พลิกปูมธุรกิจ “บี เตชะอุบล” ทายาทคนโตแห่งตระกูลเตชะอุบล เจ้าของอาณาจักรคันทรี่ กรุ๊ป ผู้หาญกล้าควักเงินหมื่นล้าน ซื้อปีศาจแดง-ดำ เอซี มิลาน สโมสรฟุตบอลระดับโลกแห่งลีกอิตาลี พบเป็นและเคยเป็นผู้บริหารบริษัทไทยอยู่ 15 บริษัท โดย 5 บริษัทดำเนินกิจการอยู่ ส่วนอีก 10 เลิกกิจการไปแล้ว
แม้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะมีเศรษฐีไทยเข้าไปเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลในเกาะอังกฤษหลายต่อหลายคน ทั้งแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เลสเตอร์ ซิตี้ เรดดิง หรือ เชฟฟิลด์ เวนสเดย์ แต่ไม่มีคนไทยคนไหนจะนึกจะฝันถึงว่า จะมีนายทุนชาวไทยคนไหนหาญกล้าที่จะไปซื้อ “ปีศาจแดง-ดำ” เอซี มิลาน สโมสรฟุตบอลยักษ์ใหญ่แห่งกัลโซ ซีเรีย อา ลีกสูงสุดของอิตาลี ทั้งเป็นทีมฟุตบอลที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดทีมหนึ่งในอิตาลี และเป็นสโมสรชั้นนำของยุโรป แต่วันนี้เรื่องดังกล่าวดูจะมีความเป็นไปได้สูงอย่างยิ่ง เนื่องจากในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา สื่อในยุโรปต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า นายบี เตชะอุบล นักธุรกิจหนุ่มชาวไทย กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเข้าซื้อกิจการของ สโมสร เอซี มิลาน โดยคาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นเดือน กุมภาพันธ์ 2558 แม้ว่าทาง ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี ประธานสโมสรปีศาจแดงดำจะออกมาปฎิเสธก็ตาม
สำหรับ บี เตชะอุบล เป็นทายาทแห่งตระกูลเตชะอุบล โดยบุตรชายคนโตจากจำนวนบุตร 4 คน ของ สดาวุธ เตชะอุบล ผู้บริหารแห่ง คันทรี่ กรุ๊ป ผู้กว้างขวางทั้งในแวดวงการเมืองและการค้า โดยสดาวุธ บิดาของบี มีตำแหน่งมากมาย ทั้งนายกสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย, กรรมการและกรรมการบริหาร บลก.จัดการกองทุน เอ็ม เอฟ ซี, ประธานกรรมการ บจก.แลนด์มาร์ค กรุ๊ป ขณะที่ในอดีต ก็เคยดำรงตำแหน่งประธาน บริษัท ซิน เสียน เยอะ เป้า จำกัด, รองประธานกรรมการสมาคมผู้ประกอบการค้า (ประเทศไทย), ที่ปรึกษาประธานสภา นายอุทัย พิมพ์ใจชน, ที่ปรึกษา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ สมัยดำรงตำแหน่ง รมว.มหาดไทย, ที่ปรึกษา นายไชยยศ สะสมทรัพย์ รมว.คลัง, ประธานกรรมการบริหารกิจการองค์การคลังสินค้ากระทรวงพาณิชย์ (อคส.), รองหัวหน้าพรรคเอกภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ คันทรี่ กรุ๊ป เปรียบเสมือนโฮลดิงส์ ของครอบครัวเตชะอุบล ที่มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่านับหมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ตามข่าวการทุ่มเงินนับหมื่นล้าน และอาจจะเพิ่มเป็นหลายหมื่นล้านบาท เพื่อเทคโอเวอร์สโมสรเอซี มิลาน นั้นก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง เนื่องจากข่าวที่ออกมาระบุว่าหากกลุ่มทุมจากไทยต้องการซื้อหุ้นราวร้อยละ 30 ของสโมสรเอซี มิลานก็จะต้องทุ่มเงินกว่า 300 ล้านยูโร (ประมาณ 11,100 ล้านบาท) จากมูลค่าทั้งหมดของสโมสรประมาณ 1 พันล้านยูโร หรือ 37,000 ล้านบาท
ขณะที่ เมื่อเปิดดูข้อมูลการดำเนินธุรกิจของ บี เตชะอุบล ซึ่งเป็นตัวละครหน้าฉากของการซื้อหุ้นสโมสรเอซี มิลานครั้งนี้ ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า บี เตชะอุบล ผู้บริหารหนุ่มกำลังบริหารและเคยบริหารธุรกิจจำนวน 15 บริษัท โดย 5 บริษัทยังคงดำเนินกิจการอยู่ ส่วนอีก 10 บริษัทเลิกกิจการไปแล้วดังนี้
บริษัทที่ยังดำเนินกิจการอยู่
1. บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท ไทย ไพร์ม จำกัด
3. บริษัท ไทย ไพร์ม ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด
4. บริษัท แบงค็อค ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด
5. บริษัท มักกะสัน พาร์ค จำกัด
บริษัทที่เลิกกิจการไปแล้ว
1. บริษัท โกลบอล เอสเตท เทคโนโลยี จำกัด
2. บริษัท โกลบอล เอสเตท มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
3. บริษัท น้ำมัน ไฮเทค จำกัด
4. บริษัท มิลเลนเนียม เทอร์มินอล จำกัด
5. บริษัท มิลเลนเนียม เน็ตเวิร์ค มาร์เก็ตติ้ง จำกัด
6. บริษัท เรียล จำกัด
7. บริษัท แลนด์มาร์ค แกลเลอเรีย จำกัด
8. บริษัท แลนด์มาร์ค เออร์เบิร์น รีสอร์ท เรสซิเด้นซ์ จำกัด
9. บริษัท สติวเดนท์ ไดเร็คท์ จำกัด
10. บริษัท อุตสาหเดช จำกัด
สำหรับบริษัทที่นายบี เตชะอุบล เป็นผู้บริหารและยังดำเนินกิจการอยู่ 5 บริษัท มีรายละเอียดดังนี้
1.บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ EIC (ELECTRONICS INDUSTRY PUBLIC COMPANY LIMITED) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2546 ทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท ที่ตั้ง ณ 152 อาคารเคี่ยนหงวน 3 ชั้น 9 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 ประกอบธุรกิจผลิต และจำหน่ายอะไหล่อิเล็คทรอนิคส์ โดยมีกรรมการผู้มีอำนาจทำการคือ นายปฏิภาณ กาญจนวิโรจน์ และ นางทิพย์วรรณ จักรเพ็ชร ส่วน นายบี เตชะอุบล นายธีร์ภัทร สูตะบุตร นายวิทยา จักรเพ็ชร และ นางทิพย์วรรณ จักรเพ็ชร สองในสี่ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท เมื่อดูข้อมูลของผู้ถือหุ้น นายบี เตชะอุบล ถือหุ้นคิดเป็นจำนวนำ 120,108,398 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนหรือ 25.19 และคิดเป็นมูลค่า 120,108,398 บาท
ขณะที่ผลประกอบการ อีไอซี รายงานผลการดำเนินงานต่อตลาดหลักทรัพย์ระบุว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 2557 บริษัทขาดทุนสุทธิ 100.52 ล้านบาท ขณะที่เมื่อย้อนหลังไป 2 ปี ปี 2556 บริษัทขาดทุนสุทธิ 13.29 ล้านบาท และปี 2555 บริษัทขาดทุนสุทธิ 6.78 ล้านบาท
2.บริษัท ไทย ไพร์ม จำกัด (THAI PRIME CO.,LTD.) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท ที่ตั้ง ณ 152 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 ประกอบธุรกิจที่ปรึกษาทางธุรกิจ โดยนายบี เตชะอุบลเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการ ร่วมกับ นางสาวธนภร สุนทเรกานนท์ ทั้งนี้นายบี เตชะอุบล เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไทย ไพร์ม จำนวน 99,999 หุ้น คิดเป็น ร้อยละ 49.9995 และมูลค่า 999,990 บาท
3.บริษัท ไทย ไพร์ม ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (THAI PRIME DEVELOPMENT COMPANY LIMITED) จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2556 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ที่ตั้ง ณ 152 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 ประกอบธุรกิจบริการรับเป็นผู้จัดการและดูแลผลประโยชน์ทรัพย์สิน โดยมีนายบี เตชะอุบลเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการ หรือ นางสาวธนภร สุนทเรกานนท์ และ นายธิติ พูนวัตถุ ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท
4.บริษัท แบงค็อค ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด (BANGKOK DEVELOPMENT CO.,LTD.) จดทะเบียน ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2548 ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ที่ตั้ง ณ เลขที่ 32/55 หมู่ที่ 3 ถนนเรวดี ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000 ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยนายสดาวุธ เตชะอุบล หรือ นายบี เตชะอุบล ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท ทั้งนี้ บี เตชะอุบล ถือหุ้นอยู่จำนวน 1 หุ้นคิดเป็นร้อยละ 0.0002 มูลค่า 100 บาท
5.บริษัท มักกะสัน พาร์ค จำกัด (MAKKASAN PARK CO.,LTD.) จดทะเบียน ณ วันที่ 13 ธันวาคม 2556 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ที่ตั้ง ณ เลขที่ 87/2 ชั้น 45 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 ประกอบธุรกิจ บริการรับเป็นผู้จัดการและดูแลผลประโยชน์ทรัพย์สิน โดยกรรมการผู้มีอำนาจคือ นายบี เตชะอุบล ลงลายมือชื่อ และประทับตราสำคัญของบริษัท หรือ นางสาวธนภร สุนทเรกานนท์ และ นางสาวอลิสา เจียรวนนท์ ลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญของบริษัท ทั้งนี้นายบี เตชะอุบล ถือหุ้นจำนวน 99,998 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 99.998 มูลค่า 999,980 บาท
นี่คือข้อมูลทางธุรกิจเบื้องต้นของทายาทแห่งตระกูลเตชะอุบล ที่วันนี้หาญกล้าเขย่าวงการฟุตบอลในระดับโลก ด้วยการเสนอขอซื้อหุ้นสโมสรเอซี มิลาน ทีมฟุตบอลระดับตำนาน ซึ่งหากสำเร็จจะกลายเป็นดีลการซื้อสโมสรฟุตบอลของนักธุรกิจชาวไทย กับสโมสรฟุตบอลต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์!
ที่มา : http://manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9580000019498