วินโดว์ ระบบปฏิบัติการที่แจ้งเกิดไมโครซอฟท์ในวันนี้กลับเป็นต้นเหตุที่ทำให้ ผลประกอบการ ไตรมาส 2 ปีการเงิน 2015 ต้องประสบกับผลกำไรลดลงเนื่องจากความต้องการระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่ไม่ร้อนแรงเหมือนไตรมาสที่ผ่านมา ท่ามกลางยอดจำหน่ายคอมพิวเตอร์พีซีที่ลดลง
เจ้าพ่อบริษัทซอฟต์แวร์อันดับ 1 ของโลกเปิดเผยว่าบริษัทมีกำไร 5.86 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.8 แสนล้านบาทในช่วง 3 เดือนปลายปี 2014 ที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วไมโครซอฟท์มีกำไรราว 71 เซนต์ต่อหุ้น ตัวเลขดังกล่าวลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2014 ที่ไมโครซอฟท์สามารถทำกำไร 6.56 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 78 เซนต์ต่อหุ้น
กำไรที่ลดลงสวนทางกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น ไมโครซอฟท์ระบุว่าสามารถทำยอดจำหน่ายได้เพิ่มขึ้น 8% แตะระดับ 2.65 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.48 แสนล้านบาท
ตัวเลขเหล่านี้ทำให้มูลค่าหุ้นไมโครซอฟท์ลดลงราว 1-2% ทันทีที่มีการประกาศผลประกอบการ
ธุรกิจของไมโครซอฟท์ที่สามารถทำรายได้รวมเพิ่มขึ้นชัดเจนในไตรมาสที่ผ่านมา คือหน่วยธุรกิจอุปกรณ์และสินค้าเพื่อผู้บริโภคหรือ Devices and Consumer รายได้รวมของไมโครซอฟท์ในหน่วยธุรกิจนี้คือ 1.29 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วน 8% ขณะที่รายได้กลุ่มการค้าหรือ Commercial ทำรายได้เพิ่มขึ้น 5% แตะระดับ 1.33 หมื่นล้านเหรียญ
ไมโครซอฟท์ระบุว่า สามารถจำหน่ายสมาร์ทโฟนลูเมีย (Lumia) ราว 10.5 ล้านเครื่องในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำรายได้รวม 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันก็สามารถทำรายได้มากกว่า 1.1 พันล้านเหรียญจากการจำหน่ายแท็บเล็ตกึ่งโน้ตบุ๊กอย่างเซอร์เฟส (Surface) ถือเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับยอดจำหน่ายลูเมีย 9.3 ล้านเครื่อง (มูลค่ารายรับ 2.6 พันล้านเหรียญ) และยอดจำหน่าย 908 ล้านเหรียญสหรัฐจากการจำหน่ายเซอร์เฟสเมื่อปีก่อนหน้า
ที่น่าสนใจคือ ไมโครซอฟท์สามารถจำหน่ายเครื่องเล่น Xbox ได้มากกว่า 6.6 ล้านเครื่อง
เหนืออื่นใด ธุรกิจคลาวด์คอมพิวติงของไมโครซอฟท์ถูกบันทึกว่ามีอัตราเติบโตมากกว่า 114% โดยกลุ่มบริการซอฟต์แวร์ออนไลน์ Office 365 มียอดสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 2.2 ล้านคนเป็น 9.2 ล้านคนแล้ว
ความน่าหนักใจอยู่ที่ยอดจำหน่ายระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่ไมโครซอฟท์จำหน่ายสิทธิ์ให้ผู้ผลิตนำไปติดตั้งในเครื่องจากโรงงานหรือ Windows OEM Pro รายได้ในธุรกิจนี้ถูกบันทึกว่าลดลงมากกว่า 13% ในไตรมาสที่ผ่านมา ถือเป็นผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติพีซีซบเซา