เรื่องราวของ “วัดพระธรรมกาย” ที่เคยโด่งดังกับกรณี “พุทธพาณิชย์” เมื่อหลายปีที่แล้ว และได้เงียบหายไปจากสังคมไทยพักใหญ่ จนหลายคนแทบจะลืมเลือนไปแล้ว กำลังหวนกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง
แต่คราวนี้วัดพระธรรมกายไม่ได้เชื้อเชิญคนมาวัด แต่ส่งผ่า พระธรรม คำสอน ในรูปแบบของ “จานดาวธรรม” Outlet รูปแบบใหม่ส่งสัญญาณทะลุทะลวงไปถึงบ้านพักอาศัย เท่าที่รัศมีของดาวเทียมจะไปถึง
ถ้าพูดถึง outlet เชิญชวนคนมาวัด จะมาในรูปของคน หรือไม่“โบชัวร์” แต่ในยุคที่คนมีเวลาน้อยลง สิ่งยั่วยุมีมากขึ้น การเชิญชวนคนมาวัด อาจไม่ทันเวลา
วัดธรรมกาย ใช้ประโยชน์จากโลกไซเบอร์สเปซ เปิดเว็บไซท์ เพื่อให้ข้อมูล และถ่ายทอดสด “ธรรมเทศนา” ของหลวงพ่อเทศนาพระราชภาวนาวิสุทธิ์(หลวงพ่อธัมมชโย) ไปให้กับบรรดา ศิษย์ธรรมกาย และผู้ที่สนใจ ซึ่งไม่มีเวลาเดินทางไปวัด หรือคนที่อยู่ต่างประเทศ ได้รับฟังธรรมแบบไร้พรมแดนไปแล้ว
ถ้ามองความสะดวกและง่ายต่อการเข้าถึงผู้รับชมแล้ว ต้องยอมรับว่าอินเทอร์เน็ตยังมีข้อจำกัดบางอย่าง ในเรื่องต่อสัญญาณหลุดง่าย วัดธรรมกายจึงต้องเพิ่ม outlet รูปแบบใหม่เข้ามา
เทคโนโลยีของระบบดาวเทียม ทำให้การมีสถานีโทรทัศน์ไว้ในครอบครองไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เป็น “โลกใบใหม่” ที่ไม่เหมือนกับทีวียุคเก่า ไม่เชื่อลองถาม ช่อง 3 ช่อง 7 และไอทีวี ต้องใช้เวลาและเงินมากเพียงใดกว่าที การแพร่ภาพออกอากาศครอบคลุมได้ทั่วประเทศ
แต่ขนาดการลงทุนของทีวีดาวเทียมที่อยู่ในหลัก 100 ล้านบาท ถือเป็นน้อยมากเมื่อเทียบกับทีวียุคเก่าโดยเฉพาะกับ value ที่ได้รับกับการสร้าง network บนน่านฟ้าอันไร้ขอบเขตของดาวเทียม ขอให้มีแค่จานและอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมเท่านั้น
วัดธรรมกาย จึงใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของดาวเทียม สร้างเป็น outlet รูปแบบใหม่ ที่ส่งพระธรรมคำสอน เรื่องราวของวัดธรรมกายไปถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นทั้งศิษย์วัดพระธรรมกาย และคนทั่วไปได้เรียนรู้ธรรมะตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอคนมาวัด “วันอาทิตย์” เพียงวันเดียว
การปรับตัวของวัดธรรมกายครั้งนี้ เท่ากับเป็นการสร้าง “พลัง” เครือข่ายของ“ตลาดศรัทธา” ชาวพุทธก่อนใคร เพราะวัดขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งทุกวันนี้ก็มีเว็บไซท์ใช้สร้างชุมชน บางแห่งลงมือทำสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไปบ้างแล้ว
เรื่องของ “ธรรมะ”ไม่ใช่เรื่องไกลตัวของผู้คนในสังคมอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มคนชนชั้นกลางและบนของสังคมไทย ที่นิยมและมีความเชื่อในการนั่งสมาธิ หรือ ปฏิบัติธรรม หรือศูนย์ปฏิบัติธรรม จนกลายเป็นสว่นหนึ่งของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน เช่นเดียวกับ การตีกอล์ฟ ดำน้ำ ท่องเที่ยว เป็นกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนแต่มีบทบาท และเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย
วัดพระธรรมกายเองจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ (re-positioning) ของวัดพระธรรมกายให้ “ดูดี” ในสายตาของคนภายนอก และเป็นการเปิดเผยตัวเองต่อสาธารณชนให้สัมผัสง่ายขึ้น
เป็นการปรับตัวของวัดธรรมกายให้มองข้ามช็อตไปไกล เป็นการเตรียมความพร้อมในสร้างฐานที่มั่นใหม่ ที่แข็งแกร่งให้กับวัดธรรมกาย ไม่ต้องยึดติดกับ “บุคคล” ใดบุคคลหนึ่ง เป็นการสร้างศรัทธาที่มีต่อตัวองค์กร เปรียบแล้วไม่ต่างไปจาก องค์กรธุรกิจ ที่ต้องอยู่ได้ด้วยระบบบริหารจัดการ ไม่ว่าคณะผู้บริหารชุดไหนก็สามารถอยู่รอดได้
“เนื้อหา” ของรายการ ไม่ใช่รายการธรรรมะรูปแบบเดิมๆ ที่เป็นเรื่องไกลตัว แต่เป็นรายการ edutainment สาระกึ่งบันเทิง ข่าวสาร พระธรรมเทศนา หรือพุทธประวัติ ที่เข้าใจยากมีการ์ตูนเป็นภาพประกอบ นิทาน มิวสิควีดีโอ รายการสำหรับวัยรุ่น รายการท่องเทียว ทุกรายการเน้นเป็นเรื่องราวใกล้ตัวเน้นเรื่องการทำควมดีให้ เสพได้ง่ายๆ
ศิษย์วัดพระธรรมกาย เล่าว่า รายการทั้งหมดผลิตขึ้นโดยทีมงานอาสาสมัคร ทั้งภายในวัด และจากชมรมชาวพุทธ ที่เป็นศิษย์วัดธรรมกาย ทั้งการ์ตูน เพลงใช้ประกอบ เช่น รายการพลังมด ผลิตโดยทีมของอาจารย์จากราชมงคล แต่ถ้าเป็นรายการภายในสถานที่จะมีสตูดิโอที่ใช้ฉากหลัง Blue screen แบบง่ายๆ สำหรับรายการข่าว
“ศิษย์ของวัดธรรมกาย มีทั้งหมอ อาจารย์ สถาปนิก วิศวกร เป็นคนที่มีความรู้อยู่ในหลายวิชาชีพ คนพวกนี้ที่มาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ” อนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
กลุ่มเป้าหมายของวัดธรรมกายเวลานี้ ไม่ใช่ผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเก่า แต่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ สามารถซึมซับกับรูปแบบรายการตั้งแต่วัยอนุบาล ต้องยอมรับว่าคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ในเวลาเดียวกันคนรุ่นใหม่ยุคนี้ ต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงจากการทำงาน ความหมกมุ่นอยู่กับตัวเองจึงมีมาก เมื่อมาพบกับคำสอนที่สามารถ “ปลดล็อก” ความรู้สึกในใจ ทำให้หลุดพ้นมองข้ามตัวเองไปยังสิ่งใหม่ๆ ที่จิตใจไม่กวัดแกว่ง ก็จะมีแรงศรัทธาต่อสิ่งนั้น
อนันต์ เล่าถึงประสบการณ์ตัวเองกับศิษย์ วัดธรรมกายในวันไปปฐกถา มื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 ถึงเหตุการณ์ที่เขาประสบในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่เขานำเงินก้อนสุดท้ายที่มีอยู่ไปบริจาควัดพระธรรมกาย บุญกุศลในครั้งนั้นไม่เพียงแต่จะทำให้เขาฟื้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้เขากลายเป็นบุคคลที่ได้รับยกย่องจากนิตยสาร Business Week ว่า
“พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ไม่เคยมีใครจนเพราะทำบุญ ผมเคยเจอกับตัวเอง ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ผมเหลือเงินก้อนสุดท้ายในบัญชี ผมเอาเงินนั้นไปทำบุญ พอดีว่าเสาค้ำฟ้า ยังขาดอยู่ 1 เสา ด้วยอานุภาพของบุญ ทำให้ดีขึ้นมาตลอด จากที่เคยคิดว่าหมดแล้ว กลายเป็นสมมติไหลมาเทมา ไม่ได้โม้เพื่อตัวเองนะครับ ว่านี่คืออานุภาพของลูกพระราชที่เชื่อมั่นในเรื่องของบุญ”
การทำให้จานดาวธรรมแพร่หลาย จึงเป็นเรื่องจำเป็น นอกจากกระจายในระดับบุคคล ต้อง“ศิษย์ธรรมกาย” จำนวนหลายหมื่นคนไปบอกต่อแล้ว ยังมีการกระจายไปในระดับองค์กร ทั้งองค์กรศาสนา สถาบันการศึกษา และโรงพยาบาล
“จานดาวธรรมที่เราบอกบุญให้คนอื่นไปติด แล้วเกิดแรงดลใจขึ้นมาแล้วมาทำบุญ เราได้บุญ และเป็นบุญจักรพรรดิ คือเป็นบุญไม่รู้จบ ติดจานดาวธรรมได้บุญเยอะมาก อย่างผม 2 ปีทีผ่านมา ผมติดจานไปให้กับ 2 องค์กร คือ ที่วัดทั้งหมด และพนักงานที่บริษัททั้งหมด แค่นี้เอง เค้าเลือกให้ผมเป็น best CEO และเป็น Star of Asia ไปแล้วนะครับ”
วัดธรรมกาย จึงต้องกลไกการตลาดทุกรูปแบบมาใช้ นอกจากใช้วิธีบอกปากต่อปากผ่านศิษย์ธรรมกาย ตั้งแต่แผ่นบิลบอร์ดโฆษณา การประชาสัมพันธ์ เพื่อผลักดันให้มีการติดตั้งจานดาวธรรมมากที่สุด
ปาฐกถาในวันนั้น ยังเป็นการทำให้ “ราคา” ของจานดาวธรรมลดลง ผ่านรูปแบบของ “กองบุญ” ที่ชักชวนให้ ศิษย์ธรรมกายที่มาในวันนั้น ร่วมลงขันคนละไม้ละมือ เพื่อทำให้ราคาจานดาวเทียมและอุปกรณ์ ลดลงจาก 5,500 บาท เหลือ 3,500 บาท
จำนวนติดตั้งจานดาวธรรมที่ได้ครบ 1 แสนใบ ภายในวันที่ 28 กันยายน 2547 คือเป้าหมายของปาฐกถาในวันนั้น ซึ่งจะมีผลต่อกอง “กฐินจักรพรรดิ” เพื่อระดม ปัจจัย (เงิน) สำหรับไปใช้สร้าง “มหารัตนวิหารคด”ในบริเวณวัดพระธรรมกาย จุคนได้ถึง 1 ล้านคน
นั่นก็คือเป้าหมายระยะใกล้ เชื่อว่า วัดธรรมกาย คงต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4-5 ปี เป็นอย่างต่ำ ที่จะสร้างพลังจาก Network ให้เกิดผลได้จริง
ติดตั้งดาวธรรม
อุปกรณ์ที่ใช้รับรายการ “ดาวธรรม” ประกอบไปด้วยจานรับสัญญาณดาวเทียม และ อุปกรณ์ Receiver เพื่อใช้รับสัญญาณจากดาวเทียม ในย่าน KU-BAND จานจึงมีขนาดเล็ก ไม่ต่างไปจากอุปกรณ์จานดาวเทียมของยูบีซีเคเบิลทีวี เดิมมีเฉพาะบริษัทสามารถเพียงเจ้าเดียว ต่อมาวัดธรรมกายจึงติดต่อซื้อจากโรงงานผลิตในไต้หวัน เพื่อมีราคาถูกลง
บริษัทรับติดตั้งจานดาวธรรม มี 40-50 แห่ง ส่วนใหญ่ย่านปทุมธานี เจ้าของกิจการส่วนใหญ่เป็นลูกศิษย์ของวัดธรรมกาย บริษัทรับติดตั้งจานดาวธรรมแห่งหนึ่งเล่าว่า แต่ละวันจะติดตั้งให้กับลูกค้า 2-3 ราย แต่ละรายจะใช้เวลาติดตั้งเฉลี่ย 2-3 ชั่วโมง
ช่องทางขายของจานดาวธรรม สวนใหญ่จะเป็นลักษณะบอกปากต่อปาก โดยลูกศิษย์ลูกหาของวัดธรรมกาย มีแผ่นโบวชัวร์ไว้ทำแจก ที่ระบุ Call center เป็นที่สอบถามข้อมูล และนัดหมายติดตั้ง
ผู้ติดตั้งจานดาวเทียม จะจ่ายเฉพาะราคาอุปกรณ์ พร้อมติดตั้งจานดาวธรรมอยู่ในราคา 11,000 บาท ต่อมาราคาลดลงเหลือ 5,500 บาท และปัจจุบันราคา 3,500 บาท ไม่ต้องเสียค่าบริการรายเดือน
ดาวเทียมดาวธรรม สี่ดวงค้ำฟ้า
รายการของจานดาวธรรมส่งออกอากาศไปทั่วโลก ภายใต้ชื่อช่องว่า Dhamma Channel ผ่านดาวเทียม 4 ดวงเพื่อครอบคลุมทุกองศาทั่วโลก ดาวเทียมที่ใช้ได้แก่
• PanAmSat ใช้ร่วมกับช่องใหญ่ๆ เช่น CNN, CNBC Asia, BBC World, MTV, และ ESPN ดูช่องทั้งหมดที่ใช้ดาวเทียมดวงนี้ได้ที่ lyngsat.com/pas8.html
• NEWskies ใช้ร่วมกับช่องใหญ่ๆ เช่น CNN, BBC World, Cartoon Network, และ Star Sports ดูช่องทั้งหมดที่ใช้ดาวเทียมดวงนี้ได้ที่ lyngsat.com/nss6.html
• Thaicom2 หรือ ไทยคม2 ใช้ร่วมกับหลายสถานีในไทย อย่างช่อง 3, 5, 7, 9, 11, itv, และ ช่องเรียนทางไกลผ่านดาวเทียมจากหัวหิน (DLtv)ดูช่องทั้งหมดที่ใช้ดาวเทียมดวงนี้ได้ที่ lyngsat.com/thai2.html
• Americom4 ใช้ร่วมกับช่องโทรทัศน์สำหรับสหรัฐอเมริกาและใกล้เคียง เช่น MSNBC, Fox Sports ดูช่องทั้งหมดที่ใช้ดาวเทียมดวงนี้ได้ที่ lyngsat.com/amc4.html