Fantasia Management

Bible ของ La Academia จากเม็กซิโก ถูกนำมาตีโจทย์ถ่ายทอดเป็นรูปธรรมโดย Indy (Thailand) ภายใต้การมอบหมายของ UBC เจ้าของ project

งานนี้นับว่า Indy (Thailand) สร้าง unique profile ให้กับตนเองได้สำเร็จ ด้วยการเป็น production house รายแรกที่ทำรายการ Reality Show 24 ชม.

profile ที่ดีก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ

Indy รับหน้าที่ผลิตรายการให้กับ UBC ทางช่อง 35 อยู่ 3 รายการ คือ X-room, Oops!, Tv Get กึ๋น ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี รวมถึงรายการ reality show เฉพาะกิจ “นกฮันท์” ซึ่งสรรหาแอร์โอสเตส สำหรับสายการบินนกแอร์

Indy ภายใต้การนำของภาสกร ภักดีกุล จึงแบกรับภาระนี้พร้อมกับงบประมาณด้าน production 30 ล้านบาท ด้วยความท้าทาย ด้วยความอึด ซึ่งภาสกรบอกถึงเหตุผลสำคัญที่ UBC เลือกใช้ Indy ว่า “คำว่าควายไม่ได้มาง่าย ๆ”

“ครั้งแรกที่คุณองอาจเรียกเข้าไปคุย ก็อึ้งๆ เพราะมันเป็นเรื่องใหม่ เรื่องแปลก 24 ชั่วโมงเลยเหรอ แล้วก็เกิดคำถามตามมาอีกร้อยแปด เฮ้ย รายการสด ๆ real time เลยนะ เล่นกับของจริง ควบคุมไม่ได้นะ แล้วกล้องมันจะไหม้มั้ย ใช้งานนานซะขนาดนั้น” แต่สุดท้ายเขาก็ตกปากรับคำโดยเชื่อว่าน่าจะทำได้

การเรียนรู้ด้าน production เพื่อรองรับ รายการ Reality Show 24 ชั่วโมง ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อนในเมืองไทย เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสสำหรับ staff ซึ่งต้องผลัดเวรกันกะละประมาณ 30 คน ส่วนหนึ่งเป็นคนของIndy เอง นอกจากนี้ภาสกรยังได้ไว้วานไปยัง D63 มาช่วยจัดการในเรื่องของฉากในบ้าน และฉาก เวทีคอนเสิร์ต รวมถึง The Studio Production ที่รับผิดชอบในเรื่องของภาพและกล้อง เป็น 3 ประสานด้าน production ที่อดตาหลับขับตานอนในตู้คอนเทนเนอร์ ข้างๆ club house สารินซิตี้ ด้วยกันตลอดระยะเวลาการแพร่ภาพ Academy Fantasia

“ไม่มีใครสอนเราได้ มันเป็นเรื่องใหม่ เอาเด็กจบใหม่มาทำก็ทำได้พอๆ กับคนที่มีประสบการณ์อยู่ก่อนแล้ว คือไม่รู้เหมือนกันว่า Reality Show 24 ชม.เขาทำกันยังไง ทุกคนเริ่มใหม่หมด” หัวเรือใหญ่ของ Indy กล่าวติดตลก

“เป็นการเรียนรู้มหาศาลจาก project นี้ แรกๆ จะขลุกขลักบ้าง แต่ซักพักก็เริ่มชิน สนุกที่ได้ตาม เพราะเราควบคุมไม่ได้ ต้องตามเลือกแง่มุมที่น่าสนใจมาเสนอคนดู ถึงจะเหนื่อย ทีมงานก็ต้องห่างบ้านห่างแฟน 2 เดือนไม่เห็น 7-eleven เลย มันเครียดเหมือนกันนะ ”

“ที่เห็นในจอ ส่วนใหญ่จะเป็นฉาก เพราะสารินเขาให้พื้นที่ club house โล่งๆ มา ฉากเฉิกต้องทำใหม่แต่ต้องให้ดูเนียน งบสร้างฉากก็กว่า 2 ล้านบาทเข้าไปแล้วไม่รวม prop ประกอบฉากอื่นๆ”

“เฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านผมเป็นคนเลือก เลือกสี แบบ ขนาด” ภาสกรบอก สีสันอันจัดจ้านและรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้าน สอดคล้อง เป็นไปในรูปแบบที่คล้ายคลึงเช่นเดียวกับรายการต้นแบบ La Academia เม็กซิโก และ Fame Academy ที่แคนาดา

“แต่จะว่าไปผมเป็นคนทำเกือบทั้งหมดเลย แทบทุกอย่าง ซื้อพรม ซื้อจาน Sofa ก็เลือกสีเลือกแบบเอง” แม้กระทั่ง trainer ชายหนุ่มผู้นี้ก็เป็นคนเลือก “เลือกจากความเด่นดังของครูที่มีอยู่แล้ว เลือกในสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดสำหรับเด็ก”

club house กลางป่าถูกแปรสภาพเป็นบ้าน แบ่งสัดส่วนออกเป็น 4 zone คือ zone A ห้องน้ำ ห้องนอน zone B ห้องนั่งเล่น zone C ห้อง Dance และ zone D เป็นส่วนของ ห้องเรียน สระน้ำ แต่ละ zone จะมีกล้องทั้งสิ้น 60 ตัว (เป็นกล้องที่ใช้สำหรับรายการ Reality Show โดยเฉพาะ ฝัง chip ข้างใน มีความแข็งแรง ทนทาน และภาพจากกล้องค่อนข้างคมชัด) คอยจับภาพความเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และจะเปลี่ยนมุมกล้องทุกอาทิตย์เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่

สนนราคากล้องเฉียดแสนบาทต่อตัว รวมๆ แล้วเกือบ 10 ล้านบาท…ไม่ได้ใช้งานเดียวทิ้ง แต่จะเป็นทรัพย์สินระยะยาวรองรับ Academy Fantasia โครงการต่อไป

“ที่เม็กซิโกมีกล้อง 48 ตัวก็ว่าเยอะแล้ว ของเราก็กะติดแค่ 50 ตัว แต่เอาไม่อยู่ เอ๊ะ มุมนี้ยังไม่มี 55 ตัวละกัน ก็ไม่ได้อีก พอเป็น 60 ตัว ก็โอเค จบไม่งั้นจะหยุดไม่ได้ ใช้เวลาติดก็ประมาณ 2-3 อาทิตย์ ที่ใช้เวลามากเพราะการติดตั้งค่อนข้างยุ่งยาก จะให้เห็นไม่ได้เลยว่าที่ไหนมีกล้องบ้าง ยกเว้นบริเวณห้องน้ำ ถ้าติดไว้ตรงไหนจะบอกเด็กๆ ให้ระวังตัวไว้จะได้ไม่โป๊”

นอกเหนือจากกล้อง 60 ตัวแล้ว ยังมี “ตัวช่วย” เพื่อเก็บรายละเอียดในมุมมองอื่นเพิ่มเติม ตัวช่วยที่ว่าคือ กล้อง XL 1s ของ Canon ที่ใช้ถ่ายทำรายการทั่วไป จำนวน 2 ตัว

ด้วยความสดทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นกว่าปกติ “บางครั้งเสียงแปลกๆ จะเข้ามาบ่อย identify ไม่ได้ เช่น อยู่ๆ มีเสียงจ๊อกๆ เข้ามา เอ๊ะเสียงอะไร หากันอยู่ตั้งนาน ปรากฏว่าเป็นเสียงฉี่ของน้องคนหนึ่ง เข้าห้องน้ำแล้วลืมปิดไมค์ ก็เป็นเรื่องขำ ๆ กันไป”

เมื่อถามถึงแนวโน้มความดังของ Academy Fantasia เขากลับให้คำตอบแตกต่างจาก อรรถพล ณ บางช้าง ว่า “ไม่รู้ว่ามันจะดัง รับประกันอะไรไม่ได้ทั้งนั้น success story อย่าง Weakesslink ในเมืองนอกก็ไม่สามารถ reference ในไทยได้”

“ตกใจเหมือนกัน ตั้งตัวไม่ติด เมื่อมีคนจับตามองมากขึ้น จึงต้องทุ่มเทเต็มที่ คิดหาอะไรใหม่ๆ มาไม่ให้คนดูเบื่อ”

ลูกเล่นแพรวพราวถูกหยิบมาใส่ให้เรื่องราวมีสีสันมากขึ้น นอกจากบรรดา trainer ขาประจำที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาถ่ายทอดความรู้แล้ว หลังๆ เริ่มปรากฏดีไซเนอร์มาดูแลให้คำแนะนำทรงผม การแต่งตัว มีนักร้องจากเมืองนอกมาพูดคุย สอน tactic ต่างๆ (ที่หลายคนอาจงงงวยไม่รู้จักว่าคือใคร) หรืออีกนัยหนึ่งมาโปรโมตวงผ่านรายการที่กำลังอยู่ในกระแส การปรากฏกายของคนดัง เคยดัง และกำลังมีวี่แววว่าจะดัง ทั้งใน Academy และในวันแสดงคอนเสิร์ตก็เช่นกัน เสมือนเป็นการป่าวประกาศถึงความมีตัวตนในโลกบันเทิงของพวกเขาเหล่านั้นสู่สังคมว่า “ชั้นยังอยู่-ชั้น in trend”

ผลประโยชน์ตกอยู่กับผู้เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม…อย่างรอบด้าน

Profile

จุดเด่นของ Indy (Thailand) “เป็นเพราะเราอึดจริงๆ ใช้แล้วสะดวกสบายใจว่ามันคงไม่เป็นอะไร”

Producer พันธุ์อึด – ภาสกร ภักดีกุล

ปริญญาตรี นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จากนั้นข้ามฟ้าไปศึกษาต่อด้าน Director ที่ออสเตรเลีย
ก่อนจะมาร่วมงานกับ Mediaplus, Smile radio และ คีตา และตั้งบริษัท Indy (Thailand) เมื่อ 8 ปีที่แล้ว

สำหรับ Academy Fantasia โครงการ 2 Indy (Thailand) ยังมองว่าเป็นงานที่ท้าทาย “ถามว่าอยากทำก็อยากนะ แต่มันเหนื่อยยยยยย แรกๆ เรายังคลำทางไม่ถูก เวลาผ่านไปประสบการณ์ก็มีมากขึ้น เริ่มหาอะไรมา develop เรื่อยๆ แต่ถ้าไม่ได้ทำต่อก็คงไปเปิดบริษัทยาม (หัวเราะ)

“หากจะวัดผลความคุ้มค่าต้องดูว่าเป็นแง่ใด คุ้มค่าทางใจ คุ้มมาก แต่คุ้มค่าเงินในกระเป๋ามั้ย ไม่คุ้มนะ แต่มันทดแทนกันได้”