Talk of the Town บทพิสูจน์ความฟลุก หรือการจัดการ

เป็นการยากที่รายการโทรทัศน์ใดๆ จะสามารถนำพาตัวเองเข้าสู่รูปของ “Talk of the Town” ในด้าน Television Program มีกรณีที่บางรายการเคยทำได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็จากไปอย่างรวดเร็ว

“Academy Fantasia” ถือเป็นรายการ “Reality Show” หนึ่งในห้าที่เรื่องที่ยูบีซีนำเข้ามาในประเทศ โดยเรื่องนี้สามารถปิดดีลได้ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส โดยเป็นการซื้อ License ของรายการในประเทศเม็กซิโกที่ชื่อ “La Academia”

ในเชิงรายการ Trend รายการแบบ Reality Show เกิดขึ้นมาแล้วประมาณ 5-6 ปี และกำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน UBC นำ The Bachelor และ America’s Next Top Model มาเริ่มทดสอบตลาดก่อนเบื้องแรกก่อนให้คนดูชิน ก่อนปล่อยหมัดเด็ด

โดยภาพรวมการปรับตัว เพื่อการสร้างรายการที่ผลิตเองในประเทศ (Local Content) ก็เป็น 1 ในความพยายามของUBC ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว จากรายการ Inside, Channel V หรือ MTV (Thailand) ที่มีแค่สัดส่วนประมาณ 10 % เป็นผลทางความคิดใหม่เพื่อกรุยทางรูปแบบรายการที่ผลิตขึ้นโดยคนไทย

“พอถึงปีนี้ เราดูโจทย์ที่เราเห็นมาแล้วอย่าง Reality เราเริ่มเอามานำร่องให้คนไทยดูก่อน เพราะฉะนั้นเรื่องของ Reality TV ก็อยากจะปรับให้เป็นเรื่องของคนไทยเหมือนกัน ไปคุยกับหลายเจ้า… แต่ว่าก็ไม่รู้สึกว่าจะมีรายการไหนที่เข้ากับคนไทย เราคิดว่าควรมี format ที่ทำให้ไม่น่าจะรู้สึกว่าเป็นฝรั่งจ๋า” อรรถพล ณ บางช้าง Director of Programming ของ UBC มองว่าประสบการณ์ที่เคยเป็นมาสอนให้รู้ว่ารายการโทรทัศน์ มีความอ่อนไหวในเชิงวัฒนธรรมสูงมาก

แม้ว่าจะพบ “La Academia” เป็นรายการที่มีอยู่ในตลาดนานแล้ว แต่ยูบีซีไม่ได้รีบตัดสินใจที่จะซื้อรายการเมื่อครั้งแรกที่เจอ แต่กลับรอให้ มาเลเซีย ซื้อลิขสิทธิ์ไปเช่นกันเริ่มต้น และหลังจากนั้นความสำเร็จในระดับเรตติ้งที่ 52% ในอินโดนีเซียเพื่อนบ้าน เป็นตัวทำให้อรรถพร หันมาดูรายการนี้อย่างจริงจัง

“พอได้คุย ก็รู้สึกว่าค่าอะไรๆ ต่างๆ มันแพงมาก ค่าสร้างบ้าน ค่าฝังกล้อง ซึ่งเราก็รู้มาแล้วจากรายการ Big Brother ที่สร้างที่อเมริกามาแล้วประมาณ 3 ปีว่าต้องจ่ายระดับนี้”

“Big Brother” เป็นรูปแบบรายการที่เอาคนเข้าไปอยู่ในบ้านประมาณ 3 เดือน 24 ชั่วโมง ผสมกับรายการอย่าง “Pop Idol” ที่มีรายการนำร่องแบบนี้ในบ้านเราก็คือ “The Star” และเริ่มที่จะประสบความสำเร็จให้เห็น

“เมื่อเราคิดว่าเราทำได้ บอกเขาว่าเป็นสเกลที่ใหญ่ กรรมการก็ประชุมกัน แล้วเขาโอเคบอกว่าทำกัน”

ลิขสิทธิ์ของรายการนี้ สร้างสูตรความดังแทบจะเกือบทุกทวีป อันมีชื่อหลากหลายในต่างประเทศอย่าง BBC กับชื่อ “Fame Academy” หรือ ชื่อ “Fantasy Academy” ในมาเลเซีย และอินโดนีเซีย และในควีเบคกับ “Star Academy” ที่ว่ากันว่ามีคัมภีร์รับประกันความดังจากรายการต้นตำรับ มาเตือนกันเนิ่นๆ ว่าควรรับมือความดังกันไว้ล่วงหน้า

“เวลาเราตกลงซื้อก็จะจ่ายเงินค่า License และจะให้ไบเบิ้ลมาบอกว่ามีองค์ประกอบในรายการอะไรที่สำคัญ มีลิสต์ขององค์ประกอบที่ควรจะเป็น”

เหตุการณ์ที่ย้ายวิกส่งไปที่อินดอร์สเตเดี้ยมหัวหมาก เพื่อรองรับแฟนเพื่อนที่แห่แหนไป 4000 กว่าคน แม้สถานที่จะรองรับได้เพียง 3500 คน ก็เป็นหนึ่งในโปรแกรมดูดวงความดังของรายการที่ว่ามา

“ตามไบเบิลเขาบอกว่าหลังจากสัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไปแล้วคนจะเริ่มขึ้น ตอนนี้สัปดาห์ที่ 6 เขาบอกให้เตรียมย้ายได้ วันแรกในสตูดิโอมีคนดูกัน 300 ที่นั่ง ตอนนี้เป็น 800 คน รวมคนยืน สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นคือขายตั๋วในตลาดมืด เพราะทุกที่บัตรจะแจกฟรีเหมือนกันหมด”

รูปแบบรายการ Reality Show ถ่ายทอดสด 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 63 วัน ต่อเนื่อง เป็นรูปแบบรายการ (local production) ที่ในประเทศยังไม่มีใครทำ… เงินก้อน 100 ล้านจึงเป็นความท้าทายแบบที่วัดใจ กันระหว่างทั้งผู้ลงเงินและลงแรงอย่าง Indy Production House เมื่อตอนที่ใครก็ยังไม่รู้ว่าอะไรคืออะไร!!!

และแน่นอนว่า เม็ดเงินที่มากกว่าครึ่งของเงินทั้งหมด ตามกลยุทธ์ขายฝัน ยูบีซีย่อมเลือกลงไปที่ด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ มากกว่า กระบวนการผลิต เพราะเป้าครั้งนี้หวังที่จะดึง “คนดูในอนาคต” เป็นประเด็นหลัก

STRATEGIC PROGRAMMING

เมื่อ UBC เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องสร้าง Local Content ให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจุดยืนการแข่งขันกับฟรีทีวีในขณะนั้น ก็เพื่อสร้างความแตกต่างนั้นได้ผ่านการพิสูจน์ตัวเองมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว

การมุ่งที่จะ Differentiate จึงเริ่มจะหมดไปเมื่อรายการของฟรีทีวี 90% จะเป็นรายการในประเทศ แต่ตัวเลขเดียวกันของยูบีซีนั้นเป็นรายการต่างประเทศทั้งหมด เพราะเหตุผลสำคัญคือ “ทำกันคนละขั้วเพื่อที่จะให้คนรู้สึกว่าคนที่ไม่มีรายการดูก็จะมาซื้อยูบีซีดู แต่พอทำไปถึงจุดๆหนึ่ง ที่มองว่าอะไรที่มันเป็นไทยแล้วมันแตกต่างจากฟรีทีวีก็น่าจะเป็นตัวขายได้เหมือนกัน”

ในความเห็นของอรรถพล พอจบปีที่หนึ่ง รายการก็แค่เป็นตัวทำให้คนรู้จัก รายการปีที่สองและสาม นั้นจะดังกว่าปีที่หนึ่ง เพราะเมื่อคนที่รู้จักก็อยากจะดูอีก ในขณะที่เด็กๆ ที่จบไปในปีแรก จะเป็นแม่เหล็กดูดให้คนมาดูยูบีซี จากการที่จะกลายเป็นศิลปินในสังกัด เป็นนักร้อง นักแสดง พิธีกร ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ทอดๆ

หากมองกันในเชิงกลยุทธ์การเลือกเวลาลงสำหรับรายการนี้ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ก็ถือว่าเป็นการสร้างจุดแข็งเรื่องผังรายการ ที่เป็นช่วงว่างจากการพักของบอลพรีเมียร์ เป็นช่วงที่ไม่มี “จุดขาย” และยอดมักจะตกในช่วงเวลาดังกล่าว
ตามสถิติของยอดสมาชิก UBC ในช่วงเวลาเดียวกัน มีอัตราการเพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากเดือนเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว!!!

และเชื่อว่ายอดสมัครผู้เข้าแข่งขันในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 5-6 พันคน จากปีนี้แค่ 1 พันคน

หากมองดูรายการที่แบ่งไปตามแต่ละช่องของ UBC ทุกช่องทุกรายการจะมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนไม่ว่ารายการเด็ก รายการดนตรี รายการภาพยนตร์ และสารคดี แต่ตอนนี้ไม่มีรายการของยูบีซีเพียงรายการเดียวที่จับกลุ่มในแง่ของทุกกลุ่มอายุ… และ Academy Fantasia ก็เกิดขึ้น

ประเด็นนี้จึงกลายเป็น ”ปฏิบัติการล่าฝัน” ของยูบีซีของจริง

เราคงต้องรอดูกันต่อไปว่าบางครั้งรายการนำเข้าทั่วไป ก็เคยเป็นบทเรียนสะท้อนความเบื่อง่ายหน่ายเร็วของคนไทยได้อย่างได้ดี ซึ่งตอนนี้ก็มีรายการแนวๆล่าฝัน อย่าง The Star หรือ First Stage Show ตามออกมากันเรื่อยๆ ให้มาลองวัดใจกันว่า ใครคือจุดอ่อนที่ต้อง “กำจัด” ในปีหน้า

ย้อนรอยความล้มเหลวของ Reality Game ในไทย

รายการเกมชีวิต เป็นรายการแนว Reality Game แนวคิดหลักก็คือ การนำคนบุคลิกต่างๆ กันจำนวน 10 คนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน มาร่วมกันบริหารธุรกิจ ซึ่งทางรายการเป็นผู้กำหนดให้ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องบริหารธุรกิจนั้นๆ ให้มีกำไร ออกอากาศทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เวลา 17.30-18.00 น. ช่อง 7

อาจจะด้วยบทโทรทัศน์ หรือรูปแบบรายการที่มีสิ่งเร้าและดึงดูดความสนใจน้อย กอปรกับ production ยังไม่ตอบสนองธรรมชาติของรายการ Reality Game ได้ ทำให้เกมชีวิตต้องปิดฉากลงในเวลาอันสั้น ถือเป็นบทเรียนอันน่าจดจำสำหรับกันตนา

หลังจากนั้นไม่นาน กันตนาแก้ตัวด้วย “SURVIVOR เกมคนจริง” เป็นการซื้อลิขสิทธิ์ Reality Game ยอดฮิตที่มี success story ระดับโลก และได้รับความนิยมอย่างสูงในไทย (UBC เคยนำออกอากาศแล้ว) SURVIVOR เป็นเทปรายการจำนวนทั้งสิ้น 14 ตอน ด้วยค่าลิขสิทธิ์อันสูงลิบที่กันตนาไม่เปิดเผย ครั้งนี้ได้รับความสนใจพอสมควร แต่ไม่ล้นหลามนัก

แม้ Academy Fantasia รุ่น 1 จะประสบความสำเร็จเกินคาดผิดแผกจากเกมชีวิต แต่สำหรับรุ่น 2,3 และ 4… UBC จะทำอย่างไรไม่ให้ AF (ชื่อที่ผู้ชมนิยมเรียกกันสั้นๆ) เป็นเพียงกระแสที่ “มาเดี๋ยวก็ไป”

อีกครั้งของ Reality Show ในฟรีทีวี

กิติกร เพ็ญไพโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอีซี-เทโร เอนเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) อดีตนักการตลาดมือฉมังของ UBC หวังจุดกระแสรายการ Reality Show ในฟรีทีวี เขาบอกว่า ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างทำ pilot เสนอช่อง 3 เลือกไว้ 3 รายการที่โด่งดังมาแล้วทั่วโลก หากช่อง 3 อนุมัติ ก็จะออกอากาศภายในไตรมาส 4 ของปีนี้หรือไตรมาส 1 ของปีหน้า

รายการ Reality Show 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สำหรับฟรีทีวีแล้วถือว่าไม่มากไม่น้อยจนเกินไป กิติกรกล่าวว่า “พออิ่ม” คนดูจะรู้สึกอยากติดตาม กระหายใคร่รู้ความเป็นไปในสัปดาห์หน้า และด้วยธรรมชาติของฟรีทีวีที่เข้าถึงคนดูในวงกว้าง ย่อมเป็นข้อได้เปรียบหนึ่งที่เคเบิลมิอาจทำได้

แม้จะมี asset ที่ต่างกัน แต่กิติกรเชื่อเช่นเดียวกับอรรถพล แห่ง UBC ว่า “จะประสบความสำเร็จ”