ความพร้อมของ Fuji ทั้งในเรื่องการทำให้ได้มาซึ่งภาพ (picture taking) การพิมพ์ภาพ (making) และการเก็บภาพ (Filing) ก่อให้เกิดยุทธศาสตร์ใหม่ที่เรียกว่า total connectivity ซึ่งจะรวมความเชี่ยวชาญที่ Fuji มีทุกจุดเข้าด้วยกัน
หลังจากที่ต้องเลียแผลจากวิกฤติทางเศรษฐกิจมา 4-5 ปี กลับมาคราวนี้ Fuji ได้มาพร้อมกับการสร้าง positioning ใหม่ ด้วยการเป็น The Best of Imaging Technology จาก Positioning เดิมที่เน้นเรื่องของสีสันสดใส สำหรับวัยรุ่น
ภาพยนตร์โฆษณาที่เป็น thematic ของ Fuji ได้บ่งบอกถึงการวาง 2 positioning ในเวลาเดียวกันของ Fuji ที่มีความพร้อมทั้งการอัดล้างรูปด้วยฟิล์มและดิจิตอล โดยภาพยนตร์โฆษณาเรื่องนี้ต้องการสื่อออกไปแค่เพียงว่า Fuji เก่งที่สุดในเรื่องของ Imaging มีเทคโนโลยีที่พร้อมรองรับ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีทั้งในแง่ของ Consumer ที่ชื่นชอบ Fuji มากขึ้น และภาพลักษณ์ในสายตา dealer ที่เห็น Fuji จริงจังกับการทำตลาด
มนัส กนกภัยพิพัฒน์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท ฟูจิ โฟโต้ ฟิล์ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สำหรับ Fuji การสร้าง Positioning ของตัวเองไม่ใช่มายา ต้องตั้งอยู่บนความเป็นจริง เพราะฉะนั้นถ้าความเป็นจริงของคุณดีอยู่แล้ว คนเข้าไปใช้บริการก็บอกต่อไปปากต่อปาก ไม่จำเป็นต้องสร้างภาพ แต่การทำวิธีนี้อาจจะช้าสักหน่อย
การสื่อภาพลักษณ์ การทำตลาดจะทำควบคู่กันไปทั้งฟิล์มและดิจิตอล ซึ่ง Fuji มีความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยีและอุปกรณ์ของทั้ง 2 สายการผลิต หากการทำโฆษณาจะพูดตลาดฟิล์มอย่างเดียวคนก็จะไม่ซื้อกล้องดิจิตอลของ Fuji แต่ถ้าพูดถึงดิจิตอลอย่างเดียว หรือประกาศยกเลิกไม่ทำม้วนฟิล์มแล้วคงเป็นไปไม่ได้ เพราะยังมีกล้องฟิล์มอยู่ในตลาดอีกหลายสิบล้านตัว ซึ่ง Fuji จะเลิกผลิตม้วนฟิล์มก็ต่อเมื่อไม่มีคนใช้ ส่วนทางด้านกล้องฟิล์มปัจจุบันยังทำรายได้ให้ Fuji อยู่
แม้ว่าตลาดม้วนฟิล์มจะมีรายได้ลดลง 5-10% ก็ยังสามารถขายได้ 12-13 ล้านม้วนต่อปี ซึ่งมูลค่าของตลาดรวมยังอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท โดย Fuji มีส่วนแบ่งอยู่ในตลาดม้วนฟิล์ม 38-39% ซึ่งทำรายได้ให้กับบริษัทได้ถึง 400-500 ล้านบาท
โฆษณาของ Fuji จะมีลักษณะของ consumer touch ซึ่งเป็นเสน่ห์ของ Fuji รูปแบบโฆษณาของฟูจิส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะนี้ ไม่ได้เน้นไปทางด้านเทคโนโลยี เพราะผู้บริโภคจะเข้าใจยาก
การปรับตัวในส่วน lab ฟิล์มมาเป็น lab ดิจิตอล เป็นแนวโน้มกระแสโลก ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีของ computer และ communication ที่ได้มีการรวมตัวกันแล้วเกิดภาพที่เปลี่ยนไป ซึ่งผู้ที่อยู่ในวงการนี้ไม่ว่าจะเป็น Kodak, Fuji, Agfa หรือ Konica ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน โดยผลผลิตของการรวมตัวกันของเทคโนโลยีไปเป็นดิจิตอล ทำให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ขึ้นมามากมาย
เทคโนโลยีของกล้องดิจิตอลที่เป็นไปตามกระแสโลก มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากโทรศัพท์ติดกล้องในประเทศญี่ปุ่น ในปีแรกมีแค่ 6 ล้านเครื่อง แต่ในปีที่ 2 กระโดดขึ้นเป็น 35 ล้านเครื่อง ซึ่งคนไทยมีการปรับตัวรับเทคโนโลยีจากญี่ปุ่นรวดเร็วเช่นกัน โดยกล้องดิจิตอลในเมืองไทยปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ 4 แสนตัว เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีเพียง 2 แสนตัว ซึ่งขนาดตลาดของกล้องดิจิตอล ในขณะนี้ใหญ่กว่ากล้องฟิล์ม
lab สี ซึ่งรับอัดล้างภาพจากฟิล์มมีอยู่ประมาณ 2700 แห่งทั่วประเทศ ในปัจจุบัน Lab สี 600 กว่าแห่งได้เปลี่ยนมาเป็น Lab ดิจิตอล ที่รับอัดภาพจากทั้งฟิล์มและกล้องดิจิตอลอย่างสมบูรณ์แบบ จึงเกิดภาพของการเกื้อกูลกัน จากแต่ก่อนถ้าถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอลไม่รู้ว่าจะไปอัดล้างภาพได้ที่ไหน แต่เวลานี้มี Lab ดิจิตอลที่รับพิมพ์ภาพได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ ได้คุณภาพเหมือนกัน อัดภาพได้จำนวนมากขึ้น แต่จ่ายเท่าเดิม เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปทั้งหมดเพื่อให้ได้ภาพจากฟิล์ม 1 ม้วน ซึ่งจุดนี้ทำให้อัตราเร่งของการเปลี่ยนไปเป็น lab ดิจิตอลเกิดขึ้นเร็วมาก
ยุคของ lab ดิจิตอลของ Fuji เกิดขึ้นเมื่อปี 1999 ด้วยการเปิดตัวเครื่อง digital mini lab ในชื่อ Frontier ขึ้น ซึ่งในปีแรกขายเครื่องไปได้ประมาณ 40 ตัว จนกระทั่งปีที่แล้ว เป็นปีที่ดีมาก ๆ ปีหนึ่ง โดยได้ติดตั้งเครื่อง Frontier ไป 147 ตัว โดยปัจจุบันมีร้าน lab สีที่ใช้เครื่อง Frontier ประมาณ 400 แห่ง ถือว่าเป็นอันดับ 1 ในตลาดเมืองไทย มีส่วนแบ่งทางการตลาดด้านร้าน lab ดิจิตอลประมาณ 60% จากตลาดรวมของ lab ดิจิตอลที่อยู่ประมาณ 600 แห่ง
มนัส กล่าวว่า การเปลี่ยนไปเป็นร้าน lab ดิจิตอลต้องลงทุนในส่วนของเครื่อง Frontier ประมาณ 4 ล้านบาท ซึ่งการปรับเปลี่ยนในยุคนี้นั้นถือว่าใครลงทุนก่อนได้เปรียบ คืนทุนเร็ว เพราะจำนวน lab ดิจิตอลยังคงน้อย การแข่งขันจึงยังไม่รุนแรง ปริมาณงานที่มาจากกล้องดิจิตอลมีเป็นจำนวนมาก ในขณะที่การล้างภาพจากฟิล์มตกลงประมาณปีละ 5-10% ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ลงทุนเพิ่มเป็นคนรุ่นใหม่
แต่ในขณะเดียวกันกล้องดิจิตอลได้สร้างผลกระทบให้ตลาดกระดาษเติบโตขึ้น โดย Fuji มีรายได้จากกระดาษสูงขึ้น 25-30% ต่อเนื่องมา 2 – 3 ปี นั่นเป็นเพราะกล้องดิจิตอลไม่ได้จำกัดจำนวนภาพไว้ที่ 36 รูปเหมือนกล้องฟิล์ม เมื่อมีการถ่ายรูปมากขึ้น การอัดรูปก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
ถ้าเศรษฐกิจไม่พังทลายเหมือนในอดีต จากนี้ไป 3 ปีจะเกิด lab ดิจิตอลขึ้นปีละประมาณ 250-300 แห่ง หากเกิดการเติบโตของ lab ดิจิตอลในอัตรานี้แล้ว ในอีก 4 ปีข้างหน้าตลาดของ lab ดิจิตอลจะเริ่มอิ่มตัว และถึงวันนั้นเทคโนโลยีด้าน lab ดิจิตอลอาจจะมีการหักเหอีกครั้ง
ร้าน lab ดิจิตอลในอนาคต นอกจากจะให้บริการล้างอัดภาพแล้ว มีแนวโน้มว่าจะเป็นศูนย์การขายกล้องดิจิตอล และอุปกรณ์เสริมของกล้องดิจิตอล ซึ่งสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับร้านค้าอีกทางหนึ่งด้วย
มนัส กล่าวเสริมอีกว่า ในตอนนี้เมืองไทยมี lab สีทั้งหมด 2,700 แห่ง แต่ที่เป็น lab ดิจิตอลมีประมาณ 600 แห่ง เหลืออีก 2,000 แห่ง ซึ่งการจะเปลี่ยนไปเป็นดิจิตอลทั้งหมดนั้นไม่น่าเป็นไปได้ ในที่สุดแล้วน่าจะเหลือร้าน lab ที่ให้บริการเหลืออยู่ประมาณ 1,500 แห่ง ซึ่งทั้งหมดนี้ได้เปลี่ยนไปเป็น Lab ดิจิตอลแล้ว ส่วนที่เหลือคือร้านที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็จะอยู่อย่างไม้ตายซาก หรือออกจากธุรกิจไป ซึ่งจะเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของวงการ lab
ใน model ใหม่ที่เป็นดิจิตอล อาจจะมีแค่เคาน์เตอร์รับงาน เก็บเงิน แต่ส่งภาพไปล้างที่อื่นด้วยการส่งรูปที่เป็นไฟล์ดิจิตอลไปทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือระบบ Network ที่ต่อเชื่อมกันไว้ เมื่อล้างเสร็จก็นำรูปไปส่งให้ จากนั้นหน้าเคาน์เตอร์ก็เก็บเงิน อนาคต model นี้จะเกิดขึ้น และกลายเป็นระบบ Network มากขึ้น เมื่อในเมืองไทยมีระบบโครงสร้างพื้นฐานพร้อม และบรอดแบรนด์อินเทอร์เน็ตมีการใช้งานอย่างแพร่หลาย ซึ่งทำให้จำนวน lab จะลดลง แต่มี Network Lab เพิ่มขึ้น
ในขณะเดียวกันร้าน franchise ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และ Telecommunication จะต้องให้บริการพิมพ์ภาพในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ร้านเหล่านี้จะต้องปรับตัว เพราะกระแสการมาของ PDA phone และมือถือติดกล้องมาแรง เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะนี้แล้ว แม้ว่าจำนวน lab จะลดลง แต่จุดให้บริการยังคงครอบคลุมเหมือนเดิม
กลยุทธ์ที่ Fuji เน้นคือการทำได้ทุกอย่าง มี connectivity และพยายามที่จะ synergize ระหว่างกล้องดิจิตอล กับร้าน lab ดิจิตอล โดยได้เตรียมเงินลงทุนด้านภาพยนตร์โฆษณาในลักษณะ thematic อย่างเดียว 50 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งมีแผนจะมีการลงทุนสำหรับภาพยนตร์โฆษณาลักษณะนี้ 3 ปีต่อเนื่องกัน เพื่อให้คนจำภาพ Fuji ที่เป็น positioning ใหม่ได้ โดยงบประมาณด้านการตลาดทั้งหมดในปีนี้ที่ Fuji ใช้ในการส่งเสริมการขายและการลงโฆษณาทั้งหมด 240-250 ล้านบาท
“ในปีนี้ Fuji ตั้งเป้ารักษาส่วนแบ่งการตลาดด้าน lab ดิจิตอลเอาไว้ที่ 60% เท่าเดิมจากปีที่แล้ว ม้วนฟิล์มน่ามีส่วนแบ่งขยับเพิ่มขึ้นอีก 1-2% และกระดาษอัดภาพสีน่าจะขยับขึ้น 3-4%” มนัสกล่าวสรุป