POSITION 1
จานดาวธรรมกับศิษย์วัดพระธรรมกาย
สำหรับ “ลูกพระราช” แล้ว (คำเรียกแทนศิษย์วัดพระธรรมกาย “พระราช” หมายถึงพระราชภาวนาวิสุทธิ์ หรือพระธัมมชโย เจ้าอาวาส) ซึ่งมีอยู่นับแสนแล้ว จานดาวธรรมไม่ใช่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์ที่ทุกคนจะติดไว้ดูเพื่อรับคุณค่าในสาระของรายการเท่านั้น แต่เป็นถึงภารกิจที่ทุกคนจะต้องช่วยกันกระจายเผยแผ่ไปให้มากที่สุด เริ่มจากแนะนำผู้คนใกล้ตัวเช่นญาติมิตรหรือเพื่อนมาติดตั้งจานดาวธรรมด้วย เพื่อผลทางการเผยแผ่คำสอนต่างๆ ซึ่งถือกันว่ายิ่งมีผู้ได้ดูรายการแล้วเกิดแรงดลใจให้ทำบุญหรือปฏิบัติธรรมมากขึ้นเท่าใด ผู้ที่เผยแผ่แนะนำให้คนผู้นั้นติดตั้งจานก็ย่อมจะได้รับอานิสงส์ผลบุญไปด้วย นอกจากนี้ยังจะทำให้ทางวัดมีทุนที่จะขยายการเผยแผ่คำสอนให้กว้างไกลออกไป
POSITIONING มีโอกาสได้สัมภาษณ์พิเศษ และติดตามไปฟังปาฐกถาของ อนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการ บริษัทแลนด์แอนด์เฮาส์ ในฐานะฆราวาสผู้สนับสนุนรายใหญ่ของวัดพระธรรมกาย ต่อหน้าผู้เข้าร่วมพิธีทำบุญใหญ่ กว่า 2 หมื่นคน ณ สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย ช่วง 16.00 น. วันที่ 6 กันยายน 2547 ช่วงหนึ่งไว้ งานนี้มีการถ่ายทอดออกทางจานดาวธรรมด้วย สังเกตได้จากมีกล้องโทรทัศน์และช่างกล้องกระจายอยู่หลายจุด
อนันต์ : “เรื่องจานดาวธรรมผมมองเป็นเรื่องสำคัญมาก สำหรับวัดนะครับ เพราะว่าถ้าจานดาวธรรมกระจายไปได้มากกว่านี้ งานของหลวงพ่อเองจะเบาขึ้นอีกเยอะนะครับ เพราะว่าสมมติว่าตอนนี้เราอยู่ 4 หมื่น ถ้าเรากระจายได้เป็นแสนนะครับ เราจะไม่ต้องไปบอกบุญใครเยอะแยะเลย เพราะจานดาวธรรมจะช่วยบอกบุญไปโดยอัตโนมัตินะครับ ถ้าเราดูในทีวีหลวงพ่อสอนเราหลายอย่างนะครับ ทุกคืนเลยอนุบาลในฝัน หัวหน้าชั้นจำได้ไหมครับ ?”
พิธีกร : “ได้ครับ”
อนันต์ : “ คนเราเกิดมาทำไมครับ ?”
พิธีกรและผู้ฟัง : “ทำพระนิพพานให้แจ้ง”
อนันต์ : “ แล้วถ้าเกิดเราไม่แจ้งแล้วทำไงต่อครับ ?”
พิธีกรและผู้ฟัง : “แสวงบุญสร้างบารมี”
อนันต์ : “ก็ต้องทำให้คนอื่นเนี่ยเขาแจ้งบ้าง ถูกไหมครับ เราแจ้งของเราแล้วเนี่ย ไปเกี่ยวข้องกับที่เราอธิษฐานกันประจำนะครับ จำได้ไหมครับ หลวงพ่อให้เราอธิษฐานให้ไปถึงไหนครับ ?”
พิธีกรและผู้ฟัง : “ถึงที่สุดแห่งธรรม”
อนันต์ : “ทำไมดาวธรรมกับการถึงที่สุดแห่งธรรมถึงเกี่ยวกันมาก ก็เพราะว่าถ้าเราสามารถติดได้สักล้านนะครับ สิ่งก่อสร้างที่หลวงพ่อตั้งใจไว้ยังมีอีกเยอะนะครับ ต้องเรียนว่าแม้กระทั่งสภาธรรมกายที่เราเห็นเนี่ย เพิ่งทำไปได้แค่ห้าหกสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง เรายังมีด้านข้างขึ้นเป็นเสาเพิ่งเสร็จ ปัจจุบันเทพื้นอยู่นะครับ ทำไมจานดาวธรรมจึงเกี่ยวข้องกับที่สุดแห่งธรรม ก็เพราะว่าถ้าเราติดจานดาวธรรมได้สักล้านดวง เอาแสนดวงก่อนก็ได้นะครับ พอติดเสร็จเรียบร้อยผมเชื่อว่ากฐินพระราชจะต้องจบได้ ถ้ากฐินพระราชจบได้นะครับ สิ่งก่อสร้างจะเสร็จหมด หลวงพ่อตั้งใจทำที่นี่ให้เป็นอะไรครับ ให้เป็นศูนย์กลางปฏิบัติธรรมของโลก หลวงพ่อบอกว่าการที่เราเข้าถึงที่สุดแห่งธรรมเนี่ย เราไปแค่คนเดียวไม่ได้ ถูกไหมครับ เราต้องการเอาทุกคนไปด้วยกันหมด ฉะนั้นหลวงพ่อถึงจำเป็นต้องสร้างสิ่งก่อสร้างเหล่านี้ขึ้นมา เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติธรรม ถ้าเราสามารถได้คนทั้งโลกมานะครับ งานของหลวงพ่อ ภาระของหลวงพ่อก็จะเบาขึ้นอีกเยอะ ดังนั้นการติดตั้งจานดาวธรรมเป็นจุดเริ่มต้น ของการที่จะทำให้สิ่งที่หลวงพ่อบอกไว้นะครับ คือให้ทุกคนไปถึงที่สุดแห่งธรรม เป็นจริงขึ้นมา ผมถึงต้องพยายามทำเรื่องนี้ให้เต็มที่ อานิสงส์บุญนี้นี่เป็นเรื่องใหญ่ เพราะจานดาวธรรมที่เราบอกบุญให้คนอื่นไปติด แล้วคนที่ดูมาทำบุญนี่นะครับ เราได้อานิสงส์นะครับ ใครมาดูจานดาวธรรมเรานี่นะครับ แล้วเกิดแรงดลใจขึ้นมาจะมาทำบุญนะครับ จะมานั่งสมาธิ เราได้บุญตลอด อันนี้เหมือนกับบุญจักรพรรดินะครับ เพราะว่าเป็นบุญไม่รู้จบ ติดจานแค่นี้เองนะครับ ได้บุญเยอะมาก สังเกตดูจากสองปี ผมเพิ่งบอกติดจานไปแค่สององค์กรแค่นั้นเอง คือคนที่วัดทั้งหมด แล้วก็พนักงานที่บริษัททั้งหมด แค่นี้เองนะครับ เขาาเลือกเป็น Best CEO และเป็น Star Of Asia ไปแล้วนะครับ
(ผู้ฟังปรบมือ)
อนันต์ อัศวโภคิน ได้อธิบายถึงความสำเร็จต่างๆ ในชีวิตหลายปีที่ผ่านมา ว่าเป็นอานิสงส์จากการทำบุญให้วัดพระธรรมกาย เช่น เกี่ยวกับการได้รางวัล 2 รางวัลจากสื่อมวลชนนั้น อนันต์ ได้ขยายความต่อผู้ฟังในวันนั้นไว้ว่า
“ครั้งแรกที่ตัดสินใจเลยก็คือว่า ตัดสินใจติดจานดาวธรรมให้กับคนในวัดทั้งหมดนะครับ คือทั้งพระ ทั้งสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ทั้งวัดเลย คือให้คนที่มีหน้าที่ ทำงานกันอย่างเต็มที่ ให้มีกำลังใจก่อน หลังจากนั้นก็มีเรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆเกิดขึ้น ก็เพราะว่าไม่ได้ทำงานเท่าเก่าเลย วันดีคืนดีก็มีหนังสือ Businessweek เป็นหนังสือที่เป็นเรื่องของธุรกิจ ก็ติดต่อมาแล้วก็ไม่ได้คุยรายละเอียดอะไรเลย บอกว่าผมได้รับเลือกจากกอง บ ก. ให้เป็น Star Of Asia ในปี 2546 ผมก็บอกว่า เอ๊ะ ผมทำอะไร ผมไม่ได้ทำอะไรเลย (ผู้ฟังปรบมือ) ทำไมไม่สัมภาษณ์ก่อนล่ะ เรานึกในใจเอ๊ะ หรือมาตรฐานสิ่งพิมพ์จะต่ำมากก็ไม่รู้ (ผู้ฟังหัวเราะ) ก็เอาไปลงปกว่าเป็น Star Of Asia ซึ่งในปีนั้นก็มีแต่ละประเทศที่ได้ในเอเชียทั้งหมดก็ประมาณ 25 ท่านนะครับ ก็จะมีตั้งแต่ประธาน Toyota มี Sony มี Daewoo มีผู้ว่าฯ แบงก์ชาติของฟิลิปปินส์ มีรัฐมนตรีคลังของอินโดนีเชียนะครับ คนไทยมีอยู่คนเดียวก็คือ ไม่รู้เขาเลือกผมได้ไงนะครับ ก็เรียกว่าอานิสงส์ ของการที่เราได้ติดตามพระราชนะครับ ท่านบอกบุญอะไรมาเราก็ทำเต็มที่”
“ปีถัดมาตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็บอกว่าปีนี้จะเลือกผู้บริหารดีเด่น Best CEO นะครับ บุญเป็นเรื่องอจินไตย คิดไม่ออกนะครับว่าทำไมถึงได้ อยู่ดีๆ เขาก็ยกรางวัลนี้มาให้ผม ปี 45 46 47 บริษัทก็มีผลประกอบการดีขึ้นเรื่อยๆ ปี 45 เรามีกำไรอยู่ประมาณสัก 3 พันกว่าล้าน ผมเองต้องบอกว่ามากจริงๆ นะครับ เพราะเคยทำกำไรได้มากสุดแค่ 2 พันกว่าล้านสมัย พ ศ 2538 ปี 45 นี่ครับเป็นปีแรกที่กำไรทำลายสถิติเลยนะครับ ก่อนหน้านั้นปี 44 พันแปด 43 เราได้ห้าร้อย พอ 45 ได้มาสามพันกว่าเราก็โอ้โห ชีวิตไม่เคยทำกำไรได้เยอะขนาดนี้เลย พอมา 46 ก็เลยแถมให้เลย ได้กำไร 6 พัน นะครับ (ผู้ฟังปรบมือ) ทั้งๆ ที่ทำงานน้อยลงนะครับ ปีนี้ก็ยังไม่รู้นะครับ เพิ่งผ่านไปครึ่งปี แต่ก็คาดว่าบุญหล่อเลี้ยงดีที่สุดครับ ไม่ใช่หนึ่งสมอง สองมือ”
คำว่า “หนึ่งสมอง สองมือ” นี้ อนันต์ได้อธิบายในวันนั้นไว้ว่า
“ครับ ปี 2545 เป็นช่วงปีแรกๆ ที่บริษัทมีผลประกอบการที่ดีขึ้นเยอะนะครับ จากการที่บริษัทเกือบจะล้มละลายในปี 2542 บริษัทมีภาระหนี้สินเยอะแยะไปหมด มาถึง 2545 นี่ก็ทุกอย่างก็ดีขึ้นหมดนะครับ โดยเฉพาะเป็นเรื่องน่าแปลกที่ว่าครั้งนี้ที่บริษัทดีขึ้นนะครับ กลายเป็นว่าเราทำงานน้อยลงไปเยอะ อันนี้เรียนจากข้อเท็จจริงนะครับ ก็มีพนักงานบริษัทอยู่ในนี้หลายคน ทุกคนก็ยอมรับว่า เอ … เศรษฐกิจฟื้นแล้วนะครับ เราทำมาค้าขายดีกว่าเก่าเป็นเท่าตัว แต่ยิ่งรู้สึกว่าแต่ละคนนะครับ ปริมาณงานที่ทำอยู่เนี่ย ดูเหมือนกับว่ายังว่างๆอยู่ บางคนก็มีเวลามาวัดบ่อยหน่อย เพราะไม่ค่อยมีงานที่บริษัทนะครับ เราก็รู้สึกตัวว่าสิ่งที่ได้เกิดขึ้นนะครับ เป็นอานุภาพของบุญ อาจมีหลายคนในที่นี้ยังสงสัยอยู่ว่าจริงๆ แล้วเป็นเรื่องของ “หนึ่งสมอง สองมือ” อย่างที่เคยเล่าให้ฟังหรือเปล่า ผมต้องเรียนว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรเรียกว่าบังเอิญนะครับ ไม่มีอะไรเรียกว่าโชค ไม่มีอะไรที่เราเรียกว่าความเคราะห์ร้าย เป็นเรื่องของบุญกรรมล้วนๆ นะครับ เพราะว่าบุญกรรมไม่ได้ไปในแค่การกระทำของเราแต่ไปในความคิดของเราด้วย เราจะคิดอะไรก็ขึ้นอยู่กับบุญกรรมที่เราทำไว้ เราไปประสบเคราะห์อะไรก็แล้วแต่ หรือไปคิดสิ่งไม่ถูกต้องทำให้บริษัทเสียหาย สังคมคนรอบข้างเสียหาย ก็เป็นเพราะเราไปประกอบเหตุเรื่องกรรมไว้นะครับ ไม่มีความคิดของเราเองนะครับ ต้องย้ำว่าอย่าไปคิดว่าเรามีความคิดของเราเองนะครับ มันเป็นความคิดที่บุญกรรมช่วยชี้นำให้ทั้งหมดนะครับ บางทีเราก็โชคดีเจอกัลยาณมิตรนะครับ มาพบเราก่อนก็ช่วยชี้แนะให้เราเอาบุญมาใช้ก่อน ถ้าหากว่าเจอคนพาลก็ชี้แนะให้เราเอากรรมในอดีตมาใช้ก่อน อันนี้เป็นความเชื่อผมนะครับ”
เขายังได้กระตุ้นการตัดสินใจทำบุญของกลุ่มผู้ฟังในวันนั้นต่อไป ด้วยถ้อยคำ 3 ช่วงหลักๆ ดังนี้
“ทุ่มเทให้เต็มที่ อย่าไปกังวลนะครับ อย่าไปกลัว ผมเคยผ่านเหตุการณ์อย่างนี้มาแล้วนะครับ ผ่านเหตุการณ์เรียกว่าบัญชีทั้งส่วนตัวทั้งบริษัทเรียกว่าล้มละลายไปแล้วนะครับ พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ไม่เคยมีใครจนเพราะทำบุญ ฉะนั้นถ้าเราจนเพราะทำบุญแสดงว่าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นไม่จริง แต่ว่าท่านไม่เคยสอนอะไรที่ไม่จริงเลยนะครับ ผมเคยได้เห็นตัวอย่างของตัวเองแล้วนะครับว่าเหลือเงินก้อนสุดท้ายในบัญชีเนี่ย ในนี้เจ้าหนี้ไม่มีใครอยู่นะครับ? (ผู้ฟังหัวเราะ) ผมก็เอาเงินก้อนนั้นมาทำบุญเลยนะครับ จำได้ปี พ.ศ. 2542 – 43 นี่นะครับ ยังจำได้ทุกวันนี้คือ เสาค้ำฟ้า นะครับ ขาดอยู่หนึ่งเสา ตอนนั้นเงินก็หมดแล้ว ทุกอย่างหมดแล้ว ก็มีความรู้สึกว่าดีเหมือนกันนะ ไม่ต้องกังวลอีกแล้ว ก็เอาเงินก้อนสุดท้ายนี่ทำบุญไปเลยทั้งก้อน ขนาดไม่มีนะครับยังทำไปทั้งก้อนเลยนะครับ แล้วก็นึกในใจว่า เอ้อ มีความสุขนะ แปลกนะครับว่าทำบุญแล้วไม่เคยจนจริงๆ เป็นเรื่องของอจินไตยนะครับ ต้องเรียนว่าเรื่องอจินไตยเนี่ย เป็นเรื่องที่เราคาดไม่ได้ คิดไม่ถึง คือใช้สมองมนุษย์เราคิดว่าถ้าเราทำงี้ๆ แล้วจะเป็นงี้เนี่ย คิดไม่ได้
“ต้องเรียนว่าผมไม่เคยจำได้ว่าบุญที่ผมทำเยอะที่สุดเท่าไร เมื่อไหร่ แต่ผมจำแม่นว่าบุญที่ผมทำยากที่สุดจำได้ ในตอนที่ไม่มีเงินเหลือเลยจำแม่น ถ้าเราจะตายต้องนึกถึงบุญนี้ก่อน เพราะตอนนั้นตัดสินใจเอาไงดีหว่า เอาไงดีหว่า เหลืออีกหนึ่งเสา แล้วก็ตัดสินใจนะครับรุ่งขึ้นเขียนเช็คเข้าคิวไปถวายหลวงพ่อนะครับ โอ้โห เราโล่งอกจริงๆ เราเอาชนะความกลัว หลัวว่าไม่มีสตางค์ จำได้หลวงพ่อเคยสอนว่า เอาชนะความตระหนี่ได้จะเปิดให้สมบัติจักรพรรดิไหลมาที่ศูนย์กลางกายเรา ถ้าความตระหนี่เอาออกไปไม่ได้นะครับ ประตูมันก็แง้มๆ เหมือนกับสร้างบ้านก่อนขาย ยิ่งกลัวนี่สมบัติมันยิ่งไม่ไหลเข้านะครับ (ผู้ฟังปรบมือ) ผมเป็นคนที่พิสูจน์ได้เลยนะครับ ว่าทำบุญไม่มีวันจน เป็นวันที่มีความสุขที่สุดนะครับ ขับรถกลับบ้านนี่ร้องเพลงไปตลอดทาง ยังนึกไม่ออกว่าจะเอาเงินที่ไหนนะครับ แต่ตีเช็คล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อเคยบอกทำบุญไม่มีวันจน ก็ไม่จนจริงๆ ครับ จากวันนั้นเป็นต้นมา วันที่ตัดสินใจวันสุดท้ายเนี่ย เป็นวันที่ผมอยู่ก้นพอดีเลย ด้วยอานุภาพของบุญที่ทำก็ดีขึ้นมาตลอด จากที่เราคิดว่าหมดแล้วกลายเป็นสมบัติไหลมาเทมา อีกรางวัลลืมพูดไปได้ยังไง คือรวยหุ้นที่สุดในประเทศไทย ขอโม้หน่อยนะครับ ไม่ได้โม้เพื่อตัวเองนะครับ โม้ว่านี่คืออานุภาพของลูกพระราชที่เชื่อมั่นในเรื่องของบุญ ที่เค้าจัดอันดับเขาไม่ได้จัดให้ผมนะครับ เขาจัดให้เรื่องของบุญ”
“คำว่า สมบัติจักรพรรดิตัดไม่พร่อง เนี่ย แปลว่าอะไรตอนนี้เข้าใจแล้ว ก่อนนี้ในอดีตเวลาเราอ่านหรือท่านเทศน์เรื่องพระไตรปิฎก ว่าเหมือนกับ อยากได้สมบัติก็มีตกจากท้องฟ้า เรามานั่งคิดว่าถ้าเป็นพันปีที่แล้วอาจจะไปเจอเหมืองเพชรหรือไปเจอบ่อน้ำมัน แต่เราก็นึกไม่ออกว่าสมบัติจักรพรรดิที่หลวงพ่อพูดเนี่ยหมายถึงอะไร ตอนนี้เข้าใจแล้วครับ คือตอนนี้เนื่องจากบริษัทมีผลประกอบการค่อนข้างดี ผมก็เลยได้เงินปันผลปีหนึ่งเป็นพันล้านทุกปีเลย โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลยนะครับ (ผู้ฟังปรบมือ) ไม่ต้องฉลาดเลยนะครับ ไม่ต้องมีสมองเลย อยากจะทำอะไรนะครับ แค่หลับตา นั่งสมาธิ จะออกจากบ้านก็คือไปชวนใครติดจานดาวธรรม บ่ายมีคนโทรมาเรื่องงาน หรือเราโทรไปสั่งสองสามประโยค มันก็จบนะครับ ก็จะมีชีวิตแค่นี้เองครับ ความจริงก็น่าเบื่อนะครับ ตื่นเช้ามาก็คิดแต่ว่าวันนี้จะทำอะไรดี เพราะไม่รู้จะทำอะไร วันๆ ค่อนข้างจะว่างนะครับ ก็มาคิดว่าเอ๊ะ เราจะไปชวนใครติดตั้งจานดาวธรรมดีนะ”
ต่อด้วยการกำหนดเป้าหมายขั้นต้นให้ศิษย์ธรรมกายในที่นั้นทุกคน ซึ่งอาจจะเป็นคำตอบของเป้าหมายที่จะกระจายให้ได้เพิ่มอีก 4 หมื่นจานโดยใช้เวลาเพียง 22 วันทั้งๆที่ 1 ปีเศษที่ผ่านมากระจายได้เพียง 6 หมื่นจาน ว่าจะเป็นไปได้อย่างไร
“ผมเชื่อว่าลูกพระราชในที่นี้นะครับ มองด้วยสายตาก็ราวสองหมื่นคน เราอยากได้อีกแค่หกหมื่นดวง หลวงพ่อบอกว่าถ้าจานดาวธรรมเราสำเร็จนะครับ เราจะทำอะไรก็สำเร็จหมด เพราะจานดาวธรรมเนี่ยจะเป็นอุปกรณ์ช่วยเรา ให้เราทำงานใหญ่ๆ สำคัญๆ สำเร็จหมดทุกอย่าง วันนี้เรามีสองหมื่น ลูกพระราชไปบอกแค่คนละสามดวง วันนี้ยกมือขึ้น ใครอยากจะทำบุญร่วมกับคุณอนันต์บ้างครับ ยกมือเลยนะครับ เราจะได้สมบัติจักรพรรดิตัดไม่พร่องกันนะครับ อย่าลืมนะครับเงินปันผลปีละเท่าไรครับ (ผู้ฟัง “1 พันล้านบาท”) อย่าลืมนะครับคนละสามดวง สามดวง ยกมือแล้วอย่าหายไปไหนนะครับ ผมรับปากท่านได้เลยว่า เรื่องบุญนี่คุยกันในวงในของลูกพระราชได้เลยว่าเป็นเรื่องอจินไตยจริงๆ นะครับ วันนี้แค่เราอยู่ในกองบุญเดียวกันนะครับ คือกองบุญที่ผมชักชวนพวกเรามาทำด้วยกัน คนละสามดวงเจ็ดดวง หรือมีกิจการใหญ่ก็ทำสักร้อยดวงนะครับ เพื่อเป็นบุญหล่อเลี้ยงพวกเรานะครับ ผมยืนยันได้ว่าแล้วท่านจะเห็นว่าเรื่องอจินไตยนี่เป็นอย่างไรอย่างที่ผมได้เจอมานะครับ (ผู้ฟังปรบมือ)”
“หลวงพ่อท่านเองก็มีความปรารถนาอยากจะเห็น 1 แสนแรก ณ วันที่ 28 กันยานี้ วันปรินิพพานของหลวงปู่สดเรานะครับ หวังว่า ณ วันนั้นเนี่ย จะมีคนติดตั้งนะครับ ลูกพระราชทั้งหมดติดตั้ง ทั้งกรุงเทพฯ ทั้งต่างประเทศ ทั้งต่างจังหวัดนะครับ ให้ครบ 1 แสนจาน ปัจจุบันเราก็ได้ 6 หมื่นจาน”
อนันต์ ได้ชี้ให้เห็นถึงภาพใหญ่ในแง่ความสำคัญของจานดาวธรรมต่ออนาคตของวัดไว้ดังนี้
“มหาวิหารคตนี่จะจุได้หนึ่งล้านคน จะมีชั้นล่างชั้นบนครับ แต่ละชั้นก็ 3 แสนตารางเมตร หนึ่งตารางเมตรก็หนึ่งคน สองชั้นก็ 6 แสน เรามีที่ลานธรรมอีก 4 แสน เบ็ดเสร็จแล้ว ก็จะสามารถจุได้มากกว่า 1 ล้านคนนะครับ คือ ณ ขณะหนึ่งเราจะมีผู้นั่งสมาธิจากทั่วโลกมาได้ 1 ล้านคนนะครับ ไม่นับในสภาธรรมกาย ต้องทำพื้นนะครับ พื้นเราจะเห็นว่าเป็นคอนกรีตหยาบนะครับ ต้องปูผ้า ผมอ่านนิตยสาร Time นะครับ ที่เมกกะนะครับ ผมอ่านแล้วตกใจ เพราะเงินลงทุนที่นั่น 2 หมื่นล้านเหรียญ ในการสร้างสิ่งทั้งหมดรองรับผู้แสวงบุญ ของเราใครถามก็กระมิดกระเมี้ยนนะครับ ไม่ค่อยกล้าตอบเท่าไหร่ ของเรากฐินจักรพรรดิจะต้องเสร็จก่อนนะครับ แต่ผมห่วงว่าถ้า 28 กันยายังไม่สำเร็จเนี่ย กฐินจักรพรรดิจะต้องห่างไปอีกเยอะนะครับ”
ลงท้าย ถึงแม้ชุดอุปกรณ์จานดาวธรรมชุดหนึ่งจะมีราคา 5,500 บาท แต่เนื่องในปาฐกถาเรื่องจานดาวธรรมครั้งนี้ เน้นการระดมทุนด้วยเช่นกัน อนันต์จึงได้เสนอทางเลือกอีกทางหนึ่งให้กับชาวธรรมกายในที่นั้นว่าสามารถช่วยบริจาค 1 พันบาทเพื่อเป็นส่วนลดให้กับผู้อื่นที่ต้องการส่วนลดในการติดตั้งจานดาวธรรมดังนี้
“ลูกพระราชเป็นหนึ่งเดียว พุทธบุตรเป็นหนึ่งเดียวจำได้ไหมครับ ตั้งแต่ชาตินี้ภพนี้ไป ไม่ว่าเรื่องทรัพย์เรื่องสุขภาพ ก็จะได้ครบถ้วนบริบูรณ์เหมือนที่ผมได้อยู่ตอนนี้ มาร่วมกันนะครับ มากน้อยไม่เป็นไร จะช่วยสมทบให้คนติดจานได้ง่าย ค่าจาน 4,500 ค่าติดตั้งอีกพันก็ 5,500 ก็มีคนอีกเยอะที่คิดว่าแพงไป หลวงพ่อก็ดำริว่าจะให้คนที่เข้าใจแล้วที่ต้องการทำบุญ ก็มาช่วยเขา 1 พันบาทนะครับ ไม่ใช่ว่าคนที่เราช่วยต้องจนนะครับ เราไปบอกเขาให้เขาติดแล้วเราจะได้อานิสงส์ รวยจนไม่สำคัญนะครับ คนรวยอาจจะขาดความเข้าใจ คนจนขาดกำลังทรัพย์ เราช่วยกันจานละพันคนจะตัดสินใจง่ายขึ้นเยอะ เหลือ 4,500 เขาตัดสินใจง่ายขึ้นนะครับ”
หลังการปาฐกถาจบลง ผู้ฟังจำนวนมากได้เข้าไปยังบริเวณเวทีเพื่อขอบริจาคทันที จนทางเจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาอำนวยความสะดวกจัดระเบียบให้กับบรรดาผู้มีจิตศรัทธา
จากคำบรรยายและภาพรวมบรรยากาศในที่ชุมนุมทั้งหมด เห็นได้ว่าจานดาวธรรมสำหรับวัดพระธรรมกายแล้ว มีความสำคัญยิ่งกว่าการเผยแผ่คำสอนให้กว้างไกลออกไป แต่ยังเป็นทั้งการระดมทุนเพื่อสร้างสิ่งก่อสร้าง ขยายวัดรองรับจำนวนศิษย์ที่จะมากขึ้น และอาจจะเป็นถึงเครื่องชี้วัดความสำเร็จในอนาคตของวัดเลยทีเดียว
POSITION 2
จานดาวธรรมกับสาธารณชน
มีแง่มุมทางการตลาดหลายอย่างในผลิตภัณฑ์จานดาวธรรมนี้ เริ่มต้นจาก “คุณค่า” ของตัวผลิตภัณฑ์ที่ทางวัดได้พยายามสื่อสารให้ผู้ใช้มองเห็นความเป็น “สื่อทางเลือก” สังคมไทยในระยะหลังนี้ เมื่อมีข่าวอาชญากรรมหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้นเมื่อใด เรามักจะได้ยินคำกล่าวโทษ “สื่อ” อยู่เสมอ ว่ามักจะนำเสนอเรื่องเพศและความรุนแรง หลายครั้งมีเสียงเรียกร้องให้มีสื่อที่ถ่ายทอดสิ่งที่มี “สาระ” ไม่ว่าจะเพื่อเยาวชนหรือผู้ใหญ่ก็ตาม
วัดพระธรรมกายจึงวางตำแหน่งจานดาวธรรมให้เข้ามาสนองเสียงเรียกร้องนี้ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือข้อความในหน้าเว็บเกี่ยวกับจานดาวธรรม (dhammakaya.or.th/thai/events/satellite-T.htm) ซึ่งหากมองทางการตลาดในแง่ทฤษฎีพฤติกรรมผู้บริโภคแล้ว จัดเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคเกิดการรับรู้ปัญหา (problem recognition) เพื่อนำไปสู่การแสวงหาผลิตภัณฑ์มาแก้ไขปัญหานั้นๆ ต่อไป
แม้เนื้อหาจะเฉพาะเจาะจงไปในเรื่องศาสนา แต่กลุ่มเป้าหมายของรายการจากจานดาวธรรมนั้นมุ่งกวาดทุกกลุ่มอายุไม่ว่าจะเป็นเยาวชนหรือผู้ใหญ่ ทุกสถานะไม่ว่าพระภิกษุสามเณรหรือฆราวาส และในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติ
ในการแบ่งกลุ่มเป้าหมายทางประชากรศาสตร์ (demographic segmentation) รายการของจานดาวธรรมทำออกมาหลากหลายครอบคลุมทุกกลุ่มอายุ โดยแบ่งตามช่วงเวลาในผังรายการในแต่ละวันเช่นเดียวกับช่องโทรทัศน์อื่นๆ ทั่วไป
นอกจากการกระจายในระดับบุคคลคือให้ศิษย์วัดจำนวนหลายหมื่นคนไปบอกต่อแล้ว ยังมีการกระจายในระดับองค์กร ทั้งองค์กรทางศาสนาและการศึกษา
วัดพระธรรมกายมีเป้าหมายติดตั้งจานดาวธรรมให้วัดต่างๆ ให้ถึง 3 หมื่นวัด เพื่อให้พระสงฆ์ทั่วประเทศได้ดู ในเรื่องนี้ พระมหาพร อิทธิวโร แห่งวัดอรุณราชวราราม ศิษย์วัดพระธรรมกายรุ่นแรกๆ ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายงานพิเศษ นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 626 วันที่ 31 พ.ค. – 6 มิ.ย. 2547 ว่า “ต่อการที่ญาติโยมจะช่วยกันติดดาวธรรมไปยังวัด 30,000 วัดทั่วประเทศนั้น ควรถวายดาวธรรมให้กับทุกวัดเลย ให้เจ้าอาวาสดู เมื่อเจ้าอาวาสดูแล้วเข้าใจก็จะสอนพระลูกวัดให้เขาเรียนนักธรรมตรี โท เอกตามที่หลวงพ่อสอนได้เลย พอสอนพระแล้ว พระก็ไปสอนฆราวาสต่อ”
การติดตั้งให้วัดต่างๆ นี้ครอบคลุมถึงเด็กนักเรียนในโรงเรียนวัดด้วย พระครูสุวรรณวชิรธรรม เจ้าอาวาสวัดสกุลปักษี ต.สนามคลี อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ได้ให้สัมภาษณ์นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ฉบับเดียวกันนี้ว่า “เด็กๆ ที่มาเรียนในวัดสกุลปักษีจะได้ดูรายการดาวธรรมตอนเช้า ส่วนเด็กประจำก็จะได้ดูตอนหลังเลิกเรียน ภาคค่ำเรียนบาลีถึงสามทุ่ม มีครูเป็นกลุ่มๆ แต่ละชั้นคุม หลวงพ่อบอกว่า รายการดาวธรรมดีกว่ารายการโทรทัศน์ เพราะรายการโทรทัศน์มีละครน้ำเน่า เด็กจะเลียนแบบตัวละคร ชอบปืน เอาดาบมาฟันกัน บางคนเล่นจนเด็กตาบอด แขนหัก แต่ถ้ามีรายการสอนสมาธิเด็ก แล้วเขาดู เขาฝึก เขาอยู่ในศีลธรรม ก็สอนง่าย”
สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งเช่นกัน จะเห็นได้จากข่าวในเว็บไซต์ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ที่แสดงเอกสารการขอบริจาคโดย “ชมรมพัฒนากายและใจให้เป็นสุข” และอนุมัติแล้วโดยอธิบดีกรมพินิจฯ
ในการแบ่งกลุ่มเป้าหมายทางภูมิศาสตร์ (geographic segmentation) นั้น วัดพระธรรมกายมุ่งไปที่คนไทยทั่วโลก จากเทคโนโลยีที่ใช้คือการยิงสัญญาณต้นทางไปขึ้นดาวเทียม (uplink) แล้วออกอากาศส่งต่อจากดาวเทียมลงมาครอบคลุมทั้งโลก ซึ่งก็เป็นจุดประสงค์แรกเริ่มของจานดาวธรรมเองด้วย จากที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (พระธัมมชโย) ได้เล่าถึงที่มาของจานดาวธรรมในการทำบุญใหญ่วันที่ 6 กันยายน 2547 ที่สภาธรรมกายสากล วัดพระธรรมกาย ว่าจานดาวธรรมนั้นเริ่มต้นจากที่มีผู้สนใจฟังเทศน์แต่อยู่ไกลไม่สะดวกต่อการเดินทางมา จึงมีความพยายามโดยเริ่มจากส่งเสียงผ่านโทรศัพท์ ปรับเปลี่ยนมาเป็นส่งผ่านเว็บ จนล่าสุดพัฒนามาผ่านดาวเทียมดังปัจจุบัน
สำหรับศิษย์วัดหรือคนไทยทั่วไปในต่างประเทศ นอกจากการติดต่อแจ้งข่าวสารกันระหว่างบุคคลแล้ว ทางวัดยังเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับจานดาวธรรมผ่านทางเว็บไซต์
ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา วัดพระธรรมกายได้เปิดมหาวิทยาลัยธรรมกายแคลิฟอร์เนีย เปิดสอนหลักสูตรพุทธศาสตร์ ทั้งเป็นรายวิชา (ใช้คำว่า“สัมฤทธิบัตร”) ประกาศนียบัตร และปริญญาตรี โดยมีระบบ e-learning ซึ่งมีรายการจานดาวธรรมเป็นหนึ่งในสื่อการเรียนการสอนหลักด้วย
วัดพระธรรมกายมีสาขาอยู่ทั่วโลก โดยในต่างประเทศนั้นใช้ชื่อว่า Dhammakaya International Meditation Center ซึ่งเป็นเป็นการ localization การสื่อสารกับสาธาณชน โดยใช้ชื่อที่อธิบายลักษณะกิจกรรมขององค์กรให้ชาวต่างชาติเข้าใจได้ดีกว่าการทับศัพท์ว่า Wat Dhammakaya อย่างที่คนไทยรู้จัก
หากจะมองในมุมการตลาด ถือได้ว่าจานดาวธรรมเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการทำ market segmentation ที่ความชัดเจน มีสื่อรองรับอย่างทั่วถึง มีการโฆษณาที่สอดคล้องกับทฤษฎีพฤติกรรมผู้บริโภค และมียุทธศาสตร์การวางตำแหน่ง (positioning) ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น dual positioning คือมี 2 ตำแหน่งควบคู่กันไป นั่นคือเป็นสื่อที่ผู้บริโภคทั่วไปคาดหวังสาระ พร้อมกับเป็นสื่อให้ชาวธรรมกายได้สร้างบุญ ในผลิตภัณฑ์เดียวกัน
Convergence
ถ้าจะบอกว่า ใครๆ ก็สามารถมีสถานีโทรทัศน์ไว้ในครองครองก็คงจะไม่ใช่เรื่องเกินเลยนัก เพราะ เทคโนโลยีบรอดแบนด์และดาวเทียมทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริง
แทนที่จะนำภาพยนตร์ขึ้นบนดาวเทียมโดยตรง ก็สามารถบีบอัดให้อยู่ในรูปของ DATA จากนั้นจึงขึ้นดาวเทียม หรือผ่านเครือข่ายบรอดแบนด์ไปยังผู้รับที่บ้าน ผ่านอุปกรณ์ปลายทางโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต หรือ โทรศัพท์มือถือ
เมื่ออยู่ในรูปของ “DATA” การส่งภาพและเสียงย่อมไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายห้ามเรื่องของบริการข้อมูล แต่นั่นคืออนาคต
แตกต่างจากทีวีในยุคอดีตอย่างสิ้นเชิง ช่อง 3, 5, 7,9, 11 และไอทีวีเกิดขึ้นจากสัมปทาน เนื่องจากการจะส่งสัญญาณวิทยุและโทรทัศน์จะต้องเป็นหน่วยงานรัฐที่ได้รับอนุมัติเท่านั้น เช่น อ.ส.ม.ท. , กรมประชาสัมพันธ์ ต่อมาหน่วยงานเหล่านี้ได้ให้สัมปทานเอกชน ช่อง 3 ช่อง 7 และไอทีวีมาอีกทอดหนึ่ง เมื่อได้ใบอนุญาตมาแล้ว กรมไปรษณีย์จะจัดสรรคลื่นให้
กว่าจะได้สัมปทานก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดูไอทีวีเป็นตัวอย่าง ทำเอาชินคอร์ป เมื่อมาซื้อสัมปทานต่อก็ต้องวิ่งเต้นลดสัมปทาน
เทคโนโลยีของดาวเทียม จึงเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ของผู้ที่อยากมีสื่อทีวี กรณีของ 11news 1 และ 11/2 คือตัวอย่างที่ว่านี้ ทำขึ้นได้เพียงแค่ชั่วข้ามคืน ติดปัญหาเดียวที่เกิดขึ้นคือ กฎหมายที่ยังคลุมเครือ
นอกจากดาวธรรม, Kasikorn TV, ทีวีของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เกิดขึ้นมาจากเทคโนโลยีดาวเทียม
ในอนาคตอันใกล้ หากเทคโนโลยีบรอดแบนด์แพร่หลายมากขึ้น ดาวเทียม IP Star เปิดให้บริการ เทคโนโลยีของเครือข่ายเหล่านี้จะบีบอัดสัญญาณ ภาพยนตร์ รายการข่าว เหลือเป็นแค่ DATA ด้วยแล้ว จากนั้นส่งไปตามสาย หรือยิงดาวเทียมไปยังผู้รับปลายทาง ที่สามารถเลือกดูรายการได้ทั้งอินเทอร์เน็ต ทีวี โทรศัพท์มือถือ และเมื่อถึงเวลานั้น คลื่นความถี่ก็แทบไม่มีความหมาย
กว่าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ซึ่งเวลานี้ยังสรรหากันไม่เสร็จสิ้น ก็อาจไม่ต้องทำหน้าที่อะไร เมื่อเทคโนโลยีไปไกลกว่านั้นแล้ว