เสียงเพลงจากศิลปินค่ายแกรมมี่ดังกระหึ่มเอแบคมอลล์ พร้อมกันนั้นภาพการแสดงสดจากเวทีกลางก็ถูกถ่ายทอดแพร่ภาพตามมอนิเตอร์กว่า 47 จอทั่วมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญบางนา รวมถึงวิทยาเขตรามคำแหง และที่ชั้น 19 อาคารเอ็มโพเรียม ในรายการทีวีที่มีชื่อว่า U Channel ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสถานีโทรทัศน์ภายในมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทย
กฤษณะ ถนอมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท บีลิงค์ มีเดีย จำกัด ผู้อยู่เบื้องหลังรายการทีวีดังกล่าว กล่าวถึงแนวคิดของ U Channel ว่า “เราไม่ใช่เคเบิ้ล แต่เราเป็นทีวีในมหาวิทยาลัย คอนเซ็ปต์ของเราคือ Teenage Edutainment Television เป็นโทรทัศน์ของวัยรุ่น รูปแบบเนื้อหา มู้ดแอนด์โทนเป็นแบบแชนเนลวีหรือเอ็มทีวี แต่ทำให้เหมาะสมกับนักศึกษา เป็นคลีนมีเดีย ขณะเดียวกันก็เป็น Innovative Learning Experience ให้นักศึกษาเข้ามาร่วมทำงานทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง”
ในการทำสัญญากับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเจ้าของสถานที่ บีลิงค์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการระบบ U Channel ทั้งระบบ ทั้งการผลิตรายการ ไปจนถึงการวางระบบและติดตั้งจอมอนิเตอร์ และการบริหารสื่อที่มี “บีลิงค์” รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการลงทุนทั้งหมด รวมไปถึงสถานีถ่ายทอดที่เอแบค และสตูดิโอที่วงเวียนใหญ่ ซึ่งเปิดเผยตัวเลขเพียงว่าเป็นจำนวนหลายสิบล้านบาทเท่านั้น
“ปกติเรายังไม่มีทีวี ไม่มีสื่ออะไรเลย สื่อตัวนี้ทำอะไรได้หลายอย่าง ยุคนี้เป็นเรื่องของข้อมูลข่าวสารถ้าทำไม่ดีก็เหมือนกับจังก์ฟู้ด กฤษณะเองก็เป็นศิษย์เก่าก็วางใจว่าเขาจะดูแลเรื่องนี้ ถ้าลิงค์ไปมหาวิทยาลัยอื่น ก็จะสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันได้ เห็นว่าไอเดียดี และสามารถเอานักศึกษาเข้าไปฝึกงาน ให้รู้จักเทคนิคการบริหาร การโอเปอเรตรายการ การแสดง ช่องทางต่างๆ ที่เด็กไปฝึกงานได้ ทำให้โอกาสนี้มีอยู่ใกล้ตัว” บราเดอร์ บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญกล่าว
บราเดอร์บัญชา ยกกรณีของอินเทอร์เน็ตเคเอสซีที่เอแบคเคยเป็น Incubator จนประสบความสำเร็จมาแล้ว ซึ่งบีลิงค์กำลังเป็นรายต่อไป หลังจากนั้นข้อตกลงแบ่งส่วนรายได้จากการโฆษณาในสถานีจึงจะถูกหยิบยกมาพูดกัน แต่ในระยะเริ่มต้นนี้เอแบคยังไม่ได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมใดๆ
สิ่งที่เอแบคจะได้รับประโยชน์จากการมี U Channel ว่า มีผลดีโดยตรงต่อการสื่อสารภายในมหาวิทยาลัย รวมทั้งการฝึกนักศึกษา และความสัมพันธ์ของนักศึกษากับมหาวิทยาลัย ด้วยกิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยดึงให้นักศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและอาจารย์ ซึ่งท้ายสุดจะส่งผลต่อพัฒนาการของตัวนักศึกษาเอง
U Channel เริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แพร่ภาพรายการตั้งแต่เวลา 8.00-18.30 น. ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เนื้อหาเป็นรายการเพลงและหนัง รายการ Live Program การนำเสนอข่าวและเหตุการณ์ รายการ Candid Camera เพื่อ interactive กับนักศึกษา และกำลังเจรจาขอขยายเวลาแพร่ภาพช่วง 20.00-24.00 น. เป็นรายการ VDO Tutoring รวมทั้งเพิ่มพื้นที่ฉายเป็นฟรีทีวีสู่หอพักภายในวิทยาเขตบางนา ซึ่งจะเข้าสู่สายตานักศึกษาอีกราว 3,000 คน
จุดติดตั้งจอมอนิเตอร์ที่มีอยู่ในวิทยาเขตบางนาขณะนี้ มี 3 จุด คือที่ “เอแบคมอลล์” ซึ่งเป็นศูนย์รวมร้านอาหารและร้านค้า ติดตั้งจอโปรเจกเตอร์ขนาด 100 นิ้ว 1 จอ และจอพลาสมา 42 นิ้ว 2 จอ ส่วนที่ศูนย์อาหาร ติดตั้งจอโทรทัศน์ 29 นิ้ว 20 จอ และที่ “เอแบคพลาซ่า” อีกจำนวน 24 จอ ขณะที่จำนวนนักศึกษาที่จะได้รับชมรายการมีประมาณ 12,000 คน/วัน โดยประมาณวันละ 3 ครั้ง กฤษณะมั่นใจว่า อัตราการรับรู้จะสูงถึงกว่าแสนครั้งต่อสัปดาห์อย่างแน่นอน
นอกเหนือจากการทำรายการแล้ว บีลิงค์ยังใช้กลยุทธ์ Co-marketing campaign จัดกิจกรรมการตลาดร่วมเพื่อให้เกิด interactive กับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เช่นการจัดงาน Freak U Out ที่ได้รับความสนใจจากนักศึกษาเอแบคกว่าพันคน บีลิงค์จึงมีแผนชูงาน Freak U Out ที่จะเจาะเข้าไปยังกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยเน้นการให้นักศึกษาได้เข้ามาร่วมทำงาน และเกิดเป็นการสื่อสารในชุมชนขนาดใหญ่ของกลุ่มวัยรุ่นในท้ายที่สุด
“เราผลิตรายการ และป็นออร์กาไนเซอร์ด้วย จัดอีเวนต์ Above the Line, Below the Line ทุกอย่าง ซึ่งสปอนเซอร์ก็เห็นด้วยว่าเมื่อมาโฆษณากับกลุ่มนี้ ภาพพจน์ที่ออกไปชัดเจน การรับรู้ของ brand ที่มีต่อผู้สนับสนุนรายการ นักศึกษาจะรับรู้ต่อเนื่องถึง 4 ปี อนาคตมันยาวมาก ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ในแง่ของมาร์เก็ตติ้ง แบรนด์ดิ้ง”
เมื่อกลุ่มคนดูชัดเจน สินค้าที่บีลิงค์จะดึงมาลงโฆษณาจึงโฟกัสไปที่พวกเครื่องดื่ม อุปกรณ์สื่อสาร และสแน็ค หรือสินค้าอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับวัยรุ่น
“เรามีพีเรียดในการทำแพลนนิ่งให้กับสปอนเซอร์ ทำให้บรรลุเป้าหมายที่คุณต้องการสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ให้สำเร็จได้ภายใน 3 เดือน”
ล่าสุด กฤษณะดีลอยู่ในขณะนี้คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ของเอแบคด้วย โดยนอกเหนือจาก Loose Spot แล้ว ยังได้ทำ Content in Program ที่จะกระตุ้นพฤติกรรมการใช้บริการ E-Banking ให้มากขึ้น โดยเนื้อหาทั้งหมดของรายการจะถูกคุมให้อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ เอ็ดดูเทนเมนต์ เทเลวิชั่น
สื่อโฆษณาแบบ Content in Program เนื้อหารายการอย่างน้อย 3 นาที ความถี่ของการแพร่ภาพจำนวน 3 ครั้ง/สัปดาห์ บีลิงค์กำหนดอัตราโฆษณาที่ 15,000 บาท/สัปดาห์ ถ้าเป็น Loose Spot แพร่ภาพ 2 ครั้งต่อชั่วโมง วางอัตราค่าโฆษณาไว้ที่ 150,000 บาท/เดือน สำหรับความยาว 15 วินาที และ 200,000 บาท/เดือน สำหรับความยาว 30 วินาที
“สื่อ mass หรือสื่ออื่นๆ ซึ่งไม่สามารถมาพูดกับเขาได้เมื่อเขาอยู่ในมหาวิทยาลัย บีลิงค์มีเดียเกิดขึ้น เพื่อเติมเต็มช่องว่างนี้ ขณะเดียวกันเนื้อหาทั้งหมดเป็นเนื้อหาที่โดนใจวัยรุ่น Simply But Hit เพราะฉะนั้นเราจึงเป็นไรท์เพลส ไรท์ไทม์ ไรท์แชนแนล และมั่นใจได้ว่าสิ่งนี้สามารถช่วยให้เราเป็นคนกลางสื่อสารระหว่างสปอนเซอร์กับกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มนี้ได้อย่างชัดเจนและตรงประเด็นมากที่สุด แบรนด์ดิ้งสินค้า คอร์ปอเรตอิมเมจ ทั้งหมดสามารถเกิดขึ้นได้จาก U Channel”
ในภาพรวม บีลิงค์วางตัวเองว่าเป็น Teen Communicator ที่รู้จักกลุ่มวัยรุ่นดี รู้ความต้องการของนักศึกษา และด้วยการให้คนดูเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดเนื้อหารายการ ทำให้สร้างแบรนด์คอมมูนิตี้ได้อย่างประสบผลสำเร็จ เมื่อเห็นแนวโน้มที่ดีหลังการเปิดตัวในเอแบคจึงมีแผนการขยายงานในปีหน้าที่จะเสนอโปรเจกต์ U Channel ให้เป็น Learning Facility ในมหาวิทยาลัยอื่นๆ ด้วย
เมื่อถูกถามถึงการแข่งขันในตลาดและความยั่งยืนของสื่อน้องใหม่อย่างบีลิงค์ กฤษณะกล่าวแต่เพียงว่า “เราเป็นสถานีโทรทัศน์ที่จะประสบควาสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคนดูยินดีต้อนรับเรา มีส่วนร่วมกับเรา เจ้าของสถานที่ต้อนรับและร่วมมือกับเรา เป้าหมายอยู่ที่รายการที่ผลิตออกมามีคุณภาพและสามารถสร้างคอมมูนิตี้ได้ ให้เขารู้ว่าอันนี้เป็นชุมชนของเขา การดูแลเนื้อหาที่จะใส่ลงไปในช่องเป็นประเด็นสำคัญมาก ที่สถาบันจะพิจารณาความต่างของบีลิงค์หรือผู้ประกอบการรายอื่นที่อาจจะเข้ามา หรือถ้ามหาวิทยาลัยพร้อมจะทำเองก็เปิดกว้าง แต่เรามีเครือข่ายพันธมิตรในการทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้ เกิด Synergy และ Economy of Scale ซึ่งถ้าขาดส่วนนี้ไปต้นทุนการผลิตก็จะสูง”
จาก ClassMax ถึง U Channel
กฤษณะ ถนอมทรัพย์ ผู้บริหารหนุ่มวัย 27 ปี เริ่มทำธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2540 ขณะยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่คณะบริหารธุรกิจ เอแบค โดยตอนนั้นได้ก่อตั้งบริษัท ทวีทรัพย์แลนด์ ขึ้นเพื่อฟื้นฟูธุรกิจพัฒนาที่ดินของครอบครัวบริเวณห้างสรรพสินค้าเอดิสันและโรงหนังสุริยา ติดกับสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ให้กลายเป็นศูนย์การค้า M Place และเป็นศูนย์รวมสถาบันกวดวิชาที่ใหญ่ที่สุดของย่านฝั่งธนบุรี
เมื่อเห็นปริมาณนักเรียนจำนวนมากที่มาใช้บริการสถาบันกวดวิชาทุกวัน และบางสถาบันก็ใช้ระบบการสอนด้วยวิดีโอ ทำให้เขาเกิดแนวคิดทำรายการทีวีความยาว 6 นาที เพื่อฉายแทรกก่อนถึงเวลาบรรยาย และช่วงคั่นเวลาพัก ในนามของรายการ ClassMax ฉายในสถาบันกวดวิชา 70 แห่งทั่วประเทศ เข้าถึงกลุ่มคนดูที่เป็นวัยรุ่นกว่า 150,000 คนในแต่ละสัปดาห์
บริษัทบีลิงค์ มีเดีย จึงถือกำเนิดขึ้นในปี 2546 ในฐานะผู้ผลิตสื่อทีวี รูปแบบรายการ Edutainment โดยมีโปรดักชั่นเฮ้าส์และทีมผลิตรายการของตัวเอง และได้พันธมิตรที่เป็นค่ายเพลงไทยและเทศส่งเอ็มวีมาให้ ส่วนการขออนุญาตแพร่ภาพ บีลิงค์เพียงแต่ยื่นขอกับกองทะเบียน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทำทีวีถ่ายทอดภายในอาคารด้วยระบบสัญญาณเอวี ในลักษณะเดียวกับทีวีหรือวิดีโอวอลล์ในศูนย์การค้าทั่วไป
จากโมเดลของสื่อทีวีในสถาบันกวดวิชา ที่ได้รับการยอมรับจากสินค้าบางตัว เช่น ยูนิฟกรีนที และ TRUE ว่าเป็นสื่อการตลาดที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้อย่างมีประสิทธิภาพ กฤษณะจึงนำโมเดลนี้เข้าไปคุยกับบราเดอร์ บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีเอแบค เพื่อทำรายการทีวีแพร่ภาพในมหาวิทยาลัย ในนามของ U Channel โดยขยาย Value Chain ของสถานีให้เป็น Learning Facility ของเอแบคไปด้วย
“ในประเทศไทยอาจจะบอกได้ว่าที่เอแบคเป็นที่แรกที่ทำอย่างครบวงจรได้อย่างนี้ ที่ยังไม่มีคู่แข่งเพราะยังเป็นสิ่งใหม่ โอกาสนั้นมีเยอะมาก เพียงแต่ขาดคนที่เป็นอินโนเวเตอร์ ผมแค่เป็นคนที่เห็นว่าจากอากาศแล้วมองไปเห็นอะไร มีช่องว่างมีโอกาสในมหาวิทยาลัย มีระบบการสื่อสารแบบนี้ รวมกันเลยออกมาเป็น U Channel”
อนาคตอันใกล้ โมเดลนี้จะถูกขยายเข้าไปในมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกต่อไป ตามเป้าหมายของกฤษณะในการสร้างสื่อที่เขาเรียกว่า Life Style Media ที่เจาะเข้าหากลุ่มเป้าหมายในส่วนที่ Mass Media ไม่สามารถเข้าถึง