เมื่อคู่แข่งเริ่มถอยฉากออกจากตลาด “เพย์ทีวี” ไม่ว่าจะเป็นแกรมมี่ ที่ต้องหันไปส่งไม้ต่อให้ “ซีทีเอช” เพื่อล้างตัวเลขขาดทุน ส่วน “อาร์เอส” แม้จะยังมี “ซันบ็อก” อยู่ แต่ก็ได้ออกมาประกาศแล้วว่าจะขอโฟกัสที่ช่องทีวีดิจิตอลและทีวีดาวเทียมเป็นหลัก โดยจะไม่ลงทุนด้านเพย์ทีวีมากเท่าไหร่นัก
จะมีก็แต่ “ซีทีเอช” ที่ต้องเร่งดันยอดสมาชิก เพราะมีคอนเท้นท์สำคัญ “อิงลิช พรีเมียร์ลีก” หรือ EPL อยู่ในมือ
ในปีที่ผ่านมาการขยายฐานสมาชิก ทรูวิชั่นส์ ส่วนหนึ่งมาจากการใช้กลยุทธ์การตลาดแบบ “คอนเวอร์เจนท์” ผนวก 3 บริการของทรูขายเป็นแพคเกจเดียว ได้แก่ ทรูมูฟ, ทรูออนไลน์ และทรูวิชั่น โดยทำการแจกกล่องในลักษณะ Free to air (กล่องที่ไม่ค้องเสียค่าบริการรายเดือน) จะมีระยะสัญญาจำนวน 1 ปี
แม้ว่ากลยุทธนี้จะทำให้ทรูวิชั่นได้ได้ฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ แต่ไม่ได้ส่งผลในแง่รายได้มากนัก เนื่องจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจก็ส่งผลกระทบต่อกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้โดยตรง เมื่อกำลังซื้อลดลง เขาก็เลือกที่จะยกเลิก หรือไม่ต่อสัญญาทันที ทำให้ทรูจึงต้องหันไปมุ่งลูกค้าระดับ “พรีเมียม” แม้จะมีสัดส่วน 12% แต่ในแง่มูลค่าแล้ว สามารถสร้างรายได้มากกว่า 50% ทำรายได้ให้ให้เห็นๆ เศรษฐกิจจะตกต่ำก็ไม่กระทบ
ทำให้ “ทรูวิชั่นส์” ต้องหันมาเอาใจลูกค้า “พรีเมียม” ออกแคมเปญ “ติดจุดเดียวคุ้ม แยกติดหลายจุดคุ้มกว่า” เน้นลูกค้าครอบครัว ต้องการติดหลายจุดในบ้านในราคาที่ถูกลง จากปกติเพิ่มจุดเสริมค้องเสีย 459 บาท แต่โปรโมชั่น 159 บาท ในขณะเดียวกันก็เป็นการดึงดูดลูกค้าใหม่ด้วย เพราะได้ปรับราคาลงทุกๆ แพ็คเกจ ตั้งแต่แพ็คเกจระดับแมส ยันพรีเมี่ยม
พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าสาบพาณิชย์ และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาธุรกิจเพย์ทีวีมีผลกระทบนิดหน่อยจากการเข้ามาของทีวีดิจิตอล แต่ก็ยังมีโอกาสเติบโตอยู่เพราะในตลาด 70% นั้นดูทีวีผ่านเคเบิ้ลทีวีอยู่ เราเห็นได้ว่าไม่ว่าจะเศรษฐกิจไม่ดี หรือทีวีดิจิตอลไม่ได้กระทบกลุ่มลูกค้าพรีเมี่ยมมากนัก เพราะเขาดูที่เนื้อหาคอนเทนต์เป็นหลัก แต่เราเข้าไปตอบพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้ที่เป็นกลุ่มครอบครัวใหญ่ มักติดเพิ่มหลายจุดในบ้าน มีจุดหลัก จุดเสริมให้ลูก
ในส่วนการลงทุนด้านคอนเทนต์ ทรูวิชั่นส์ยังคงดึงคอนเทนต์ด้านกีฬาระดับโลก และรายการวาไรตี้บันเทิง แต่ไม่มีการเพิ่มช่องอีก จากปัจจุบันมี้ราว 200 ช่อง จะเน้นในกาคเพิ่มช่อง HD มากกว่า จากเดิมปัจจุบันมี 50 ช่อง เพิ่มเป็น 60 ช่อง
และตั้งเป้าจำนวนสมาชิกในสิ้นปีจำนวน 3 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีอยู่ 2.5 ล้านราย
“อาร์เอส” ขอถอนตัว ไม่ให้น้ำหนักเพย์ทีวี ทุ่มดิจิตอลทีวีคุ้มกว่า
ทางด้านฝั่งของ “อาร์เอส” ที่มีเพย์ทีวีในชื่อ “ซันบ็อกส์” และได้บุกตลาดแบบดุเดือดมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการประมูลลิขสิทธิ์กีฬาฟุตบอลทั้ง “ฟุตบอลโลก” และ “ลาลีก้า สเปน” หวังเป็นแม็คเน็ตในการดึงดูดผู้ชมคอกีฬา
แต่ความคืบหน้าล่าสุดหลังจากที่ฟุตบอลลาลีกา สเปนจะถึงเวลาต้องประมูลใหม่ ซึ่งรอบนี้อาร์เอสยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมประมูล รวมถึงลีกฟุตบอลอื่นๆ ด้วย เพราะมองว่าไม่คุ้มค่าแก่การลงทุน ต้องนำเงินไปลงทุนที่ “ทีวีดิจิตอล” ดีกว่า
พรพรรณ เตชรุ่งชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “เราจะไม่ประมูลลาลีกา สเปนต่อในฤดูกาลต่อไป และไม่ลงทุนกับเพย์ทีวีมากนัก เพราะประเมินแล้วว่าไม่คุ้มค่าแก่การลงทุนเท่าไหร่ เราจะเน้นที่ทีวีดิจิตอล และช่องเคเบิ้ลทีวีมากกว่า เพราะสามารถทำรายได้ให้เราได้ดีกว่า ส่วนลูกค้าเก่าของซันบ็อกส์เราก็ยังดูแลต่อไป เพียงแต่ไม่ทำตลาด หรือทำแคมเปญดึงลูกค้า พยายามรักษาฐานลูกค้าไว้”