคยเชื่อมต่อได้ถูกเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว” คุณวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าว

ซิสโก้ยังได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยลดช่องว่างด้านดิจิตอลของประเทศไทยโดยการพัฒนาทักษะด้านไอซีที และการให้ความรู้ทางด้านเครือข่ายผ่าน “โครงการเน็ตเวิร์คกิ้ง อคาเดมี (Networking Academy®) โครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์ในการเสริมสร้างความรู้แก่ผู้เรียนในทุกที่ทั่วโลก เพื่อให้สามารถสร้าง ออกแบบ และดูแลรักษาเครือข่าย และเพิ่มโอกาสการจ้างงานให้แก่ผู้เรียน สำหรับในประเทศไทย นับตั้งแต่ที่เริ่มโครงการเมื่อปี 2541 มีผู้เรียนทั้งหมด 34,960 คน ผ่าน 45 สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ และมากกว่า 36% ของนักเรียนเป็นเพศหญิง

โครงการ Networking Academy® Program เป็นโครงการระดับโลกของซิสโก้ที่ทำเพื่อสังคมโดยรวม และใช้โมเดลพาร์ทเนอร์ชิพแบบ ‘public-private’ โดยทำงานร่วมกับ สถาบันการศึกษา องค์กรไม่แสวงหากำไร รัฐบาล และหน่วยงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ  

“เราตื่นเต้นกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอนาคตของประเทศไทย จากการที่รัฐบาลประกาศเรื่องห้าองค์ประกอบที่สำคัญในการสร้างดิจิตอลอีโคโนมี ซิสโก้และพาร์ทเนอร์อีโคซิสเต็มส์จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้าง “Connected Digital Economy”  ไม่ว่าจะเป็นด้าน ฮาร์ด อินฟราสตรักเจอร์, ซอฟท์ อินฟราสตรักเจอร์, เซอร์วิส อินฟราสตรักเจอร์, ดิจิตัล สกิล และอินโนเวชั่น, ดิจิตัลโซไซตี้ การสร้างระบบเศรษฐกิจดิจิตอลในประเทศไทย จำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์ที่แข็งแกร่งและปลอดภัย ที่สามารถให้บริการและเติบโตไปพร้อมกับจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ปัจจุบันมีถึง 26 ล้านคนในประเทศไทย” 

“นอกจากนี้ ‘Internet of Everything’ ที่เชื่อมต่อสิ่งของ, ข้อมูล, ผู้คนและ กระบวนการต่างๆ จะช่วยให้โลกเราได้ประโยชน์เมือสิ่งที่ไม่เคยถูกเชื่อมต่อ สามารถเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีดิจิตอลที่เชื่อมต่อผู้ประกอบการ, ลูกค้า, พนักงาน, นักลงทุน และพาร์ทเนอร์ของเรา จะทำให้เกิด‘Connected Thailand’ และ ‘Connected ASEAN’ ” “สำหรับประเทศไทย.. อนาคตของพรุ่งนี้ได้เริ่มขึ้นแล้ววันนี้” วัตสัน กล่าว