ปฏิบัติการล่าฝันของผู้ที่เข้ารอบทั้ง12 คน จะไม่สมบูรณ์แบบ หากขาดคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีหน้าที่พัฒนาความสามารถ และดึงเอาศักยภาพของทั้ง 12 คนออกมา ผ่านการแสดงสดคอนเสิร์ตในทุกเสาร์ และเตรียมความพร้อมเบื้องต้นสำหรับการเป็น “ศิลปิน” ในสังกัดของยูบีซีในอนาคต
“ครูฝึก” คือกลุ่มคนกลุ่มที่ว่านี้ รูปแบบของการฝึกฝนก็จะมีทั้งการฝึกขับร้อง การใช้เสียง โดย “ครูเจี๊ยบ” วรรธนา วีรยวรรธน “ครูกบ” นิมิตร จิตรานนท์ และ “ครูอิน” อินทิรา ยืนยง (อิน บูโดกัน) การฝึกเต้นที่มี ”ครูเป็ด” วาเนสซ่า กัณโสภณ รับผิดชอบ และการฝึกการแสดงที่มี 3 พี่น้องตระกูล “ศรัทธาทิพย์” ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์, ดวงหทัย ศรัทธาทิพย์, ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ เป็นผู้ดูแล
เบื้องหลังที่มาของครูฝึกต้องยอมรับว่าไม่ธรรมดา เพราะครูฝึกแต่ละคน แม้จะเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการ หากแต่บางคนก็ไม่คุ้นเคยกับคนทั่วไปนัก
ทีม POSITIONING ของเรามีโอกาสได้สัมภาษณ์กับ3 ครูฝึก อย่าง “ครูเป็ด” วาเนสซ่า กัณโสภณ, “ครูรัก” ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ และ “ครูกบ” นิมิตร จิตรานนท์ ในช่วงบ่ายของวันเสาร์ ระหว่างเตรียมการโชว์คอนเสิร์ตสดของ Academy Fantasia ครูทั้งสามได้ปลีกเวลามาให้ทีม POSITIONING ได้รู้ถึงเบื้องหลัง ที่มาและกระบวนการสอนใน Academy Fantasia
“ครูเป็ด” วาเนสซ่า กัณโสภณ นั้นก็จบการศึกษาหลักสูตร The Royal Ballet Academy of Dancing จากประเทศอังกฤษ มีประสบการณ์การออกแบบท่าเต้นให้กับ ธงไชย แมคอินไตย , คริสตินา อาร์กีล่า, เจตริน วรรธนะสิน มาแล้ว โดยปัจจุบันเป็นเจ้าของสถาบันสอนเต้นรำ “La Danse”
ครูกบ ครูเจี๊ยบ ครูอิน ร่วมลงขันเปิด Studio 64 ฝึกสอนเกี่ยวกับการร้องเพลง music workshop ให้กับบรรดาเหล่าผู้ชื่นชอบการร้องเพลง ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่น ที่มีความฝันอยากเป็นนักร้อง
ครูเจี๊ยบ วรรธนา วีรยวรรธน และครูอิน อินทิรา ยืนยง หลายคนคงรู้จักเธอทั้ง 2 คน จากเคยออกอัลบั้มเพลงผ่านหูผ่านตากันไปบ้างแล้ว ส่วนครูกบ นิมิตร จิตรานนท์ ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่เบื้องหลัง เคยเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับทั้ง Grammy, RS หรือ Polygram มาแล้ว ปัจจุบันก็เปิดสถาบันดนตรี อย่าง Studio 64 ที่ครูเจี๊ยบ (ภรรยา) และครูอิน ก็เป็นอาจารย์สอนใน Studio 64 นี้เช่นเดียวกัน
3 พี่น้อง ตระกูล ศรัทธาทิพย์ กับบทบาทของครูฝึกด้านการแสดง ทั้ง 3 คนเป็นที่ยอมรับกันเป็นอย่างดี ทั้งในการแสดง การเขียนบทละคร การกำกับละครและการทำละครเวที ปัจจุบันทั้งสามจัดตั้งกลุ่ม คนทำละครเวที เรียกว่า X-Arts ผลงานที่พึ่งผ่านสายตาไปก็คือละครเวทีเรื่อง ข้าวนอกนา โชว์นอกบาร์ หน้าบรอดเวย์ ที่เขียนบท และกำกับการแสดงโดย ครูแอ๊น ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ โดยครูรัก ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ และ ครู เล็ก ดวงหทัย ศรัทธาทิพย์ ร่วมแสดงด้วย ซึ่งละครเวทีดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากรายได้ที่ทั้ง 3 คน เปิดการอบรมหลักสูตรการเขียนบทละครนั่นเอง
โจทย์เบื้องต้นของ ครูฝึกไม่ต่างอะไรไปจากนักล่าฝันทั้ง12 คนนัก คือ ความใหม่ของรายการ ครูและเด็กจะได้จากคำบอกเล่า และดูตัวอย่างรายการต้นแบบรายการจากเม็กซิโกเพื่อให้เห็นแนวทางและขอบเขตว่าจะทำอย่างไร และจะสอนอย่างไร
ดังนั้นครูฝึกแต่ละคนก็จะเห็นโครงร่างคร่าวๆ ว่าตลอด 63 วันนี้จะสอนอะไรให้กับนักล่าฝันเหล่านั้นบ้าง
แต่เมื่อผ่านอาทิตย์แรก สิ่งที่ครูฝึกทุกคนต้องปรับเปลี่ยนและทำความเข้าใจคือ ความเข้มข้นของการสอน นั่นเพราะ ในตอนนี้ พวกเขาไม่ได้ร่วมงานกับศิลปินมืออาชีพ แต่พวกเขากำลังพัฒนาคนกลุ่มหนึ่งที่มีความสามารถในแต่ล่ะด้านมากน้อยไม่เท่ากัน เพราะปฏิบัติการล่าฝันไม่ได้มุ่งเน้นให้ผลผลิตที่ได้ไปเป็นเฉพาะนักร้อง หรือนักแสดงอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่เป็นโจทย์ที่ต้องการให้เขาเหล่านั้นได้ไปเป็นในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
“ครูรัก” ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ บอกว่า “เราต้องให้พื้นฐานในการที่พวกเขาจะนำไปใช้ในการโชว์ได้ เพราะตอนแรกเราไม่รู้เลยว่าน้องๆ เขามีพื้นฐานมากน้อยแค่ไหน เพราะแต่ละคนค่อนข้างแตกต่างกัน เราจึงต้องเริ่มตั้งแต่แรกเลย ให้เขาค้นหาตัวเองให้เจอ เตรียมให้พร้อมสำหรับการขึ้นเวที เราไม่ได้เตรียมเขาให้ไปเล่นหนังหรือถ่ายละคร เราเตรียมเขาให้เหมาะกับงานที่เขาจะขึ้นไปแสดง”
ไม่ต่างจากครูเป็ดให้ความเห็นว่า “เด็กพวกนี้เราต้องถนอมน้ำใจมากเลย เพราะเด็กพวกนี้ไม่ใช่มืออาชีพที่สามารถพูดตรงๆ ได้ และพูดให้เข้าใจได้ โดยใช้คำพูดเพียงไม่กี่คำ แต่เด็กพวกนี้บางครั้งต้องใช้วิธีพูดอ้อม หรือใช้วิธีมองตาแทน เพราะเขายังไม่ถึงระดับที่เรียกว่ามืออาชีพ โปรแกรมนี้เหมือนเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าใครก็สามารถเป็นศิลปินได้ถ้าตั้งใจ”
ความสำเร็จของครูฝึกคือการได้เห็นนักล่าฝันทั้ง 12 คนปล่อยความสามารถออกมาในการแสดง
เมื่อถามถึงความคุ้มค่ากับการต้องทุ่มเวลากว่า 63 วัน ให้กับรายการนี้ แน่นอนว่าอัตราค่าตอบแทนคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นผลพลอยได้สำหรับครูฝึกเหล่านี้ ก็คือ การเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ความโด่งดังของครูฝึกในเวลานี้ไม่ได้น้อยกว่า ผู้แข่งขันเลย ซึ่งส่งในเชิงในด้านบวกให้กับสถาบันของพวกเขา
ครูเป็ดให้ความเห็นว่า “อย่างที่ La Danse” ก็เริ่มมีเหมือนกันกับเด็กที่มาสมัครเรียนเต้นใหม่ๆ ที่บอกว่าเห็นมาจากรายการ Academy Fantasia” หรืออย่างครูกบ ให้ความเห็นถึงกระแสตอบรับที่มีถึง Studio 64 “ก็มีเด็กๆ โทรเข้ามาอยากจะเรียนร้องเพลงบ้างเพราะเห็นจาก Academy Fantasia แถมยังบอกด้วยว่าอยากเรียนกับครูคนไหน เพราะดูจากรายการแล้วใจดี”
ในที่สุดแล้วความสำเร็จที่เห็นชัดที่สุดก็คงหนีไม่พ้นการที่ทั้ง 12 คนกลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงไปในชั่วเวลาข้ามคืน แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับว่า ในขณะนี้ชื่อเสียงบรรดาครูฝึกก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นไม่เพียงเฉพาะหมู่คนเบื้องหลังของวงการบันเทิงเท่านั้น แต่ได้ขยายวงไปยังทุกกลุ่มคน โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ดูเหมือนว่าเป็นกระแสความต้องการที่จะเป็นคนที่มีชื่อเสียงในวงการบันเทิงกันมากขึ้น