เตรียมพบคาราวาน ‘Pocky CAFÉ’ หมัดเด็ดของ ‘กูลิโกะ’ สร้างการเติบโตเหนือตลาด

เชื่อว่าน้อยคนที่จะไม่รู้จักกับ ป๊อกกี้ (Pocky) แบรนด์ขนมอันดับ 1 ของ กูลิโกะ (Glico) บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นจากเมืองโอซาก้าอายุ 102 ปี ส่วนในประเทศไทยกูลิโกะก็ทำธุรกิจมาอย่างยาวนานถึง 52 ปี และป๊อกกี้ก็ยังคงยืนหนึ่งในตลาดบิสกิต โดยปีนี้กูลิโกะไม่ได้แค่ต้องการรักษาตำแหน่งเบอร์ 1 ของป๊อกกี้ แต่ต้องการเติบโตเหนือตลาดให้ได้

ตลาด 15,700 ล้าน โต 6%

หากพูดถึง ตลาดขนมขบเคี้ยว ที่มีมูลค่ากว่า 3.7 หมื่นล้านบาท เติบโต +8% ซึ่งในตลาดก็จะแบ่งเป็นอีกหลายกลุ่ม และหนึ่งในกลุ่มที่สำคัญก็คือ ตลาดบิสกิต ที่มีมูลค่าประมาณ 15,700 ล้านบาท มีการเติบโตประมาณ +6% และในตลาดบิสกิตสามารถแบ่งออกเป็น 3 เซกเมนต์ย่อย ได้แก่

  • แครกเกอร์ 6,000 ล้านบาท +9%
  • คุกกี้ 4,000 ล้านบาท +3%
  • เวเฟอร์ 4,000 ล้านบาท +4%

โดย ป๊อกกี้ ถูกจัดอยู่ในตลาดแครกเกอร์ และถือเป็น เบอร์ 1 ของตลาดบิสกิตด้วยส่วนแบ่ง 10%

“ขนมยังเป็นตลาดที่เติบโตได้เรื่อย ๆ เพราะถือเป็นตลาดที่อยู่คู่กับคนไทยโดยเฉพาะเด็ก ๆ อย่างไรก็ตาม แต่ละช่องทางอาจจะเติบโตไม่เท่ากัน โดยปีที่ผ่านมาช่องทางเดิร์นเทรด และร้านสะดวกซื้อกลับมาโตเยอะเพราะหมดโควิด ส่วนร้านโชห่วยอาจไม่ได้โตเหมือนช่วงที่รัฐบาลมีนโยบายคนละครึ่ง ส่วนปีนี้เชื่อว่าตลาดยังโตได้ เพราะนักท่องเที่ยวกลับมา” เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกูลิโกะ จํากัด กล่าว

เฉลิมพงษ์ ดรงค์สุวรรณ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยกูลิโกะ จํากัด และ ดวงกมล ชุลิกาวิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไทยกูลิโกะ จํากัด

ต่อยอด Pocky CAFÉ เพิ่มโอกาสการบริโภค

หนึ่งในโจทย์หลักของกูลิโกะในการสร้างการเติบโตให้กับป๊อกกี้ก็คือ การเพิ่มโอกาสการบริโภค และ สร้างการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ทำให้กูลิโกะได้หยิบคอนเซ็ปต์ของ ป๊อกกี้ คาเฟ่ (Pocky CAFÉ’) ที่เคยทดลองเปิดในงาน POCKY DAY 11.11 แล้วประสบความสำเร็จมาทำเป็น คาราวานโร๊ดโชว์ ป๊อปอัพ สโตร์ ป๊อกกี้ คาเฟ่ โดยจะเน้นไปที่ออฟฟิศ, สถานศึกษา และสถานที่ท่องเที่ยว รวมแล้วประมาณ 20-30 แห่ง เริ่มที่ The Park Silom วันที่ 19 มีนาคมนี้

“เราต้องการช่องทางการนำเสนอใหม่ ๆ โดยมีโจทย์ว่าต้องทำให้เราเข้าใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น จนกลายเป็นแผนทำโรดโชว์ ซึ่งมันจะทำให้เขาได้ลอง มีการทำสินค้าราคาพิเศษ เพราะเรามีความเชื่อมั่นว่าที่ลูกค้ายังไม่ได้ซื้อเราเพราะเขายังไม่มีโอกาสได้ลอง เพราะเราพบว่าหลายคนที่ลองแล้วซื้อเลย

5 เครื่องดื่มจากป๊อกกี้ 5 รสชาติ

ดวงกมล ชุลิกาวิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด อธิบายเพิ่มเติมว่า จุดเริ่มต้นของการทำ ป๊อกกี้ คาเฟ่ ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ 1976 ที่ประเทศญี่ปุ่นได้ออกแคมเปญ Pocky On The Rocks ซึ่งคนญี่ปุ่นจะดื่มสุรา วิสกี้ กันเยอะมาก และก็ใช้ป๊อกกี้คนแก้ววิสกี้ จนกระทั่งปี 2022 ทางบริษัทฯ มองว่า การนำป๊อกกี้มาจับคู่กับเครื่องดื่มเป็นสิ่งที่ดี และเพิ่มโอกาสให้กับการทานป๊อกกี้ได้

ดังนั้น การมีป๊อปอัพสโตร์จะช่วยให้แบรนด์ใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้น และการมีเครื่องดื่มเป็นเมนูตัวอย่างก็เป็นการช่วยเพิ่มโอกาสการบริโภค อีกทั้งยังสร้างโอกาสให้ผู้บริโภคครีเอตคอนเทนต์ลงออนไลน์ ซึ่งก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการรับรู้ของแบรนด์ ดังนั้น ปีนี้บริษัทจะพยายามครีเอตการนำป๊อกกี้ไปทำเมนูใหม่ ๆ เพิ่มอีก

นอกจากการทำป๊อปอัพ สโตร์ ป๊อกกี้ คาเฟ่แล้ว กูลิโกะจะทำการตลาดครบทุกช่องทาง รวมถึงได้เปิดตัว พรีเซ็นเตอร์ Glico Friend ได้แก่ ซี-พฤกษ์ พานิช และ นุนิว-ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่

จัดเต็มสินค้าใหม่

อีกกลยุทธ์ที่กูลิโกะจะใช้สร้างการเติบโตก็คือ สินค้าใหม่ โดยปัจจุบัน กูลิโกะมี 3 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ ขนม, ไอศกรีม และนมอัลมอนด์ สำหรับในส่วนของขนมสามารถแบ่งได้เป็น 7 แบรนด์ ได้แก่ ป๊อกกี้, พีจอย, เพรทซ์, โคลลอน, แอลฟี่, คาปุลิโกะ และทีนนี่

สำหรับต้นปีนี้ กูลิโกะได้เปิดตัวสินค้าใหม่ ป๊อกกี้ ครัช โดยมี 4 รสชาติ ได้แก่ บลูเบอร์รีโยเกิรต์, สตรอเบอร์รีพีชโยเกิรต์, อัลมอนด์มิลค์ช็อกโกแลต และอัลมอนด์นัวร์ช็อกโกแลต ราคา 29 บาท เพื่อจับกลุ่มพรีเมียม นอกจากนี้ จะมี สินค้าลิมิเต็ด 1-2 รส ซึ่งจะออกมาจำหน่ายในช่วงหน้าร้อนและหน้าหนาวที่เป็นช่วงท่องเที่ยว

นอกจากนี้ ในส่วนของ ป๊อกกี้รสชาติเฉพาะไทย ที่จับกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมี 2 รสชาติ ได้แก่ รสช็อกโกบานาน่า และรสมะม่วง ปีนี้บริษัทก็จะเพิ่มรสชาติใหม่ ๆ เพื่อรับการกลับมาของนักท่องเที่ยว

ไม่ปิดโอกาสนำป๊อกกี้ต่อยอดกับแบรนด์อื่น

จากกลยุทธ์ในปีนี้ กูลิโกะตั้งเป้า เติบโต 2 หลัก ซึ่งถือเป็นการเติบโตก้าวกระโดดเพราะตลาดยังเติบโตแค่หลักเดียว นอกจากนี้ กูลิโกะไม่ได้ปิดกั้นการนำ ป๊อกกี้ไปร่วมกับแบรนด์อื่น ๆ หรือนำป๊อกกี้ไปเป็น ส่วนผสมสินค้าใหม่ ๆ เช่น เบเกอรี่

“ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงของการศึกษาว่าจะนำป๊อกกี้ไปต่อยอดอะไรได้บ้าง หลังจากที่ทำได้ทำเมนูเครื่องดื่ม ซึ่งอะไรที่เป็นโอกาสเราก็ไม่ได้ปิดกั้น เพราะเราเองก็มีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจหลายราย ถ้ามันมีโอกาสเราก็อาจจะไปร่วมด้วย เพราะเราก็อยากไปอยู่ในทุก ๆ อณูของผู้บริโภค”