ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอันหลากหลายของคนเมือง นำพาเอา “ค้าปลีก”รูปแบบใหม่ๆ สไตล์เท่ๆ ตั้งแต่ Truck food จนมาถึง Art Box ตลาดนัดตู้คอนเทนเนอร์ กำลังกลายเป็นกระแสใหม่ของการช้อปปิ้ง และสถานที่แฮงเอาท์ของคนเมือง ว่ากันว่าตลาดนัดแนวนี้ ดึงทราฟฟิกช่วงวันหยุด จากห้างสรรพสินค้าติดแอร์ไปได้ไม่น้อยทีเดียว
ที่มาของ Artbox Market เกิดจากแนวความคิดของ 2 หนุ่มคนรุ่นใหม่วัย 28 ปี นันทภพ รุ่งวัฒนะกิจ และ พนารัตน์ หมื่นน้อย เจ้าของธุรกิจร้านอาหารและพ่อค้ากระเป๋าตลาดนัดจตุจักร ที่ต้องการหาพื้นที่ขายของที่ไม่ใช่แค่ตลาดนัดเดิมๆ เพื่อให้คนมาเดินซื้อของแล้วกลับไป แต่ต้องการทำให้เหมือนกับงานเฟสติวัลเพื่อให้คนมาเดินช้อปปิ้ง กินดื่ม สังสรรค์ เสพศิลปะ และมีกิจกรรมร่วมกัน ร่วมไปถึงต้องการให้กับพ่อค้าแม่ค้า SME รุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ปล่อยของของปล่อยสไตล์ตัวเอง
Artbox ถูกสร้างขึ้นบนทำเลพื้นที่ว่างของ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สถานีมักกะสัน โดยทั้งคู่เช่าที่จากการรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมกับลงทุนตู้ตอนเทรนด์เนอร์เก่ามากว่า 32 ตู้ รวมเป็นเงิน 2,500,000 บาท นำมาดัดแปลงเป็นร้านค้า ได้ประมาณ กว่า 200 ร้าน และจ้างทีมออแกไนซ์เซอร์จัดงานและติดตั้งเวทีคอนเสิร์ต โดยจัดงานในรูปแบบเฟสติวัล มีกลิ่นอายคล้ายๆกับงานบิ๊กเมาเท่นขนาดเล็ก โดยใช้งบประมาณในการลงทุนทั้งหมดในช่วงแรกอยู่ที่ราวๆ 5,000,000 บาท โดยทั้งคู่ ถือหุ้นลงขันกันคนละ 50% จัดมาแล้วเป็นเวลา 3 ครั้ง ใช้งบประมาณในการจัดแต่ละครั้งอยู่ที่ 1,000,000 -2,000,000 บาท มีเงินหมุนเวียนในงานประมาณ 2,000,000-3,000,000 บาทต่อวัน
นันทภพ เล่าว่า ในช่วงแรกของการจัดงาน เขาใช้วิธีโปรโมท ผ่านโซเชียลมีเดีย อย่าง เพจเฟสบุ้คเป็นหลัก โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือ พ่อค้าแม่ค้าที่ขายของออนไลน์ทั้งในเฟสบุ๊ก และอินตราแกรม ซึ่งมีอยู่มากมายหลายพันแบรนด์ให้มาเปิดพื้นที่ในโลกออฟไลน์ ให้ลูกค้าได้มาสัมผัสกับสินค้าโดยตรง
“พ่อค้าและแม่ค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ ให้ความสนใจติดต่อเข้ามาขอจองพื้นที่เป็นจำนวนมาก ช่วงแรกจะคัดเฉพาะร้านค้าดังๆ ในเฟสบุ๊ก และอินตราแกรม ที่มีฐานลูกค้าและแฟนคลับอยู่แล้ว เพื่อเป็นพลังในการโปรโมท รวมทั้งยังได้เชิญชวนดาราให้มาเปิดร้านขายของฟรี เพื่อสร้างกระแสคนสนใจและเป็นที่รู้จัก Artbox มากขึ้น ผลตอบรับที่ดีเกินคาด Artbox เป็นที่รู้จักและประสบความสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรกที่จัด
กลุ่มเป้าหมายของ Artbox คือกลุ่มคนใหม่ นักเรียน วัยรุ่น และคนเมือง ที่ต้องการมีสถานที่ช้อปปิ้ง และแฮงค์เอ้าท์แบบมี ช่วงเวลาที่จัดงานจึงต้องให้เหมาะกับเงินในกระเป๋า คือ ช่วงอาทิตย์ที่1 และอาทิตย์ที่2 ของเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่เงินเดือนของคนส่วนใหญ่ออก คนจะมีกำลังมาจับจ่ายใช้สอย
ไฮไลท์ สำคัญของการจัดตลาดนัดแนว Artbox ต้องวางคอนเซปท์การจัดงาน ในแต่ละครั้งชัดเจนและไม่ซ้ำกัน เช่น ธีมวินเทจ การตกแต่งร้าน สินค้าที่นำมาขายในงานจะต้องเป็นธีมเดียวกัน โดยทุกสัปดาห์จะมีคอนเซปท์แตกต่างกันไป เพื่อให้ลูกค้าที่มาไม่รู้สึกจำเจ และยังคงเป็นกระแสให้ถูกพูดต่อเนื่อง
ส่วนสินค้าที่ขายจะหลากหลายมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สไตล์แฮนด์เมด ราคาเริ่มต้นที่ 50 บาท ไปจนถึงหลักพัน การจัดร้านต้องดูดีมีคอนเซปท์แล้ว ไฮไลท์สำคัญ เปลี่ยนธีมงานและสร้างกิจกรรมใหม่ๆ เช่น การจัดฟรีคอนเสิร์ต หรือการจัดกิจกรรมงานศิลปะ หมุนเวียนกันไปตลอด
นันทภพ บอกว่า Artbox อีกถึงแค่ครั้งที่ 5 ครั้ง หลังจากที่จัดมาแล้ว 3 ครั้งโดยเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 12-14 มิถุนายนและกำลังจะเริ่มครั้งที่ 4 ในวันที่ 31กรกฎาคม-2 สิงหาคม เขาจะขายต่อให้กับนายทุนสนใจที่จะซื้อ Artbox ไปสานต่อ แต่รายละเอียดยังอยู่ในช่วงการเจรจา
ผศ.เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศน์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ บอกว่า ตลาดในแนว Artbox หรือตลาดนัดคอนเทนเนอร์ว่า ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และมีโอกาสที่จะได้รับความสนใจและขยายตัวต่อเนื่อง
“หลักของธุรกิจนี้จะขึ้นอยู่กับโลเคชั่นและการบริหารจัดการตลาดให้น่าสนใจ โดยต้องมีคอนเซปท์ที่ชัดเจน อย่างเช่น ในขณะนี้ Artbox ก็จะมุ่งเน้นไปที่สินค้าแนวศิลปะที่ผูกกับผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า ของใช้ในบ้านหรือแม้แต่เครื่องดื่มและอาหารการกินต่างๆก็ต้องมุ่งเน้นให้อาร์ทสมกับความเป็น Artbox”
ตลาดรูปแบบนี้ก็จะมีความเป็นระบบระเบียบและจัดโซนประเภทสินค้าได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นโซนเสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน แฟชั่น อาหาร เครื่องดื่ม โดยผู้ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการตลาด แนว Artbox อาจมีการกำหนด Theme หรือ Concept ของตลาดให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในแต่ละโลเคชั่น แล้วยังสามารถหลีกเลี่ยงความจำเจด้วยการเปลี่ยนคอนเซปท์ไปตามกระแสนิยมในช่วงนั้นๆ
นอกเหนือจากแนว Artbox แล้วปัจจุบันก็มีกระแสของ Truck Shop หรือ ร้านติดล้อและพร้อมจะเคลื่อนย้ายไปในที่ต่างๆได้ มากขึ้นเช่นกัน โดยเริ่ม Food Truck ขายอาหาร ขยายตัวมาสู่ Fashion Truck เช่น เครื่องประดับ เสื้อผ้าแนวต่างๆ Lifestyle Truck ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้าน แผ่นเสียงเก่า หนังสือเก่าและ Truck Shop ก็อาจจะมาเป็นโซนหนึ่งของ Artbox
ข้อดีของการทำตลาดรูปแบบ Artbox ก็คือพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยที่สามารถนำเสนอไอเดียสู่สาธารณะมากขึ้นแทนที่จะเข้าไปอยู่ในห้างใหญ่อาจจะยากลำบากกว่า ในขณะเดียวกันในฝั่งผู้ประกอบการที่จัดให้มีตลาด Artbox ก็จะบริหารจัดการได้ง่ายแล้วยังเป็นตลาดที่ดูดีมีสไตล์
ทำไมตอนนี้ ตลาดแนวอาร์ทๆ จึงมีมากขึ้นจนกลายเป็นกระแส
เป็นกลไกทางการตลาดที่มีพัฒนาการไปตามยุคสมัย เหมือนในอดีตเราคุ้นเคยกับร้านค้าปลีกแนวโชห่วย ต่อมาเป็นยุคของดีพาร์ทเม้นสโตร์ และขยับขยายมาสู่ ดิสเคาน์สโตร์ คอนวีเนียนซ์สโตร์ ซึ่งอาจจะขายสินค้าที่เป็นแพทเทิร์น ไม่ค่อยหวือหวาแหวกแนว สังเกตดูว่าเมื่อไหร่ที่ไปตามร้านสะดวกซื้อ ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ จะไปซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน แต่คนบางกลุ่มก็เดินตลาดนัดซึ่งปัจจัยสำคัญของตลาดนัดทั่วไปก็คือ ของถูก แต่ถ้าเป็นตลาดแนว Artbox จะได้เรื่องของความแปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร สินค้าแนวชิคและคูล สะท้อนความเป็นตัวเอง และในขณะเดียวกันการเดินตลาดแนว Artbox อาจเป็นการพักผ่อน ผ่อนคลายและชิลล์ไปกับศิลปะ การแสดงต่างๆที่อยู่ภายในตลาดนั้น
ในกระแสปัจจุบันเชื่อว่า ผู้คนชอบอะไรที่ไม่เหมือนใคร บางคนก็มีสไตล์ของตัวเองที่ชัดเจนในขณะที่บางคนก็พยายามหาสไตล์ตัวเอง ดังนั้นสินค้าที่ออกมาในแนวอาร์ต หรือการมีอะไรที่ดูชิค ดูเท่ จึงเป็นทางออกของผู้คนที่เบื่อความจำเจ ซ้ำซาก
ดังนั้นตลาดแนวอาร์ท เลยสะท้อนอะไรหลายๆอย่างได้ดี เช่น การผลิตสินค้าที่มีความเฉพาะ แฮนด์เมด การใช้พลังทางศิลปะมาแต่งแต้มในอาหาร เครื่องดื่มให้ดูน่าสนใจ การนำศิลปะมาผนวกกับไลฟ์สไตล์แนวต่างๆ บางคนอาจต้องการสินค้าแนวย้อนยุคหรือ Retro และสินค้าหรือบริการแนวอาร์ทมันมีมิติของความสร้างสรรค์ที่อาจจะโดนใจผู้คนได้อย่างไม่ยากเย็น
กระแสของตลาดในรูปแบบนี้ บ่งบอกอะไรถึงการขายสินค้าในปัจจุบัน
กระแสของตลาดรูปแบบนี้ คือการขายของที่มีดีไซน์ มีความคิดสร้างสรรค์บรรจุเข้าไปหรืออาจจะเป็นการผูกความมีศิลปะเข้าไปกับไลฟ์สไตล์ให้ดูเข้าขากัน อย่างศิลปะการฟังเพลงก็อาจจะเป็นที่มาของการขายแผ่นเสียง เทปเพลงเก่า การนำศิลปะแนววินเทจมาผสานกับของตกแต่งบ้านให้เข้าขากัน
ดังนั้นกระแสของตลาดรูปแบบนี้ เจ้าของสินค้าที่จะเข้าไปอยู่ในตลาดแนว Artbox จะต้องหลุดกรอบจากความเป็นรูปแบบดั้งเดิม แต่ไม่ใช่แหกคอกจนสุดโต่ง ต้องหาส่วนผสมใหม่ๆเข้าไปในสินค้าให้ลงตัวและน่าสนใจ และทำให้ลูกค้าที่มาเดินตลาดเกิดความต้องการได้