ทีวีช่องนี้ไม่ได้แพร่ภาพที่ไหน จะมีก็แค่พนักงานกสิกรไทย ใน 500 สาขาเท่านั้นที่สามมารถรับชมได้ แพร่ภาพวันละ 3 เวลา เช้า…กลางวัน…เย็น เฉพาะช่วงเวลา อยากดูต้องรอวันถัดไป
เนื้อหาของสถานีโทรทัศน์ช่องนี้ ไม่เหมือนกับที่ไหน ไม่มีมิวสิกวิดีโอ ละคร เกมโชว์ หรือโฆษณา แต่ถ้าผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ของธนาคารกสิกรไทย หรือข่าวสารภายในองค์กรล่ะก็ทีวีช่องนี้ต้องไม่พลาด
Kasikorn TV เป็น 1 ในปรากฏการณ์หนึ่งของสังคมไทย ที่ธนาคารกสิกรไทยริเริ่มขึ้นสื่อสารเฉพาะภายในองค์กร ด้วยเนื้อหาและรูปแบบที่เป็นเรื่องราวเฉพาะตัวองค์กร เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจร่วมกัน อันเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กร
หากไม่เป็นเพราะแรงเหวี่ยงของการเปลี่ยนแปลงธนาคาร ต้องเข้าสู่ธุรกิจรีเทลแบงกิ้ง จำเป็นต้องอาศัยความเร็วในการแข่งขัน ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา การสื่อสารภายในองค์กรจึงเป็นเรื่องจำเป็น ถ้าเป็นหน่วยงานเล็กๆ ไม่เป็นไร แต่สำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีพนักงานเป็นหมื่นคน ต้องให้มองเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
“สื่อ” ที่ธนาคารแห่งนี้เลือกใช้ซึ่งมีทั้ง จุลสาร วิทยุ อินเทอร์เน็ต จึงไม่พอ ต้องมีโทรทัศน์เข้ามาช่วย สร้างการรับรู้อีกแรง และเป็นเวลา 8 ปีเต็ม ที่ธนาคารแห่งนี้มีสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ยิงสัญญาณไปยังสาขา 500 แห่งใช้งานภายใน
ธนาคารแห่งนี้ ริเริ่มมีสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเองมาตั้งแต่ปี 2536-2537 แต่ต้องใช้เวลาถึง 3 ปีเต็มในการเตรียมตัว กว่าจะเริ่มแพร่ภาพได้เมื่อ 8 มิถุนายน 2541
“การที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน ช่วงเริ่มต้นเราต้องลองผิดลองถูกกันอยู่พักใหญ่” เป็นหนึ่ง ไชยชิต รองผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและส่งเสริมงานบริหารองค์กร สายงานเลขาธิการองค์กร
เป็นหนึ่ง ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกในเรื่องการผลิตรายการ เขาถูกส่งไปเรียนด้านการผลิตรายการที่ New York University เป็นเวลา 1 ปีเต็ม จากที่เคยทำงานเบื้องหน้า ต้องเรียนรู้งานเบื้องหลังตั้งแต่แบกกล้องไปทำถ่ายหนัง งานตัดต่อ
หลังเรียนจบ “เป็นหนึ่ง” หอบเอาวิชาความรู้ที่ได้รับมาใช้สร้างสตูดิโอ จัดตั้งทีมงาน ซึ่งช่วงแรกต้องว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากภายนอกมาช่วยในการสร้างสตูดิโอ รวมถึงการผลิตเนื้อหา ที่มีกันตนา และเจเอสแอลมาช่วย
ถึงแม้รายการจะผลิตให้พนักงานดูกันภายใน แต่ถ้าใครได้เห็นสตูดิโอที่ใช้ผลิตรายการ ตั้งอยู่ชั้น 4 ก็ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา กสิกรไทยทุ่มลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท เพื่อใช้สร้างห้องส่ง ซื้อเครื่องมือทันสมัย ไม่แพ้สถานีโทรทัศน์เชิงพาณิชย์รายไหน
เอาแค่ห้องสตูดิโอผลิตรายการข่าว ตั้งแต่การฉาก กล้องถ่าย อุปกรณ์ตัดต่อ รวมถึงพิธีกร ที่แม้จะคัดเลือกจากพนักงานภายในแบงก์เอง แต่ก็ฝึกฝนจนคล่องแคล่ว
เทปรายการที่ผลิตเสร็จ จะถูกบันทึกลงเทป ใช้ระบบบาร์โค้ด จะบันทึกข้อมูลเวลาที่ออกฉาย จากนั้นจึงนำไปใส่ในเครื่อง flexi card เมื่อถึงเวลากำหนด “แขนกล” จะหยิบไปอากาศตามเวลาที่กำหนดแบบอัตโนมัติ
“เวลานั้นกสิกรไทยจัดได้ว่าเป็นแห่งแรกในเอเชีย ที่ลงทุนระบบแขนกลมาใช้ เจเอสแอล และหลายคนที่มาดูยังทึ่งเลยว่า เราลงทุนขนาดนี้” เป็นหนึ่งยืนยัน
แต่ละวันรายการของ Kasikorn TV หรือชื่อเดิม TFB TV แพร่ภาพทุกวัน 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น เริ่มตั้งแต่ 8.00- 9.30 น. จากนั้นจะหยุดแพร่ภาพ ไปออกอากาศอีกครั้งช่วงพักกลางวัน ตั้งแต่เวลา 11.30 – 13.30 น. และออกอากาศอีกครั้งช่วงเย็น 16.30-17.30 น.
เนื้อหาที่ผลิตรายการ รายการข่าวในแวดวงธนาคาร จะมีพิธีกรซึ่งเป็นพนักงานของแบงก์ 10 คนที่รับการอบรมมาแล้ว มานั่งอ่านข่าวเหมือนกับฟรีทีวี
ที่เหลือเป็น “รายการสั้น” มีความยาวประมาณ 3-5 นาที เนื้อหาจะเป็นเรื่องราวขององค์กรภายใน เช่น รายการตรงจุด มีเดือนละ 1-2 ครั้ง เรื่องราวผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ของธนาคาร และการถ่ายทอดสด พิธีการต่างๆ หรือการจัดงานนอกสถานที่ของธนาคาร
รายการคนดีเด็ด จะมีทีมงานไปค้นหาพนักงานที่ให้บริการดี จะถูกสัมภาษณ์และนำมาออกในรายการ หรือเรื่องราวของกฎระเบียบที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่พนักงานต้องรู้
รายการเหล่านี้จะนำมา re-run ฉายใหม่ในช่วงเวลาอื่น “ใครพลาดดูช่วงเช้า จะได้มาดูช่วงกลางวัน หรือช่วงเย็น”
รายการที่ออกอากาศจะยิงสัญญาณขึ้นดาวเทียมไทยคม ถ่ายทอดสัญญาณไปยังสาขา 500 แห่งทั่วประเทศ พนักงานจะได้ชมรายการได้เหมือนๆ กัน แต่ละแห่งจะติดตั้งโทรทัศน์ในห้องแพนทรี เพื่อให้พนักงานได้รับชม
ส่วนลูกค้าที่เคยได้รับชมรายการโทรทัศน์ในสาขาของธนาคาร ไม่เหมือนกับ “กสิกรทีวี” เพราะรายการที่สาขาจะเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ และมิวสิกวิดีโอ ซึ่งเป็นการแพร่ภาพเครื่อง DVD อีกที
“เราให้ลูกค้าดูไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย ระบุไว้ว่าการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมของธนาคารจะทำเพื่อสื่อสารข้อความภายในองค์กรเท่านั้น คนนอกดูไม่ได้”
“คอนเซ็ปต์ในปีนี้ ประเด็นร้อนที่พนักงานอยากรู้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรบ่อย เรื่องอะไรที่เป็นประเด็นที่พนักงานอยากรู้ หรือต้องการความรู้ที่ถูกต้อง เราจะทำรายการสดขึ้นมาทันที ทุกคนไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าอยู่ในบรรยากาศพนักงานปรับตัวเพื่อการเปลี่ยนแปลง ข้อมูลจึงเป็นเรื่องจำเป็น”
ทุกสิ้นปี ผู้นำองค์กรอย่าง “บัณฑูร ล่ำซำ” บอกถึงทิศทางการดำนินธุรกิจของธนาคาร เพื่อก้าวต่อไปได้อย่างไร ถ่ายทอดสดไปยังสาขาทั่วประเทศผ่าน “กสิกรทีวี” เพื่อให้พนักงานรับรู้ร่วมกัน
ไม่ต้องบอกถึงความสำคัญว่าขนาดไหน เป็นหนึ่ง ยกตัวอย่าง แค่ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่มีข่าวการเลย์ออฟพนักงานจนเกิดความระสำไปทั่ว ก็ได้ กสิกรทีวีที่ “บัณฑูร” ใช้เป็นสื่อสร้างความเข้าใจให้กับพนักงานได้รับรู้ร่วมกัน
“ถ้าคุณปั้นพูดผ่านผู้บริหารระดับสูง ข้อความอาจจะผิดเพี้ยนได้ แต่วิธีนี้สร้างการรับรู้กันได้ทั่วกัน ได้ยินจากหู ดูจากแววตา สีหน้า เป็นเรื่องของการสื่อสารภายในองค์กร”
8 ปีของ “กสิกรทีวี” จึงเป็นต้นแบบของการผลิตรายการโทรทัศน์ภายในองค์กร หลายองค์กรที่มีแนวคิดอยากทำ จึงต้องขอมาดูงานที่นี่ แม้แต่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่กำลังจัดตั้ง “BAY TV” ที่มี ชาล็อต โทณวณิก เป็นแกนนำ ก็ยังมาขอดูงาน
“เราเองกว่าจะคลำทางเอง ใช้เวลา 3-4 ปีกว่าจะเปิดเป็นสถานีได้ ไม่ต้องบอกว่าสำคัญขนาดไหน กับการที่เราใช้ประโยชน์เป็นเครื่องมือของการสร้างการรับรู้ร่วมกันสำหรับทิศทางขององค์กร”