“ไวร์เลส เซอร์วิส โพรไวเดอร์” คือ positioning ในปี 2548 ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ที่สะท้อนถึงการก้าวข้ามจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไปสู่บริการด้านสื่อสารไร้สาย ง่ายต่อการใช้งาน ดูหนังฟังเพลง ซื้อสินค้า ไม่จำกัดขอบเขตของธุรกิจแค่โทรเข้าออกแต่เพียงอย่างเดียว
การพัฒนาบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เป็นสังคมสื่อสารไร้สาย ง่ายต่อการใช้งาน สะดวกในการเข้าถึง สนับสนุนการใช้งานทั้งเสียงและข้อมูล เอไอเอสเชื่อมั่นว่า นี่คือ positioning ที่ทำให้ AIS ยังคงเป็นผู้นำในตลาดผู้ให้บริหารโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ความมั่นอกมั่นใจของ AIS ส่วนหนึ่งมาจากการพิสูจน์แล้วว่าพฤติกรรมของคนใช้โทรศัพท์ไม่ใช่แค่โทรออกหรือรับสาย แต่ก้าวข้ามไปสู่บริการด้านอื่นๆ เช่น บันเทิง ดูหนัง ฟังเพลง บริการข้อมูลการเงิน การใช้มือถือในการชำระค่าสินค้าบริการ
นอกจากนี้ พัฒนาการของอุปกรณ์ปลายทางยังเป็นแรงหนุนที่สำคัญ ที่ทำให้แนวคิดของสังคมไร้สายเกิดขึ้นได้จริง ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ (ดาต้าทรานสมิทชั่น ออฟฟิศออโตเมชั่น) อุปกรณ์ PDA ซึ่งเป็นการผนึกระหว่างอุปกรณ์สำนักงาน ดิจิตอลทีวี ทำให้ลูกค้าดูทีวีและเช็กอีเมลในเวลาเดียวกัน และอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า
“โลกของมัลติมีเดียจะทำให้ตัวอุปกรณ์ แอพพลิเคชั่น และเน็ตเวิร์กมารวมกัน ผ่านอินเทอร์เน็ต โปรโตคอล ด้วยการเอาไอพีมาครอบลงบนเน็ตเวิร์กที่ให้บริการอยู่” กฤษณัน งามผาติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส หรือเอไอเอส บอก
กฤษณันไม่ได้บอกถึงจำนวนเงินที่ลงทุนในการสร้าง Internet Protocol หรือ IP แต่เขาเชื่อว่า การตัดสินใจลงทุนในเรื่องดังกล่าวจะทำให้ AIS ก้าวเข้าสู่โลกของบริการ non-voice ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
“เราลงทุนปรับระบบหลังบ้าน นำ Internet Protocol วิธีของเราคือ วาง layer ของแพลตฟอร์มแบบใหม่ ให้สามารถยืดหยุ่นกับทุกธุรกิจได้ ไม่ว่าจะเป็นบรอดแบนด์ เกมออนไลน์ หรือเห็นภาพคู่สนทนาระหวางคุยบนมือถือ”
วิธีคิดของ AIS คือ การเป็นผู้รวบรวมเทคโนโลยีเครือข่ายทั้ง 4 ประเภท ไม่ว่าจะเป็น network ระบบ GPRS ของโทรศัพท์มือถือ เครือข่ายความเร็วสูง หรือ ADSL เครือข่าย Wireless LAN รองรับกับอุปกรณ์ภายในบ้าน เช่น ทีวี วิทยุ ให้สามารถพูดคุยกันได้ ภายใต้แพลตฟอร์มใหม่ ที่เรียกว่า IP หรือ Internet Protocol เพื่อเชื่อมแอพพลิเคชั่นที่วิ่งอยู่บนเน็ตเวิร์กแตกต่างกัน ให้สามารถสื่อสารถึงกันได้ กฤษณันเรียกบริการนี้ง่ายๆ สั้นๆ ว่า “มัลติมีเดีย”
“ต่อไปบ้านแต่ละหลังไม่ต้องขอโทรศัพท์พื้นฐาน สามารถใช้มือถือทำหน้าที่แทนได้ทุกอย่าง ไวร์เลสแลนด์ เป็นโทรศัพท์มือถือ เป็นบริการ ADSL” กฤษณัน สะท้อนถึงรูปแบบบริการ “มัลติมีเดีย”
บริการมัลติมีเดีย ภายใต้คอนเซ็ปต์ของ AIS มุ่งเน้นใช้งานที่เคลื่อนที่ หรือ “mobility” โทรศัพท์มือถือทำหน้าที่เป็นตู้ PABX เชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือที่เป็นลูกข่าย งานนี้จึงไม่ต้องมีโทรศัพท์พื้นฐานมาเป็นองค์ประกอบ
ลูกค้าหลัก จะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยลูกค้ารายแรกที่ใช้บริการ มัลติมีเดียที่ว่านี้ คือ คอนโดมิเนียมรายหนึ่ง บนนถนนสาทร ที่ AIS ลงทุนวางระบบทั้งหมดในตึก เพื่อให้ลูกค้าใช้บริการไร้สาย
เมื่อ network ถูกเชื่อมโยงเข้าหากัน สิ่งที่ AIS ต้องคิดต่อก็คือ การทำให้โทรศัพท์มือถือสามารถเข้าไปดูเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับที่ดูได้จากเครื่องพีซี นั่นก็คือ การทำ wap site (แว็ปไซต์) และนี่คือสาเหตุทำให้ AIS ตัดสินใจร่วมมือกับเว็บไซต์ระดับโลก อย่าง ซีเอ็นเอ็น วอร์เนอร์บราเดอร์ ตลอดจนเว็บดังของโลก google เพื่อพัฒนา wap site ร่วมกัน
กฤษณัน เชื่อว่า การนำเรื่องของบริการค้นข้อมูล หรือ search engine มาใช้บนโทรศัพท์มือถือ จะสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้บริโภค ที่สามารถโต้ตอบถึงกันได้ (interactive)
“ปี 48 เราไม่จำกัดแล้วว่า จะต้องเป็นลูกค้ามือถือเท่านั้นที่จะซื้อบริการของเราได้ เพราะต่อไปเครื่องพีซีสามารถรับสายโทรศัพท์ได้ จะกลาย virtual mobile เช่น ผมเล่นเครื่องพีซีอยู่ เมื่อมีคนโทรหาผม ผมใส่หูฟังจากพีซี แล้วรับสายได้เลย”
การต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การสร้าง “กำไร” ให้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง กฤษณันเชื่อว่า บริการเสริมใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องไกลตัว สำหรับเขาแล้ว บริการใดทำแล้วเป็นที่นิยมกับลูกค้า ถือว่าแจ็กพอตแตก แต่ถ้าไม่นิยม ก็ต้องถอยออกมา
“AIS ไม่ได้ทำธุรกิจด้านเดียว เรามีฐานรายได้ใหญ่ คือบริการด้านเสียง voice แต่เราต้องมีกระสุนสำรอง คือ บริการเสริมใหม่ๆ ถ้าไม่มีธุรกิจสำรอง ผมเจ๊ง บริการเสริมใหม่ๆ การแข่งขันยังมีไม่มาก การจะตั้งราคาก็สามารถทำได้ จึงเป็นส่วนที่สร้างกำไร แต่เมื่อการแข่งขันมีมากขึ้น เราก็ต้องพัฒนาบริการใหม่มาต่อยอด นั่นคือกลยุทธ์ในการรักษารายได้และกำไรโดยไม่รบกวนผู้บริโภคฐานใหญ่” กฤษณันอธิบายที่มาของการที่ต้องคลอดบริการใหม่ๆ ออกสู่ตลาดตลอดเวลา
การลงทุนสร้างหน่วยงาน “ฟิวเจอร์แล็ป” เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางพัฒนาไวร์เลสเซอร์วิสในอนาคตเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่จำเป็นต้องรอผู้ผลิตอุปกรณ์เหมือนในอดีตที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นไปบ้างแล้วสำหรับผลงานฟิวเจอร์แล็ปอย่าง วิดีโอวอลล์ ดิจิคาเมร่า ดิจิแพน ดิจิไลฟ์ เป็นต้น ที่สำคัญ การสร้างบริการเสริมเหล่านี้ให้ตอบสนองไปกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ในลักษณะที่เรียกว่า customize
AIS เชื่อว่าตลาดโทรศัพท์มือถือในปี 2548 กำลังจะเริ่มเข้าสู่จุดเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง อันเป็นผลมาจากอัตราการเจริญเติบโตหรือ penetration rate ในปี 2548 จะอยู่ที่ประมาณ 47% ของจำนวนประชากร โดยมีผู้ใช้บริการตลาดรวมอยู่ที่ประมาณ 30.5 ล้านราย เป็นสิ่งที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องรักษาฐานลูกค้า ด้วยบริการใหม่ ที่ตรงใจและจัดทำขึ้นโดยเฉพาะบุคคลอย่างแท้จริง
“เอไอเอสจะใช้เรื่องของ segmentation แล้ว customization บริการให้เข้ากับคุณลักษณะของแต่ละกลุ่ม ต้องเกิดมากยิ่งขึ้นในปีนี้ เมื่อฐานลูกค้ามีขนาดใหญ่ การสร้างมาตรฐานการให้บริการเดียวกันสำหรับลูกค้าย่อมเป็นเรื่องยาก โอเปอเรเตอร์จึงต้องสร้างความแตกต่างด้วยรูปแบบบริการ” สมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บอกถึงแนวทาง
Business Integration หรือ การผูกโยงโทรคมนาคมเข้าธุรกิจบริการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการบิน, การเงิน, โฆษณา, บันเทิง, ขนส่ง, สุขภาพ, E-Learning, อินเทอร์เน็ต, อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน, ธุรกิจความงาม ฯลฯ จะเป็นกุญแจดอกสำคัญขยายบทบาทของโทรศัพท์มือถือเข้ากับวิถีการใช้ชีวิตของผู้คน
“โรงพยาบาลบนมือถือ” เป็น 1 ในตัวอย่างที่เกิดขึ้นในปีหน้า พร้อมการสลับเปลี่ยนให้ลูกค้าใช้สลับข้ามไปมาระหว่างพรีเพด และโพสต์เพด
“การตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างดีที่สุด คือการมีมากกว่า 1 บริการ ในแต่ละ segment ของเอไอเอสจะมีมากกว่า 150 บริการหรือโดยรวมกว่า 1,500 บริการให้เห็น เรามีฐานลูกค้าจำนวนมากกว่า 15 ล้านคน การที่เราจะเข้าถึงความต้องการทั้งหมดได้เป็นเรื่องยาก การนำแนวคิดที่ให้ลูกค้าเลือกได้เองว่าต้องการแพ็กเกจอย่างไร
นี่คือ ภาพสะท้อนของธุรกิจที่ได้ชื่อว่า เข้าถึง lifestyle ของลูกค้ามากที่สุด
Key point ของ AIS ปี 2548
* พัฒนาบริการใหม่ๆ บนsim
* เปลี่ยนสาขาของ AIS จุดรับชำระเงิน มาเป็นด่านหน้าบริการตอบปัญหา แนะนำโปรโมชั่นแก่ลูกค้าทุกเรื่อง
* ออก AIS Card ใช้เป็น integrated marketing ให้กับลูกค้าใช้บริการตั้งแต่ 1,500 บาทลงมา
* กำหนดโมเดลของการทำบริการ non-voice เหมือนกับทีวี เน้นความหลากหลายของเนื้อหา