Exclusive Interview อาจกิจ สุนทรวัฒน์ The man behind The Voice

เดอะวอยซ์ ไทยแลนด์ ผ่านการเดินทางมาแล้ว 3 ปี พร้อมจำนวนคนดูที่เพิ่มขึ้น แต่ตามมาด้วย “ดราม่า” ในโลกออนไลน์ POSITIONING จะพาไปพบกับ “อาจกิจ สุนทรวัฒน์” Executive Producer บริษัท AP&J PRODUCTION ผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จรายการ กับทุกคำถามที่เขามีคำตอบ

คิดว่าอะไรคือบทสรุปความสำเร็จของรายการนี้

ผมถือว่าเป็นความฟลุกมากๆ อย่างแรกเลย เจ้าของลิขสิทธิ์ คือ บริษัท ทัลปา มีเดีย กรุ๊ป ประเทศเนเธอแลนด์เขาให้ทำ ทั้งๆ เราเองก็ไม่เคยผลิตรายการทีวีรายการใหญ่ขนาดนี้มาก่อน พอหลังจากที่เราติดต่อไปไม่นาน ก็มีทั้งเจ้าของสถานีทีวี และผู้ผลิตคนอื่นๆ ติดต่อไป แต่เขาให้เรา เพราะติดต่อเป็นรายแรก เมื่อมาคุยกันเขาก็แฮปปี้ เพราะเราก็ทำการบ้านเยอะมาก กว่าจะผลิตจริงๆ ก็ใช้เวลาเป็นปี

สอง -คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทรู ดูแล้วชอบ อนุมัติให้ทำ สาม -ช่อง 3 ให้เวลาออกอากาศช่วงเย็นวันอาทิตย์ เป็นเวลาครอบครัวดูทีวี เรียกว่าเป็นไพรม์ไทม์วันหยุด สี่ -สปอนเซอร์ และเอเยนซีโฆษณาเชื่อในตัวรายการ ทั้งอัตราค่าโฆษณาก็ถือว่าสูง ห้า – เราได้ทีมงานผลิตที่ดี ซึ่งแต่ละคนไม่เคยผลิตรายการใหญ่ขนาดนี้มาก่อน

รูปแบบการผลิตรายการอย่างไร

เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเรา และทีมงานข้างนอก 5 ทีมหลัก 1. บริษัทไจอั้น ทีมกำกับและตัด ต่อ แต่เดิมในช่วง2 ซีซันแรก เราใช้บริษัทโต๊ะกลมในเครือของเวิร์คพอยท์ มารับหน้าที่กำกับและตัดต่อ พอมาซีซันนี้เราเปลี่ยนเป็นบริษัทไจอั้นแทน

2. บริษัทกิ๊กเฮาส์ รับหน้าที่ทำมิวสิกโปรดักชัน 3. บริษัทวันบอล ดูแลเรื่องของเวที 4 บริษัท PM Centre ดูแลระบบแสง และเสียง 4. คุณอรรณพ และทีมสตาร์ฮอลลีวูด รับผิดชอบ การถ่ายทำ และการบันทึกภาพในสตูดิโอ และ 5. ทีมถ่ายทำนอกสตูดิโอ เป็น 5 องค์ประกอบใหญ่ที่มาทำงานร่วมกัน

จุดที่เราจะแตกต่างจากการรายการอื่นๆ การผลิตรายการอื่นๆ ส่วนใหญ่จะวันแมนโชว์มีคนตัดสินใจคนเดียว แต่ของเราจะให้เขามีอิสระระดับหนึ่ง ทำงานกันเป็นทีม สามารถเสนอไอเดียได้ตลอด ไม่ใช่พี่ว่ายังไงก็ว่าตามกันแบบนี้ไม่เวิร์กแล้ว เขาสามารถเสนอหรือทดลองทำอะไรใหม่ๆ ได้ตลอด แล้วผลออกมาจะเป็นอย่างไร ถือว่าเห็นชอบร่วมกัน

ผมจะรับหน้าที่เป็น Executive Producer กำหนดเป้าหมายว่าปีนี้ต้องการระดับโปรดักชันควรเป็นขนาดไหน โดยอ้างอิง The Voice ในต่างประเทศ และมีงบประมาณเท่าไหร่ โดยตรวจสอบขั้นสุดท้าย เข้าไปแก้ปัญหาหน้างาน

ส่วนทีมงานคนอื่นในบริษัทเรา ดูแลเรื่องโฆษณา เรื่องของแบรนด์ เรื่องครีเอทีฟ และติดต่อประสานงาน

มีวิธีการบริหารจัดการต้นทุนอย่างไร

ต้นทุนส่วนใหญ่ใช้ไปกับการผลิต ซึ่งต้องใช้เงินเยอะมาก เฉพาะไปรับสมัคร และทำออดิชันต่างจังหวัด ต้องใช้เงินประมาณ 7 ล้านบาท อย่างคนมาสมัครซีซันนี้ 9,000 คน ถือว่าเยอะมาก โดยเราจะมีทีมงานไปคัดเลือก เราจะใช้นักร้องมากกว่าครูสอนร้องเพลง เวลาตัดสินใจเรามาประชุมร่วมกันเพื่อตัดสินใจกันอีกที ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งมีสิทธิ์ตัดสิน

ต้นทุน และรายได้เป็นอย่างไร

รายได้มาจากการขายโฆษณาเป็นหลัก ซึ่งอัตราค่าโฆษณาของเราค่อนข้างสูงมากอยู่ในเรตเดียวกับละครหลังข่าว แต่ค่าผลิตต่อตอนก็สูงมากกว่า 10 ล้านบาทต่อตอน เรียกว่าแพงที่สุดในประเทศรายการหนึ่งเลย

ช่วงแรกเราเสนอให้เอเยนซียอมรับได้อย่างไร

ต้องทำให้เอเยนซีเขามั่นใจว่า โปรดักชันเราทำได้ระดับเดียวกับในต่างประเทศ ตอนแรกเรายังไม่รู้เลยว่าจะตั้งราคาขายโฆษณาเท่าไหร่เลย หรืออย่างตอนที่เลือกโค้ชทั้ง 4 คน เอเยนซีก็มีคำถามว่าทำไมถึงเลือกคนนี้ ทำไมไม่เลือกคนดังระดับซุปตาร์ เราก็ต้องยืนยันว่าเรายึดหลักว่า ต้องเข้ากัน มีเคมีระหว่างกันได้เป็นหลัก ซึ่งโค้ชทั้ง 4 คนที่เราเลือกมา เขาครอบคลุมทุกแนวเพลง และละคนมีแฟนคลับของตัวเองที่แตกต่างกัน อย่างแฟนคลับของ เจนนิเฟอร์ คิ้ม จะเป็นผู้หญิงและชายวัย 40 ปีขึ้นไป แฟนคลับของก้อง-สหรัถ สังคปรีชา จะเป็นผู้หญิงวัย 30 ปีขึ้นไป ส่วน โจอี้ บอย จะออกสไตล์เด็กแนว ชอบแนวเพลงแร็ป และแสตมป์-อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข เป็นวัยรุ่น ออกแนวอินดี้แต่อบอุ่น

รูปแบบการหาสปอนเซอร์ของรายการเป็นอย่างไร

เวลานี้เรามีสปอนเซอร์หลักที่ซื้อแพ็กใหญ่ 7 แบรนด์ และสปอนเซอร์แพ็กเล็กลงมา 2 -3 แบรนด์ เรารับได้จำนวนแค่นี้เต็มที่แล้วไม่อยากให้มากกว่านี้ เนื่องจากรูปแบบการทำสปอนเซอร์ชิป เป็นการทำ Branded Content  โดยใช้ความบันเทิงในรายการเป็นแกนหลัก  โดยการทำ Product Placement ไปในรายการจะต้องไม่ทำลายเนื้อหา และสื่อถึงเบเนฟิตของแบรนด์ด้วย ซึ่งนโยบายเราคือ สปอนเซอร์ต้องแฮปปี้ คนดูไม่ยี้ เซ็นเซอร์ให้ผ่าน

โพรไฟล์คนดู The Voice ในแต่ละปี

คนดูมีตั้งแต่อายุ 15 ปี ไปจนถึง 70 ปี ครอบครัวเป็นหลัก โดยส่วนใหญ่จะเป็นคนดูในเมือง และหัวเมืองใหญ่ ผมมองว่าคนดูซีซันแรกไม่ใช่แฟนประเภทนักโหวต พอมาซีซันที่ 3 จะมีคนดูประเภทนักโหวตพอ
สมควร นอกจากนี้คนจำนวนมากพอสมควรที่ไม่ดูผ่านจอทีวี แต่ดูผ่านคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต เรตติ้งในเมืองใหญ่ของเราสูงพอควรทีเดียว

พฤติกรรมคนดูในแต่ละปีแตกต่างกันอย่างไร

ปีแรกคนดูให้ความสนใจดูรายการเพราะมองเป็นของใหม่ พอมาปีที่สองคนดูเข้าใจรูปแบบรายการมากขึ้น พอมาปีที่สามอารมณ์ความชอบของคนดูรายการไม่ได้เปลี่ยนไป เพียงแต่คนดูอินกับรายการมากขึ้น เนื่องมาจากปีนี้เราปรับการเล่าเรื่อง Story Telling ให้ดีขึ้น คนดูเลยรู้สึก “อิน” ซึ่งในแต่ละปีพอจบรายการเราจะมาหาข้อสรุปกันว่า ปีหน้าเราจะเพิ่มอะไร อย่างซีซันนี้ สิ่งที่เราเน้นเลย คือ Story Telling ครอบคลุมทั้งการลำดับเรื่อง การตัดต่อ ฉากบนเวที แม้แต่ถ่ายทำนอกสตูดิโอ เรามีช่วงที่โค้ชคุยกับผู้แข่งขัน มีช่วงซ้อม หรือความเห็นของคนร้องก่อนขึ้นเวที ฝรั่งเจ้าของลิขสิทธิ์มาดูยังชม

เมื่อคนดูเพิ่มขึ้นทุกปีมีโอกาสหรือไม่ ที่เราจะยืดเวลาการออกไปอีก

ที่ผ่านมารายการทีวีของเมืองไทยส่วนใหญ่จะกินเวลาไปถึง 52 สัปดาห์ถึงจะได้เงินเยอะ แต่ผมตั้งใจเลยจะไม่ทำรายการยาวขนาดนั้น อย่าง The Voice ซีซันละ 15 สัปดาห์เท่านั้น มีคนมาถามว่าทำไมไม่ยืดเวลาออกไปอีก คนดูกำลังสนุกเลย ผมไม่อยากให้คนทำเบื่อและกลายเป็นงานรูทีนไป และต้องการให้คนดูรู้สึกว่ายังไม่อิ่มเลยจบซีซันแล้ว เพราะถ้าให้เขาดูจนอิ่มเขาจะเอียนได้

ทำไม มาซีซันนี้ ถึงตัดสินใจเปลี่ยนให้คนเดียวโหวตได้เบอร์เดียว

เราอยากให้คนดูรายการด้วยความสนุก ได้มีส่วนร่วมในรายการ โดยที่เราไม่อยากให้มีการทุ่มโหวตแบบเอาเป็นเอาตาย ตอนแรกคิดว่าจะนำระบบโหวตคนเดียวเบอร์เดียวมาใช้ตั้งแต่รอบLive ที่ต้องตัดสินด้วยโค้ชเลือก และโหวตอย่างละครึ่งแล้ว แต่ด้วยความที่ระบบยังไม่พร้อม จึงนำมาใช้ในรอบตัดสิน โดยให้ผู้แข่งขันทั้ง 4 คน ร้องให้จบก่อน จึงเปิดให้โหวตแค่ 10 นาทีเท่านั้น ทางรายการเองก็ไม่ได้หวังผลเรื่องรายได้จากการโหวต ไม่ได้อยู่ในแผนการหารายได้ตั้งแต่ต้น ซึ่งเป็นเงินน้อยมาก เช่น โหวตครั้งละ 6 บาท ต้องแบ่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 บาท และหักค่าเชื่อมต่อ เหลือถึงเราไม่กี่สตางค์

สิ่งที่มาพร้อมกับกระแสความดังของรายการ คือ ดราม่า เรามีวิธีรับมือกับกระแสดราม่าที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์อย่างไร

เรามีทีมมอนิเตอร์ ดูว่าฟีดแบ็กเป็นอย่างไร โดยไม่คิดว่าจะเอากระแสในนั้นมาเล่นกับเนื้อหารายการ

แต่มีกรณีคลิปที่ กบ-ทรงสิทธิ์ พิธีกรร้องเพลงขีดเส้นใต้ แล้วถูกใจคนดู มีคนเขียนกระทู้อยากได้คลิปพี่กบอย่างเดียว อย่างนี้เราทำให้ 

แต่มีกรณีรอบ knockout โค้ชโดนวิจารณ์อย่างหนักเรื่องการเลือกเพลงที่ลูกทีมไม่อยากร้อง เรื่องตัดสินค้านสายตาคนดู ผมเลยต้องตัดสินใจเขียนชี้แจงลงเฟซบุ๊กของรายการ เพราะผมรู้สึกว่าเริ่มมีความเกลียดชังกัน ผมต้องการบอกว่า เราควรดูกันด้วยความสุขมากกว่า ผมว่าคนดูส่วนใหญ่เขาก็เห็นด้วยนะ

บอกกับโค้ชให้รับมือกับกระแสเหล่านี้อย่างไร

โค้ชเองก็เครียด ผมอธิบายให้โค้ชเข้าใจว่า การที่คนดูอินก็เป็นเรื่องปกติของรายการประเภทนี้ เราอยากให้โค้ชทำตามความเชื่อของตัวเอง ไม่ต้องสนใจกระแส เพราะถ้าเขาต้องฟังกระแสเมื่อไหร่ไม่ดีแล้ว และรายการเราผลิตเป็นเทปล่วงหน้า อย่างออกอากาศ 8 กันยายน เราถ่ายทำรอบ Battle แล้ว ผ่านไปอีก 3-4 อาทิตย์ถ่าย รอบ Knockout จบแล้ว เว้นไปอีก 2 เดือนถึงกลับมาแสดงสด ดังนั้นโค้ชจะไม่รู้หรอกว่า ใครจะดัง และเขาไม่สนใจด้วยว่าใครจะดังแค่ไหน

คิดอย่างไรกับ กระแสในโลกออนไลน์ที่มองกันว่า รายการวางตัวไว้แล้วว่าใครควรจะเป็นแชมป์ ทำให้ผู้ชนะตกเป็นของหนุ่ม-สมศักดิ์ รินนายรักษ์ ลูกทีมโค้ช เจนนิเฟอร์ คิ้ม ที่สามารถต่อยอดทางธุรกิจ หรือขายได้มากกว่าอิมเมจ-สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ ลูกทีมโค้ชแสตมป์ ร้องเพลงดีกว่า แต่กลับได้รองแชมป์

ไม่จริงเลย ผมว่าเป็นการหาเรื่องติมากกว่า ผมก็เคยบอกกับทีมงานว่า เราไม่จำเป็นต้องไปแก้ตัว ให้คนดูเขาตัดสินเอาเอง ที่สำคัญถ้าเราทำแบบนั้นก็คงซ่อนไม่ได้หรอก สักวันก็ต้องมีคนจับได้ อย่างถ้าผมไป
กระซิบทีมงานให้ Set up คิดดูว่าจะไม่หลุดหรือรั่วออกมาเหรอ โค้ชจะยอมเหรอ ผมว่าคนเขาอาจจะเคยชินกับการรับรู้ที่ว่า รายการแนวนี้ต้องจัดวางไว้ ผมบอกเลยว่าคนดูเขาไม่โง่หรอก ถ้าผมจะ Set up จริง ผมทำให้หนุ่มดูน่าสงสารกว่านี้ยังได้เลย อย่างตอนที่เขาร้องเพลงต้องได้ดี ทีมงานจะเอาภาพหนุ่มใส่ชุดพนักงานเคเอฟซีกำลังทอดไก่มาออกอากาศ แต่ผมบอกไม่เอา ไม่อยากให้คนโหวตเพราะสงสาร แต่อยากให้ประทับใจในตัวหนุ่มมากกว่า ผมว่าคนที่เข้ารอบมาร้องเพลงดีหมด แต่ที่หนุ่มได้โหวตมากที่สุดก็คงเป็นเพราะคนรู้สึกรักเขา กับความใสซื่อ ซึ่งพอเป็นความรักแล้วมันก็ไม่มีเหตุผล

สิ่งที่เราจัดวางไว้ คือ ทำให้ผู้แข่งขันทุกคนได้ร้องดีที่สุด ให้เขาได้ใส่ตัวตนของเขาได้เต็มที่ เรามีหน้าที่ทำโชว์ ทำดนตรีให้ดีที่สุด อย่างในเคสของอิมเมจ เขาอยากร้องเพลง Stay with Me นี้ในรอบชิงมากเพราะเขามั่นใจกับเพลงนี้ แต่คนรู้จักเพลงไม่มาก โค้ชก็เห็นดีด้วย ส่วนหนุ่มเขาเป็นสไตล์อีกแบบ เขาเชื่อที่โค้ชแนะนำ

ส่วนตัวแล้วเคยคิดมั้ยหนุ่มจะเป็นแชมป์

ผมไม่ได้คิดว่าเขาจะได้แชมป์ จนได้ยินเขาร้องเพลงหลงตัวเอง ก็คิดว่าเขามีลุ้น พูดตรงๆ นะ ตั้งแต่รอบน็อกเอาต์ ผมไม่แน่ใจว่าโค้ชจะเลือกอย่างไร หนุ่มเขาเป็นคนที่เสียงน่าฟัง ตั้งแต่รอบบลายด์แล้ว พอเขาผ่านเข้ารอบแบตเทิลก็มีคนเริ่มพูดว่า เขามีโอกาสชนะ

หลังจากได้แชมป์แล้ว หน้าที่บริหารศิลปินเป็นของใคร

บริษัทยูนิเวอร์แซลเขารับไปดูแลศิลปินต่อ ซึ่งเขาจะมีสิทธิ์ได้เลือกศิลปินก่อน โดยมีเวลา 3 เดือนหากเลยระยะเวลา เด็กจะเป็นอิสระมีสิทธิ์ไปเซ็นสัญญากับค่ายเพลงอื่นได้ ปีแรกยูนิเวอร์แซลเซ็นสัญญากับคิง
พิเชษฐ์ บัวขําและ ต๊ะ-ตระการ ศรีแสงจันทร์ ปีที่สอง เซ็นสัญญากับ วี – วิโอเลต วอเทียร์  ส่วนทางด้านทรูเขาเซ็นสัญญาซื้อสิทธิ์ของ นนท์ -ธนนท์ จำเริญและสงกรานต์ รังสรรค์ ปัญญาเรือน ไป สำหรับปีนี้เขายังไม่ได้เลือก

ส่วนตัวผมแต่เดิมเคยดูแลเรื่องการบริหารศิลปินให้กับทรูในช่วง 2 ซีซันแรก แต่ปีนี้ผมไม่ได้มีหน้าที่นี้แล้ว เพราะผมมองว่า คนทำรายการทีวีไม่ควรไปบริหารศิลปิน สมมติผมบริหารศิลปินคนนี้ได้แชมป์ ก็อาจถูกมองว่าอยากได้คนนี้เพราะเอาไปต่อยอดเรื่องธุรกิจ จริงๆ แล้วผมเอารายการทีวีเป็นตัวตั้ง ให้คนดูเป็นคนตัดสินเหมือนอย่างซีซันนี้ก็ถูกมองว่าเลือกเพราะต้องการต่อยอด ซึ่งไม่เกี่ยวกับเราเลย เรามีหน้าที่ผลิตรายการอย่าง
เดียว

The Voice ผ่านมา 3 ซีซันแล้ว ซีซันหน้าเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ตามฟอร์แมตของรายการแล้ว พอจบ 3 ซีซัน ซีซันที่ 4 จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เราคงมีการสลับสับเปลี่ยนโค้ชบ้างบางคนโดยที่โค้ชทั้ง 4 คน คือ โค้ชก้อง-โค้ชคิ้ม-โค้ชโจอี้ บอย และโค้ชแสตมป์ ยังคงเป็นแกนหลัก แต่สลับกันหยุดปีละ 1 หรือ 2 คน เป็นลักษณะหยุดพักชั่วคราว คิดว่าน่าจะโค้ชแสตมป์ เพราะเขามาขอพัก และเตรียมตัวจะแต่งงาน ส่วนโค้ชคนใหม่จะเป็นแนวเดียวกับแสตมป์มั้ย ขออุบไว้ก่อน 

เป้าหมายต่อไป

ผมบอกพนักงานว่า เราไม่ใช่บริษัทใหญ่โต ที่จะเอาเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง ไม่เคยตั้งเป้าว่าปีหน้าจะมียอดรายได้เท่าไหร่ แต่เอาความสุขในการทำงานเป็นที่ตั้ง เราเป็นผู้ผลิตรายเล็กๆ ให้ธุรกิจอยู่ได้เท่านั้น ซึ่งทำแบบนี้ จะต้องไม่ทำใหญ่ คิดแบบพอเพียง ปีหน้าเรามีรายการเพิ่มอีก 3 รายการ เป็นทั้งฟอร์แมตจากต่างประเทศ และเป็นซีรีส์ที่เราคิดขึ้นเอง จำนวนเท่านี้น่าจะเหมาะกับขนาดของธุรกิจ