ต้องเรียกว่าเป็นปรากฏการณ์สำคัญในวงการไอทีโลก เมื่อ 32 บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของโลกพร้อมใจยื่นสรุปคำร้องต่อศาลสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนแอปเปิล (Apple) ให้สามารถต้านทานคำสั่งปลดล็อกไอโฟนที่เอฟบีไอหวังว่าจะสามารถคลี่คลายคดีก่อการร้ายซานเบอร์นาดิโน โดยสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังต่อสู้กับอุตสาหกรรมไอทีอเมริกันทั้งระบบ
บริษัทที่ร่วมสนับสนุนแอปเปิลนั้นมีทั้งบริษัทอินเทอร์เน็ต บริษัทเครือข่ายสังคม และบริษัทเจ้าของเทคโนโลยี โดยทั้งหมด 32 บริษัท ตัดสินใจยื่นสรุปคำร้อง 2 ฉบับต่อศาลแขวงรัฐบาลกลางสหรัฐฯ รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ตามเวลาในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นศาลที่ออกคำสั่งบังคับให้แอปเปิลช่วยสหรัฐฯ ในการสอบสวนคดีก่อการร้ายซานเบอร์นาดิโน ด้วยการปลดล็อกโทรศัพท์ไอโฟนรุ่น 5C ของซายเย็ด ฟารุก (Syed Farook) วัย 28 มือกราดยิงผู้เคราะห์ร้ายจนมีผู้เสียชีวิต 14 คน
สรุปคำร้องจากกองทัพบริษัทไอทีนี้ไม่ได้ระบุถึงคดีความระหว่างแอปเปิล และเอฟบีไอโดยตรง แต่เป็นสรุปคำร้องถึงที่ปรึกษาศาลผู้ไม่มีส่วนได้เสียในคดี หรือ “amicus curiae” ซึ่งหวังเป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการพิจารณาคำสั่งศาลต่อแอปเปิลในอนาคต
ก่อนหน้าสรุปคำร้องทั้ง 2 ฉบับ เหล่าอาจารย์กฎหมาย นักเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ รวมถึงกลุ่มองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ล้วนแสดงจุดยืนเคียงข้างแอปเปิล และไม่เห็นด้วยต่อคำสั่งที่ศาลใช้อำนาจจากกฎหมาย All Writs Act ที่มีอายุมากกว่า 227 ปี ในการบังคับบริษัทอื่น หรือบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องต่อคดีให้ร่วมมือช่วยเหลือการไขคดีโดยไม่มีข้อแม้
สิ่งที่บริษัทไอทีอเมริกันยอมรับไม่ได้คือ คำสั่งศาลที่บังคับให้แอปเปิลสร้างซอฟต์แวร์พิเศษสำหรับเจาะระบบปฏิบัติการของบริษัท เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถหาเบาะแสเพิ่มเติมจากโทรศัพท์ไอโฟนของผู้ก่อการร้าย คำสั่งนี้ถือว่าล้ำเส้นเกินว่าการบังคับบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือให้ดักฟังการสนทนาของผู้ร้ายซึ่งเคยเกิดขึ้นตลอดหลายยุคสมัย และการล้ำเส้นนี้ยังแสดงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นในวงการไอทีอนาคต
อันตรายนี้อยู่ในรูปความกังวลว่า นับจากนี้ใครๆ ก็สามารถบีบให้บริษัทไอทีเจาะระบบตัวเองเพื่อดึงข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า และไม่เพียงบีบบังคับ โอกาสที่ระบบนี้จะตกไปอยู่ในมือของผู้ร้ายยังมีสูงเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ทำให้สรุปคำร้องความยาว 34 หน้า ถูกยื่นต่อที่ปรึกษาศาลในนามบริษัท AirBnB, Atlassian, Cloudfare, eBay, Github, Kickstarter, Linkedin, Mapbox, Meetup, Reddit, Square, Squarespace, Twilio, Twitter และ Wicker
ยังมีสรุปคำร้องอีกฉบับความยาว 31 หน้า ที่ถูกยื่นในนามบริษัท Amazon, Box, Cisco, Dropbox, Evernote, Facebook, Google, Microsoft, Mozilla, Nest, Pinterest, Slack, Snapchat, WhatsApp และ Yahoo ซึ่งล้วนต่อต้านกฎหมายชื่อ All Writs Act ที่อาจไม่เหมาะสมต่อสภาพสังคมดิจิตอลในปัจจุบัน
เหล่าบริษัทไอทีเหล่านี้เรียกร้องว่า วุฒิสภาสหรัฐฯ ต่างหากที่ควรพิจารณา และระบุให้ชัดว่ากฎหมาย All Writs Act นี้ควรมีอำนาจเมื่อใด ไม่ใช่ศาล
นอกจากนี้ ยังมี Intel และ AT&T ที่ยื่นสรุปคำร้องแยกต่างหากบนใจความใกล้เคียงกัน
ทั้งหมดนี้สรุปว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เพียงกำลังต่อสู้กับแอปเปิล แต่ศึกครั้งนี้เป็นการกรีธาทัพของเหล่าขุนพลในวงการไอทีอย่างชนิดที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์นับครั้งได้