เพียงแค่ต้นปีก็ดูท่าว่าตู้แช่ไอศกรีมก็ดุเดือดเข้าซะแล้ว จากการมาของ “ไอศกรีมกูลิโกะ” ผ่านการดำเนินธุรกิจของ “เอซากิ กูลิโกะ” ที่ได้จัดตั้งบริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น(ประเทศไทย) จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ถือว่าเป็นการดำเนินธุรกิจไอศกรีมนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เพราะมองว่าตลาดในประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีอากาศร้อนตลอดทั้งปี ผู้บริโภคก็ชอบเปิดรับสิ่งใหม่ๆ
ก่อนหน้านี้ ไอศกรีมกูลิโกะเคยสร้างกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์บนโลกออนไลน์อยู่พักใหญ่ กับการตามล่าหา “ไอศกรีมกูลิโกะ” ที่เคยลงตู้แช่มาแล้วในปี 2557 แต่เป็นเพียงการนำร่องทดลองตลาดเพียง 3 เดือน แต่ในช่วงนั้นมีวางจำหน่ายในโซนชานเมือง แถบรังสิต บางนา ปทุมธานี เท่านั้น จำนวน 70 ตู้แช่
สาเหตุที่เลือกทดลองตลาดในทำเลชานเมืองก่อนเป็นเพราะว่า “ใกล้โรงงาน” ที่ผลิตเท่านั้นเอง เพราะทางกูลิโกะได้จ้าง “จอมธนา” ตั้งอยู่แถวลาดหลุมแก้ว เป็นผู้ผลิตให้ ทั้งในช่วงทดลองและขายจริง หากขายดีกูลิโกะจึงจะตั้งโรงงานเอง โดยใช้สูตรจากทางญี่ปุ่น มีการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วน และใช้วัตถุดิบภายในประเทศด้วย
หลังจากนั้นทางกูลิโกะก็ได้กลับไปทำการบ้านอยู่พักใหญ่ จึงได้ฤกษ์วางตลาดในวันที่ 27 มกราคม 2559 ด้วยไอศกรีม 4 รูปแบบ ได้แก่ พาลิตเต้ 35 บาท, ไจแอนท์ โคน 25 บาท, พาแนปป์ 25 บาท และเซเว่นทีน ไอซ์ 20 บาท
ในการสู้ศึกไอศกรีมครั้งนี้ กูลิโกะจึงต้องเตรียมพร้อมกลยุทธ์รอบด้าน ทั้งในเรื่องสินค้า ราคา พรีเซ็นเตอร์ และช่องทางจัดจำหน่าย เรียกว่ามาทั้งทีต้องมีอาวุธครบมือพร้อมรบ กับคู่แข่งที่ครองตลาดมายาวนาน อย่าง “วอลล์ และเนสท์เล่” ได้ทันที
กูลิโกะใช้จุดเด่นเรื่องสินค้าที่มีคาแร็กเตอร์ในตัวเอง และการออกแบบแพ็กเกจจิ้งสไตล์สินค้าญี่ปุ่นเป็นตัวดึงดูด และคีย์พอยต์สำคัญ คือ เลือกตั้งราคาในช่วงระหว่าง 20-40 บาท ซึ่งเป็นช่วงราคาที่มีช่องว่างในตลาด เพราะตลาดไอศกรีมส่วนใหญ่จะอยู่ที่ราคาต่ำกว่า 15 บาท ในขณะที่หากเป็นไอศกรีมระดับพรีเมียม จะมีราคา 40 บาทขึ้นไป ซึ่งคู่แข่งอย่างวอลล์เองก็มีหลากหลาย แต่ในช่วงราคา 20-40 บาทยังมีไม่มาก
กลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ คนเมือง ที่มีกำลังซื้อ ดังนั้นช่องทางจัดจำหน่ายเน้นเข้าร้านสะดวกซื้อก่อนเป็นอันดับแรก โดยจะมีวางจำหน่ายที่เซเว่นฯ, แฟมิลี่มาร์ท, ท็อปส์, แม็กซ์แวลู, บิ๊กซี, ฟูจิ และมินิมาร์ททั่วไป โดยกูลิโกะต้องลงทุนแยกตู้แช่เป็นของกูลิโกะโดยเฉพาะ แต่จะวางจำหน่ายที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน ในเขตต่างจังหวัดอาจจะมีการวางจำหน่ายในช่วงกลางปีนี้
คิโยทะคะ ชิมะโมริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ตลาดในประเทศไทยมีศักยภาพสูงมาก เนื่องจากมีอากาศร้อนตลอดทั้งปี ทำให้ทานได้ทั้งปี และคนไทยชอบลองของใหม่ๆ ด้วย หลังจากทดลองตลาดมาก่อนหน้านี้พบว่าผลตอบรับดีมาก กระแสในโลกออนไลน์มีส่วนช่วยทำให้คนรู้จัก ในการทำตลาดช่วงแรกก็ได้จำหน่ายแค่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลก่อน หลังจากนั้นค่อยไปตามหัวเมืองต่างจังหวัด”
สำหรับเป้าหมายของธุรกิจไอศกรีมนั้น ตั้งเป้ารายได้ 600-900 ล้านบาทภายในปี 2563 และมีส่วนแบ่งตลาดในตลาดไอศกรีม 10% รวมทั้งมีตู้แช่ในร้านค้าทั้งร้านสะดวกซื้อและร้านโชห่วย 10,000 ตู้ ส่วนไอศกรีมรูปแบบอื่นอาจจะมีการวางจำหน่ายเพิ่ม แต่ต้องรอดูผลตอบรับจาก 4 รูปแบบนี้ก่อน