ในยุคที่กระแส หรือวัฒนธรรม “ฮิปสเตอร์” ครองเมือง ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวันให้มีความหลากหลายมากขึ้น การรับประทานอาหารในร้านสวยๆ ชิคๆ ในห้างสรรพสินค้า อาจจะไม่ตอบโจทย์มากพอ การเข้ามาของ “ฟูดทรัก” เทรนด์ค้าปลีกยุคใหม่ เป็นลูกผสมไฮบริดระหว่าง “ร้านอาหาร” และ “สตรีทฟูด” ลงทุนไม่มาก อาศัยโซเชียลมีเดียเป็นสื่อโปรโมต เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ค้า และผู้ซื้อที่กำลังทวีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
เห็นได้ชัดจากการเติบโตในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีร้านอาหารสไตล์ “ฟูดทรัก” เกิดขึ้นเป็นรายวัน หลายรายก็สามารถแจ้งเกิดเป็นดาวประดับวงการได้ อย่างเช่น Mother Trucker ร้านเบอร์เกอร์ยอดนิยมขวัญใจวัยรุ่น, ร้านกาแฟ Amity รวมไปถึงทำให้เกิดอาชีพการแต่งรถฟูดทรักโดยเฉพาะ กับแบรนด์ Truck get rich
เป็นตัวอย่างในงานสัมมนา Food Truck Marketing โดยหลักสูตรปริญญาโท ภาควิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ความเป็นมาของฟูดทรักมีต้นกำเนิดจากรัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ฟูดทรักแห่งแรก คือ Chuckwagon จากนั้นกระแสฟูดทรักได้รับความนิยมแพร่หลายไปในหลายๆ รัฐ เช่น หมู่เกาะฮาวาย และด้วยความที่หมู่เกาะฮาวายมีคนญี่ปุ่นอาศัยเยอะ วัฒนธรรมฟูดทรักจึงแพร่ไปที่ประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกับประเทศฟิลิปปินส์ที่ได้รับวัฒนธรรมฟูดทรักมาเหมือนกัน
อาหารที่ขายในฟูดทรักส่วนใหญ่ก็เป็นอาหารที่ทานง่าย เป็นอาหารพื้นเมืองที่บริโภคอยู่แล้ว อย่างเช่น เบอร์เกอร์, อาหารจานด่วน, ฮอตดอก, ขนมหวาน, ไอศกรีม เป็นต้น
ส่วนในประเทศไทยกระแสของฟูดทรักเข้ามาได้พักใหญ่แล้ว แต่ยังไม่บูมเหมือนปัจจุบัน ฟูดทรักร้านแรกในประเทศไทยคือ ร้าน Daniel Thaiger Burger จำหน่ายอาหารประเภทเบอร์เกอร์ เริ่มบุกเบิกตลาดเมื่อ 4 ปีที่แล้ว โดยที่ตั้งร้านอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 38 ซึ่งปัจจุบันได้ย้ายมาตั้งร้านประจำอยู่ที่ซอยสุขุมวิท 23
ในประเทศไทยตอนนี้แม้จะไม่มีตัวเลขของธุรกิจที่ชัดเจน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย แต่มีการคาดคะเนว่าปัจจุบันมี “รถฟูดทรัก” จำนวนหลักร้อยคัน และคาดการณ์ในอนาคตจะเพิ่มไปถึงหลักพันได้ ซึ่งอาหารที่ขายในตลาดฟูดทรักของไทยจะค่อนข้างหลากหลาย อย่างเช่น ร้านพาสตา ร้านอาหารทะเล ร้านก๋วยเตี๋ยว และอาหารญี่ปุ่น ต่างลงมาจับจองพื้นที่ในฟูดทรัก
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันกระแสฟูดทรักให้ฮออตฮิตติดลมบนได้ มีหลายประการด้วยกัน ได้แก่ การเติบโตของการจัดงานสตรีท อีเวนต์ หรืออีเวนต์ที่รวมทั้งการขายสินค้าและอาหาร ปัจจุบันได้สร้างกิมมิกด้วยการใช้ฟูดทรักเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้งานแตกต่างจากงานอื่นๆ
อย่างที่สอง คือ พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เมืองไทยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองของกิน เมืองท่องเที่ยวอยู่แล้ว ฟูดทรักเป็นเสมือนลูกผสมไฮบริดระหว่าง “ร้านอาหาร” และ “สตรีทฟูด” แต่มีราคาที่อยู่กึ่งกลางทำให้หลายคนเข้าถึงได้ แต่มีความชิค ความเก๋อยู่ในตัว
อย่างที่สาม คือ ไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไป ชอบใช้ชีวิตนอกบ้าน ชอบทานอานหารนอกบ้าน ชอบแฮงก์เอาต์ และชอบปาร์ตี้ ร้านอาหารสไตล์ฟูดทรักจึงตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์มากกว่า
อย่างที่สี่ คือ ความต้องการมีธุรกิจส่วนตัวของคนรุ่นใหม่
และสุดท้ายคือ กระแสของโซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน การแชร์รูปภาพในอินสตาแกรม หรือเฟซบุ๊ก ทำให้เกิดการแพร่กระจายของกระแส และทำให้แต่ละคนรู้สึกว่าไม่อยากตกเทรนด์
***Mother Trucker เบอร์เกอร์ไซส์ใหญ่ จากแพชชันคนรุ่นใหม่**
นับเป็นฟูดทรักเจนเนอเรชันแรกๆ ที่หลายคนต้องนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เพราะ Mother Trucker ได้ก่อตั้งมาแล้ว 1 ปีเศษๆ เป็นช่วงที่ฟูดทรักค่อยๆ เป็นที่นิยมพอดิบพอดี ประกอบกับชื่อแบรนด์ที่เป็นที่สะดุดหู และจุดเด่นของเบอร์เกอร์ ทำให้หลายคนติดใจ
อาร์ม-พัฒน์ หิญชีระนันท์ หนึ่งในสามผู้ก่อตั้ง Mother Trucker วัย 25 ปี ได้เล่าว่า เริ่มก่อตั้งแบรนด์มากับเพื่อนสมัยเรียนจำนวน 3 คน ส่วนตัวของอาร์มเป็นคน “ไม่กินเบอร์เกอร์” แต่ทว่ามองเห็นโอกาสในเทรนด์การกินเบอร์เกอร์ และต้องการเปิดตลาดเบอร์เกอร์ให้คนอื่นๆ จึงตัดสินใจทำเป็นเบอร์เกอร์ขึ้นมา
“ผมมองเห็นเทรนด์เรื่องการกินเบอร์เกอร์ และฟูดทรักมาสักพักแล้ว จากนั้นก็ลองศึกษาเองจากในอินเทอร์เน็ต ลองทำรถเองหมดเลย ซื้อรถมือสองรถยี่ห้อ KIA รุ่นจัมโบ้ ซื้อมา 2 แสนต้นๆ และมาทำโครงต่างๆ และจากที่ต้องจ้างแรปสติกเกอร์ 35,000 บาท แต่ผมซื้อสติกเกอร์มาม้วนหนึ่งแรปเอง 8,000 บาท ทำให้ประหยัดได้เยอะ”
ส่วนเรื่องสูตรเบอร์เกอร์อาร์มและเพื่อนได้ตระเวนชิมเบอร์เกอร์มาแล้วนำมาปรับสูตรทำเอง เขาชอบรสชาติชอบร้าน 25 ดีกรี เบอร์เกอร์ มากที่สุด แต่ราคาค่อนข้างสูงชิ้นละ 300 กว่าบาท เขาจึงมองว่าโอกาสของฟูดทรักมันอยู่ตรงนี้แหละ คือ ทำให้ทุกคนกินได้ เป็นตัวกลางระหว่างร้านอาหารกับร้านสตรีทฟูด เอาตรงนี้มาเป็นช่องว่าง ตั้งราคาให้คุ้มค่าอยู่กึ่งกลาง เขาจึงเริ่มต้นธุรกิจนี้ โดยตั้งขายประจำอยู่ที่บางลำพู แต่ตอนนี้เน้นไปออกอีเวนต์ส่วนใหญ่ ลูกค้าจึงต้องติดตามจากเฟซบุ๊ก แฟนเพจเป็นหลัก ว่าในแต่ละอาทิตย์จะไปขายที่ไหน
แม้ว่าตอนนี้ Mother Trucker จะค่อนข้างมีเนื้อหา เจ้าของอีเวนต์หลายเจ้าจะต้องเชิญไปออกงานเพื่อเป็นแม็กเน็ต แต่อาร์มบอกกว่ายังคงโฟกัสในการทำรถเพียงแค่ 1 คันก่อน แต่กำลังขยายเพิ่มในส่วนของมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์อีกคัน แต่ขายร่วมกัน นำมาใช้เผื่อในกรณีที่ลูกค้าเยอะ และสามารถยกครัวออกมาได้
ปัจจุบัน Mother Trucker มียอดขายเฉลี่ย 200 -1,000 ชิ้น/งาน แต่อาร์มตั้งลิมิตอยู่ที่ 200 ชิ้นเท่านั้น เพื่อต้องการควบคุมคุณภาพ เคยทำประมาณ 400 ชิ้น แล้วคุณภาพไม่ตรงกับที่ต้องการ เลยคิดว่าแค่ 200 ชิ้น แต่ขายชิลๆ และได้คุณภาพที่เราต้องการดีกว่า
“ตลอด 1 ปีที่ทำมา มีอุปสรรคเยอะมาก มีทั้งเรื่องการจัดการ กระบวนการผลิต มีหลายอย่างผสมๆ กัน แต่ก็สามารถแก้ไขมันได้ พยายามไม่กดดันตัวเอง แต่ฟูดทรักมันมีข้อดีเยอะ ลงทุนง่าย สะดวกสบาย มันน่าลงทุนด้วยเพราะเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่อเมริกาตอนนี้คนก็ยังต่อแถวยาวๆ อยู่ แล้วประเทศไทยตามหลังเขาไม่รู้กี่ปี เทรนด์นี้น่าจะยังอยู่อีกนาน”
ในอนาคต Mother Trucker วางแผนที่จะขยายไลน์สินค้าให้ครอบคลุมทั้ง 4 หมวดหมู่ Food, Drink, Snack, Dessert แต่จะทำอยู่ภายใต้แบรนด์เดียว และขายรวมอยู่ภายใต้รถคันเดียว ซึ่งอาจจะมีการทำรถให้ใหญ่ จะสามารถดึงฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้นไม่ใช่แค่คนกินเบอร์เกอร์อย่างเดียว
“อีกสิ่งหนึ่งที่ผมต้องทำก็คือการขายแฟรนไชส์ แต่ขอเวลาอีกสัก 10 ปี เพราะมีอะไรให้เล่นอีกยาวๆ อาจจะหาแฟรนไชส์ให้ไปดูในที่ไกลๆ ต่างจังหวัด ให้ไม่ตีกันในกรุงเทพฯ อย่างเชียงใหม่ และที่สำคัญต้องหาคนที่เป็นอย่าง Mother Trucker ให้ได้”
***”Amity” กาแฟตัวแทนมิตรภาพ***
ร้านกาแฟได้กลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของธุรกิจส่วนตัวที่หลายคนลงมาจับจองอยู่แล้วในปัจจุบันแต่ “โจ้-ดุษฎี อินธกุล” ได้เลือกกาแฟมาอยู่บนธุรกิจสี่ล้อ และเป็นธุรกิจที่รวมตัวกับกลุ่มเพื่อน เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมให้มีเวลาเจอกัน และใช้ชื่อแบรนด์ว่า Amity ที่แปลว่ามิตรภาพ
“กาแฟ Amity ได้ทำมาเกือบ 2 ปีแล้ว มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มเพื่อน 4 คน ที่ก่อนหน้านี้ต่างมีอาชีพประจำกันปกติ แต่ก็มาคิดว่าน่าจะมีอะไรที่ทำด้วยกัน ให้เราใช้เวลาอยู่กันไปนานๆ ให้เราได้เจอกันทุกสัปดาห์ เลยมาคิดว่าทำกาแฟ เพราะอย่างน้อย 100 คน จะต้องดื่มกาแฟ 50 คน คิดว่าธุรกิจเกี่ยวกับอาหารการกินจะประสบความสำเร็จ และบริหารจัดการได้ง่ายกว่า”
ปกติแล้วกาแฟ Amity จะขายประจำอยู่ที่ ซ.ปรีดีพนมยงค์ 40 และไปตามงานอีเวนต์ในวันเสาร์-อาทิตย์ รวมไปถึงเน้นไปตามงานต่างๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานบวช หรืองานบุญอื่นๆ มียอดขายในวันธรรรมดาเฉลี่ย 100 แก้ว/วัน ส่วนวันเสาร์อาทิตย์ 400-500 แก้ว
“ผมลงทุนในการทำฟูดทรักนี้ 450-000-500,000 บาท รายได้หลักจะมาจากงานอีเวนต์ส่วนใหญ่ จุดคุ้มทุนอยู่ที่ 2-3 ปี สิ่งสำคัญที่ทำให้แบรนด์ผมอยู่ได้เพราะรสชาติของกาแฟ และดีไซน์ของตัวรถทำให้ดึงดูด แต่ก็พบปัญหาเรื่องการหาที่จอดรถเช่นกัน แต่ผมว่า สิ่งสำคัญในการลงทุนก็คือ หุ้นส่วนต้องไว้ใจ ต้องมีใจรัก และมีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน และสินค้าจะต้องถูกปากคนไทย สามารถทานได้ทุกวัน และต้องมีจุดเด่นด้วย”
***”Truck get rich” ธุรกิจสร้างรถ แจ้งเกิดจากฟูดทรัก***
Truck get rich เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลพลอยได้จากกระแสของฟูดทรัก เป็นธุรกิจรับออกแบบ ตกแต่ง และติดตั้งหลังคารถขายของเคลื่อนที่ครบวงจร แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของธุรกิจอย่างเห็นได้ชัด
แม็กซ์-มณเฑียร เจริญพงศ์ เจ้าของธุรกิจ Truck get rich เปิดเผยว่า “แต่ก่อนผมอยู่ธุรกิจไอที ตลาดใหญ่และกว้าง ที่สำคัญการแข่งขันสูงมาก จึงหันมาทำธุรกิจขายคิ้วยางก่อนให้กับร้านประกอบรถ ทีนี้ก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าใช้คิ้วยางเราเยอะๆ พอเห็นรถขายของเคลื่อนที่ ก็เลยคิดว่าเข้าท่านะ ไทยเป็นเมืองอาหารการกิน เมืองท่องเที่ยวอยู่แล้ว ปรากฏว่าตลาดฟูดทรักเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะปีที่แล้วผมมีลูกค้าเพียง 1-2 คันต่อเดือน แต่ปีนี้ผมมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 10-15 คันต่อเดือนเลยทีเดียว”
แม็กซ์ได้วิเคราะห์ถึงเทรนด์ของฟูดทรักที่กำลังเป็นกระแส เพราะปัจจุบันอีเวนต์เยอะมาก เดือนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 4-5 งาน ธุรกิจนี้คือร้านอาหาร แต่อยู่ในรูปแบบของบนรถ และเคลื่อนที่ได้ ตอนนี้จุดที่ขายของได้ดีที่สุดคืองานอีเวนต์ จากที่ขายประจำขายได้วันละ 200 ชิ้น งานอีเวนต์ขายได้เป็น 1,000 ชิ้น แต่ในส่วนของตลาดนัดอาจจะเป็นทางเลือกท้ายๆ เพราะกำลังซื้ออาจจะไม่เหมือนกับงานอีเวนต์
“คนที่มาทำฟูดทรักมีสองกลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มคนที่อายุ 30-40 ปี ที่ทำงานประจำมาก่อนแล้ว แต่อยากทำอาชีพเสริม ส่วนกลุ่มหนึ่งคือเด็กจบใหม่ ที่อยากทำธุรกิจส่วนตัวเลย ไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร แต่คนที่จะมาทำรถกับผมจะถามก่อนเลยว่าจะทำอะไร จะขายที่ไหน และขายให้ใคร ผมจะแนะนำก่อนเลยว่าสินค้ามันต้องเด่น การแต่งรถมันต้องเด่นสะดุดตา เห็นแล้วต้องถ่ายรูปแล้วแชร์ต่อในโซเชียล แล้วเราจะออกแบบรถให้เข้ากับสินค้า ให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของเขา”
สุดท้ายแล้ว แม็กซ์ได้ฝากถึงผู้ประกอบการที่ต้องการทำฟูดทรักโดยใช้สูตร 3M 1. Money เงินทุน คือ มีงินทุนเท่าไหร่ควรแบ่งเป็น 3 ก้อน คือ ก้อนที่ลงทุน, เงินหมุนเวียน และเงินฉุกเฉิน 2. Man บุคลากร และ 3. Management การจัดการต่างๆ ทั้งการหาสถานที่ และการบริหารธุรกิจ ต้องทำควบคู่กัน