3 ทริคควรรู้ ก่อนเริ่มต้นลงทุน

โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO จาก Jitta Wealth

ในโลกที่หมุนเร็วอย่างทุกวันนี้ การเข้าถึงเรื่องของการเงินการลงทุนแทบไม่มีอุปสรรคใดมาขวางได้ ผมเชื่อว่าผู้บริโภคหลายคนก็มีความสนใจและมองหาโอกาสลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีหรือที่เรียกว่า ‘ให้เงินทำงาน’

และแม้ว่าจะมีแอปพลิเคชันใหม่ๆ ออกมามากมายให้เลือกลงทุน แต่หลายคนก็ยังจดๆ จ้องๆ เพราะยังมีความรู้สึกลังเล กล้าๆ กลัวๆ ไม่แน่ใจว่าจะลงทุนอะไร อย่างไรดี สินทรัพย์ใด จะเหมาะสมกับความเสี่ยงที่เรารับได้จริงๆ หรือลงทุนเมื่อไร ให้ผลตอบแทนคุ้มค่า

ก็ไม่แปลกนะครับขึ้นชื่อว่าการลงทุน เราทุกคนอยากเห็นผลตอบแทนจากเงินที่นำไปลงทุน มากกว่าความเสียหายหรือเงินที่ลงทุนไปสูญเปล่า แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเราเองมีความพร้อมแค่ไหน และควรเอาเงินส่วนไหนมาลงทุนให้เหมาะสมและไม่เสี่ยงมากเกินไป เพื่อไม่ให้กระทบกับความมั่นคงในชีวิตการเงิน รวมไปถึงความมั่นคงของครอบครัวในอนาคต

วันนี้ผมอยากชวนทุกท่านมาเช็คความพร้อมก่อนการลงทุนกันด้วยวิธีง่ายๆ ลองทำความเข้าใจดูก่อนได้ครับ

Photo : Shutterstock

ข้อที่ 1: อย่าเพิ่งเริ่มลงทุน ถ้ายังออมเงินไม่เป็น

ในชีวิตของเราแทบทุกคน ย่อมจะมีเหตุการณ์หนึ่งที่ทุกคนจะต้องเจอเหมือนกัน คือเมื่อวันหนึ่งวันนั้นมาถึง วันที่พวกเราจะต้องเลิกทำงาน หรือที่เรียกว่าเกษียณอายุนั่นเอง บั้นปลายชีวิตแต่ละคนแตกต่างกันไปแน่นอนครับ เพราะความรู้และการเตรียมความพร้อมที่แตกต่างกัน

บางคนเตรียมตัวดี มีเงินเก็บไว้ใช้ก็ไม่ลำบาก แต่บางคนกลับไม่มีเลย ผมเชื่อว่าอย่างหลังเนี่ย หลายคนกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง จริงไหมครับ ผมไม่อยากเห็นคุณเอาแต่กลัวนะครับ ก่อนอื่น​ก่อนจะเริ่มต้นลงทุน ผมอยากให้คุณลองจัดระเบียบการเงินให้เป็นก่อน

เริ่มที่การดูแลกระแสเงินสด (cashflow)ให้เป็นบวกก่อนนะครับ

กระแสเงินสดหรือจะเรียกว่าสภาพคล่องที่มาในรูปแบบของเงินเก็บก่อนนะครับ เพราะถ้าคุณเริ่มต้นจากกระแสเงินสดติดลบ​ สภาพคล่องตึงตัว การลงทุนนั้นจะกลายเป็นการพนันทันที เพราะเราจะลงทุนด้วยความรู้สึกว่าอยากได้กำไรเร็วๆ กำไรเยอะๆ โดยไม่สนปัจจัยอื่นๆ เลย

แล้วคุณจะต้องทำอย่างไรให้มีเงินเก็บ…

คำตอบเดียวคือ ‘เก็บ’ สร้างวินัยให้กับการออมเงินเท่านั้นครับ

อาจจะตั้งระบบตัดจ่ายอัตโนมัติเช่น 10% ของรายได้ ไปเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากดิจิทัลดอกเบี้ยสูง หรือฝากประจำก็ได้ หรือแบ่งเงินเป็นสัดส่วนตั้งแต่ต้นเมื่อมีรายได้เข้ามา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ‘ขอแค่ให้เริ่ม‘ เท่านั้นครับ หลักการนี้คือเรื่องของ ‘วินัย’ ที่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออมเงินหรือการลงทุนก็ต้องใช้หลักการนี้เช่นเดียวกัน

Photo : Shutterstock

ข้อที่ 2:  อย่าเพิ่งลงทุนถ้ายังไม่มี ‘ความรู้’

เพราะว่าความรู้ (Education) เป็นตัวเร่งให้เราได้รู้จักตัวเอง วางเป้าหมายปลายทาง และเรียนรู้เครื่องมือที่จะพาไปถึงเป้าหมายได้อย่างถูกต้องและไม่หลงทาง ยิ่งถ้าหากคุณสามารถทำความเข้าใจธรรมชาติของเครื่องมือ คุณก็จะลงทุนได้แบบไม่ต้องกังวล

เหมือนอย่างตลาดหุ้น ในระยะสั้นย่อมมีความผันผวน เหวี่ยงขึ้น เหวี่ยงลงเป็นระยะ แต่เมื่อคุณถอยออกมามองภาพใหญ่ มองระยะยาวจะเห็นได้ว่า ตลาดหุ้นมักจะเป็นขาขึ้นมากกว่าขาลงเสมอๆ

แต่อย่าเป็นเด็กเรียนมากไปนะครับ บางคนมีความเชื่อว่า ก่อนจะลงทุนได้ก็ต้องมีความรู้เรื่องธุรกิจก่อน ถึงจะเริ่มต้นลงทุนได้ แต่ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องรู้ทั้งหมดก็เริ่มต้นได้ครับ เพราะถ้าต้องรู้ทั้งหมด คุณก็จะไม่มีวันได้ลงทุนอย่างแน่นอน ค่อยๆ ลงทุนไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้น่าจะดีกว่าครับ

ข้อที่ 3: มองการลงทุนให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

ลงทุนทั้งที ต้องรู้สึกเป็นหุ้นส่วน มองว่าคุณเป็นเจ้าของหุ้นหรือธุรกิจนั้นๆ ให้คิดว่าคุณจะทำอย่างไรให้ธุรกิจที่เราลงทุนเติบโต มีรายได้ดี สร้างกำไรให้กับคุณ และอะไรส่งผลกระทบกับธุรกิจของคุณบ้าง มากกว่าการหวังแค่เสี่ยงโชค แบบซื้อหุ้นแล้วจะอธิษฐานให้ธุรกิจเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ

ก่อนจะเลือกลงทุนในสักบริษัทคุณจะต้องเข้าใจ 4 สิ่งนี้ด้วยกัน

  1. มีความรู้พื้นฐานด้านการเงินพอที่จะอ่านงบการเงินเป็น
  2. รู้จักสินค้าและโมเดลธุรกิจของบริษัทที่เราลงทุน
  3. เข้าใจความเสี่ยงของบริษัท
  4. รู้จักปัจจัยภายนอกทั้งการเมือง เศรษฐกิจ หรือสภาพสังคมไว้บ้าง
Property investment and mortgage financial concept.

ซึ่งเดี๋ยวนี้ ยิ่งมีเทคโนโลยีเข้ามา ทำให้การลงทุนนั้นง่ายกว่าเดิม อย่างเช่นงบการเงินย้อนหลัง ที่คุณสามารถดูได้บนเว็บไซต์ต่างๆ ที่มีให้เลือกมากมาย และบางแห่งสามารถเปิดดูได้ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถืออย่างของ Jitta.com เองก็มีข่าวสารข้อมูลของบริษัททั่วโลกให้คุณเข้ามาดูได้อย่าง real-time ช่วยให้คุณเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายมากขึ้นและสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วทันเวลา

เท่านี้คุณก็มีพื้นฐาน​ความรู้และเครื่องไม้เครื่องมือเพียงพอที่จะเลือกได้แล้วว่าคุณจะลงทุนในกิจการของบริษัทใดบ้าง ซึ่งหลังจากเลือกและลงทุนไปแล้ว สิ่งต่อไปที่คุณต้องมีคือ ‘วินัย’ ลงทุนไปเรื่อยๆ ไม่เดาตลาดหุ้น และต้องทบทวนและปรับพอร์ตให้เป็นระบบ

‍‍สุดท้ายแล้ว เวลาที่ดีที่สุดในการลงทุนก็คือ ‘วันนี้’ เริ่มตั้งแต่ตอนนี้ ก่อนจะสายเกินไป เพราะฤกษ์ดีคือเลิกรอนะครับ ส่วนความกลัว ผมบอกได้เลยว่ามันกำจัดง่ายมาก ด้วยการลงมือทำและเรียนรู้ไปกับมันด้วยสติครับ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขและประสบความสำเร็จในโลกการลงทุนนะครับ