ชุมชน Orange

ในปี 47 ถือเป็นการออกตัวบริการ non-voice ของ orange อย่างชัดเจน โดยเน้นการสร้างชุมชนของตัวเองขึ้นมา ซึ่งในปี 48 กลยุทธ์การสร้างชุมชนของบริการ non-voice ยังคงดำเนินต่อไป แต่เข้มข้นมากกว่าเดิม

ธุรกิจของ Orange คือ การเป็น operator ทำหน้าที่สร้าง platform และ application ซึ่งในแง่ของบริการ non-voice จุดที่สำคัญมากที่สุดคือการสร้าง community เป็นจุดต่างของ Orange เมื่อเทีบกับค่ายอื่น

การสร้างชุมชนของ Orange ทำขึ้นมาเพื่อให้คนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันสามารถสื่อสารกันได้ในแบบ interactive ซึ่งเมื่อมีการสื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลกันไปสักพักระหว่างคนที่ชื่นชอบเรื่องเดียวกัน ก็จะเกิดเป็นชุมชน (community) ขึ้นมา ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่อยู่เบื้องหลังการบริโภค content นั้นๆ ในระยะยาว

อาจกิจ สุนทรวัฒน์ Chief of Wireless Multimedia Business บริษัท TA Orange company Limited กล่าวว่า บนอินเทอร์เน็ตกับ mobile สามารถสร้างการสื่อสารได้ง่ายกว่าสื่ออื่นๆ แต่ถ้าสร้างเพียง content ออกมา ก็จะรู้สึกว่าขาดส่วนที่ทำให้ผู้ใช้ได้สื่อสาร (communicate) กัน โดย Orange ได้วางแผนทยอยออก community of content ในแต่ละ content ตามมาด้วย

ปัจจุบัน traffic หลักใน Orange World ที่อยู่ใน portal ของ Orange มาจาก Photo World ประมาณ 1 ใน 3 โดยคนกลุ่มนี้มีประมาณ 2 แสนคน และเพิ่มปริมาณมากขึ้นทุกวัน ซึ่งคนในกลุ่มนี้ไม่เคยเลิกที่จะเข้ามาใช้บริการเพราะว่าแต่ละคนมีชุมชนของตัวเองให้ได้สื่อสาร แลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกัน

Photo World ถือเป็น classic community ซึ่งการที่ Orange เริ่มเปิดให้บริการขึ้นมาก่อนตัวอื่นนั้น เป็นเพราะว่า Orange คิดว่า MMS จะเป็นจุดสำคัญของมัลติมีเดีย และบริการที่เกิดขึ้นในอนาคต แต่ถ้าไม่มี application ที่ทำให้คนสามารถใช้ได้ง่าย MMS ก็จะไม่เกิด

Photo World เป็นเพียงจุดเริ่มต้น ที่ทำให้เกิด community platform ขึ้น จากนั้น Orange ก็ได้เปิดตัว Game World, Financial World, Toon World และมีแผนจะออกบริการในอีกหลาย ๆ World ในปีหน้า ซึ่งหลังจากที่มีคนเริ่มใช้ content นั้นๆ ก็จะเริ่มต่อยอดจนกลายเป็น community โดย Orange จะทำการ integrate platform ของ Photo World ซึ่งจัดเป็น community platform ลงไปในทุก content

การที่ Orange เน้นการสร้างชุมชนเป็นหลัก เพราะมองว่า community จะเป็นแรงขับของการใช้ content ให้ประสบความสำเร็จต่อไปได้จริง ซึ่งแนวความคิดนี้ ไม่ใช่แนวความคิดใหม่ แต่การสร้างชุมชนในมือถือ เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่ง Orange เชื่อว่า community กับ content จะต้องไปด้วยกัน

ถึงแม้ว่าในปีหน้าผู้เล่นรายอื่นจะมุ่งมาในแนวทางนี้ แต่การสร้างชุมชน ไม่ได้สร้างด้วยแค่เทคโนโลยี แต่ต้องใช้องค์ประกอบทาง marketing เข้ามาผนวกด้วย เป็นงานศิลปะที่มีรูปแบบเฉพาะตัว นั่นก็คือ เทคโนโลยีที่นำมาตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างไร ทำให้คนสื่อสารกันได้ง่ายขึ้น ใช้ง่ายขึ้น มีประโยชน์กับชีวิต และมีความสนุกที่จะใช้บริการนั้น

Orange ศึกษาการให้บริการด้านข้อมูลจากหลายๆ ประเทศ เพื่อสร้างเป็น model ใหม่ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย ซึ่งในเมืองไทย data services เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น การใช้ข้อมูลยังอยู่ในขั้นพื้นฐาน คือ ดาวน์โหลด ring tone, wallpaper และ game เป็นต้น

ปัจจุบันมีคนเข้า wap portal ของ Orange ผ่านมือถือประมาณ 30,000-40,000 คนต่อวัน มี page view ประมาณ 350,000-400,000 page view ต่อวัน โดยพฤติกรรมของลูกค้า Orange จะเข้ามาที่ portal ของ Orange ก่อนเพราะเป็นทางผ่านที่ทำให้สามารถค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

เมื่อสร้าง community ใน portal ได้ จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การใช้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะใช้แค่เป็นทางผ่าน หรือดาวน์โหลด ก็จะใช้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันได้อย่างแท้จริง โดย Orange พยายามสร้างพฤติกรรมให้คนสามารถใช้ข้อมูลจาก portal ได้ง่ายที่สุด สร้างความคุ้นเคยในการใช้ portal ออกแบบทางผ่านให้เข้าใจง่าย สามารถใช้งานได้ง่าย ผู้ใช้ก็จะเลือกผ่านทางนี้ก่อน ซึ่งช่วยให้ Orange เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคได้มากขึ้น ตอนสนองได้ดีขึ้น และสร้าง traffic ได้ในระยะยาว

ประเทศไทย เป็นตลาดของ Prepaid การขายเครื่องมือถือกับบริการแยกจากกัน สิ่งที่ Orange จะทำต่อไป คือ การให้ผู้บริโภคเข้าถึง data service ง่ายที่สุด เช่น ผ่าน call center และวิธีอื่นๆ ที่เตรียมไว้อีกหลายวิธี ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนในส่วนนี้พอสมควร เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายกว่าเดิม

หลังจากนั้นต้องตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ว่า ใช้บริการแล้วคุ้มค่าอย่างไร ค่าบริการไม่แพงอย่างที่เขาคิด ดังนั้นการทำราคา กับการนำเสนอจึงมีความสำคัญ ในขณะเดียวกันต้องสร้างบริการที่มีคุณภาพไม่ก่อให้เกิด bad experience กับลูกค้า ซึ่งการใช้บริการข้อมูล ผู้ใช้ควรจ่ายเท่าที่เขาใช้ เก็บค่าใช้บริการอย่างยุติธรรม

อาจกิจ กล่าวเสริมอีกว่า ทั้งอุตสาหรรมควรมองการใช้ GPRS เป็นการทำรายได้ในระยะยาว ทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้สึกว่ามีประโยชน์ ซึ่งระยะนี้เป็นระยะเริ่มต้น ถ้าทั้งอุตสาหกรรมผลักดันให้ผู้ใช้ใช้ด้วยวิธีที่ถูกต้อง และรู้สึกว่าดีกับเขาในระยะยาว รู้สึกว่าใช้ง่าย คนก็จะเริ่มมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการสร้างธุรกิจนี้ในระยะยาว

ในปี 48 สิ่งที่น่าจะเกิดมากขึ้น คือ application ที่ทำให้การสื่อสารกันง่ายมากขึ้นกว่าเดิม เกิดการ integration ระหว่างการสื่อสารในสื่อต่างๆ ให้มาใช้งานร่วมกันได้ง่ายขึ้น มีการ convergence ระหว่าง mobile, internet และ fix line และจะเห็นการ convergence ระหว่าง media และอุปกรณ์ประเภทต่าง ๆ

นอกจากนี้ m-commerce จะเป็นอีกบริการที่ทุกค่ายซุ่มทำกันอยู่ ซึ่งในความเป็นจริงทุกวันนี้คนใช้ m-commerce ผ่านทาง mobile กันอยู่แล้วโดยที่ไม่รู้ตัว โดยเฉพาะผู้ที่ใช้โทรศัพท์ในแบบ Prepaid เพราะต้องเติมเงินผ่านระบบ ซึ่งผู้ใช้เองก็มีความไว้วางใจระบบเพราะสามารถเติมเงินให้คุณได้อย่างถูกต้อง ณ วันนี้ผู้ใช้มีความเชื่อในระบบมาก ซึ่งจะต้องมีการขยายผลต่อไปในอนาคต

การซื้อ content ด้วยการดาวน์โหลด แล้วให้หักเงินไปก็เป็นส่วนสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการทำ m-commerce ซึ่งวิธีนี้ถ้าทำผ่านอินเทอร์เน็ต คนจะยังไม่กล้าใช้ เพราะต้องจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิตซึ่งผู้ใช้ยังไม่มีความเชื่อในระบบมากนัก แต่ในธุรกิจมือถือกลับมีผู้ใช้หลายล้านคนที่ใช้จ่ายเงินผ่านมือถือ ซึ่ง m-commerce จะเป็นทิศทางที่ผู้ให้บริการมือถือจะมุ่งไปในปีหน้า

ในอุตสาหกรรมนี้ จะมีการแข่งขันในเรื่อง non-voice มากขึ้น บริการ non-voice ไม่ใช่เรื่องที่ทำออกมาเพื่อสร้างภาพพจน์ให้กับลูกค้า แต่เป็นเรื่องของการใช้งาน และทั้งอุตสาหกรรมมือถือต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการใช้ non-voice มากขึ้น

Orange เชื่อว่า การสร้างบริการที่ดีต้องให้ผู้บริโภคได้ใช้จริง รู้สึกว่าใช้แล้วดี เขาจะอยู่กับเราไปอีกนาน ซึ่งเวลานี้การออกบริการแต่ละตัวของ Orange จะพยายามผลักดันให้ลูกค้าได้มีโอกาสใช้งานจริงมากที่สุด

Website

www.orange.co.th